หลังสึนามิชาวอาเจะห์ที่บ้านเรือนถูกคลื่นยักษ์ซัดหายไปกว่า 67,000 คน ยังคงต้องซุกหัวนอนอยู่ในเต็นท์ที่รัฐบาลอินโดนีเซีย หรือองค์การสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศมอบให้ ขณะที่อีกประมาณ 50,000 คนมีความเป็นอยู่ดีกว่าหน่อยเพราะมีบ้านที่สร้างขึ้นอย่างง่ายๆ ให้ได้พักอาศัย
ได้ แม้เวลาจะล่วงเลยมาเกือบปีแต่พวกเขาเหล่านั้นยังไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตในที่ดินทำกินของตัวเองไกด้ตามปกติ เนื่องจากผู้ประสบภัยไม่มีหลักฐานใดๆ เป็นหลักฐานบ่งชี้ในการครอบครอง ส่วนทางการแดนอิเหนาก็ยังคงสาละวนอยู่กับการบูรณะฟื้นฟูและให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับปากท้องของประชาชน
ในวาระที่เกือบครบรอบ 1 ปีนี้ ผมเลยขอถือโอกาสนำเรื่องราวของชีวิตคนอาเจะห์ หลังจากผ่านเรื่องราวเลวร้ายที่สุดในชีวิต มาเล่าให้ผู้อ่านฟังเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงอีกมุมหนึ่งของโลก ที่แม้ว่าพวกเขาจะมีชีวิตอยู่ด้วยคสามทุกข์ยากแสนสาหัส แต่ว่าพวกเขาก็มีความหวัง
เมืองที่ยังมีชีวิต
หลังลงจากเครื่องบินที่ท่าอากาศยานอิสกันดาร์ มูดาในเมืองบันดาอาเจะห์ สิ่งแรกที่ผมขอไปชมในเมืองนี้ก็คือ "ตลาด"สถานที่ที่เมเปี่ยมไปด้วยความเคลื่อนไหวและสีสันชีวิตของผู้คนในอาเจะห์
ตลาดที่เดินทางไปชมนี้ แม้จะเป็นตลาดเล็กกลางเมือง แต่ก็มีความคึกคักไม่น้อย รถราวิ่งกันควักไขว่ อาจจะเป็นเพราะเวลาที่ไปถึงนั้น กำลังเข้าสู่ยามเย็นที่ผู้คนจำนวนมากออกมาจับจ่ายซื้อของไปปรุงเป็นอาหารค่ำ ส่วนสินค้าส่วนมากเป็นผัก ผลไม้ และอาหารสดอย่างไก่ ปลา
ภูมิปัญญาอาเจะห์
คืนวันแรกที่ไปถึง เจ้าบ้านชาวอาเจะห์เลี้ยงต้อนรับผู้มาเยือนจากไทยด้วยการไปหาอะไรดื่มสังสรรค์ แต่เนื่องจากที่นี่ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว อีกทั้งยังเป็นเมืองที่นำหลักการของศาสนาอิสลามมาใช้อย่างเคร่งครัด ผู้คนที่นี่จึงออกไปนั่งกันในร้านน้ำชา เพื่อพูดคุยหรือถกกันในประเด็นร้อนๆ ที่เกิดขึ้น
หนึ่งในเพื่อนชาวอินโดนีเซียของผมได้แนะนำให้รู้จักเครื่องดื่มสุดฮอตของแผ่นดินอาเจะห์ นั่นก็คือ "ซูซูโซดา" ซึ่งก็คือนมใส่โซดาดีๆนี่เอง ตอนแรกผมคิดว่าคงเป็นนมสดผสมโซดา แต่ที่ไหนได้มันกลับกลายเป็นนมข้นหวานผสมโซดาใส่น้ำแข็งที่ดื่มแล้วก็เย็นชื่นใจดีไม่น้อย แถมเพื่อนชาวอิเหนายังบอกอีกว่าซูซูโซดาดีต่อสุขภาพ ควรดื่มหลังอาหาร เพราะจะให้ท้องโล่งโปร่งสบายจากการเรอนั่นเอง
ส่วนในเรื่องการทำมาหากินแล้ว ผู้คนส่วนใหญ่ในอาเจะห์ยังไม่สามารถประกอบอาชีพประมงได้ เนื่องจากอพยพขึ้นมาอยู่ลึกจากชายทะเล อีกทั้งยังไม่มีเครื่องมือประกอบอาชีพ เพราะเสียหายไปในขณะเกิดคลื่นยักษ์ แต่พวกเขาได้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต หาสิ่งอื่นทำทดแทนที่ถึงแม้จะไม่ดีนักแต่ก็พอทำให้หาเงินเลี้ยงปากท้องประทังชีวิตไปได้
บางรายที่เข้ามาอยู่ที่ค่ายผู้อพยพซึ่งลึกเข้ามาในเมือง พวกเขาเลือกพื้นที่ว่างในการปลูกผัก เลี้ยงไก่ในค่าย ส่วนบางคนที่พอมีเงินเก็บอยู่บ้างก็เลือกลงทุนด้วยการเปิดร้านชา ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านอาหารเล็ก หรือร้านขนมขายให้กับเพื่อนที่ประสบภัยในค่าย
นอกจากนี้ยังมีอาชีพเก็บเศษเหล็กจากซากปรักหักพังก็กลายมาเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่คนอาเจะห์นิยมทำ
ในขณะที่ชาวประมงที่มีความสามารถทางด้านการดำน้ำ พวกเขาจะเลือกลงไปดำหาเศษเหล็กในบริเวณที่ถูกน้ำท่วม หรือซากที่ถูกคลื่นดูดลงไปในน้ำ ซึ่งรายได้จากการขายเศษเหล็กเหล่านี้ก็สร้างรายได้ให้พวกเขาดีไม่น้อย
"ศาสนาอิสลาม" สิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ
