xs
xsm
sm
md
lg

เรียนรู้เรื่องราวช้างเผือก ที่ "พิพิธภัณฑ์ช้างต้น"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง

ภายในรั้วเดียวกันกับพระที่นั่งวิมานเมฆด้านที่ติดกับรัฐสภา มีพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งตั้งอยู่อย่างเงียบสงบ เงียบสงบเสียจนฉันสงสัยว่า คงจะมีหลายคนมองผ่านเลยอาคารพิพิธภัณฑ์สองหลังนี้ไป ฉันเองหากไม่ตั้งใจจะมาที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้โดยเฉพาะ ก็ไม่แน่ว่าอาจจะมองผ่านเลยไปเช่นกัน ซึ่งพิพิธภัณฑ์ที่ฉันตั้งใจมาชมในวันนี้ก็คือ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติช้างต้น” นั่นเอง

เหตุที่ฉันตั้งใจมาชมพิพิธภัณฑ์ช้างต้นในวันนี้ ก็เพราะรู้มาว่า ช้างนั้นถือเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทย โดยเฉพาะช้างเผือกซึ่งถือเป็นสัตว์ที่สูงด้วยมงคล และแสดงให้เห็นถึงบุญญาบารมีของพระมหากษัตริย์ที่ได้ครอบครอง และช้างเผือกนั้นก็เคยอยู่บนธงชาติไทย ที่เรียกว่าธงช้างเผือกมาแล้วช่วงหนึ่งด้วย ดูเหมือนว่าจะไม่มีที่ไหนที่จะให้ข้อมูลเรื่องของช้างที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ได้ดีเท่าที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติช้างต้นนี้อีกแล้ว

ฉันว่า หลายคนอาจจะยังไม่ทราบความหมายของคำว่าช้างต้นดีนัก เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นเรามารู้จักกับ “ช้างต้น” ก่อนดีกว่า ช้างต้น ก็คือช้างที่ได้รับการขึ้นระวางเป็นช้างหลวงส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ ซึ่งเมื่อก่อนนั้นช้างต้นแบ่งเป็น 3 ประเภท หนึ่งคือช้างศึกที่ใช้ออกรบ สองคือช้างสำคัญที่มีลักษณะเป็นช้างมงคลตามตำราคชลักษณ์ แต่ไม่สมบูรณ์หมดทุกส่วน และสามคือช้างเผือกที่ลักษณะถูกต้องตามตำราคชลักษณ์ทุกประการ แต่ในระยะหลัง ความต้องการใช้ช้างศึกในการสงครามก็ลดน้อยลงเพราะมีอาวุธยุทโธปกรณ์อื่นๆ เข้ามา ดังนั้น ช้างต้นในยุคนี้จึงมักหมายถึงเพียงช้างเผือก

สำหรับช้างเผือกนั้นถือเป็นสมบัติของพระมหากษัตริย์ หากใครพบเจอช้างเผือกหรือช้างที่มีลักษณะดีที่ไหนจะต้องแจ้งแก่ทางการ เพื่อตรวจสอบว่าตรงตามตำราคชลักษณ์หรือไม่ หากเป็นช้างเผือก หรือช้างสำคัญ ก็ต้องมอบให้แก่ทางการ เพื่อถวายให้แก่กษัตริย์ และประกอบพระราชพิธีรับสมโภชกันต่อไป ซึ่งช้างที่ได้รับการสมโภชขึ้นระวางแล้ว จะมียศเทียบชั้นเจ้าฟ้าเลยทีเดียว

เมื่อมีช้างต้น ก็จำต้องมีโรงช้าง ซึ่งในรัชกาลที่ 1-4 นั้น โรงช้างต้นตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง และเมื่อมีการก่อสร้างพระราชวังดุสิตขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงช้างต้นในพระราชวังดุสิตขึ้นด้วย เพื่อพระราชทานแก่พระเศวตอุดมวารณ์ ช้างต้นในรัชกาล ซึ่งได้ประกอบพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางเมื่อ พ.ศ.2449 และล้มไปในปี พ.ศ.2452

และต่อมาในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้มีการก่อสร้างโรงช้างต้นเพิ่มอีกหนึ่งหลัง เพื่อพระราชทานแก่ พระเศวตคชเดชน์ดิลก ช้างต้นในรัชกาลที่ 7 จนมาถึงในปัจจุบัน โรงช้างต้นสองหลังนี้ก็ได้กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ช้างต้นให้ฉันได้เข้ามาหาความรู้วันนี้นี่เอง

ว่าแล้วก็เข้าไปดูด้านในกันดีกว่า สำหรับอาคารหลังแรกนี้เมื่อเข้าไปด้านใน สิ่งแรกที่จะเห็นก็คืองาช้างขาวยาวโง้ง 3 คู่ ตั้งอยู่เบื้องหน้า ซึ่งงาคู่แรกเป็นงาของ เจ้าพระยาปราบไตรจักร พระยาช้างเผือกในรัชกาลที่ 3-4 มีความยาวข้างละ 257 และ 290 ซม. งาคู่ที่สองเป็นงาของพระบรมคชลักษณ์ ช้างต้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ความยาว 248 ซม. และงาคู่ที่สามเป็นของพระเศวตวรวรรณ ช้างต้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เช่นกัน มีความยาว 203 ซม.

