xs
xsm
sm
md
lg

"บายน"ปราสาทรวยยิ้ม/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี

 
...การเป็นคนสนุกสนานร่าเริงยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่เสมอนับว่าเป็นเรื่องที่ยากลำบากเอาการ แต่การทำให้ผู้อื่นสนุกสนานร่าเริงยิ้มแย้มแจ่มใสนับเป็นเรื่องที่ยากลำบากกว่า...

“โก้วเล้ง”นักเขียนนิยายกำลังภายในนามอุโฆษ ปิศาจสุราระดับอ๋อง เคยเขียนประโยคทำนองนี้ไว้ในนิยายกำลังภายในเรื่องหนึ่ง ซึ่งจะว่าไปแล้วนี่ถือเป็นเรื่องจริงประการหนึ่ง

ส่วนเรื่องจริงอีกประการหนึ่งก็คือ คนเราต่อให้เป็นคนอารมณ์ดีปานไหนแต่ก็คงไม่มีใครยิ้มได้ตลอดเวลา ขืนใครยิ้มอยู่ตลอดเวลาอาจถูกคนรอบข้างหาว่า“บ้า”ได้ ไม่เหมือนกับภาพวาด รูปปั้น หุ่นยนต์ หรืองานที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นซึ่งสามารถสร้างรอยยิ้มให้คงไว้ตลอดเวลาได้

“ยิ้มบายน” ก็นับเป็นอีกหนึ่งผลงานสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่ ณ วันนี้คงรอยยิ้มอมตะมาร่วม 800 ปีแล้ว

ใครที่อยากยลยิ้มบายนของแท้แบบเห็นกันจะจะเต็ม 2 ตา ที่“ปราสาทบายน” ในนครธมมียิ้มบายนให้ยล โดยผู้สร้างปราสาทบายนและผู้ทำให้เกิดยิ้มบายนก็คือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์ขอมผู้ยิ่งยงตลอดกาลของเขมร

เมืองพระนครในยุคที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ปกครองถือได้ว่ารุ่งเรืองสุดขีด ยุคนี้มีการสร้างสิ่งต่างๆมากมาย แต่ที่โดดเด่นเป็นพิเศษก็คือ การสร้างนครธม(ธม – แปลว่าใหญ่)เป็นเมืองหลวงที่ ณ วันนี้ นครธมเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันโดดเด่นเคียงคู่นครวัด สร้างปราสาทพระขรรค์ให้พระราชบิดา สร้างปราสาทตาพรหมให้พระราชมารดา และที่สำคัญก็คือการสร้างปราสาทบายนอันลือลั่นเป็นศูนย์กลางนครธม

ปราสาทบายนที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สร้างนั้น แรกเริ่มเดิมทีสร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถานในศาสนาพุทธนิกายมหายานที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นับถือ แต่ว่าในยุคต่อมากษัตริย์ขอมพระองค์อื่นหันกลับมานับถือศาสนาฮินดูตามเดิม ด้วยเหตุนี้ในปราสาทบายนจึงปรากฏคติความเชื่อแบบฮินดูปะปนอยู่ในคติแบบพุทธมหายาน

สำหรับชื่อเรียกขาน“ปราสาทบายน” ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่าจริงแล้วๆปราสาทอันยิ่งใหญ่แห่งนครธมมีชื่อดั้งเดิมว่าอย่างไร แต่ที่เรียกปราสาทแห่งนี้ว่าปราสาทบายนนั้น นักโบราณคดีเขมรส่วนใหญ่สันนิษฐานว่ามีที่มาจากเมื่อครั้งที่ฝรั่งเศสได้เข้ามาบูรณะโบราณสถานในเมืองเสียมเรียบตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2450 ในยุคนั้น ปราสาทศูนย์กลางนครธมเต็มไปด้วยต้นไม้ปกคลุมอยู่ทั่วบริเวณ โดยต้นไม้ที่ขึ้นปกคลุมเยอะเป็นพิเศษก็คือ“ต้นไทร” ซึ่งภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า“บายอง” (banian)