เกือบทุกเช้าที่อยู่บนผืนแผ่นดินอาเจะห์ ผมจะตื่นขึ้นมาแต่หัวรุ่ง เพราะได้ยินเสียงประกาศเข้าเวลาละหมาด ที่ดังอย่างต่อเนื่องจากมัสยิดหนึ่งไปอีกมัสยิดหนึ่ง ซึ่งชาวอาเจะห์เหล่านี้ปฏิบัติภารกิจ เข้าเฝ้าพระเจ้าตามหลักของอิสลาม จนเป็นเรื่องปกติวันละ 5 เวลา และจากที่ผมสังเกตก็เห็นมัสยิดเต็มไปด้วยผู้คนที่มาละหมาดเป็นจำนวนมาก
ว่ากันว่าในอาเจะห์เป็นดินแดน ที่ผู้คนยังคงความเป็นมุสลิมมากที่สุดในผืนแผ่นดินอินโดนีเซีย ที่เป็นประเทศที่มีผู้นับถือศาสนาอิสลามมากที่สุดในโลก ผู้ชายที่นี่ยังคงสวมหมวก และนุ่งโสร่งตามวัฒนธรรมแบบมุสลิมอินโดฯ ส่วนผู้หญิงก็ใส่ผ้าคลุมผมและแต่งกายอย่างมิดชิดตามหลักศาสนา
บนแผ่นดินอาเจะห์นี่เอง ผู้คนส่วนใหญ่ยังคงใช้ตัวอักษรภาษาอาหรับ ในการเขียน แม้ว่าอินโดนีเซียจะรับเอาตัวอักษรโรมันมาใช้แล้วก็ตาม ทำให้ในอาเจะห์เต็มไปด้วยป้ายร้านรวง ภาษาอาหรับเขียนกำกับคู่กับตัวอักษรโรมันเป็นจำนวนมาก
ช่วงเย็นผมไปเดินเล่น เห็นเด็กๆเดินกันเป็นกลุ่ม เพื่อไปศึกษาภาคศาสนาในบ้านของอิหม่ามหรือครูประจำหมู่บ้าน หลังจากเลิกเรียนในโรงเรียนสามัญ ซึ่งเด็กเหล่านี้จะได้รับความรู้ในการอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน การละหมาดและความรู้ในการดำรงชีวิตตามหลักอิสลาม
จากการพูดคุยกับคนที่นี่ พวกเขาต่างยอมรับกันว่าภัยพิบัติที่เกิดขึ้นมานั้นเป็นการทดสอบและลงโทษจากพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งต้องยอมรับและอดทนในสิ่งที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ พร้อมกับน้อมรับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างสนิทใจ โดยไม่กล่าวโทษใคร
ความเชื่อดังกล่าวถ่ายทอดผ่านข้อความที่พ่นไว้บนซากปรักหักพังของอาคารบ้านเรือน ที่เป็นไปในเนื้อความว่า "ขอสำนึกผิดและกลับเนื้อกลับตัวจากการลงโทษของพระผู้เป็นเจ้า"
หรือบางที่ก็พ่นว่า "อัลลอฮ์ผู้ยิ่งใหญ่" หรือ "การตักเตือนจากพระเจ้า" แนวความคิดและการปฏิบัติของคนอาเจะห์เหล่านี้ ทำให้ผมได้ความคิดว่าผู้คนยังคงมีความผูกพันกับศาสนาเป็นอย่างมาก ซึ่งการเดินทางไปอาเจะห์ในครั้งนี้สอนให้ผมได้รู้ว่าถึงแม้มนุษย์จะยิ่งใหญ่สักปานใด มีความสามารถมาสักแค่ไหน แต่ยังไงก็ไม่สามารถเอาชนะทุกสิ่งทุกอย่างได้
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
เมืองบันดาอาเจะห์ เป็นเมืองหลวงของจังหวัดอาเจะห์ บนปลายสุดด้านตะวันออกของเกาะสุมาตรา ประชากรมีฐานะปานกลาง ประกอบอาชีพประมง รับจ้าง และเพาะปลูก (มะพร้าว โกโก้ ยางพารา) มีประชากรทั้งหมด 400,000 คน (ก่อนเกิดสึนามิ)
เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.47 ได้เกิดแผ่นดินไหวความรุนแรง 9.3 ริกเตอร์ห่างไปทางใต้ของเมืองบันดาอาเจะห์ ประมาณ 200 กิโลเมตร หลังจากประมาณ 30 นาที คลื่นยักษ์ขนาดใหญ่(สึนามิ)ได้พัดเข้าถล่มเมืองนี้ราบเป็นหน้ากลอง ทำให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายมากถึง 150,000 คน นับเป็นเมืองที่ได้รับความสูญเสียมากที่สุดจากเหตุการณ์สึนามิครั้งนี้
สำหรับการเดินทางไปยังจังหวัดอาเจะห์สามารถเดินทางได้ทางเครื่องบินมาลงที่กรุงจาการ์ตา แล้วต่อเครื่องบินภายในประเทศ หรือจะมุ่งตรงมายังเมืองเมดาน ซึ่งเป็นเมืองใหญ่บนเกาะสุมาตรา แล้วต่อเครื่องในประเทศ นอกจากนี้ยังมีเรือจากมาเลเซียด้วยเช่นกัน
แต่ที่สำคัญที่สุดควรติดต่อกับทางสถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทยก่อนเดินทางมา เนื่องจากจังหวัดอาเจะห์ เป็นจุดที่ยังมีความขัดแย้งกับชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลกลาง (ถึงแม้ตามปกติแล้วไม่ต้องขอวีซาเข้าอินโดนีเซียก็ตาม)