เผลอแป๊ปเดียว วันลอยกระทงเวียนมาบรรจบอีกแล้ว สำหรับในปีนี้ตรงกับวันที่ 16 พฤศจิกายน 2548 โดยในปีนี้ทางผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร ได้ออกมารณรงค์ให้ทุกคนหันมาใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติกันเหมือนเคย แต่ก่อนที่จะคิดหาสถานที่ลอยกระทง “รอบรู้เรื่องเที่ยว”ว่าเรามารู้ความหมายของพิธีนี้กันก่อนดีกว่า
“ลอยกระทง” เป็น ประเพณีที่ทำสืบเนื่องกันมาแต่ครั้งโบราณกาลเป็นหนึ่งในพระราชพิธีสิบสองเดือน หรือที่เรียกว่า “พระราชพิธีจอง เปรียงลดชุดลอยโคมส่งน้ำ” ต่อมาเรียก “ลอยประทีป” สันนิษฐานว่าได้รับ อิทธิพลมาจากอินเดีย เกิดขึ้นบนพื้นฐานความเชื่อหลายอย่าง เช่นเชื่อกันว่า เป็นการบูชาและขอขมาพระแม่คงคา หรือเป็นการบูชารอยพระพุทธบาท ความเชื่อเหล่านี้ทำให้เกิดการตามประทีปโคมไฟ และลอยกระทงในแม่น้ำ ลำคลอง
งานลอยกระทงเริ่มทำตั้งแต่ กลางเดือน 11 ถึงกลางเดือน 12 ซึ่งเป็นฤดูน้ำหลาก น้ำจะเต็มสองฝั่งแม่น้ำ ที่นิยมมากคือ ช่วงวันเพ็ญเดือน 12 เดิมพิธีลอยกระทงเรียกว่า พระราชพิธีจองเปรียงชักโคม ลอยโคม ซึ่งเป็นพิธีของพราหมณ์ เพื่อบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสาม คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม
ครั้นคนไทยรับนับถือพระพุทธศาสนา ก็ทำพิธียกโคมเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ พระจุฬามณี ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ลอยโคมบูชาพระพุทธบาท ณ หาดทรายแม่น้ำนัมมทานที ประเทศอินเดีย
ว่ากันว่าการลอยกระทงตามสายน้ำนี้ นางนพมาศ สนมเอกของพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย คิดทำกระทงรูปดอกบัว และรูปต่างๆถวายพระร่วงทรงให้ลอยกระทงตามสายน้ำไหล ในหนังสือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระร่วงตรัสว่า
“แต่นี่สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศ ถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือน 12 ให้ทำโคมลอย เป็นรูปดอกบัวอุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน”
ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ มีการทำกระทงขนาดใหญ่และสวยงาม ดังพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ของเจ้าพระยาทิพาราชวงศ์ กล่าวไว้ว่า “ครั้นมาถึงเดือน 12 ขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ แรมค่ำหนึ่งพิธีจองเปรียงนั้น เดิมได้โปรดให้ขอแรง พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้า ฝ่ายใน และข้าราชการที่มีกำลังพาหนะมาทำกระทงใหญ่ถูกเกณฑ์ต่อเป็นถังบ้าง ทำเป็นแพหยวกบ้าง กว้าง 8 ศอกบ้าง 9 ศอกบ้าง กระทงสูงตลอดยอด 10 ศอก 11 ศอก ทำประกวดประขันกันต่างๆ ทำอย่างเขาพระสุเมรุทวีปทั้ง 4 บ้าง และทำเป็นกระจาดชั้นๆบ้าง วิจิตรไปด้วยเครื่องสด คนทำก็นับร้อย คิดในการลงทุนทำกระทงทั้งค่าเลี้ยงคนและพระช่าง เบ็ดเสร็จก็ถึง 20 ชั่งบ้าง ย่อมกว่า 20 ชั่งบ้าง"
นอกจากนี้ในวรรณคดีไทยหลายเรื่อง ก็ได้กล่าวถึงประเพณีลอยกระทงไว้ ทั้งในลักษณะประเพณีราษฎร์และประเพณีหลวง อย่างเช่น ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือตำรับนางนพมาศ ได้กล่าวถึงพระราช พิธีจองเปรียง ลอยพระประทีป ไว้ว่า
“พอถึงพระราชพิธีจองเปรียง ในวันเพ็ญเดือน สิบสอง เป็นนักขัตฤกษ์ ชักโคมลอยโคม บรรดาประชาชนชาย หญิงต่างตกแต่งโคม ชักโคม แขวนโคมลอยทุกตระกูลทั่วทั้งพระนครแล้วก็ชวนกันเล่นมหรสพ สิ้นสามราตรี เป็นเยี่ยงอย่าง แต่บรรดาข้าเฝ้าราชบุรุษนั้น ต่างทำโคมประทีปบริวารวิจิตรด้วยลวดลายวาดเขียนเป็นรูปและสัณฐานต่างๆ ประกวดแขวนเป็นระเบียบเรียงรายตามแนวโคม เสาระหง ตรงหน้าพระที่นั่งชลพิมานถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ทรงพระราชอุทิศสักการะบูชาพระเกศาธาตุจุฬามณีในชั้นดาวดึงส์ ฝ่ายสนมกำนัลทำโคมฉายด้วยบุปผาชาติเป็นรูปต่าง ๆ ประกวดถวายให้ทรงอุทิศบูชาพระบวรพุทธบาท ซึ่งประดิษฐานยังนัมมทานที่ข้าน้อย ก็กระทำโคมลอย คิดตกแต่งให้งามประหลาดกว่าโคมพระสนมกำนัลทั้งปวง”
หลังจากทราบประวัติความเป็นมาของประเพณีลอยกระทงแล้ว ทีนี่ก็เหลือแค่ว่าจะไปลอยกระทงที่ไหนและกับใคร แต่ที่“รอบรู้เรื่องเที่ยว”อยากจะฝากก็คือขอให้รักษาประเพณีที่ดีงามของเราไว้ ไม่ให้ความคึกคะนองชั่วครู่ชั่วยามต้องมาทำร้ายทำลายชีวิตของผู้อื่นด้วยประทัดและอีกสารพัดที่สรรหามาเล่นกันในวันลอยกระทงเลย