xs
xsm
sm
md
lg

สัตว์ประหลาด!!! แห่งมาดากัสการ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : เหล็งฮู้ชง

หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ประเทศมาดากัสการ์ได้รับฉายาว่า"ดินแดนมหัศจรรย์" ก็คือความแปลกประหลาดของสัตว์และพืชที่ไม่เหมือนใคร โดยกว่า 90 % เป็นพืชและสัตว์เฉพาะถิ่นที่ไม่ที่อื่นใดในโลกนอกจากที่มาดากัสการ์

ด้วยเหตุนี้พื้นที่บางแห่งในมาดากัสการ์จึงถูกกำหนดให้เป็น"เขตสงวนพิเศษ" เพื่อเป็นการคุ้มครองสัตว์และพืชในประเทศนี้ไม่ให้ถูกทำลายจากเอื้อมมือมนุษย์ แต่กระนั้นในหลายพื้นที่ของประเทศมาดากัสการ์ก็ได้จัดพื้นที่ไว้เพื่อการท่องเที่ยว

หนึ่งในนั้นคือ อุทยานแห่งชาติอันดาสิเบ(Andasibe Nationanl Park) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในไฮไลท์การเที่ยวมาดากัสการ์ของผมในทริปนี้ เพราะที่นี่มีตัว"อินดรี อินดรี"สัตว์ประเภทลีเมอร์สายพันธ์ใหญ่ที่สุดในมาดากัสการ์ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปแอบซุ่มชมในป่าได้

สีสันชีวิตริมทาง

อุทยานแห่งชาติอันดาสิเบ นับเป็นหนึ่งในอุทยานฯอันโด่งดังของมาดากัสการ์ ตั้งอยู่ในเมืองอันดาสิเบที่อยู่ห่างห่างจากเมืองหลวง"อันตานานาริโร"หรือเมือง"ตานา"ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 140 กิโลเมตร ที่เส้นทางส่วนใหญ่ลดเลี้ยวเคี้ยวโค้งและขึ้นเขาลงเขาทำให้ในเส้นทางสายนี้กินเวลาร่วม 4 ชั่วโมง แต่ว่าหากรถแล่นไปจอดแวะซื้อของ แวะถ่ายรูป และแวะกินข้าวเที่ยง อย่างเช่นรถที่ผมนั่งไปในทริปนี้ก็กินเวลาร่วม 6 ชั่วโมงทีเดียว

ถึงแม้ว่าในทริปนี้จะมีเป้าหมายอยู่ที่อุทยานฯอันดาสิเบ แต่ก็ใช่ว่าระหว่างทางจะไม่มีสิ่งที่น่าสนใจให้ชม เพราะเพียงแค่รถวิ่งออกจากตัวเมืองตานา ภาพเสน่ห์ของวิถีชนบทแห่งมาดากัสการ์ก็ปรากฏให้เห็นเป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพของชาวมาลากาซี(ชื่อที่คนมาดากัสการ์ใช้เรียกตัวเอง)ที่ใช้ชีวิตกับสายน้ำทั้งการลงอาบน้ำ ซักผ้า ตามลำคลอง ภาพบ้านเรือนที่ปลุกสร้างตามภูมิประเทศทั้งในที่ราบและตามขุนเขา ภาพชาวมาลากาซีที่ใช้หัวทูนของเดินอยู่ทั่วไปใน 2 ข้างทางในบรรยากาศป่าเขาหรือไม่ก็เป็นทุ่งนาที่มีทั้งเขียวชอุ่มและดูแห้งแล้งตามสีของดินหลังการเก็บเกี่ยวไปด้วยสีดิน

พูดถึงเรื่องการทำนาของชาวมากาลาซีนี่นับว่าน่าสนใจไม่น้อย โดยพวกเขาส่วนใหญ่พวกเขาจะทำนากันปีละ 2 ครั้ง ด้วยวิถีการทำนาแบบดั้งเดิมที่ไม่ใช้เครื่องจักรช่วยในการทำนา แต่ว่าชาวมากาลาซีจะใช้ตัวเซบู(วัวพันธุ์หนึ่ง)ช่วยทำนา แต่ที่ผมเห็นแล้วอดทึ่งไม่ได้ก็คือในผืนนาของบางคนพวกเขาใช้คน 3-4 คนทำหน้าที่ลากเครื่องไถนาแทนตัวเซบู นับเป็นการไถนาแบบไม่พึ่งพาเครื่องจักรจริงๆ

