xs
xsm
sm
md
lg

เสน่ห์หา จำปาเมืองลาว / ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี

...ดวงจำปาชูช่อรอรับแสง
เหล่าแมลงเคลียเคล้าเข้าผสม
ที่เมืองไทย เอ่ยชื่อคือลั่นทม
ที่เมืองลาวชนนิยมว่าจำปา


...หอมเอย...หอมกลิ่น...เจ้าดอกไม้
หอมระรื่น ชื่นใจ ข้อยหนักหนา
อยากจะไปเกดใหม่อีกสักครา
จะมาเป็นดวงจำปาที่เมืองลาว


โดย : พิมพร รัตนฯ : หลวงพระบาง 5 ธ.ค. 2542

1...

ดูเหมือนว่า ตั้งแต่ชื่อ"ลั่นทม"เปลี๊ยนไป มาเป็น"ลีลาวดี"สถานภาพของพรรณไม้ชนิดนี้ได้แปรเปลี่ยนจากดั้งเดิมไปราวฟ้ากับเหว

สมัยยังชื่อลั่นทม นับเป็นหนึ่งในไม้ต้องห้าม ไม้อัปมงคล เพราะชื่อลั่นทมเมื่อฟังแล้วเสียงจะออกไปคล้ายกับคำว่า "ระทม" ที่ฟังแล้วดูโศกเศร้าเคล้าทุกข์ตรมกระไรปานนั้น ยิ่งคนโบราณด้วยแล้วเป็นตายยังไงห้ามนำลั่นทมเข้ามาปลูกในบ้านเด็ดขาด!!!

แต่ว่าหลังจากที่ลั่นทมเปลี่ยนชื่อมาเป็นลีลาวดีเมื่อไม่กี่ปีมานี้ เท่านั้นแหละได้เรื่องเลย จากต้นไม้ต้องห้ามกลับกลายมาเป็นต้นไม้ยอดฮิตขึ้นมาทันตาเห็น

สถานที่หลายๆแห่งพยายามเสาะหาต้นลีลาวดีมาประดับจนทำให้มีการปั่นราคาลีลาวดีกันจนแพงลิบลิ่ว ขายกันต้นเป็นหมื่นเป็นแสน และยังทำให้ลีลาวดีในเมืองไทยขาดแคลน จนพ่อค้าแม่ค้าต้องไปลักลอบนำลีลาวดีข้ามโขงจากประเทศลาวมาขายในเมืองไทย

ใครที่สงสัยสำนวนชื่อนั้นสำคัญไฉน?!? การเปลี่ยนชื่อต้นไม้จากลั่นทมเป็นลีลาวดีนับเป็นหนึ่งในคำตอบที่ช่วยไขความกระจ่างได้เป็นอย่างดี แต่ในเรื่องเช่นนี้ไม่มีเกิดขึ้นแต่อย่างใดในประเทศลาว เพราะคนลาวยังคงเรียกขานต้นไม้ชนิดนี้ว่า"จำปา"อย่างเหนียวแน่น ซึ่งนอกจากดอกจำปาจะเป็นดอกไม้ประจำชาติแล้ว เพลง"จำปาเมืองลาว"ก็ยังเป็นเพลงอมตะของชาติลาวที่โด่งดังขจรไกลมาถึงเมืองไทย...

2...

โอ้...ดวงจำปา เวลาชมน้อง
นึกเห็นพันซ้อง มองเห็นหัวใจ
เฮานึกขึ้นได้ ในกลิ่นเจ้าหอม
เห็นสวนดอกไม้ บิดาปลูกไว้
ตั้งแต่นานมา เวลาหงอยเหงา
เจ้าช่วยบรรเทา เฮาหายโศกา
เจ้าดวงจำปา คู่เคียงเฮามา แต่ยามน้อยเอย...

(ท่อนแรกของบทเพลง จำปาเมืองลาว)

"จำปาเมืองลาว" หรือชื่อเดิม"ดวงจำปา"ประพันธ์โดยท่านอุตะมะ จุลามะนี เมื่อตอนที่ต้องระหกระเหินจากบ้านเกิดเมืองนอนไปอยู่ต่างประเทศ ในยุคที่ลาวต่อสู้เรียกร้องเอกราชจากฝรั่งเศสราวๆ ค.ศ. 1945

ท่านอุตะมะได้ใช้สัญลักษณ์เปรียบดวง(ดอก)จำปาแทนประเทศลาวที่ยามอยู่ไกลบ้านมองดวงจำปาแล้วคิดถึงเมืองลาว(เวลาผมฟังแล้วได้อารมณ์คล้ายๆกับเพลงคิดถึงบ้านหรือเดือนเพ็ญของ"นายผี-อัศนี พลจันทร" ที่ยามมองเดือน(ดวงจันทร์)จิตใจพลันนึกถึงสยามประเทศที่ต้องจากจรมาไกล)

