xs
xsm
sm
md
lg

แด่...“อัปสรา”เทพธิดาผู้ต้องชะตากรรมและชะตากาม/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี

คงไม่มีใครที่เข้าไปเดินในนครวัดแล้วไม่เห็น“นางอัปสรา”เพราะในนครวัดมีรูปสลักนางอัปสราประดับอยู่ทุกซอกทุกมุม ซึ่งในปี พ.ศ. 2544 มีนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสและชาวเขมรร่วมกันใช้ความพยายาม(อย่างสูง)นับนางอัปสรา(อย่างเป็นทางการ)ในนครวัดได้ถึงประมาณ 1,800 องค์!!!

โอ้ว!?! พระเจ้าจอร์จมันเยอะมาก...

แต่ว่านางอัปสราที่นครวัดดูจิ๊บจ๊อยไปทันทีหากเทียบกับการเกิดของนางอัปสราที่มาพร้อมกับการกวนเกษียรสมุทรของเหล่าเทวดาและอสูรเพื่อให้ได้มาซึ่งน้ำอมฤต ที่ทั้งสองต่างต้องก็อยากได้มาดื่มเพิ่มอิทธิฤทธิ์ให้กับตัวเองตามคติความเชื่อของศาสนาฮินดู

การกวนเกษียรสมุทรในครั้งนั้นนอกจากจะทำให้เกิดกรณี“แค้นฝังลึก”ระหว่างอสูรกับเทวดาแล้ว ฟองน้ำที่ผุดขึ้นมาจำนวนมากมายมหาศาลได้ก่อเกิดเป็นนางอัปสรานับแสนๆนาง (บางตำนานว่ามีมากถึง 35 ล้านฟอง) ซึ่งเรื่องราวตำนานการกวนเกษียรสมุทร การยุดนาคของเหล่าเทวดาและอสูร รวมถึงการเกิดนางอัปสรา ที่นครวัดมีภาพจำหลักหินให้ชมอย่างละเอียดบนระเบียงทางเดินด้านหนึ่ง

อัปสราผู้ต้องชะตากาม

สำหรับการเกิดของนางอัปสราหรือที่บ้านเรามักเรียกว่า“นางอัปสร”ซึ่งรัชกาลที่ 6 ทรงแปลความแบบตรงตามศัพท์ไว้ว่าหมายถึง“นางผู้กระดิกอยู่ในน้ำ”นั้น ส.พลายน้อย ได้เล่าไว้ในหนังสือเรื่อง“อมนุษยนิยาย”ว่า เหล่านางอัปสราที่เกิดมาล้วนแต่เป็นนางฟ้าหรือเทพธิดาผู้เลอโฉมที่แต่งองค์ทรงเครื่องอย่างงดงาม

แต่อนิจจา...นางอัปสราที่เกิดขึ้นมาตามตำนานที่ ส.พลายน้อยเล่า ถือว่าเป็นนางฟ้าที่โชคร้ายเป็นอย่างยิ่ง เพราะพวกนางถูกกล่าวหาว่าเป็นหญิงที่ไม่เคยรักใครจริงจัง ชอบเปลี่ยนคู่นอนไปเรื่อยๆซึ่งก็คล้ายๆกับดาราในบ้านเราบางคน ทำให้เหล่าเทวดาและอสูรจึงเห็นนางอัปสราเป็นแค่นางบำเรอกามที่มีไว้เพื่อช่วยให้เสร็จสมอารมณ์หมายเท่านั้น

เรียกว่าตามตำนานนี้สร้างนางอัปสราให้ดูน่าสงสารกึ่งน่าสมเพชควบคู่กันไป โดยหลายๆคนเชื่อว่านางอัปสราในนครวัดสร้างขึ้นตามความเชื่อนี้ เพราะพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ต้องการสร้างนครวัดให้เป็นดังสวรรค์จำลองถวายแก่พระวิษณุ ด้วยเหตุนี้จึงได้สร้างนางอัปสราขึ้นมาเพื่อเป็นนางฟ้าฟ้อนรำ และนางบำเรอกามแก่เหล่าเทวดาที่อาศัยอยู่บนสรวงสวรรค์(จำลอง)

อัปสราผู้ต้องชะตากรรม

มาดูเรื่องราวของนางอัปสราในอีกหนึ่งคติความเชื่อกันบ้าง

ความเชื่อนี้เชื่อว่านางอัปสราคือนางฟ้าหรือเทพธิดาผู้รับใช้และคอยดูแลศาสนสถาน ซึ่งความเชื่อนี้คล้ายกับความเชื่อของชาวเขมรที่พวกเขาต่างยกย่องนางอัปสราเป็นเทพธิดาผู้ดูแลศาสนสถานและเป็นเทพธิดาแห่งความดีงาม ที่หากใครได้ไปเที่ยวชมนางอัปสราตามปราสาทขอมต่างๆในเขมร ไม่ว่าจะเป็นนครวัด ปราสาทบันทายสรี ปราสาทบายน ฯลฯ ก็ไม่ควรที่จะนำความเชื่อเรื่องนางอัปสราเป็นนางบำเรอกามไปพูดคุยกับคนเขมร เพราะว่าดีไม่ดีอาจมีการต่อยตีกันได้