นอกจากนี้ผืนนาส่วนใหญ่ที่พบในระหว่างทางจะดูต่ำกว่าระดับถนนมาก แถมนาหลายๆนาก็มีระดับไม่เท่ากัน ซึ่งไกด์นำเที่ยวได้บอกกับผมว่าเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ชาวมาลากาซีจะขุดดินหลังจากการไถนาไปทำเป็นอิฐขาย เพราะฉะนั้นในนาหลายๆผืนที่เก็บเกี่ยวแล้วก็จะเห็นว่าริมทุ่งนามีอิฐตั้งเรียงรายอยู่ไม่น้อยทีเดียว ส่วนท้องนาในหลายๆพื้นที่ก็ดูลึกลงไปจากระดับถนนไม่น้อยเช่นกัน

เข้าฟาร์มชมสัตว์ประหลาด

ผมนั่งรถดูป่าไม้ทุ่งนา และวิถีของคนมาดากัสการ์ได้ประมาณ 2 ชั่วโมงรถตู้นำเที่ยวก็เลี้ยวเข้าสู่ ฟาร์มมาโรเซโว (Marozevo Farm)ฟาร์มนี้ไม่ใช่เป็นฟาร์มเลี้ยงหมู ไก่ นกกระจอกเทศ แต่ว่าเป็นฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์ประหลาด หรือสัตว์แปลกๆในสายตาของคนต่างชาติ (แต่ว่าดูปกติสำหรับคนมาดากัสการ์)

สำหรับฟาร์มมาโรเซโวผมดูแล้วจะออกไปในแนวสวนสัตว์มากกว่า โดยที่นี่มีสัตว์ประหลาดๆสัตว์แปลกๆให้ดูอยู่หลายชนิด

มีตุ๊กแกหางใบไม้ที่มีความสามารถในการพรางตัวให้เข้ากับต้นไม้เปลือกไม้ได้อย่างยอดเยี่ยม

มีกบตัวจิ๋วสีส้มสดใส และกบจิ๋วประเภทแฟนซีที่ดูงดงามด้วยสีดำ เขียว เหลือง แดง ผสมกลมกลืนอยู่ในตัวเดียวกัน กระโดดเหยงๆไป-มา มองดูน่าเพลิน

มีนกแก้วสีดำที่หาดูได้ยากเกาะนิ่งอยู่ในกิ่งไม้ในกรงที่มิดชิด

และที่ถือว่าเป็นหนึ่งในดาวเด่นของฟาร์มแห่งนี้ก็คือ "กิ้งก่าคาเมเลี่ยน"ที่เป็นกิ้งก่าสืบเชื้อสายมาจากกิ้งก่าโบราณซึ่งมีทั้งขนาดเล็กจิ๋วกว่านิ้วก้อย และขนาดใหญ่เกือบ 2 ฟุต มีหน้าตาออกไปทางไดโนเสาร์ โดยประเทศมาดากัสการ์ถือเป็นแหล่งใหญ่ของกิ้งก่าคาเมเลี่ยนที่ว่ากันว่ากิ้งก่าพันธุ์นี้กว่าค่อนโลกล้วนแต่เป็นพันธุ์พื้นเมืองจากมาดากัสการ์

ความโดดเด่นเจ้ากิ้งก่าคาเมเลี่ยนก็คือสีสันอันฉูดฉาดของกิ้งก่าแต่ละตัว ที่พวกมันสามารถเปลี่ยนสีไปตามแสงและสภาพแวดล้อมได้อย่างยอดเยี่ยม แต่ไม่ว่าจะเปลี่ยนสีไปอย่างไรผมก็ว่ากิ้งก่าคาเมเลี่ยนนี่น่ามองในทุกๆสี และเจ้ากิ้งก่าค่าเมเลี่ยนนี่ยิ่งน่าดูมากขึ้นไปอีกเมื่อยามที่มันย่างสามขุมออกเดินเพราะมันจะยกขาก้าวไปค้างอยู่ในอากาศก่อนหนึ่งจังหวะ จากนั้นจึงค่อยกรอกตากลมๆไปมาในรอบทิศทางเหมือนกับระวังภัยเต็มที่ก่อนที่จะก้าวสัมผัสกับเป้าหมายในในจังหวะต่อไป

