xs
xsm
sm
md
lg

ยลศิลปะ “ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร” (ตึก)โรงพยาบาลสวยที่สุดในเมืองไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าสถาปัตยกรรมในแต่ละยุคสมัยก็มีความงดงามในรูปแบบและความนิยมที่แตกต่างกันออกไป สมัยหนึ่งอาจะนิยมรูปแบบหนึ่ง แต่พอวันเวลาผ่านไปมีสิ่งใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย ความนิยมเมื่อครั้งกระโน้นก็อาจมีคุณค่าเหลือเพียงสิ่งก่อสร้างแปลกตา หากไม่มีการอนุรักษ์และเห็นคุณค่าจากชนรุ่นหลัง

แต่เหตุการณ์ดังที่ว่า หาได้เกิดกับ “ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร” ไม่ เนื่องจากมีผู้เห็นความสำคัญของอาคารสถาปัตยกรรมรูปแบบตะวันตกที่มีความงดงามตามศิลปะแบบบาร็อค (Baroque) และได้ปรับปรุงให้ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นโรงพยาบาลที่สวยที่สุดในประเทศไทย ต่อมาจึงกลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์แพทย์แผนไทย เก็บรวบรวมวิวัฒนาการแพทย์ในยุคก่อนให้ลูกหลานได้ศึกษาและตระหนึกถึงคุณค่าของผืนแผ่นดินไทย

แรกเริ่มเดิมทีก่อนที่จะมาเป็นโรงพยาบาลและพิพิธภัณฑ์นั้น ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรมีเจ้าของนามเดียวกับชื่อตึกคือ “เจ้าพระยาอภัยภูเบศรสมุหเทศาภิบาลมณฑลบูรพา”(ชุ่ม อภัยวงศ์) ซึ่งท่านเคยเป็นผู้สำเร็จราชการมณฑลบูรพา(พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ พนมศก)และว่าราชการเมืองพระตะบองในช่วงพ.ศ.2446 ก่อนที่ไทยจะเสียดินแดนส่วนนี้ให้กับฝรั่งเศส อันเป็นเหตุให้ท่านเจ้าพระยาฯต้องอพยพครอบครัวและบริวารมุ่งสู่จ.ปราจีนบุรี ด้วยไม่ต้องการเป็นข้ารับใช้ฝรั่งเศสและหวังจะเข้ามารับราชการสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

เมื่อได้ที่ทางเรียบร้อยแล้ว ในปีพ.ศ.2452ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศรจึงได้ว่าจ้างให้บริษัทโฮวาร์ดเออร์สกินออกแบบก่อสร้างอาคารหลังใหม่ซึ่งต้องการรูปแบบคล้ายกับที่เคยพำนักอยู่ที่พระตะบอง กล่าวคือเป็นอาคารสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกสองชั้นก่ออิฐถือปูน หลังคาทรงปั้นหยามุงด้วยกระเบื้องลอนเล็กที่สั่งมาจากฝรั่งเศส ตรงกลางหลังคามีโดมและที่ยอดโดมมีเครื่องบอกทิศทางลมรูปไก่ ขนาดตัวอาคารกว้าง 18.60 เมตร ยาว 38.40 เมตร ภายในอาคารแต่ละชั้นแบ่งออกเป็น 3 ห้อง หน้าห้องมีระเบียงขนาดใหญ่และมีบันไดขึ้นสู่ชั้นบน

สถาปัตยกรรมอาคารเจ้าพระยาอภัยภูเบศรนี้ เลียนแบบสถาปัตยกรรมในยุคบาร็อค (Baroque) ซึ่งถือว่าเป็นศิลปกรรมในยุคเสื่อมหลังจากศิลปะแบบคลาสสิกในยุคเรอเนสซองส์(Renaissance) คำว่าบาร็อคมาจากคำในภาษาโปรตุเกสว่าบาโรโค(Barroco) หมายถึงไข่มุกที่บิดเบี้ยว แสดงถึงความบิดเบี้ยวไปจากกฏเกณฑ์ความงามแบบคลาสสิกในยุคเรอเนสซองส์ คือจะแสดงออกอย่างไม่สมดุลย์(Asymmetry)มีความเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงด้วยลวดลายม้วนงอหรือขด

ความบิดเบี้ยวที่ว่านี้สามารถเห็นได้ทั่วไปในอาคารเจ้าพระยาฯ ไม่ว่าจะเป็นลายปูนปั้นที่เป็นรูปกระถางต้นปาล์มที่อยู่หน้าบัน นอกจากนี้ตามซุ้มประตู หน้าต่าง เสา ขื่อ คานจะตกแต่งด้วยปูนปั้นลวดลายใบไม้ที่แสดงถึงความเคลื่อนไหวด้วยการงอ(s-curve)หรือม้วน (s-scroll) รวมไปถึงภาพเขียนปูนเปียกบนเพดาน แต่มีเพียงลายปูนปั้นรูปช้างทั้งสองข้างของเสาระเบียงดาดฟ้าด้านหน้าชั้นบนเท่านั้นที่มีสัญลักษณ์ของความเป็นไทย