ในอดีตเวลาคนลาวส่วนใหญ่ต้องจากประเทศไปไกลมักจะร้องเพลงนี้เวลาคิดถึงบ้าน มาในปัจจุบันเพลงจำปาเมืองลาวถือเป็นเพลงที่ฟังได้ทั่วไปในสปป.ลาว ไม่ว่าจะเป็น จากการขับร้องทั่วไปของคนลาวตามบ้านเรือน ตามท้องทุ่ง ตามร้านอาหาร ในดิสโกเธค ตามงานเลี้ยงต่างๆ หรือการแสดงฟ้อนต้อนรับแขกต่างบ้านต่างเมือง

อย่างเมื่อครั้งล่าสุดที่ผมไปเยือนหลวงพระบาง ฟ้อน"ดวงจำปา" ถือเป็นหนึ่งในการแสดงฟ้อนต้อนรับแขกต่างถิ่นที่นางรำเธอวาดลีลาร่ายรำได้อย่างอ่อนช้อย กลมกลืนกับเสียงขับขานบทเพลงของนักร้องรุ่นคุณตาคุณยาย และวงดนตรีพื้นบ้านรุ่นเดอะที่มีระนาดเป็นพระเอกเป็นตัวนำบรรเลงเพลง ซึ่งก็ทำให้รำฟ้อนที่ดูเรียบง่ายชุดนี้มีเสน่ห์อย่างเหลือหลาย เพราะนอกจากจะเป็นการฟ้อนที่งดงามแล้วยังเป็นการฟ้อนที่กรุ่นไปด้วยกลิ่นของดอกจำปาอันหอมเย็นที่ผู้สาวนางรำนำมาใช้เป็นองค์ประกอบสำคัญของฟ้อนชุดนี้...

3...

ผมได้ฟังเพลงจำปาเมืองลาวครั้งแรก จากวงคาราวาน(ชุดคนไกลบ้าน) เมื่อเกือบ 20 กว่าปีที่แล้ว ตอนนั้นน้าหงา คาราวาน(สุรชัย จันทิมาธร) ร้องเพลงนี้ในชื่อเดิมคือ "ดวงจำปา"ที่มีการปรับเนื้อร้องนิดหน่อยให้เข้ากับภาษาไทย ซึ่งน้าหงาแกร้องได้อย่างไพเราะกินใจฟังแล้วได้อารมณ์คนไกลบ้านดีแท้

หลังจากนั้นมาเพลงดวงจำปาก็ถือเป็นหนึ่งในเพลงโปรดประจำใจ ที่ผมมักจะร้อง-ฮัมขึ้นมาในทุกๆครั้งที่พบเห็นบรรยากาศอันอบอวลไปด้วยรูปและกลิ่นแห่งจำปา

แน่นอนว่าในสปป.ลาวมีบรรยากาศอันกรุ่นไปด้วยเสน่ห์แห่งจำปาอยู่หลายแห่ง แต่สำหรับสถานที่ ที่ผมประทับใจไม่รู้ลืมนั้นมีอยู่ 2 แห่ง จาก"2 พู"ใน 2 ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ จากอดีต 2 เมืองหลวงของลาว

เสน่ห์แห่งจำปาแห่งแรกอยู่ ณ "พูสี"ใจเมืองและจุดชมวิวอันสำคัญของหลวงพระบาง ที่บนยอดมี "พระธาตุจอมพูสี"ตั้งโดดเด่นเป็นสีทองอร่ามตาอยู่ สำหรับทางขึ้นยอดพูสีมีอยู่ 2 ทางด้วยกัน โดยเส้นทางสายฮอตฮิตก็คงจะไม่พ้นทางเดินขึ้นจากริมถนนสีสะหว่างวงใจกลางเมือง

เส้นทางสายนี้ผมเรียกว่าเป็นเส้นทางสาย"จำปาโรแมนติก"เพราะในระหว่างทางเดินขึ้นยอดพูสีที่มี 328 ขั้น จะร่มรื่นไปด้วยต้นจำปาเก่าแก่อายุนับร้อยปีที่ขึ้นอยู่ 2 ข้างทาง กลายเป็นซุ้มจำปาที่สุดแสนโรแมนติกเนื่องจากต้นจำปา 2 ข้างทางได้โน้มกิ่งเข้าหากันดูประหนึ่งการโค้งคารวะแก่กันและกันของต้นจำปา

