ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาประจำชาติไทย ที่เติบโตเจริญรุ่งเรืองในเมืองไทยมากว่า 2000 ปี นับตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา มาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเหตุผลสำคัญข้อหนึ่งที่พุทธศาสนาสามารถดำรงอยู่ได้มาเป็นเวลานานเช่นนี้ ย่อมเนื่องมาจากการทำนุบำรุงศาสนาของเจ้าแผ่นดิน หรือกษัตริย์ ซึ่งเป็นผู้นำประเทศ
ตลอดยุคสมัยต่างๆ ที่ผ่านมา กษัตริย์ในแผ่นดินไทยแต่ละพระองค์ต่างก็ทรงมีความเลื่อมใส และให้การสนับสนุนพระพุทธศาสนามาอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างวัดต่างๆ ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางและศูนย์รวมจิตใจชาวพุทธขึ้นมากมาย
สำหรับในแผ่นดินรัตนโกสินทร์ก็เช่นกัน กษัตริย์แต่ละพระองค์ก็ได้ทรงสร้างหรือบูรณปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ ขึ้น ด้วยเหตุนี้ ในภายหลัง เราจึงยกย่องให้วัดซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงมีความผูกพันเหล่านี้เป็นวัดประจำรัชกาลของแต่ละพระองค์
เหตุผลของการยึดถือวัดใดวัดหนึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลนั้น จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา ประธานชมรมสยามทัศน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ได้ให้เหตุผลไว้ว่า
“วัดซึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลนั้น มักจะเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ท่านทรงสร้าง หรือปฏิสังขรณ์ และให้ความสนใจกับวัดนี้เป็นพิเศษ หรือมีความผูกพันกับวัดนี้มากๆ เมื่อพระองค์สวรรคต พระบรมอัฐิก็จะถูกนำไปบรรจุอยู่ที่ฐานของพระประธาน แต่การประกาศว่าวัดไหนเป็นวัดประจำรัชกาลนี้ ไม่ได้มีการประกาศออกเป็นทางการ เพียงแต่เกิดจากการที่คนพูดกันว่าวัดนี้เป็นวัดประจำรัชกาลนี้ๆ และดูจากความผูกพันที่พระองค์ท่านทรงมีให้กับวัดนั้นๆ มากกว่า”
ในส่วนของความเป็นมาของการกลายมาเป็นวัดประจำแต่ละรัชกาลนั้น ก็นับได้ว่ามีความน่าสนใจไม่แพ้ตัววัดเลยทีเดียว
วัดประจำรัชกาลที่ 1 ถึง 3 ...วัดเก่า ทำใหม่
สำหรับวัดประจำรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น บางคนอาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็นวัดพระแก้ว แต่จริงๆ แล้ววัดพระแก้วเป็นวัดประจำวังเท่านั้น วัดประจำรัชกาลที่ 1 จริงๆ แล้วก็คือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร หรือวัดโพธิ์ วัดโบราณใกล้พระบรมมหาราชวัง ซึ่งรัชกาลที่ 1 ได้เข้ามาบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่
วัดโพธิ์ เดิมชื่อว่า "วัดโพธาราม" ที่วัดแห่งนี้ ถือว่า เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย เพราะเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ที่สำคัญมาตั้งแต่รัชกาลที่ 3 สิ่งก่อสร้างสำคัญของวัดโพธิ์ที่ไม่ควรพลาดชมก็คือ พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล ซึ่งประกอบด้วย พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชญดาญาณ เจดีย์ประจำรัชกาลที่ 1 ที่ภายในบรรจุพระพุทธรูปพระศรีสรรเพชญ์ พระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่แห่งกรุงศรีอยุธยาที่ถูกพม่าทำลายจนเกินจะปฏิสังขรณ์ใหม่ได้ พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกรกนิทาน เจดีย์ประจำรัชกาลที่ 2 พระมหาเจดีย์มุนีบัตรบริขาร เจดีย์ประจำรัชกาลที่ 3 และพระมหาเจดีย์พระศรีสุริโยทัย เจดีย์ประจำรัชกาลที่ 4
