xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยวท่องส่อง "คุก" ที่พิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



โดย : หนุ่มลูกทุ่ง

พอบอกใครต่อใครไปว่า ฉันจะไปเที่ยวคุก ก็ได้ยินเสียงถามด้วยความแปลกใจอย่างเช่นว่า ...ไปเที่ยวคุกเนี่ยนะ....คิดดีแล้วหรือ...คุกจะมีอะไรให้ดู...อยากเข้าไปอยู่ในนั้นหรือ... และอีกสารพัดคำถามตามมา ล้วนแต่ออกแนวไม่เห็นด้วยทั้งนั้น แต่ถึงยังไงฉันก็จะไปตามความตั้งใจอยู่ดี เพราะคุกแห่งนี้มีความน่าสนใจไม่น้อย

คุกที่ว่านี้ก็คือ เรือนจำกลางคลองเปรม หรือเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร (เดิม) แต่ตอนนี้ได้กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ ซึ่งตั้งอยู่ในสวนรมณีนาถในปัจจุบัน และยังมีอาคารเก่าซึ่งเป็นส่วนของพิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์อยู่ 3 หลังด้วยกัน จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับการลงทัณฑ์ในสมัยก่อน มีหุ่นจำลอง และเครื่องมือจริงๆ ที่ใช้ทรมานนักโทษในอดีต ฟังดูแล้วน่าสนใจใช่ไหมล่ะ

สำหรับห้องแรกที่ฉันเข้าไปดูนั้น เป็นห้องที่จัดแสดงเครื่องพันธนาการในสมัยโบราณ เป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อป้องกันการหลบหนี เช่น ตรวน กุญแจมือ โซ่ล่าม เหล็กครอบสะเอว โซ่พวงคอ ขื่อคา ตะโหงก กลัง และสมอบก เป็นต้น

เครื่องพันธนาการอื่นๆ ฉันก็พอจะรู้ว่ามันใช้ยังไง แต่สำหรับตะโหงก กลัง และสมอบกนั้นยังไม่คุ้นหู เมื่ออ่านดูคำอธิบายเลยรู้ว่า ตะโหงกก็คือแผ่นไม้ยาวที่ใส่ไว้ที่คอของนักโทษ ซึ่งนักโทษสามารถเดินไปเดินมาหรือใช้มือทำงานได้ แต่หลบหนีได้ยาก และกลังนั้น มีลักษณะเป็นไม้กระบอก (ไม้ไผ่) ที่ร้อยโซ่หรือเชือกเข้ากลางกระบอก ให้โซ่หรือเชือกโผล่ออกทางปลาย 2 ข้าง สวมรอบคอนักโทษ ส่วนสมอบกนั้นทำด้วยไม้เนื้อแข็งที่มีน้ำหนักมาก ตรึงด้วยโซ่ซึ่งสวมอยู่ที่ข้อเท้า ใช้สำหรับนักโทษที่ทำผิดวินัยเรือนจำ หากนักโทษจะเคลื่อนไหวจะต้องยกขอนไม้หนักๆ ติดตัวไปด้วย

เครื่องพันธนาการเหล่านี้ใช้เป็นเครื่องมือในการลงโทษนักโทษอุกฉกรรจ์และนักโทษที่มีนิสัยดื้อด้านด้วย แต่ปัจจุบันมีการใช้เครื่องพันธนาการเพียง 4 ชนิด คือ ตรวน กุญแจมือ กุญแจเท้า และโซ่ล่ามเท่านั้น

ห้องถัดไปเป็นห้องที่จัดแสดงเครื่องมือการลงทัณฑ์สมัยโบราณ ด้วยวิธีการที่เรียกว่าจารีตนครบาล ซึ่งเป็นวิธีที่ทารุณ เช่น การบีบเล็บ และบีบขมับ เครื่องมือนี้เป็นไม้เนื้อแข็ง 2 อัน ปลาย 2 ข้างเป็นปุ่ม และ เรียวลงไปตอนกลางโป่ง ยึดปลายข้างหนึ่งไว้ด้วยเชือกให้แน่น เมื่อเอาบีบลงตรงเล็บหรือขมับของผู้ที่ถูกสอบสวนแล้ว ก็เอาเชือกรัดขันปลายอีกข้างหนึ่ง แล้วบีบให้แน่น สำหรับการบีบเล็บต้องใช้ค้อนไม้เนื้อแข็งทุบลงไปตรงกลางที่วางเล็บไว้เพื่อสร้างความเจ็บปวดด้วย