ในห้องจัดแสดงนี้ เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับกำเนิดของช้างมงคล ซึ่งน้อยคนจะรู้ว่า ช้างมงคลนั้นแบ่งออกเป็น 4 ตระกูลด้วยกัน ตามนามแห่งเทวะ หรือเทวดาผู้ให้กำเนิด นั่นก็คือ ช้างตระกูลพรหมพงศ์ พระพรหมเป็นผู้สร้าง หากมีช้างในตระกูลนี้มาสู่พระบารมี เชื่อว่าจะให้ความเจริญทั้งทางวัตถุและวิทยาการต่างๆ แก่เจ้าของ ส่วนช้างตระกูลอิศวรพงศ์ พระอิศวรเป็นผู้สร้าง เมื่อมีช้างตระกูลนี้มาสู่พระบารมี จะทำให้บ้านเมืองมีความเจริญด้วยทรัพย์และอำนาจ

ช้างตระกูลวิษณุพงศ์ พระวิษณุเป็นผู้สร้าง เมื่อมีช้างตระกูลนี้มาสู่พระบารมีย่อมมีชัยชนะต่อศัตรู ฝนจะตกต้องตามฤดูกาล ผลาหาร ธัญญาหารจะบริบูรณ์ และช้างตระกูลอัคนิพงศ์ พระอัคนีเป็นผู้สร้าง ช้างตระกูลนี้เมื่อมาสู่พระบารมี บ้านเมืองจะเจริญด้วยมังสาหาร มีผลในทางระงับศึกอันพึงจะเกิดหรือเกิดขึ้นแล้ว และมีผลในทางระงับความอุบาทว์ทั้งปวงอันเกิดแก่บ้านเมืองและราชบัลลังก์

และช้างในแต่ละตระกูลนี้ก็ยังแบ่งเป็นหมู่ต่างๆ อีกมาก ซึ่งหากใครอยากจะรู้รายละเอียดมากกว่านี้คงต้องไปหาอ่านได้ในตำราคชลักษณ์ ซึ่งเป็นตำราที่ว่าด้วยลักษณะรูปพรรณสัณฐานของช้างดี-ชั่ว

นอกจากนั้น ในห้องจัดแสดงนี้ก็ยังมีโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับช้างมาจัดแสดงประกอบ ซึ่งที่ฉันเห็นว่าน่าสนใจก็คือ หนังช้างเผือกดอง ซึ่งมีผู้พบช้างเผือกนี้ที่บ้านนา แขวงนครนายกในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งพระองค์ท่านตั้งใจจะสมโภชขึ้นเป็นช้างต้น แต่น่าเสียดายที่ว่าช้างเชือกนี้ล้มไปเสียก่อน แต่เพราะเป็นช้างเผือกที่งามมาก เมื่อล้มไปแล้วพระองค์ท่านจึงนำหนังช้างมาดองไว้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็น และก็ยังมีโบราณวัตถุอื่นๆ อีก เช่น งาของพระยาช้างต้นในรัชกาลต่างๆ แส้หางช้าง และพิสมร หรือ เครื่องรางสำหรับช้าง ยันต์พระอรหันต์ 8 ทิศที่เอาไว้แขวนในโรงพิธีรับและสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญ

และยังมีความรู้เรื่องการคล้องช้างหรือวิธีจับช้างแบบต่างๆ ทั้งการแทรกโพนช้าง การวังช้าง และการคล้องช้างในเพนียด มีภาพของพ่อหมอเฒ่าเชื้อสายส่วย จังหวัดสุรินทร์ที่เชี่ยวชาญในเรื่องการคล้องช้าง รวมทั้งจัดแสดงเครื่องรางของขลังที่พ่อหมอเฒ่าและควาญช้างนำติดตัวไประหว่างคล้องช้างด้วย

