xs
xsm
sm
md
lg

โฮมสเตย์อันดามัน รอวันนักท่องเที่ยวกลับมา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังเหตุการณ์สึนามิ เมื่อภารกิจพิสูจน์ศพและการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเริ่มคลี่คลาย หลายๆฝ่ายต่างพาพูดถึงการฟื้นฟูธรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่อันดามัน

ส่วนใหญ่ต่างพุ่งเป้าไปที่ผู้ประกอบการรายใหญ่อย่างโรงแรม รีสอร์ท โดยละเลยที่จะพูดถึงภาคการท่องเที่ยวระดับชุมชนอย่างโฮมสเตย์ไป เพราะถึงแม้ว่าตัวเลขความสูญเสียอาจไม่เท่ากับผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่ว่าพวกเขาก็ยังต้องการความช่วยเหลือเช่นกัน

เกาะยาว รอคอยนักท่องเที่ยว

ธุรกิจโฮมสเตย์บนเกาะยาวน้อย จังหวัดพังงาที่ได้รับสัญลักษณ์มาตรฐานโฮมสเตย์ไทยไปเมื่อปี 2547 และได้รับรางวัลแหล่งทองเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางสังคมดีเด่นของโลกในปีพ.ศ. 2545 จากนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิค ทราเวลเลอร์ แม้จะเป็นธุรกิจท่องเที่ยวเล็กๆระดับชุมชน แต่ก็ได้รับผลกระทบจากสึนามิเช่นกัน

ภราดร บุตรละคร หัวหน้ากลุ่มเกาะยาวโฮมสเตย์ เล่าถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับกลุ่มโฮมสเตย์ว่า สำหรับสมาชิกโฮมสเตย์เกาะยาวทั้งหมด 21 หลัง ได้รับความเสียหายไปทั้งหมด 19 หลัง นับว่าเป็นความเสียหายที่ส่งผลกระทบกับอาชีพโดยตรง กระชังเลี้ยงปลาและเรือประมงถูกคลื่นซัดเสียหาย แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือจากราชการและเอกชน ตอนนี้ก็ประกอบอาชีพได้ปกติแล้ว

แต่ในเรื่องของธุรกิจท่องเที่ยวที่เกาะยาวนั้นก็ยังไม่ดีขึ้น ก่อนที่จะมีสึนามินั้น มียอดจองเข้าพักที่โฮมสเตย์มามากเลยทีเดียว โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล แต่หลังสึนามิแล้ววี่แววของนักท่องเที่ยวเงียบหาย จะมีก็แต่แขกฝรั่งแบกเป้ผ่านมาบ้าง ส่วนคนไทยจะยังกลัวทะเลอยู่มาก

“ถ้าถามว่า การที่นักท่องเที่ยวไม่กลับมากันนี้กระทบกับการดำรงชีวิตไหม ต้องตอบว่าก็ไม่มากนัก เพราะโฮมสเตย์คือรายได้เสริม ไม่ใช่รายได้หลัก หลังเกิดเรื่องเราก็ทำมาหากินกันตามปกติ แต่ก็กระทบบ้าง อย่างกุ้งเมื่อก่อนนี้ กิโลเกือบ 300 มาตอนนี้เหลือ 100 กว่าบาท เพราะร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ท ไม่มีแขก เขาก็ไม่ค่อยจะซื้อ คือถ้าการท่องเที่ยวดีขึ้นนักท่องเที่ยวกลับมา ของมันก็จะขายได้ราคาขึ้น” ภราดร บอก

ในเรื่องของบรรยากาศ สภาพแวดล้อม ของเกาะยาวหลังคลื่นสึนามิ ภราดรบอกว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นมีน้อยมากๆ เกาะยาวพร้อมจะขายตั้งแต่สองสามเดือนหลังสึนามิมาแล้ว มีรีสอร์ทอยู่ที่เดียวที่โดนหนักๆ แต่เขาสามารถฟื้นตัวได้ภายใน 3 เดือน สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ ภราดรรับรองว่า ถ้านักท่องเที่ยวมาเขาจะไม่เจออะไรที่เปลี่ยนแปลงไป ยกเว้นแต่การเปลี่ยนแปลงทางด้านดี อย่างน้ำทะเลที่ใสขึ้น และชายหาดสวยขึ้น

