หากเอ่ยถึงคำว่า "ฮีตสิบสอง คองสิบสี่" หลายคนคงจะทราบว่า นั่นคือคำที่ใช้เรียกประเพณีและแนวทางปฏิบัติของพี่น้องชาวภาคอีสาน คำว่าคองสิบสี่ หมายถึง ครรลอง หรือแนวทางปฏิบัติตนและหน้าที่ของคนในสังคม ส่วนฮีตสิบสอง ก็หมายถึงประเพณีที่ชาวอีสานปฏิบัติกันในโอกาสต่างๆ ทั้งสิบสองเดือน
สำหรับชาวนครพนม หนึ่งในฮีตสิบสองที่มีความสำคัญก็คือ งานบุญเดือนสิบเอ็ด หรืองานบุญออกพรรษา ที่จะจัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 และงานสำคัญในวันนั้นก็คือ การไหลเรือไฟ ที่ชาวนครพนมได้จัดต่อเนื่องมาตั้งแต่โบราณแล้ว
สำหรับประเพณีการไหลเรือไฟ หรือที่เรียกว่า "ลอยเรือไฟ" หรือ "ล่องเรือไฟ" นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อการบูชารอยพระพุทธบาท ที่ประทับไว้ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที ประเทศอินเดีย โดยเชื่อว่าเมื่อครั้งที่พญานาคได้ทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าไปแสดงธรรมในพิภพของนาค เมื่อจะเสด็จกลับ พญานาคได้ทูลขอให้พระองค์ประทับรอยพระบาทไว้ ณ ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที พระองค์จึงได้ประทับรอยพระบาทไว้ตามความประสงค์ของพญานาค รอยพระบาทที่ทรงประทับไว้นี้เป็นที่เคารพ ของเทวดามนุษย์ตลอดจนถึงสัตว์ทั้งหลาย ผู้ซึ่งต้องการบุญกุศล ดังนั้นการไหลเรือไฟ จึงถือว่าจัดขึ้นเพื่อเป็นการบูชารอยพระพุทธบาท รวมทั้งยังเป็นการระลึกถึงพระคุณของพระแม่คงคา และการลอยเอาความทุกข์ออกไปจากตัวเองอีกด้วย
เรือไฟที่ลอยกันในจังหวัดนครพนมนั้น มิใช่เรือที่ประดับด้วยหลอดไฟเพื่อให้เกิดเป็นลวดลายเท่านั้น แต่เป็นการใช้ไฟซึ่งเป็นเชื้อเพลิงจริงๆ มาประดับ ดังนั้นความสวยงามและความประทับใจจึงแตกต่างกันมาก แต่เรือไฟที่ชาวนครพนมทำกันมาในสมัยก่อนนั้น ไม่ได้มีรูปแบบเช่นในปัจจุบัน คือยังใช้วัสดุที่หาได้ง่ายจากธรรมชาติ ใช้ต้นกล้วย และไม้ไผ่เป็นโครง ประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ธูปเทียน เชื้อเพลิงที่ใช้จุดไฟก็คือน้ำมันสน โดยใช้สบง จีวร หรือผ้าเก่าๆ เป็นไส้ตะเกียง นอกจากนั้นภายในเรือจะมีเครื่องอุปโภคบริโภค เช่น ผ้านุ่ง ผ้าห่ม เพื่อเป็นการให้ทานแก่ผู้ยากจนที่จะมาคอยเก็บสิ่งของเหล่านี้จากเรือไป
เมื่อผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เรือไฟมีการพัฒนารูปแบบไปเรื่อยๆ ด้วยเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยเข้ามามีส่วนร่วม รวมทั้งทางจังหวัดนครพนมยังได้มีการจัดประกวดเรือไฟของแต่ละอำเภอขึ้น เรือไฟในปัจจุบันจึงมีขนาดใหญ่ รวมทั้งมีความสวยงามอลังการมากยิ่งขึ้นไปด้วย