ส่วนอาคารหลังที่สอง จัดแสดงเกี่ยวกับพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างต้น จุดเด่นของห้องนี้ก็คือ รูปช้างจำลอง ที่มีเครื่องแต่งตัวตามแบบช้างต้น คือมีผ้าคลุมหลัง พู่หู ผ้าปกกระพอง ตาข่ายแก้วเจียระไน เสมาคชาภรณ์ และอื่นๆ อีกมากมาย และยังมีภาพพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างเผือกในรัชกาลปัจจุบันด้วย ซึ่งทำให้เราได้เห็นภาพการอาบน้ำช้างก่อนสมโภชขึ้นระวาง ภาพพิธีลอดโขลนทวารของช้างสำคัญไปยังโรงพระราชพิธี และภาพภายในงานพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างต้น รวมถึงภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งน้ำเทพมนต์ให้ช้างสำคัญ เพื่อแต่งตั้งขึ้นเป็นช้างต้น

และที่น่าสนใจก็คือ มีรายนามของช้างต้นทั้งสิบช้าง (ลักษณะนามของช้างต้นเรียกเป็นช้าง 1 ช้าง) ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ในขณะนี้ยังมีชีวิตอยู่ทั้งหมด 6 ช้างด้วยกัน ซึ่งแต่ละช้างก็มีความน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว และมีนามที่ยาวมาก อย่างช้างต้นช้างแรกในรัชกาลที่ 9 มีนามว่า "พระเศวตอดุลยเดชพาหน ภูมิพลนามวนาถบารมี ทุติยเศวตกรีกมุทพรรโณภาส บรมกมลาสนวิสุทธวงศ์ สรรพมงคลลักษณคเชนทรชาติ สยามราษฎรสวัสดิ ประสิทธิ์รัตนกุญชรนิมิตบุญญาธิการ ปรมินทรพิตรสารศักดิเลิศฟ้า" ช้างเผือกช้างนี้พบที่จังหวัดกระบี่ ขณะนี้ก็มีอายุกว่า 50 ปีแล้ว ยืนโรงอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล

ส่วนช้างต้นช้างที่ 3 หรือพระเศวตสุรคชาธาร ก็น่าสนใจ เพราะถือเป็นช้างต้นที่เป็นพระสหายของสมเด็จพระเทพรัตนฯ เมื่อยังทรงพระเยาว์ด้วย เพราะได้เข้ามาอยู่ในโรงช้างต้นของวังจิตรลดาเมื่อยังเป็นช้างเด็กอยู่ ดังนั้นจึงมีโอกาสได้เล่นกับสมเด็จพระเทพบ่อยๆ ดังที่ท่านได้ทรงกล่าวถึงในพระนิพนธ์ “เรื่องช้าง” ไว้ว่า “...เมื่อเวลาแปรพระราชฐานไปหัวหิน ก็โปรดให้คุณพระ (หมายถึงพระเศวตสุรคชาธาร) และสุนัขบริวารทั้งฝูงโดยเสด็จด้วย เหตุนี้ฉันจึงคุ้นเคยกับคุณพระเป็นพิเศษ ฉันนั่งเล่นบนเสื่อ คุณพระก็นั่งด้วย (บางครั้งจะนั่งตักฉัน ต้องคอยเขยิบหนี)…” แต่พระเศวตสุรคชาธารได้ล้มไปเมื่ออายุ 9 ปี ส่วนช้างต้นช้างอื่นๆ ต่างก็ยืนโรงอยู่ในจังหวัดต่างๆ ล้มไปบ้างแล้วก็มี

ลองคิดดูว่า พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันของไทยเรา มีช้างเผือกเข้ามาสู่พระบารมีหลายเชือก สมโภชขึ้นระวางเป็นช้างต้นถึง 10 ช้างด้วยกัน และยังมีช้างสำคัญอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้สมโภชขึ้นระวาง นั่นแสดงให้เห็นถึงพระบารมีของพระองค์ท่านว่ามากมายเพียงใด ไม่มีใครสามารถมาเทียบเทียมได้อย่างแน่นอน

ครั้งหนึ่ง โรงช้างต้นแห่งนี้เกือบจะโดนรื้อถอนออกไป แต่โชคดีที่ทางกรมศิลปากรเห็นว่าสถานที่แห่งนี้มีค่าควรแก่การอนุรักษ์ไว้ เนื่องจากเป็นโรงช้างต้นเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 7 มีความเกี่ยวพันกับช้างต้นของพระมหากษัตริย์ รวมทั้งโรงช้างต้นในพระบรมมหาราชวังก็ไม่มีอีกแล้ว จึงควรเก็บรักษาโรงช้างต้นนี้ไว้ให้ลูกหลานได้ชมกันต่อไป และสุดท้ายก็ได้จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ช้างต้นเพื่อเป็นสถานที่ให้ความรู้แก่คนทั่วไป ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ถูกต้องอย่างยิ่ง และฉันก็เป็นคนหนึ่งละ ที่ได้ความรู้ไปจากพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มากทีเดียว

*****************************************

คลิกดูแผนที่และรายละเอียด "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ช้างต้น"
กำลังโหลดความคิดเห็น