“เรียกว่าผลกระทบทางธรรมชาติไม่มาก แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจมีแน่นอน มันเป็นการเหมารวมเข่ง เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นจังหวัดพังงาเหมือนกันแล้วต้องโดนแน่ อย่างพังงากับกระบี่ที่โดนหนักๆ ก็คือเขาหลักกับพีพี แต่อย่างเกาะยาว อ่าวพังงา เกาะปันหยี ไม่กระทบเลย เขาก็น่าจะเล่นตัวนี้ให้มากขึ้น จุดที่ขายได้ก็ขาย จุดตรงไหนฟื้นฟูก็รอก่อน แยกเป็นส่วนๆ ไป” ภราดรกล่าว

สำหรับเกาะยาวนี้ ภราดรบอกว่า จุดขายของที่นี่ก็คือ อาหารทะเลที่สด สะอาดและราคาถูก นอกจากนั้นยังอยู่ใกล้กับแหล่งท่องเที่ยวอย่างหมู่เกาะบิเละ อ่าวพังงา และที่สำคัญก็คือวิถีชีวิตชุมชนที่ยังคงเป็นแบบดั้งเดิมอยู่ ซึ่งเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน สมเด็จพระเทพรัตนฯ ก็ได้เสด็จมาดูวิถีชีวิตกิจกรรมของกลุ่มเกาะยาวโฮมสเตย์ด้วย แต่สิ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยวหลายๆ คนยังคงเเวะมาเยี่ยมเยียนเกาะยาวโฮมสเตย์กันอยู่เรื่อยๆ นี้ น่าจะมาจากแนวคิดที่ชาวโฮมสเตย์ยึดถือกันว่า “คุณคือญาติที่มาพัก ไม่ใช่นักท่องเที่ยว”

เกาะมะพร้าว รอวันนักท่องเที่ยวกลับมา

“วันเกิดสึนามิ พี่ไปประชุมคณะกรรมการหมู่บ้านแต่เช้า ทะเลวันนั้นเป็นปกติเหมือนทุกวัน แต่จู่ๆน้ำทะเลก็ลดฮวบฮาบ เห็นเรือประมงแล่นเข้าฝั่งแต่ไกล พร้อมๆกับคลื่นลูกยักษ์ที่กวดไล่หลังมา พี่เห็นว่าผิดท่ารีบวิ่งไปบอกสามีกับลูกๆพร้อมตะโกนบอกเพื่อนบ้านและนักท่องเที่ยวไปตลอดทาง แต่ว่ามันมาเร็วเหลือเกิน พวกเราทำได้แค่หนีเอาตัวรอดขึ้นไปบนเขา”

หนูชม ปลูกไม้ดี แกนนำคนสำคัญแห่งชุมชนเกาะมะพร้าว หนึ่งในผู้เห็นเหตุการณ์สึนามิรำลึกความหลัง ก่อนจะเล่าด้วยน้ำตาคลอเบ้าว่า หลังคลื่นผ่านพ้นไปทันได้กวาดทุกอย่างไปหมด ทั้งบ้านเรือน เรือประมง ข้าวของเครื่องใช้ กระชังปลา ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้พวกเขาใช้เวลาทั้งชีวิตสร้างมันขึ้นมา

“หลังสึนามิพวกเราชาวเกาะมะพร้าวทำใจกันอยู่นานพอสมควร แต่เมื่อมาคิดอีกที พวกเรายังดีกว่าคนอื่นที่ไม่มีใครเสียชีวิตและสูญเสียคนที่รัก หลังจากนั้นก็เริ่มตั้งต้นสำรวจข้าวของที่เหลือ และรวบรวมแรงใจแรงกายกันสู้ต่อโดยมีศาสนาเป็นกำลังใจ”

หนูชม เล่าถึงชีวิตหลังสึนามิ ที่ปัจจุบันหลายสิ่งหลายอย่างบนเกาะมะพร้าวกลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว เมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทางชาวเกาะมะพร้าวก็เริ่มจัดกิจกรรมท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เกาะมะพร้าวถือว่ามาแรงพอสมควรในเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและการพักค้างแบบโฮมสเตย์