พระพุทธรูปในพระอุโบสถของวัดโพธิ์ก็ยังมีความงดงามเป็นอย่างยิ่งสมกับชื่อ “พระพุทธเทวปฏิมากร” ซึ่งหมายถึง เทวดามาสร้างไว้ นอกจากนั้นก็ยังมีวิหารอีกหลายแห่งที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญไว้ทั้งสิ้น ที่สำคัญคือวิหารพระนอน ภายในประดิษฐานพระนอนหรือพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่สวยงามมาก นอกจากนี้ก็ยังมีโรงเรียนแพทย์แผนโบราณและการนวดแผนโบราณที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก
วัดประจำรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย คือวัดอรุณราชวราราม วรมหาวิหาร หรือวัดแจ้ง เมื่อครั้งที่พระองค์ท่านดำรงตำแหน่งเป็นวังหน้าในรัชกาลที่ 1 ที่ประทับของท่านจะอยู่ที่พระราชวังเดิม ฝั่งธนบุรี และวัดที่อยู่ใกล้กับพระราชวังเดิมที่สุดก็คือวัดอรุณฯ พระองค์ท่านจึงได้โปรดให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดอรุณ และยังได้ทรงลงมือปั้นหุ่นพระพักตร์ของพระประธานในพระอุโบสถด้วยพระองค์เองอีกด้วย และเมื่อท่านสวรรคต พระบรมอัฐิของพระองค์ก็ถูกนำมาไว้ที่วัดอรุณแห่งนี้
สิ่งที่โดดเด่นของวัดอรุณซึ่งเปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพก็คือพระปรางค์วัดอรุณฯ องค์ใหญ่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เดิมวัดนี้ชื่อ "วัดมะกอก" เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงสร้างพระราชวังได้ถือเอาวัดนี้เป็นวัดภายในพระราชวัง และยกเลิกไม่ให้สงฆ์จำพรรษา พร้อมพระราชทานนามว่า "วัดแจ้ง" ต่อมารัชกาลที่ 2 ทรงปฏิสังขรณ์และพระราชทานนามว่า "วัดอรุณราชธาราม" ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงเปลี่ยนชื่อ เป็น "อรุณราชวราราม"
นอกจากพระปรางค์แล้ว วัดนี้ก็ยังมีสิ่งชวนชมอีกมากมายไม่ว่าจะเป็น พระอุโบสถ สถาปัตยกรรมอยุธยาตอนปลายที่นับว่าโดดเด่นมากสมัยรัชกาลที่ 2 มีพระระเบียงคดสร้างแทนกำแพงแก้ว หลังคามุงกระเบื้องเคลือบมีประตู 4 ทิศ มีมณฑปพระพุทธบาทจำลอง ภายในเป็นพระพุทธบาทจำลองเป็นหินสลักจากกวางตุ้ง
สำหรับวัดประจำรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว บางคนอาจคิดว่าเป็นวัดราชนัดดา เนื่องจากมีพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์อยู่ตรงลานเจษฎาบดินทร์ใกล้กับวัดราชนัดดา แต่จริงๆ แล้ววัดประจำรัชกาลที่ 3 คือวัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร หรือเดิมชื่อวัดจอมทอง เหตุที่เป็นวัดแห่งนี้เนื่องจากเมื่อครั้งที่ท่านยังเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ในรัชกาลที่ 2 มีข่าวว่าศึกพม่าจะเข้ามา พระองค์จึงยกทัพออกไปตั้งรับพม่าผ่านไปทางคลองด่าน และได้ทำพิธีเบิกโขลนทวารที่วัดนี่ด้วย