อันที่จริงแล้วเจ้าพระยาอภัยภูเบศรมิได้สร้างอาคารหลังนี้ขึ้นมาเพื่อตัวท่านเอง แต่มุ่งหวังจะให้เป็นที่ประทับแรมอย่างสมพระเกียรติของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในการเสด็จประพาสเมืองปราจีนบุรี จึงได้สร้างตึกใหญ่ขึ้นภายในบริเวณหมู่เรือนพักที่พักของท่าน (ซึ่งก็คือตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร) แต่พระองค์ท่านก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน ต่อมาในรัชสมัยของสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้ถึงแก่อสัญกรรมและได้ใช้ตึกหลังนี้ตั้งบำเพ็ญกุศลเป็นครั้งสุดท้าย แต่กลับเป็นครั้งแรกที่ถือว่าได้ใช้ตึกนี้เพื่อเจ้าของอย่างแท้จริง

ต่อมาเมื่อตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้ตกทอดมายังพระนางเจ้าสุวัทนาวรราชเทวี (พระมเหสีของรัชกาลที่ 6) ในปีพ.ศ.2480 พระนางเจ้าจึงประทานที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้มณฑลทหารบกที่ 2 ปราจีนบุรี ให้จัดเป็นสถานพยาบาลทหารและประชาชน ต่อมากระทรวงสาธารณสุขได้เจรจาขอตึกจากระทรวงกลาโหมเพื่อสร้างเป็นโรงพยาบาลปราจีนบุรี และภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และได้จากรึกที่ตึกว่า “ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร”

ภาพคนป่วยนั่งรอหมอตรวจหน้าห้องในตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ดูจะเป็นภาพชินตาในขณะนั้นไปเสียแล้ว ต่อมาในพ.ศ.2513 นพ.สุจินต์ ผลากรกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลในขณะนั้น ได้เล็งเห็นว่าตึกเจ้าพระยาฯสมควรจะได้รับการอนุรักษ์จึงทำการปรับปรุงตึกให้อยู่ในสภาพเดิมมากที่สุด เช่น การปรับปรุงผนังห้องต่างๆที่เคยเป็นที่จ่ายยาให้กลับคืนสู่สภาพเดิม หล่อกุญแจประตูทองเหลือทดแทนอันเก่าแต่ยังคงรูปแบบเดิมไว้

ภายหลังตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของกรมศิลปากร และได้เปลี่ยนบทบาทจะสถานที่รักษาคนเจ็บไข้ได้ป่วย มาเป็นการให้ความรู้ในฐานะพิพิธภัณฑ์แพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร โดยที่แห่งนี้ได้ถือเป็นศูนย์การรวบรวมอนุรักษ์ตำราไทย สมุนไพรไทย การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านของจังหวัดปราจีนบุรี อีกทั้งยังเป็นแหล่งการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น ที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรและการแพทย์ท้องถิ่น

ยกตัวอย่างเครื่องมือเครื่องใช้แพทย์แผนไทยที่จัดแสดงไว้ ได้แก่ “หม้อกลั่นน้ำมันไม้หอม” หม้อทองเหลืองโบราณ ในสมัยก่อนไว้ต้มกลั่นทำน้ำมันกฤษณา เป็นอโรมาเธอราพีแบบดั้งเดิมที่ทั้งคนไทยและชาวอินเดียรู้จักใช้กันมาเนิ่นนาน คนโบราณนำไปผสมกับสมุนไพรและส่วนผสมอื่นได้เป็นยาขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ส่วนคนอินเดียเอาไปทำกำยานและผสมเป็นยาอีกหลายตำรับ

นอกจากพิพิธภัณฑ์ที่เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวและผู้เยี่ยมชมแล้ว กิจกรรมการ “นวดตัว”โดยผู้ช่วยแพทย์แผนไทยก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน ผู้ทำการนวดของที่นี่หาใช่ใครอื่น แต่เป็นชาวบ้านเมืองปราจีนบุรีที่ผ่านการอบรมตามหลักสูตรแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เชี่ยวชาญทั้งการนวดเพื่อรักษาสุขภาพ นวดเพื่อบำบัด หรือจะเป็นการนวดเพื่อผ่อนคลายก็สบายเนื้อสบายตัวเหมือนกัน แต่ใครที่เดินเที่ยวพิพิธภัณฑ์จนเมื่อยเท้าที่นี่ก็มีบริการนวดกดจุดสะท้อนฝ่าเท้า รวมถึงการคลายกล้ามเนื้อบริเวณน่อง เสร็จจากการนวดฝ่าเท้าแล้วหลายคนคงเดินตัวปลิวออกไปเป็นแน่แท้

ระยะเวลาเกือบร้อยปีที่ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้อยู่เคียงคู่สังคมไทยและได้พิสูจน์ถึงคุณค่าที่ยังคงเปี่ยมล้นไปด้วยเรื่องราวของประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมที่ไม่ผันแปรไปตามกาลเวลา

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

"โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร" ตั้งอยู่เลยที่ 32 / 7 ม.12 ถ.ปราจีนอนุสรณ์ต.ท่างาม อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น.โดยไม่เสียค่าเข้าชมแต่อย่างใด โทร. 0-3721-1523, 0-3721-1088

กำลังโหลดความคิดเห็น