ส่วนตระกร้อช้างเตะ ตอนแรกฉันเข้าใจว่า แค่เป็นตะกร้อที่ให้คนเข้าไปอยู่ข้างในให้ช้างเตะกลิ้งไปกลิ้งมาเวียนหัวเล่นเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วในตะกร้อจะมีช่องขัดเสียบเหล็กแหลมลงไปช่องละ 6-9 ตัว ทั่วทั้งตะกร้อ คราวนี้กลิ้งไปทางไหนก็ไม่มีทางหลบเหล็กแหลมได้พ้น ทรมานน่าดู

แล้วยังมีหวายสำหรับโบยไต่สวนคนร้ายให้รับสัตย์ (รับผิด) เริ่มใช้สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์และเลิกใช้สมัยรัชกาลที่ 5 หวายนี้มี 3 ลักษณะด้วยกันคือ หวายแช่น้ำแสบ (น้ำเกลือ) หวายกระชากหนังกำพร้า และหวายสามแนว การลงหายนี้จะนับเป็นยก หนึ่งยก หมายถึง 30 ขวับ จนกว่าคนร้ายจะยอมรับสัตย์ (รับผิด) ส่วนหีบทรมาน ก็เป็นเครื่องมือลงโทษที่อึดอัดไม่น้อย คือเป็นโลงไม้พอดีตัว เจาะรูไว้สองรูพอให้หายใจได้ แล้ววางนอนหรือวางยืนไว้กลางแดด ทั้งร้อนทั้งแคบทั้งอึดอัด

แต่ที่ฉันเห็นว่าน่าหวาดเสียวที่สุดเห็นจะเป็นเครื่องมือที่เรียกว่า เบ็ดเหล็ก ที่เป็นการทรมานโดยใช้เบ็ดเหล็กเกี่ยวเข้าใต้คาง ให้ปลายแหลมของเบ็ดเหล็กเสียบทะลุคางถึงใต้ลิ้นแล้วชักรอกดึงรั้งคางของนักโทษให้ปลายเท้าลอยพ้นจากพื้นดิน โดยไม่ให้คางหลุดจากเบ็ด ฉันยืนดูไปก็คลำใต้คางตัวเองไปด้วยความหวาดเสียว

วิธีทรมานเหล่านี้เป็นวิธีการไต่สวนผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญาแผ่นดินให้รับสารภาพด้วยวิธีการทรมานร่างกายให้เกิดความทุกข์ ทรมานเจ็บปวด ใช้กันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นแล้วจึงเลิกไป

ออกจากห้องนี้ด้วยความขนลุกพอสมควร ก่อนจะไปชมห้องต่อไปที่จัดแสดงการประหารชีวิตแบบสมัยโบราณ ห้องนี้มีหุ่นจำลองแสดงภาพการประหารชีวิตโดยการ "กุดหัว" โดยเพชฌฆาต 3 คน คือดาบหนึ่ง ดาบสอง และดาบสาม ผู้ที่ฟันคอนักโทษคนแรกคือดาบหนึ่ง หากฟันไม่ขาด ดาบสองและดาบสามจะเป็นคนฟันซ้ำจนขาด

นอกจากนั้นก็ยังมีวัตถุเครื่องมือใช้และพิธีทางไสยศาสตร์ เช่น สายมงคลล้อมรอบบริเวณประหาร กันผีตายโหงจะเฮี้ยน และการตัดสายมงคลต้องใช้มีดโดยเฉพาะ จะใช้ของอื่นไม่ได้ มีขันทำน้ำมนต์ทำด้วยทองสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่ สำหรับเพชฌฆาตใช้ทำน้ำมนต์ก่อนและหลังพิธีตัดคอนักโทษประหารชีวิต เชื่อว่าน้ำมนต์ในขันปัดรังควานและอาบหรือพรมตามร่างกายป้องกันวิญญาณร้ายเข้าสิง