ใครที่อยู่ในอารมณ์วัยรุ่นใจร้อนอาจจะเกิดอาการวัยรุ่นเซ็งได้ยามที่เห็นเจ้าคาเมเลี่ยนเยื้องย่างก้าวเดิน เพราะมันช่างดูเชื่องช้ากระไรปานนั้น ดูแล้วช่างผิดแผกกับยามที่มันแลบลิ้นออกไปจับเหยื่อเสียเหลือเกิน เพราะมันช่างรวดเร็วจนกระพริบตาแทบไม่ทัน และที่ไม่น่าเชื่อก็คือเจ้ากิ้งก่าประเภทนี้มีลิ้นที่ยาวมากกกกก...

สำหรับที่ฟาร์มมาโรเซโวจะมีจุดชมเจ้ากิ้งก่าที่เด่นๆก็คือในบ้าน(กรง)กิ้งก่า ที่ในนั้นเป็นสวนขนาดเล็กๆมีกิ้งก่าอาศัยอยู่ทั่วไปทั้งตามต้นไม้และตามพื้นดิน เรียกว่าเมื่อเข้าไปต้องสอดส่ายสายตาหากันให้ดี เพราะเจ้าคาเมเลี่ยนนี่มันพรางตัวเก่งนัก มีทั้งสีแดง ส้ม เขียว กับลวดลายสีสันที่ฉูดฉาดงดงาม

นอกจากดาวเด่นอย่างกิ้งก่าคาเมเลี่ยนแล้วที่ฟาร์มแห่งนี้ยังมีสัตว์ดาวเด่นอีกประเภทหนึ่งนั่นก็คือลีเมอร์(Lemurs) หนึ่งในสัตว์สัญลักษณ์ของมาดากัสการ์ที่ดูน่ารักน่าชัง

“ลีเมอร์”(Lemur)ถือเป็นหนึ่งในสัตว์สัญลักษณ์ประจำชาติ ซึ่งว่ากันว่าปัจจุบันมีลีเมอร์อาศัยอยู่ในป่าตามธรรมชาติเฉพาะที่มาดากัสการ์เท่านั้น (ส่วนที่พบในประเทศอื่นถ้าไม่ถูกลักลอบนำออกไป ก็เป็นรัฐบาลมาดากัสการ์ส่งไปให้ประเทศนั้นเลี้ยง)

ลีเมอร์ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตระกูลลิงโบราณที่มีความเกี่ยวดองกับบรรพบุรุษของมนุษย์ เดิมนั้นลีเมอร์อาศัยอยู่ในทวีปแอฟริกา แต่ว่าพอเกิดปรากฏการณ์แผ่นดินแยกออกมาเป็นเกาะ(ประเทศ)มาดากัสการ์ ลีเมอร์ก็ได้มาปรากฏอยู่ที่มาดากัสการ์ ซึ่งปัจจุบันลีเมอร์ตามธรรมชาติมีหลงเหลืออยู่ประมาณ 17 สายพันธุ์ จาก 50 สายพันธุ์ ใน 5 ตระกูล

“ลีเมอร์”สัตว์น่ารักแห่ง“มาดากัสการ์”

จากตัวฟาร์มผมเดินขึ้นเขาเข้าป่าตามเจ้าหน้าที่ไปประมาณครึ่งกิโลเมตรพร้อมด้วยกล้วยหลายหวี สักพักก็ได้ยินเสียงร้องแปลกหูพร้อมๆกับการเคลื่อนไหวของสัตว์ที่ดูคล้ายๆลิง กระโดดข้ามระหว่างต้นไม้เคลื่อนเข้าใกล้มาทุกทีๆ จากหนึ่งตัว เป็น 2 ตัว เป็น 3 ตัว และเป็นฝูง

และแล้วผมก็ได้เห็นกับตาว่าลีเมอร์ตัวเป็นๆรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร ดูมันคล้ายๆลิงผสมกับกระรอก มีขนปุย ตัวสีน้ำตาล หน้าดำขอบขาว ปากคล้ายหมาจิ้งจอก มีหางยาวเป็นพวงกวัดแกว่งไปมา