ดำรง ลำทาโทษ หนึ่งในทีมงานสร้างเรือไฟของอำเภอโพนสวรรค์ ซึ่งได้เป็นแชมป์เรือไฟมาถึง 6 สมัยซ้อน เล่าถึงขั้นตอนการทำเรือไฟให้ฟังว่า หลังจากออกแบบลวดลายเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขั้นแรกก็จะขึ้นโครงด้วยไม้ไผ่ ที่ลอยอยู่บนทุ่นถังน้ำมัน แล้วต่อไปก็จะเอาโครงเหล็กซึ่งเป็นดัดเป็นลวดลายตามที่ออกแบบไว้ขึ้นไปติดบนโครงไม้ไผ่นั้น ซึ่งบนโครงเหล็กนี้จะมีจุดที่กากบาทไว้ ตรงนี้เป็นจุดที่จะเอาไว้ติดกระป๋องเชื้อเพลิงเพื่อจุดตอนไหลเรือไฟ
ท่ามกลางความสงบเงียบของแม่น้ำโขง ความมืดจะถูกจุดให้สว่างด้วยขบวนเรือไฟทั้ง 17 ลำ จาก 17 อำเภอ ซึ่งมีลวดลายที่สวยงามแตกต่างกันไป ลวดลายบนเรือไฟแต่ละลำบอกเล่าถึงเรื่องราวที่มักเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา พระมหากษัตริย์ รวมทั้งสัญลักษณ์ของจังหวัดนครพนม เช่น พระธาตุพนม คนที่เคยได้เห็นขบวนเรือไฟต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่คือความอลังการที่หนึ่งปีจะมีเพียงหนึ่งครั้ง
และเบื้องหลังเรือไฟ ก็ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่น่าประทับใจไม่แพ้กันก็คือ ความร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านแต่ละหมู่บ้าน แต่ละตำบล ในหนึ่งอำเภอ ซึ่งสลับสับเปลี่ยนกันมาลงแรงลงมือกันเป็นเดือน เพื่อให้เรือไฟในอำเภอของตน อวดโฉมสู่สายตาประชาชนได้อย่างงดงามที่สุด
หากใครต้องการเห็นความอลังการที่ว่ามานั้น ก็แวะมาชมกันได้ที่จังหวัดนครพนมในช่วงวันออกพรรษา 18 ตุลาคมนี้พร้อมๆ กัน
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
งาน "ประเพณีไหลเรือไฟจังหวัดนครพนม ประจำปี 2548" จะมีขึ้นในวันที่ 13-19 ตุลาคม บริเวณริมแม่น้ำโขง หน้าเทศบาล เมืองนครพนม ส่วนการไหลเรือไฟจะมีขึ้นในวันที่ 18 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันออกพรรษา ภายในงานมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย เช่น การแข่งขันเรือยาวประเพณีตามลำน้ำโขง การลอยกระทงสาย งานข้าวพาแลง การแสดงแสงสีเสียง การรำบูชาองค์พระธาตุพนม และการรวมตัวของเผ่าพื้นเมืองทั้ง 7 เผ่า ที่อยู่ในจังหวัดนครพนม การตักบาตรเทโวบริเวณหน้าวัดโอกาส และการออกร้านจำหน่ายสินค้าต่างๆ
สำหรับความพิเศษในปีนี้ ผู้ที่มาร่วมงานจะได้รับแจกเรือไฟจิ๋วเพื่อให้นักท่องเที่ยวใช้ลอยบูชาพระแม่คงคา และเป็นการสะเดาะเคราะห์ รวมทั้งเป็นการร่วมทำบุญสร้างสิริมงคลให้แก่ตนเองอีกด้วย
สอบถามรายละเอียดได้ที่ ททท.สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือเขต 4 โทร.0-4251-3490 ถึง 2 สำนักงานจังหวัดนครพนม โทร.0-4251-1287, 0-4251-1574