เมื่อไม่รู้ว่าปราสาทที่รกครึ้มไปด้วยต้นไทรแห่งนี้มีชื่อแท้ๆดั้งเดิมว่าอะไร เหล่านักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสจึงพากันเรียกขานกันว่า“ปราสาทต้นไทร”หรือ“ปราสาทบายอง”ตามลักษณะที่พบเห็น ก่อนที่จะเพี้ยนเป็น“ปราสาทบายน”ในภายหลัง

ในขณะที่นักโบราณคดีชาวเขมรก็พยายามที่จะค้นหาว่าชื่อจริงแท้ดั้งเดิมของปราสาทบายนชื่ออะไร ซึ่งในปี พ.ศ. 2545 มีรายงานการค้นพบจารึกที่ระบุว่าชื่อจริงแท้ดั้งเดิมของปราสาทบายนนั้นก็คือ“ปราสาทชัยคีรี”ที่หมายถึงขุนเขาแห่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แต่ว่าเรื่องนี้ยังไม่มีข้อสรุปใดๆที่สามารถยืนยันฟังธงได้ชัดเจน

แม้ว่า ณ วันนี้ยังไม่มีใครสรุปได้ชัดเจนถึงชื่ออันแท้จริงของปราสาทบายนได้ แต่ว่าภาพลักษณ์อันชัดเจนของปราสาทบายนที่ปรากฏแก่สายตาชาวโลกก็คือ ภาพสลักหิน“พระพักตร์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร” 4 ทิศ ขนาดมหึมาบนปรางค์ต่างๆของปราสาทนับร้อยภาพ

นักโบราณคดีส่วนใหญ่ต่างลงความเห็นกันว่า อันภาพสลักหินพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร จริงๆแล้วก็คือพระพักตร์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นั่นเอง เพราะพระองค์เป็นกษัตริย์ที่นับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน และเชื่อว่าพระองค์เป็นอวตารหรือการแบ่งภาคมาเกิดของพระพุทธเจ้าตามคติมหายานเป็นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร โดยภาพสลักหินส่วนใหญ่พระพักตร์จะมีสายตาชำเลืองมองต่ำที่เป็นลักษณะของพระโพธิสัตว์ฯมองลงมาเบื้องล่างอย่างเมตตาและอ่อนโยน ซึ่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เปรียบประหนึ่งว่าพระพักตร์เหล่านี้คือพระพักตร์ของพระองค์ ที่เฝ้ามองสารทุกข์สุกดิบและพสกนิกรอยู่ตลอดเวลา

นอกจากนี้สิ่งที่ถือว่าเป็นความโดดเด่นของเหล่าพระพักตร์พระโพธิสัตว์ฯก็คือ พระพักตร์ส่วนใหญ่จะเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้ม ที่ภายหลังพระพักตร์เหล่านี้ถูกยกให้เป็น“ยิ้มบายน”อันลือลั่นโลก เป็นหนึ่งในรอยยิ้มอมตะที่อยู่คู่โลกมาร่วม 800 ปี ส่งผลให้ปราสาทบายนรุ่มรวยไปด้วยรอยยิ้ม ในขณะที่ยิ้มบายนก็กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์อันสำคัญประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นที่ใฝ่ฝันของนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่อยากเดินทางมาสัมผัสกับรอยยิ้มอมตะเหล่านี้

ในอดีตนั้นยิ้มบายนมี อยู่บนปรางค์ 54 ปรางค์ ซึ่งเชื่อว่าแทนจำนวนเมือง 54 เมืองที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ปกครองในยุคนั้น ที่หากคูณด้วย 4 เข้าไปก็จะได้ยิ้มบายน 216 ยิ้ม