พระองค์ได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า หากมีชัยชนะกับศึกครั้งนี้เมื่อไร จะกลับมาบูรณะวัดให้เจริญรุ่งเรือง ปรากฏว่าสุดท้าย ข้าศึกพม่าก็ไม่เข้ามา ดังนั้นเมื่อขึ้นครองราชย์พระองค์จึงเข้ามาบูรณะวัดแห่งนี้ และอย่างที่ทราบกันว่า ศิลปะแบบพระราชนิยมของรัชกาลที่ 3 จะมีลักษณะเป็นแบบจีน คือเครื่องบนจะไม่มีช่อฟ้าใบระกา เป็นเครื่องปูนทั้งหมด วัดราชโอรสนี้ถือเป็นต้นแบบของวัดแบบพระราชนิยมอื่นๆ ทั้งหลายด้วย ส่วนสิ่งที่น่าสนใจในวัดราชโอรสก็มี พระอุโบสถ แบบจีนมุงหลังคา 2 ชั้น และพระแท่นประทับ ณ ต้นพิกุล ซึ่งตั้งอยู่ใต้ต้นพิกุลใหญ่หน้าพระอุโบสถ ซึ่งเป็นที่ประทับของรัชกาลที่ 3 เมื่อครั้งเสด็จมาคุมงานก่อสร้างวัด
วัดประจำรัชกาลที่ 4-5 ...สร้างใหม่ด้วยใจศรัทธา
วัดประจำรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร เป็นวัดที่พระองค์สร้างขึ้นเนื่องจากว่า ก่อนที่จะทรงขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้สถาปนาคณะสงฆ์ธรรมยุติขึ้นมา ซึ่งก่อนนี้หากต้องการจะไปทำบุญกับพระสงฆ์ธรรมยุติ จะต้องไปที่วัดบวรนิเวศ การเดินทางจากพระบรมมหาราชวังไปวัดบวรเมื่อก่อนนั้นจะต้องลงเรือที่ท่าราชวรดิษฐ์เข้าไปทางคลองรอบกรุง นับว่าไปลำบาก พระองค์จึงมีพระราชดำริให้สร้างวัดธรรมยุตินิกายอยู่ใกล้ๆ พระราชวัง และจึงได้จัดหาที่ดินซึ่งเป็นสวนกาแฟอยู่ริมวังมาสร้างวัดแห่งนี้
สิ่งที่น่าสนใจในวัดนี้ก็มี จารึกประกาศในรัชกาลที่ 4 บนแผ่นศิลา 2 ฉบับด้วยกัน ฉบับแรกเป็นประกาศสร้างวัดลง พ.ศ. 2407 ฉบับหลังเป็นประกาศผูกพัทธสีมาวัดลง พ.ศ. 2408 ส่วนพระวิหารหลวงประดับด้วยหินอ่อน มีมุขหน้าหลัง หน้าบันเป็นไม้แกะสลักลวดลายสวยงามมาก และพระประธานมีพระนามว่า “พระพุทธสิหิงคปฏิมากร” ซึ่งหล่อจำลองมาจากพระพุทธสิหิงค์ ภายในพระพุทธอาสน์บรรจุพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 4 ไว้ด้วย
วัดประจำรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรมหาวิหาร รัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อคู่กับวัดของพระราชบิดาซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม คือวัดราชประดิษฐ์ ศิลปวัตถุที่นี่งดงามหาชมได้ยาก เช่น กระเบื้องประดับฝาผนังโบสถ์ด้านนอกทั้งหมดนี้ออกแบบที่เมืองไทย แต่ส่งไปเผาที่เมืองจีน ดังนั้นกว่าจะสร้างวัดก็กินเวลาถึงกว่า 20 ปี
วัดแห่งนี้เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะอีกหลายรูป สิ่งที่ไม่ควรพลาดชมก็คือ พระอุโบสถซึ่งภายนอกเป็นศิลปะไทย แต่ภายในเป็นแบบฝรั่งโกธิค มีลวดลายจำลองเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประดับมุกที่บานประตูว่ากันว่าเป็นศิลปะชิ้นสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์เลยทีเดียว รวมทั้งยังมีสุสานหลวง ซึ่งมีอนุสาวรีย์ที่บรรจุพระสรีรางคารของพระบรมราชเทวี พระราชเทวีเจ้าจอมมารดา พระราชโอรส พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 อยู่อีกด้วย
วัดประจำรัชกาลที่ 6-8 ...ไม่สร้าง แต่บำรุง
เมื่อมาถึงรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านไม่ได้สร้างวัด แต่สร้างโรงเรียนมหาดเล็กหลวงหรือโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยขึ้นแทน แต่บางคนก็ว่าวัดประจำรัชกาลของพระองค์คือวัดบวรนิเวศวิหาร เนื่องจากพระองค์เคยผนวชอยู่ที่นั่น สิ่งที่น่าสนใจในวัดบวรนิเวศฯ ก็คือพระอุโบสถ เป็นอาคารแบบตรีมุขมีปีกยื่นออกมา 2 ข้าง ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นลายปูนปั้นปิดทอง ผนังภายในเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นแบบตะวันตกแสดงปริศนาธรรม เป็นฝีมือของขรัวอินโข่ง จิตรกรเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