แต่ในสมัยรัชกาลที่ 7 วิธีการประหารก็ได้เปลี่ยนไปจากการตัดคอเป็น "ผู้ใดต้องโทษประหารชีวิตให้เอาไปยิงเสียให้ตาย" หรือเป็นการยิงเป้าแทน ในขั้นตอนการประหารนั้น นักโทษจะได้ฟังเทศน์จากพระภิกษุสงฆ์หรือนักพรตในศาสนาที่เขาเลื่อมใส หลังจากกินอาหารมื้อสุดท้ายแล้ว ก็จะนำผู้ต้องโทษเข้าสู่หลักประหารซึ่งเป็นลักษณะเป็นไม้กางเขน มีความสูงขนาดไหล่ ผู้ต้องโทษจะถูกมัดด้วยด้ายดิบ ข้อมือทั้งสองผูกมัดติดกับหลักประหารในลักษณะประนมมือกำดอกไม้ธูปเทียน

เมื่อพร้อมแล้วเจ้าหน้าที่ให้สัญญาณโดยโบกธงสีแดง ผู้ทำหน้าที่ลั่นไกปืนและคณะกรรมการประหารชีวิตร่วมกันตรวจสอบจนแน่ใจว่านักโทษถึงแก่ความตายอย่างแท้จริง และปัจจุบันแทนที่จะนำนักโทษประหารไปกุดหัว หรือยิงทิ้งเช่นเดิม ก็เปลี่ยนเป็นการให้นอนบนเตียง ประหารชีวิตด้วยการฉีดยาแทน

นอกจากนั้นอาคารนี้ก็ยังมีการจัดแสดงอาวุธปืน ซึ่งเคยใช้ในราชการของกรมราชทัณฑ์ในสมัยต่างๆ และอุปกรณ์การลักลอบนำยาเสพติดเข้าเรือนจำ อุปกรณ์การหลบหนี และอุปกรณ์ก่อเหตุร้ายของผู้ต้องขังชนิดต่างๆ ด้วย

ชมตึกนี้เสร็จแล้วฉันก็ไม่ลืมจะเดินมายัง "แดน 9" ซึ่งเคยเป็นอาคารเรือนนอน และคงสภาพเดิมไว้เพื่อแสดงให้เห็นถึงลักษณะของอาคารห้องทำงานของเจ้าหน้าที่ ห้องควบคุมผู้ต้องขัง และสภาพการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ต้องขัง เช่น การกินอยู่หลับนอน ในช่วงหนึ่งอาคารแห่งนี้ยังเคยเป็นที่คุมขังนักการเมืองคนสำคัญของประเทศอย่าง จอมพล ป.พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งของไทยด้วย

ทางเดินเล็กๆ หน้าห้องขัง มีหุ่นจำลองพนักงานในชุดทำงานยุคต่างๆ เช่น เครื่องแต่งกายผู้คุมในพ.ศ.2480 เครื่องแต่งกายเจ้าพนักงานเรือนจำหรือทัณฑสถาน พ.ศ.2504 ปะปนกับหุ่นจำลองหญิง-ชายในชุดผู้ต้องขัง

ถ้าฉันจะบอกว่าการมาชมพิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์เป็นความบันเทิงก็คงจะพูดได้ไม่เต็มปากนัก แต่สิ่งหนึ่งที่ได้แน่นอนก็คือความรู้ในเรื่องของการ และอีกสิ่งที่ฉันอยากให้ทุกคนรู้สึกเหมือนฉันก็คือความหวาดกลัวต่อการกระทำผิด หวาดกลัวว่าจะต้องมารับกรรม รับความทุกข์ทรมานอย่างที่ได้มาเห็นในวันนี้ ...เชื่อฉันเถอะว่า อยู่นอกคุกน่ะสบายที่สุดแล้ว


*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *

พิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ ตั้งอยู่ที่ 436 ถนนมหาไชย แขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 เปิดให้เข้าชมทุกวันอังคาร-เสาร์ เวลา 08.30-16.30 น. มีรถประจำทางสาย 1, 5, 35, 37, 42, 56, 7 ผ่าน สอบถามรายละเอียดโทร. 0-2226-1704, 0-2225-7320

กำลังโหลดความคิดเห็น