ไกด์นำเที่ยวบอกกับผมว่า นี่คือ“ลีเมอร์สีน้ำตาล” (Brown Lemur) ซึ่งผมเห็นมีอยู่ที่ฟาร์มแห่งนี้เพียบเลย(เพราะตามธรรมชรติพวกมันจะอยู่กันเป็นฝูง) แถมมันยังเป็นลีเมอร์ที่น่ารักยิ่งนัก เพราะพอมันรู้ว่าพวกเรามาก็รีบกระโดดมาทักทาย แน่นอนว่างานนี้เจ้าลีเมอร์มีจุดประสงค์อยู่กับกล้วยอร่อยๆจากมือนักท่องเที่ยว ที่บางตัวก็เข้าใจประจบด้วยการกระโดดมาเกาะไหล่ แล้วสุดท้ายก็ได้กล้วยไปกินสมใจอยาก

นอกจากนี้ยังมีลีเมอร์ประเภทที่ดูน่าเห็นใจคือกระเตงลูกตัวน้อยมาจ้องพวกเราตาแป๋วปนละห้อย ซึ่งแน่นอนว่าก็ได้กล้วยไปกินทั้งแม่ทั้งลูก ส่วนเจ้ากลุ่มลีเมอร์นักกายกรรมที่ห้อยโหนตัวไป-มาอย่างน่ารักน่าชังตามต้นไม้นี่ก็เป็นกลุ่มที่เรียกเสียงฮาของผู้ที่ไปเห็นได้เป็นอย่างดี

ช่วงแรกๆดูเหมือนว่าลีเมอร์สีน้ำตาลจะเป็นดาวเด่นเพราะมีแต่พวกมันกลุ่มเดียว แต่ครั้นเมื่อจู่ๆมีลีเมอร์ซีฟาคา(Zifaka) เข้ามาร่วมวง ดูเหมือนว่าลีเมอร์สีน้ำตาลจะถูกขโมยซีนไปหลายตัว เพราะว่าเจ้าซีฟาคานี่มันมีความน่ารักน่าชังไม่แพ้กัน

ซีฟาคาเป็นลีเมอร์ที่ดูออกไปทางชะนีบ้านเรา มีหน้าดำ หูดำ หัวขาว ตัวขาว ลำตัวด้านหน้าเป็นสีน้ำตาล สำหรับเจ้าลีเมอร์พันธุ์นี้มันค่อนสันโดษคือจะอยู่กันเป็นคู่ ไม่นิยมอยู่กันเป็นกลุ่ม ในวันนั้นผมจึงเห็นซีฟาคาไม่กี่ตัว แต่ว่ามันก็มีเสน่ห์ไม่น้อยตรงที่เวลาลงจากต้นไม้มาสัมผัสพื้นดินมันจะกระโดดเหยงๆไป-มา ดูน่ารักจนมีคนให้ฉายาว่า“ลีเมอร์นักเต้น” เพราะลีลาการกระโดดของมันคล้ายนักเต้นเท้าไฟไม่น้อยทีเดียว

นอกจากที่ฟาร์มมาโรเซโวแล้ว ก็ยังมี “เกาะลีเมอร์” เป็นอีกหนึ่งจุดชมลีเมอร์ที่น่าสนใจ

“เกาะลีเมอร์” เป็นส่วนหนึ่งของ Vakona Forest Lodge ซึ่งเป็นที่พักของผมในเมืองอันดาสิเบท่ามกลางธรรมชาติที่แวดล้อม โดยในเช้าวันรุ่งขึ้นผมได้นั่งเรือแคนูข้ามลำธารแคบๆประมาณ 3 เมตร ลึกประมาณเอวจากฝั่งไปยังเกาะลีเมอร์(เหตุที่ไม่ทำสะพานข้ามเพราะกลัวลีเมอร์ขึ้นสะพานมาเพ่นพ่านยังที่พัก)