หากใครเดินขึ้นยอดพูสีผ่านซุ้มจำปาในช่วงหน้าแล้งประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม เส้นทางสายจำปาโรแมนติกนี้จะเต็มไปด้วยดอกจำปาที่บานสะพรั่งขาวนวลที่เมื่อเดินผ่านแล้วจะส่งกลิ่นจรุงใจยิ่งนัก ส่วนใครที่ไปในช่วงหน้าหนาวหรือหน้าฝน แม้ซุ้มจำปาพูสีจะมีดอกออกบ้างประปรายแต่ว่าความร่นรื่นเขียวครึ้มของจำปาต้นเบ้อเริ่มก็ช่วยเติมพลังในการเดินสู่พูสีทำให้รู้สึกว่าเหนื่อยน้อยลง

ครั้นพอถึงยอดพูสีเมื่อได้พบกับพระธาตุจอมพูสีและทิวทัศน์รอบด้านของเมืองหลวงพระบาง ก็ดูเหมือนว่าความเหนื่อยจะมลายหายไป ยิ่งยามที่มีสายลมเย็นๆโชยพัดพลิ้วพร้อมๆกับหอบปลิวมาด้วยกลิ่นหอมจางๆของดอกจำปาที่ผลิบานอยู่ทั่วไปบนนั้นก็ยิ่งช่วยทำให้จิตใจสดชื่นเบิกบานยิ่งนัก

สำหรับคนหลวงพระบางแล้ว พวกเขาเชื่อว่าในเส้นทางสายจำปาโรแมนติกนี้เป็นเส้นทางเดินสู่สรวงสวรรค์ เส้นทางแห่งความดีที่คนหลวงพระบางมีคำพูดเปรียบเอาไว้ว่า "ไปหลวงพระบาง ถ้าบ่ได้ขึ้นพูสี ก็กับบ่ได้ไปหลวงพระบาง"

จากเส้นทางสายจำปาโรแมนติกในทางเดินขึ้นยอดพูสีที่เมืองหลวงพระบาง ผมขอสลับฉากไปที่เส้นทางสายจำปาที่เดินขึ้นสู่ "พูเก้า"อันเป็นที่ตั้งของ“ปราสาทวัดพู”มรดกโลกแห่งเมืองจำปาสักกันบ้าง

ในเส้นทางสายนี้ ผมเรียกขานว่าเป็นเส้นทางสาย"จำปาคลาสสิก"เพราะถึงแม้ว่าที่ตีนพูเกล้าจะดูแห้งแล้ง เตียนโล่ง แต่ในเส้นทางสู่ตัวปราสาทวัดพูก็ดูเปี่ยมเสน่ห์ไปด้วยอารมณ์เก่าๆปนความขลังของปราสาทขอมที่สร้างตามคติฮินดู รวมถึงซากปรักหักพังต่างๆ ณ ตีนภูเกล้าที่หากเดินไล่เรื่อยไปก็จะผ่านบารายขนาดใหญ่ เสานางเรียงที่มีทั้งสมบูรณ์ พุพัง ล้มระเนระนาด และปราสาท 2 หลังขนาดใหญ่

จากนั้นเส้นทางจะพาเข้าสู่เส้นทางสายจำปาคลาสสิกที่ 2 ข้างทางมีต้นจำปาโน้มตัวเข้าคารวะกันเป็นซุ้มจำปาอันโดดเด่นในบริเวณรอบข้างที่เตียนโล่ง ซึ่งหากเดินขึ้นในช่วงหน้าฝนหรือหน้าหนาวก็จะพบกับความร่มรื่นของซุ้มจำปาอายุนับร้อยปี

แต่ว่าหากเดินขึ้นยามหน้าแล้งช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมก็จะได้พบกับซุ้มดอกจำปาขึ้นไล่ระดับขึ้นไปตามทางเดินสู่ปราสาทวัดพูที่ส่งกลิ่นหอมเย็นชื่นใจ และทรงเสน่ห์ไปด้วยทรวดทรง องค์ประกอบของต้น กิ่ง ก้าน ใบ และดอกจำปามากมายที่บานสะพรั่งเปล่งพลังแห่งความงดงามดูประดุจดังหญิงสาวที่งามแบบซื่อ เรียบร้อยนุ่มนวล แต่ว่าเป็นที่ต้องตาต้องใจของบรรดาชายหนุ่มยิ่งนัก

และจากการเดินผ่านซุ้มจำปาทั้ง 2 สายไม่ว่าจะเป็นเส้นทางจำปาโรแมนติกที่พูสี หรือเส้นทางจำปาคลาสสิกสู่ปราสาทวัดพู นอกจากบทเพลงจำปาเมืองลาวที่ผมร้องคลอไปกับการเดินในเส้นทาง 2 สายนี้แล้ว ผมยังสัมผัสได้ถึงเสน่ห์ที่พานพบในระหว่างทางว่าสามารถสร้างความงามอันน่าประทับใจได้ไม่แพ้จุดหมายปลายทางเช่นกัน...
กำลังโหลดความคิดเห็น