กลับมาที่ความเชื่อเรื่องนางอัปสราเป็นเทพธิดาผู้ดูแลศาสนสถานกันต่อ เรื่องนี้ถือว่ามีเค้าต่อการสร้างรูปสลักนางอัปสราจำนวนมากมายในนครวัด เพราะพื้นที่ของนครวัดนั้นออกจะใหญ่โต ซึ่งก็ทำให้เหล่าเทพธิดาผู้ดูแลย่อมมีจำนวนมากมายตามไปด้วย

อนึ่งเหล่านางอัปสราที่มีอยู่มากมายและถือเป็นหนึ่งในไฮไลท์ของการเดินชมนครวัดนั้น แต่ละนางถือเป็นงานระดับมาสเตอร์พีซของช่างชาวขอมโบราณที่ไม่มีการสลักหินซ้ำแบบกันแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นลักษณะท่าทางที่เป็นอากัปกริยาเฉพาะตัวที่มีการถอดแบบมาเป็น“รำอัปสรา”หรือเรื่องของทรงผมที่มีมากมายหลายทรง ทั้งแสก แหวก เสย เกล้ามวย ผมทรงห่วง 1 ห่วง 2 ห่วง 3 ห่วง ผมชี้ ผมตั้งเด่ ผมทรงเซลล่ามูน และอีกสารพัดทรงจนหลายๆคนยกให้เหล่านางอัปสรานครวัดเป็นเจ้าแห่งแฟชั่นทรงผมนับจากอดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าเพราะสารพัดทรงผมอันหลากหลายนี้หรือเปล่า ที่ทำให้ร้านเสริมสวยหลายๆร้านในเสียมเรียบนิยมประดับรูปนางอัปสราเอาไว้

จากลักษณะท่าทางการแต่งองค์ทรงเครื่องและทรงผมอันเป็นเอกลักษณ์ ช่วยเสริมส่งให้นางอัปสราในนครวัดมีความโดดเด่นและน่าชมเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งนางอัปสราที่เด่นๆในนครวัดเท่าที่ผมจำได้ก็มี

นางอัปสรายิ้มแฉ่ง อยู่แถวซุ้มประตูชั้นแรกก่อนถึงตัวปราสาท ที่ถือเป็น 1 ใน 2 ของนางอัปสราทั้งหมดที่บนใบหน้ามีรอยยิ้ม(แฉ่ง)มองเห็นฟัน ซึ่งช่างที่สลักหินอัปสรานางนี้คงอารมณ์ดีมากสลักหินไปยิ้มไป สุดท้ายเลยใส่รอยยิ้มไปบนใบหน้านางอัปสราด้วย

นางอัปสราผ้าหลุด มีอยู่หลายนางแต่ต้องสังเกตกันหน่อย ว่ากันว่าบางทีช่างขอมโบราณอาจตอกหินแรงไปหน่อย หรือไม่ก็เป็นอารมณ์อีโรติกแบบขำขำของช่างขอมโบราณเพราะอัปสราบางนางได้เอามือปิดของสงวนเอาไว้ด้วย

นางอัปสราตะปุ่มตะป่ำ มีอยู่ในบางซอกบางมุม เข้าใจว่าไม่ใช่นางอัปสราเป็นโรคเรื้อนอย่างที่ลานพระเจ้าขี้เรื้อนในนครธม แต่น่าจะมาจากช่างขอมโบราณเพิ่งสลักหินเสร็จยังไม่ได้มีการขัดแต่งให้เนื้อตัวนางอัปสราเกลี้ยงเกลาแต่อย่างใด

นางอัปสราลิ้น 2 แฉก อยู่ที่องค์ปรางค์ประธาน ไม่รู้ว่าช่างขอมโบราณพลั้งมือสลักพลาดไป หรือว่าช่างคนนี้โดนสาวคนรักลวงหลอกจึงหาทางมาระบายออกที่รูปสลักนางอัปสราแทน

นางอัปสราสุดอึ๋ม เมื่อขึ้นไปบนปรางค์ประธานฝั่งขวา ค่อยๆใช้สายตาแหงนมองไล่ขึ้นไป หากใครเห็นอัปสรานางหนึ่งมีถันกลมกลึงอึ๋มอั๋นกว่าใครเพื่อนนั่นแหละใช่เลย นางอัปสราสุดอึ๋มที่แม้แต่น้องตั๊กยังต้องชิดซ้าย และด้วยความที่อัปสรานางนี้อยู่สูงจึงทำให้ถันของอยู่รอดปลอดภัยจากการถูกสัมผัสมาจนถึงบัดนี้