พอขึ้นฝั่งบนเกาะลีเมอร์ เส้นทางจะเป็นสะพานไม้ผ่านดงเฟิร์น ก่อนจะข้ามสระน้ำไปยังถิ่นของลีเมอร์ ซึ่งผมยังไม่ทันจะเดินข้ามพ้นสะพาน เจ้าลีเมอร์สีน้ำตาลฝูงเล็กๆก็วิ่งเข้ามาทักทาย

อะแฮ่ม...งานนี้ผมรู้ทันว่าจุดประสงค์มันอยู่ที่กล้วยในมือเลยให้ตัวที่ไวที่สุดไปเพียงหนึ่งลูก และต้องเสียกล้วยอีกลูกหนึ่งให้กับเจ้าซีฟาคาที่กระโดดเหยงมาขอแจม ส่วนกล้วยที่เหลือผมกั๊กเอาไว้ให้กับลีเมอร์ที่ถือเป็นพระเอกของเกาะแห่งนี้นั่นก็คือ Ruffed Lemur หรือที่ผมเรียกว่า“ลีเมอร์หมีหมา”เพราะหน้าตามันดูคล้ายหมีผสมหมา แต่ว่ามันไม่ดุเหมือนหมีไม่เห่าเหมือนหมา ตัวมีสีดำขาวแบ่งสัดส่วนชัดเจน ส่วนใบหน้ามีสีดำขอบขาวขนฟู และมีหางยาวเป็นพวงระย้า

ซึ่งด้วยความลงตัวของธรรมชาติที่สร้างสรรค์เจ้า Ruffed Lemur และด้วยความที่วันนั้นมันมาเพียงหนึ่งเดียว ทำให้เจ้าตัวนี้จึงกลายเป็นดาวเด่นไปโดยปริยาย

ผมเพลิดเพลินกับลีเมอร์ หลายตัวใน 3 พันธุ์ที่เกาะลีเมอร์อยู่พักใหญ่ ก็ออกเดินทางสู่อุทยานแห่งชาติอันดาสิเบ เพื่อเข้าป่าไปลุ้นระทึกกับลีเมอร์พันธุ์อินดรี อินดรี ที่มีอยู่แห่งเดียวในอุทยานฯแห่งนี้

อินดรี อินดรี ราชาแห่งลีเมอร์

ก่อนเข้าตะลุยป่าไปดูลีเมอร์ ผมอุ่นเครื่องด้วยการไปดูข้อมูลของอินดรี อินดรี ในห้องแสดงนิทรรศการ ซึ่งการจัดแสดงนั้นห่างชั้นกับห้องนิทรรศการตามอุทยานฯแห่งชาติบ้านเรามาก แต่กระนั้นผมก็ได้รู้ข้อมูลของอินดรี อินดรี หลายอย่าง

อินดรี อินดรี เป็นลีเมอร์สายพันธุ์ใหญ่ที่สุดที่ยังหลงเหลืออยู่ ตัวมีสีขาว-ดำ หางสั้น มีหูกลมคล้ายหมีแพนด้า และเป็นสัตว์ตัวอย่างของครอบครัวอันอบอุ่นเพราะพวกมันจะอยู่แบบผัวเดียวเมียเดียว มีตัวโตประมาณลูกหมี กินใบไม้ และหน่ออ่อนของต้นไม้เป็นอาหาร มีขาแข็งแรงเพราะต้องใช้ในการปีนป่ายต้นไม้

เมื่อรู้ข้อมูลคร่าวๆของอินดรี อินดรีแล้ว ก็มุ่งหน้าเข้าสู่ป่าไปตามหาอินดรี อินดรี กันเลยดีกว่า

สำหรับการไปชมตัวอินดรี อินดรี จะว่าไปแล้วก็เปรียบได้กับการส่องสัตว์ยามค่ำคืนที่เขาใหญ่ การซุ่มดูช้างที่กุยบุรี หรือการซุ่มดูกระทิงที่เขาแผงม้า ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับโชคด้วยว่าเจ้าอินดรี อินดรี มันจะออกมาให้เห็นหรือเปล่า