ปัจจุบันปรางค์ส่วนหนึ่งพังทลายลงไปเหลืออยู่ 37 ปรางค์ ก็ทำให้เหลือยิ้มบายนอยู่ 148 ยิ้ม(37 x 4) โดยแต่ละยิ้มบายนต่างก็มีความแตกต่างกันออกไป มีทั้งที่ยิ้มมุมปาก อมยิ้ม ไม่ยิ้ม ยิ้มดุๆ ยิ้มในกรอบหน้าต่าง ยิ้ม 3 in 1 (เห็น 3 ยิ้มในมุมมองเดียว) ซึ่งใครที่ชอบยิ้มแบบไหนเมื่อไปที่ปราสาทบายนก็สามารถไปเดินยลได้บนระเบียงชั้น 2 ชั้น 3 ของปราสาทแห่งนี้

และที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวงก็คือยิ้มบายนที่สวยที่สุด ซึ่งใครอยากรู้ว่ายิ้มบายนหน้าไหนยิ้มสวยสุดก็เล่นไม่ยาก หากไปเที่ยวกับทัวร์ให้ถามไกด์เอา แต่หากไปเที่ยวเองให้เพียงเดินชมไปเรื่อยๆ พอเจอยิ้มบายนใบหน้าไหนมีรั้วเชือกเล็กๆกั้นไว้ นั่นแหะใช่เลยยิ้มที่สวยที่สุด

สำหรับเรื่องราวของความยิ่งใหญ่น่าทึ่งของยิ้มบายนในปราสาทบายน หลายๆคนอาจมองว่าเป็นรอยยิ้มที่แลกมาด้วยเลือดเนื้อและความเจ็บปวดของราษฎร เนื่องจากว่าในยุคนั้นต้องกะเกณฑ์และบังคับแรงงานทาส กุลี และราษฎรจำนวนมากมาสร้างยิ้มบายนและสร้างปราสาทบายน รวมถึงการสร้างนครธม และสิ่งก่อสร้างอื่นๆอีกมากมายในยุคนั้น(คล้ายคลึงกับเหตุการณ์การสร้างนครวัดในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2) เพื่อให้เป็นไปตามปรารถนาอันแรงกล้าของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

นี่ถือเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ราษฎรที่ถูกบังคับข่มเหงไปเป็นแรงงานจำนวนมากไม่พอใจและทนไม่ได้ ทำให้มีการก่อกบฏเกิดขึ้นจนในที่สุดทำให้พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สิ้นพระชนม์จากการไปปรากบฏ ถือเป็นการสิ้นยุคอันรุ่งโรจน์ของกษัตริย์ขอมผู้ยิ่งยงนามว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งหลังจากนี้อาณาจักรขอมโบราณก็เดินทางเข้าสู่ยุคเสื่อมก่อนที่จะล่มสลายในกาลต่อมา พร้อมทั้งมีการเกิดสงครามขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดกรณีทุ่งสังหารอันลือลั่นโลก

หลายๆคนต่างเชื่อว่าที่เขมรมีสงครามไม่หยุดหย่อนเป็นเพราะ ต้องคำสาปจากเหล่าผู้เสียชีวิตจากการสร้างนครวัดและนครธม!!!

มาในวันนี้ไฟสงครามสงบลง ประชาชนชาวเขมรส่วนหนึ่งเริ่มลืมตาอ้าปากได้ ซึ่งหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ชาวเขมรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นก็คือเรื่องของ“การท่องเที่ยว” โดยทั้งนครวัด นครธม และปราสาทขอมอีกมากหลายนับเป็นสิ่งดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปยลความสวยงามน่าทึ่งของสิ่งก่อสร้างเหล่านี้

แน่นอนว่ายิ้มบายนถือเป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งความพิเศษอย่างหนึ่งของยิ้มบายนที่ผมเห็นจากการไปสัมผัสมาหลายครั้งอยู่ก็คือ ยิ้มบายนนับเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่ทำให้คนเขมร(โดยเฉพาะในเสียมเรียบ)ยุคสิ้นสงครามยิ้มแย้มแจ่มใสกับมากขึ้น เพราะเมื่อสงครามสงบผู้คนเดินทางไปเที่ยวชมนครวัด นครธม และชมยิ้มบายนกันเป็นจำนวนมากก็ทำให้ยิ้มเขมรยิ่งมายิ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ

ซึ่งค่อนข้างสวนทางกับ“ยิ้มสยาม”ที่เป็นอีกหนึ่งยิ้มอันโด่งดังก้องโลกและนับเป็นยิ้มผมชมชอบมากที่สุด เพราะยิ้มสยามเป็นยิ้มที่มีชีวิต ยิ้มที่อบอุ่นเปี่ยมไปด้วยน้ำมิตรไมตรี แต่น่าเป็นห่วงว่านับวันๆยิ้มสยามมีแต่จะลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ ยิ่งในยุคนี้ที่น้ำมันแพง ค่าไฟขึ้น ข้าวของแพง ไฟใต้รุมเร้า สื่อถูกคุกคาม เศรษฐกิจถดถอย ยิ้มสยามเริ่มเปลี่ยนเป็นยิ้มแหยๆ ยิ้มแห้งๆ ยิ้มหดหู่ ยิ้มทั้งน้ำตา รวมถึงยิ้มไม่ออก แต่กระนั้นก็มีเรื่องน่าแปลกประหลาดประการหนึ่งเกิดขึ้น

เพราะในขณะที่ยิ้มสยามเริ่มยิ้มไม่ออก “ยิ้มหน้าเหลี่ยม”กับเหล่าพลพรรคยังคงยิ้มอย่างเริงร่ากับการโกงบ้านกินเมืองและการเสวยสุขบนความเดือดร้อนของประชาชนอย่างไม่รู้สึกรู้สาใดๆ...
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ปราสาทบายน สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ถือเป็นศูนย์กลางและไฮไลท์การท่องเที่ยวของนครธม จังหวัดเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา
การไปเที่ยวปราสาทบายนและสิ่งก่อสร้างอื่นๆในนครธม รวมถึง นครวัด ปราสาทบันทายศรีหรือปราสาทอื่นๆในเสียบเรียบ หากไม่ไปกับบริษัททัวร์ก็สามารถเดินไปได้โดย
            
              ทางเครื่องบิน : มีสายการบินบางกอกแอร์เวยส์บินตรง กรุงเทพฯ-เสียมเรียบ ทุกวัน วันละ 4 เที่ยว สอบถาม 1771
            
              ทางรถยนต์ : เส้นทางที่สะดวกที่สุดคือเข้าทาง อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ผ่านด่านคลองลึกเข้าสู่ประเทศกัมพูชาที่ด่านปอยเปต แล้วผ่านจังหวัดบันเตียเมียนเจย สู่จังหวัดเสียมเรียบ ระยะทาง 154 กม. ใช้เวลาเดินทาง 4-5 ชม.เนื่องจากถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ (หากเป็นหน้าฝนอาจใช้เวลา 6-7 ชม.)
            
              ปัจจุบันประเทศกัมพูชายังไม่อนุญาตให้คนไทยนำรถทะเบียนไทยไปขับในกัมพูชาได้ ยกเว้นกรณีที่ขออนุญาตสถานทูตกัมพูชาเป็นกรณีพิเศษ เช่นไปคาราวานทัวร์
            
              ทั้งนี้ผู้ที่ไปเที่ยวชมปราสาทขอมต่างๆในเมืองเสียมเรียบ หากต้องการได้อรรถรสมากขึ้นควรหาหนังสืออ่านเพิ่มเติม ที่น่าสนใจก็มี นิราศนครวัด:สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ถกเขมร : ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ,ตำนานแห่งนครวัด:จิตร ภูมิศักดิ์, เมืองพระนคร-นครวัดนครธม : ยอร์ช เซเดส์ แปลโดย ปราณี วงษ์เทศ, ชายชรากับบ่วงกรรมและคำสาป นครวัด นครธม : ธีรภาพ โลหิตกุล, เที่ยวเขมร : วีระ ธีรภัทร

กำลังโหลดความคิดเห็น