เกาะมะพร้าว เป็นเกาะที่อยู่ทางฝั่งตะวันออกของภูเก็ตไปไม่ไกล แต่ว่าบรรยากาศช่างแตกต่างกันลิบลับ เพราะเกาะมะพร้าวสงบงาม ท่ามกลางธรรมชาติที่รายล้อมไปด้วยต้นมะพร้าว ในขณะที่ผู้คนบนเกาะต่างก็ดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย แต่ว่ามีวิถีชุมชนและวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง ส่วนใหญ่ทำประมงพื้นบ้านและทำสวนยาง ซึ่งเกาะมะพร้าวนับเป็นแหล่งสำคัญในการผลิตอาหารทะเลให้กับร้านอาหาร และโรงแรม รีสอร์ทต่างๆในภูเก็ต นอกจากนี้ชุมชนเกาะมะพร้าวยังจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตรและการพักค้างแบบโฮมสเตย์เป็นรายได้เสริม

“ก่อนเกิดสึนามิ มีคนมาเที่ยวเกาะมะพร้าวกันพอสมควรทั้งคนไทยและต่างชาติ พวกเขาชอบในความเรียบง่าย ความสงบ และความเป็นมิตร ความมีน้ำใจของคนในชุมชนกับราคาที่พักที่ย่อมเยา แต่หลังสึนามิสิ่งต่างๆได้เสียหายไปจากคลื่น เมื่อพวกเราชาวชุมชนได้ปรับปรุงซ่อมแซมทุกอย่างเรียบร้อย ตอนนี้ก็ขาดแต่คนมาเที่ยวเกาะมะพร้าว เพราะหลังจากสึนามินักท่องเที่ยวหายไปหมดเลย”

หนูชม อธิบายพร้อมกับเล่าต่อว่า แม้กิจกรรมท่องเที่ยวบนเกาะมะพร้าวจะเป็นเพียงรายได้เสริม แต่พวกเราก็รู้สึกดีที่มีคนมาพัก มาเที่ยวบนเกาะ เพราะนี่คือกำลังใจอย่างหนึ่งของคนบนเกาะมะพร้าว

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

เกาะยาว ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดพังงา ประกอบด้วย 2 เกาะใหญ่ คือ เกาะยาวน้อย และเกาะยาวใหญ่ มีเกาะเล็กๆรายล้อม ปัจจุบันเกาะยาวถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยววิถีชุมชนและโฮมสเตย์ที่โดดเด่นแห่งอันดามัน ได้รับสัญลักษณ์มาตรฐานโฮมสเตย์ไทยในปี 2547 และได้รับรางวัล1 ใน 3 แหล่งทองเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางสังคมดีเด่นของโลก ในปี 2545 จากนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิค ทราเวลเลอร์

บนเกาะยาว นอกจากวิถีชุมชนที่โดดเด่นแล้ว(ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม) ยังมีจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจ อาทิ หาดป่าทราย หาดท่าเขา บนเกาะยาวน้อย ส่วนที่เกาะยาวใหญ่ก็มี อ่าวตีกุด อ่าวคลองสน อ่าวหินกอง เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ

สำหรับผู้สนใจบ้านพักแบบโฮมสเตย์บนเกาะยาวน้อย ติดต่อสอบถามได้ที่ คุณสำเริง ราเขต(บังหมี)โทร. 0-7659-7244 หรือ อบต.เกาะยาวน้อย โทร. 0-7659-7122

เกาะมะพร้าว จ.ภูเก็ต เป็นเกาะที่สงบงาม ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม โดดเด่นด้วยกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่งคนที่ไปเที่ยวเกาะช้างจะได้พบสัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวเกาะอย่างใกล้ชิดและเป็นกันเอง อาทิ การทำสวนยาง การกรีดยาง การทำประมงพื้นบ้าน การเลี้ยงกุ้ง หอย ปู ปลา ในกระชัง โดยเกาะมะพร้าวนับเป็นแหล่งเลี้ยงกุ้งมังกรชั้นเลิศ

ใครที่ชอบอาหารทะเล บนเกาะมะพร้าวมีอาหารทะเลสดๆจับจากทะเลให้กินมากมาย อีกทั้งยังมีผลิตภัณฑ์ของกลุ่มแม่บ้านและเกษตรกร อย่าง เช่น ปลาแห้ง หอยแห้ง ปลาทะเลอื่น ๆ และผ้าบาติก ไว้ให้นักท่องเที่ยวเลือกซื้อติดมือกลับบ้าน นอกจากนี้เกาะมะพร้าวยังมีที่พักแบบโฮมสเตย์ไว้บริการนักท่องเที่ยวในราคาย่อมเยา ซึ่งใครสนใจเที่ยวเกาะมะพร้าว สามารถติดต่อได้ที่ 0-7622-6342,0-1894-0064

กำลังโหลดความคิดเห็น