ส่วนนางอัปสราที่สวยที่สุด จริงๆแล้วก็ขึ้นอยู่กับความชอบส่วนตัวว่าใครรักแบบไหน ชอบแบบไหน แต่ที่หลายๆคนยกให้ว่าเป็นนางอัปสราที่มีความสวยสง่าและมีองค์ประกอบแห่งความงามมากที่สุดก็คือ อัปสรานางหนึ่งที่แอบอยู่ในหลืบข้างช่องประตูใจกลางปรางค์ประธานที่มีใบหน้าอมยิ้มยกสองมือมือประคองถือดอกไม้ ที่ผมดูแล้วก็ให้รู้สึกเพลินตาเพลินใจดี

แต่ว่าอัปสรานางนี้ไม่ใช่นางอัปสราที่ฮอตฮิตที่สุด เพราะนางอัปสรา(ขวัญใจ)มหาชนนั้นอยู่ที่ใกล้กับใจกลางปรางค์ประธานอีกเหมือนกัน

อัปสรามหาชนนางนี้ คนเขมรที่นับถือนางอัปสราต่างเชื่อว่าใครที่อยากมีลูกหรือมีลูกยาก หากไปลูบจับถันของอัปสรานางนี้ก็จะได้ลูกสมดังปรารถนา แต่ว่ากับนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่มักจะไปจับถันนางอัปสราแบบเอามันหรือไม่ก็จับตามคนอื่น จนทำให้เนื้อตัวท่อนบนของอัปสรานางนี้ถูกคนจับจนมันเลื่อม โดยเฉพาะที่ปทุมถัน 2 ข้างนี่ถูกลูบจับจนมันวับเหมือนลงแว็กซ์ยังไงยังงั้น ซึ่งผมถือว่ารูปสลักอัปสรามหาชนนางนี้มีชะตากรรมน่าสงสารที่สุดในนครวัด...
*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 
“นครวัด”หรือ “Angkor Wat”  1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคปัจจุบัน สร้างขึ้นในสมัย“พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2” (ครองราชย์ พ.ศ.1655-1693)ซึ่งใช้เวลาถึง 37 ปี(พ.ศ.1656-1693) ปัจจุบันนครวัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของกัมพูชา
ในนครวัดนอกจากจะมีรูปสลักนางอัปสราแล้วก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอาทิ องค์ปรางค์ประธาน ภาพจำหลักหินที่ระเบียงทางเดิน สระน้ำขนาดใหญ่ที่หากเดินไปถูกมุมก็จะเห็นปรางค์ 5 องค์ของนครวัดเป็นเงาสะท้อนอยู่ในสระ
สำหรับการไปเที่ยวนครวัด และสิ่งก่อสร้างอื่นๆในเสียมเรียบ อาทิ นครธม ปราสาทบันทายสรี ปราสาทตาพรหม หากไม่ไปกับบริษัททัวร์ก็สามารถเดินไปได้โดย
                  
ทางเครื่องบิน : มีสายการบินบางกอกแอร์เวยส์บินตรง กรุงเทพฯ-เสียมเรียบ ทุกวัน วันละ 4 เที่ยว สอบถาม 1771
                  
ทางรถยนต์ : เส้นทางที่สะดวกที่สุดคือเข้าทาง อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ผ่านด่านคลองลึกเข้าสู่ประเทศกัมพูชาที่ด่านปอยเปต แล้วผ่านจังหวัดบันเตียเมียนเจย สู่จังหวัดเสียมเรียบ ระยะทาง 154 กม. ใช้เวลาเดินทาง 4-5 ชม.เนื่องจากถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ (หากเป็นหน้าฝนอาจใช้เวลา 6-7 ชม.)
                  
ปัจจุบันประเทศกัมพูชายังไม่อนุญาตให้คนไทยนำรถทะเบียนไทยไปขับในกัมพูชาได้ ยกเว้นกรณีที่ขออนุญาตสถานทูตกัมพูชาเป็นกรณีพิเศษ เช่นไปคาราวานทัวร์
                  
ทั้งนี้ผู้ที่ไปเที่ยวชมปราสาทขอมต่างๆในเมืองเสียมเรียบ หากต้องการได้อรรถรสมากขึ้นควรหาหนังสืออ่านเพิ่มเติม ที่น่าสนใจก็มี นิราศนครวัด:สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ถกเขมร : ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ,ตำนานแห่งนครวัด:จิตร ภูมิศักดิ์, เมืองพระนคร-นครวัดนครธม : ยอร์ช เซเดส์ แปลโดย ปราณี วงษ์เทศ, ชายชรากับบ่วงกรรมและคำสาป นครวัด นครธม : ธีรภาพ โลหิตกุล, เที่ยวเขมร : วีระ ธีรภัทร

กำลังโหลดความคิดเห็น