บางคนก็แย้งว่า วัดประจำรัชกาลที่ 6 ควรจะเป็นวัดพระปฐมเจดีย์ เพราะพระบรมอัฐิส่วนหนึ่งของพระองค์ท่านบรรจุอยู่ที่นั่น โดยในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการปฏิสังขรณ์พระวิหารหลวงของวัดพระปฐมเจดีย์ มีการเขียนภาพพระเจดีย์องค์เดิมและภาพต่างๆ ไว้ที่ผนัง และได้รื้อมุขวิหารด้านทิศเหนือสร้างใหม่ เพื่อประดิษฐาน “พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาส มหาวชิราวุธราชปูชนียบพิตร” พระพุทธรูปที่ขุดพบในเมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าในพระราชพินัยกรรมให้บรรจุพระอังคารของพระองค์ไว้ใต้ฐานพระนี้ด้วย
ในสมัยของรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็มิได้มีการสร้างวัดเช่นกัน แต่พระองค์ท่านได้ปฏิสังขรณ์วัดของพระราชบิดา หรือรัชกาลที่ 5 แทน จึงถือว่าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นวัดประจำทั้งรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 7 เช่นกัน
เมื่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 8 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
ก็ไม่ได้มีการสร้างวัดเช่นกัน เนื่องจากมีช่วงรัชสมัยที่สั้นมาก แต่เรายกให้วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 8 เนื่องจากพระองค์ทรงโปรดความเงียบสงบของวัดแห่งนี้ และยังได้เสด็จมาทำสมาธิที่นี่บ่อยๆ อีกด้วย
วัดสุทัศนฯ แห่งนี้สร้างโดยรัชกาลที่ 1 ซึ่งทรงมีพระราชประสงค์ให้เป็นวัดศูนย์กลางของกรุงเทพฯ และพระราชทานนามว่า "วัดมหาสุทธาวาส" แต่คนทั่วไปนิยมเรียกวัดพระโตบ้าง วัดพระใหญ่บ้าง ที่นี่นับเป็นวัดที่มีการวางผังได้สัดส่วนสวยงามที่สุดในประเทศ สิ่งที่น่าสนใจคือ พระอุโบสถซึ่งมีความยาวที่สุดในประเทศไทย ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังสมัยช่างรัชกาลที่ 3 มีพระประธานนามว่า "พระพุทธตรีโลกเชษฐ์" ส่วนพระวิหารหลวง จำลองแบบมาจากวัดมงคลบพิตรที่กรุงศรีอยุธยา บานประตูคู่กลางด้านหน้าเป็นงานฝีพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 2 โดยทรงกำหนดลาย แบบวิธีการแกะและทรงเริ่มจำหลักด้วยพระองค์เอง พระประธานในพระวิหารมีนามว่า "พระศรีศากยมุนี" ที่ฐานพระพุทธบัลลังก์บรรจุพระบรมราชสรีรางคารของรัชกาลที่ 8 ไว้ และบริเวณพระระเบียงยังมีพระบรมราชานุสาวรีย์ของรัชกาลที่ 8 ด้วย
วัดงามประจำรัชกาลที่ 9
มาถึงวัดประจำรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ขณะนี้ยังไม่มีความแน่ชัด แต่คาดเดากันว่าน่าจะเป็นหนึ่งในสามวัดนี้ คือวัดโสธรวราราม วรวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา วัดญาณสังวราราม วรมหาวิหาร จังหวัดชลบุรี และวัดพระราม 9 กาญนาภิเษก กรุงเทพ