แต่ว่าส่วนใหญ่จะได้ยลตัวอินดรี อินดรี เพราะว่ามันจะออกหากินในบริเวณเดิมๆทุกวัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหากมันไม่ออก ทางเจ้าหน้าที่อุทยานฯผู้นำทางเขาก็กันเหนียวด้วยการเปิดเทปเสียงของอินดรี อินดรี ล่อให้มันออกมา แต่ในทริปนี้ไม่ถึงขนาดต้องเปิดเทปเรียกอินดรี อินดรี ออกมา เพราะเมื่อเดินเข้าป่าได้สักพักเจ้าลีเมอร์สีน้ำตาลฝูงหนึ่งก็กระโดดออกมาทักทาย แต่ว่าลีเมอร์สีน้ำตาลที่นี่ดูมันไม่คุ้นเคยกับคนเท่าที่ฟาร์มมาโรเซโวหรือที่เกาะลีเมอร์ แต่ว่ามันดูเป็นธรรมชาติกว่าเยอะ

ครั้นถูกทักทายจากลีเมอร์สีน้ำตาล ชั่วครู่ให้หลังทางเจ้าหน้าที่นำทางก็บอกให้ผมและคนในทริปเงียบเสียงพร้อมๆกับค่อยย่องไปในป่าที่ค่อนข้างทึบ ก่อนที่เขาจะชี้ขึ้นบนต้นไม้ ซึ่งบนนั้นมีตัวอินดรี อินดรี เกาะนิ่งอยู่ เช่นเดียวกับต้นไม้ต้นข้างๆก็มีตัวอินดรี อินดรี นั่งแอ๊คนิ่งอยู่บนต้นไม้เช่นกัน

ทั้ง 2 ตัวแม้จะรู้ว่ามีคนไปแอบดูมันแต่ว่าต่างก็ไม่มีทีท่ารู้หนาวรู้ร้อนแต่อย่างใด แต่แล้วความน่าสนใจในตัวอินดรี อินดรี ก็เข้มข้นขึ้นเมื่อทางเจ้าหน้าที่เปิดเสียงล่อให้มันร้องตาม สักพักพอสิ้นเสียงจากเทปเสียงจริงๆจากตัวจริงๆของอินดรี อินดรี ก็ดังโหยหวนก้องป่า นับเป็นการปิดฉากทริปชมลีเมอร์ในมาดากัสการ์อย่างสวยงาม ซึ่งนี่คือเสน่ห์เล็กๆน้อยๆที่ผมๆได้พานพบในการเที่ยวมาดากัสการ์ ประเทศที่ได้รับการเรียกขานว่า”ดินแดนมหัศจรรย์”...


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ประเทศมาดากัสการ์เป็นเกาะใหญ่ที่แยกตัวตามธรรมชาติออกมาจากทวีปแอฟริกา นับเป็นเกาะใหญ่อันดับ 4 ของโลก ประเทศนี้มีสัตว์เฉพาะถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อาทิ ตัวลีเมอร์ กิ้งก่าคามีเลี่ยน ต้นเบาบับ กบสีแปลกตา

มาดากัสการ์ ใช้ภาษาพื้นเมืองคือมาลากาซี นอกจากนี้ยังใช้ภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษ(ไม่แพร่หลาย) มีเวลาช้ากว่าไทย 4 ชั่วโมง ใช้เงินสกุลอาเรียร์รี่ที่ 1 บาท ตกประมาณ 50 อาเรียร์รี่

นอกจากนี้ที่มาดากัสการ์ยังมีต้นไม้ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของประเทศก็คือ ต้นเบาบับ (Baobab) ที่เป็นต้นไม้ที่มีลักษณะเหมือนต้นไม้หัวกลับ หรือเหมือนหัวไชเท้าขนาดใหญ่ปักลงในดิน เบาบับเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ ว่ากันกว่าเป็นต้นไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยเฉลี่ยมีแล้วสูงประมาณ 25 เมตร และต้นใหญ่ขนาด 10 คนโอบ ในโลกมีทั้งหมด 9 ชนิด แต่มีอยู่ 7 ชนิดที่มีเฉพาะที่มาดากัสการ์เท่านั้น

สำหรับผู้ที่สนใจเที่ยวมาดากัสการ์สามารถสอบถามได้ที่บริษัททัวร์ทั่วไป หรือที่สายการบินแอร์ มาดากัสการ์  โทร.0-2235-8226-9

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
 
ค้น“ฅน” ยลวังฯในเมืองหลวงแห่ง“มาดากัสการ์”
กำลังโหลดความคิดเห็น