สำหรับวัดหลวงพ่อโสธรนั้น ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางปะกง พระอุโบสถวัดโสธรฯ เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ หลังคาจตุรมุขแบบปราสาทไทย ส่วนกลางพระอุโบสถมียอดมณฑปเป็นฉัตรทองคำแท้ๆ 5 ชั้น หนัก 77 กิโลกรัม กำแพงของพระอุโบสถปูด้วยหินอ่อนจากเมืองคาร์ราร่า ประเทศอิตาลี ว่ากันว่าวัดนี้จะเป็นพระอุโบสถที่มีขนาดใหญ่และงดงามที่สุดในโลก
สำหรับวัดญาณสังวราราม วรมหาวิหาร จังหวัดชลบุรีนั้น ก็เป็นวัดที่มีสิ่งน่าเที่ยวชมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธมหาวชิราอุตตโมภาสศาสดา ประติมากรรมบนผาหินเขาชีจรรย์ ซึ่งว่ากันว่าเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดในโลก พระพุทธปฏิมาศรีอริยเมตไตรย พระประธานที่ประดิษฐานอยู่ในพระวิหาร พระมหามณฑปพุทธบาท ภปร.สก. ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นบนยอดเขาแก้ว รูปทรงคล้ายพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี นอกจากนี้ วัดญาณสังวราราม ยังมีพื้นที่ตามโครงการพระราชดำริอีก 2,500 ไร่ ให้เที่ยวชมกัน
ส่วนวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษกนั้น เป็นวัดที่เกิดขึ้นจากพระราชดำริของในหลวง ซึ่งมีพระราชประสงค์ให้ดำเนินการจัดตั้งวัดขึ้นในบริเวณชุมชนบึงพระราม 9 เพื่อเป็นทั้งพุทธสถานในการประกอบกิจของพระสงฆ์ในการสืบทอดและเผยแผ่พระพุทธศาสนา ในขณะเดียวกันก็เป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจของราษฎรในการประกอบกิจกรรมต่างๆ ทั้งที่เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องทางศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนการพัฒนาชุมชนบริเวณบึงพระราม 9 ร่วมกับทางโรงเรียนหรือส่วนราชการต่างๆ ตามหลักการ "บ้าน-วัด-ราชการ" เหมือนในสังคมไทยเมื่ออดีต
วัดแห่งนี้สร้างขึ้นไม่นานนัก คือสร้างเมื่อ พ.ศ.2531 และเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2541 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ทรงประกอบพิธีเททองหล่อองค์พระประธานประจำอุโบสถวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ซึ่งออกแบบโดยนาวาอากาศเอก อาวุธ เงินชูกลิ่น อธิบดีกรมศิลปากร
วัดแห่งนี้มีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากวัดอื่น เนื่องจากเป็นวัดขนาดเล็กใช้งบประมาณที่ประหยัด และเรียบง่าย ประกอบด้วย อุโบสถ ศาลาอเนกประสงค์ สระน้ำ กุฎีเจ้าอาวาส กุฎีพระจำนวน ๕ หลัง โรงครัว และอาคารประกอบที่จำเป็น อาคารทุกหลังใช้สีขาวซึ่งแสดงถึงความบริสุทธิ์ สะอาด ส่วนอุโบสถจะเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยโบราณผสมผสานกับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ โดยคำนึงถึงประโยชน์การใช้สอยเป็นสำคัญ
และนี่ก็คือวัดประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์ทั้ง 9 พระองค์ในแผ่นดินรัตนโกสินทร์ ซึ่งแต่ละวัดล้วนต่างงดงามในระดับสุดยอดวัดงามแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
คลิกดูรายละเอียดที่ตั้งวัดประจำรัชกาลต่างๆ
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
ศิลปะจีนในวัดไทย...ความแตกต่างที่ลงตัว
ชมความงดงาม…5 พระอารามหลวงชั้นเอก
ชมวัดราชบพิธฯ รำลึกพระปิยมหาราช
ดูของดี ที่ “วัดโพธิ์”
เที่ยว“วัดโพธิ์” สัมผัสวัดเก่า ในมุมมองใหม่
วัดสุทัศน์ฯ : แหล่งศิลปสถาปัตย์แห่งโลกพระธรรม