xs
xsm
sm
md
lg

สำรวจถนนโบราณฟื้นรอยทางปราสาทขอม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นับเป็นข่าวดีของบรรดาผู้นิยมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยเฉพาะภูมิภาคอุษาคเนย์ เมื่อนักวิชาการทั้งไทยและกัมพูชากลุ่มหนึ่งกำลังร่วมกันสืบค้นเส้นทางอารยธรรมที่สูญหายไปเป็นเวลาเกือบ1,000 ปี เส้นทางปราสาทขอมสายประวัติศาสตร์ ที่ในอดีตเคยเป็นถนนมิตรภาพที่ไทยและกัมพูชาใช้สัญจรสานไมตรีต่อกัน

ในบรรดากษัตริย์องค์ก่อนๆของเมืองประวัติศาสตร์อย่างขอมนั้น ในช่วงยุคเมืองพระนคร(พ.ศ.1333-1974) ซึ่งครอบคลุมระยะเวลายาวนานถึงหกร้อยกว่าปี พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ 1724-1762) นับได้ว่าเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเมืองพระนคร เป็นผู้สร้างนครธม (แปลว่าเมืองใหญ่หรือมหานคร)ที่ใหญ่โตมโหฬารและมีความคงทนแข็งแรงจนสามารถอวดโฉมแก่สายตาของชนรุ่นหลังมาจนกระทั่งทุกวันนี้

เมืองนครธมถูกสร้างให้ยิ่งใหญ่ตระการตาและตั้งอยู่บริเวณที่ขยับขึ้นมาทางเหนือของนครวัดเล็กน้อย(นครวัดสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2) แต่มีการแยกเป็นสัดส่วนต่างหากด้วยกำแพงรอบพระนคร มีความยาว 13 กิโลเมตร และมีประตู 5 ประตู (ทิศตะวันออกมี 2 ประตูคือประตูตะวันออกกับประตูชัย) มีกำแพงเมืองที่แต่ละด้านยาวประมาณเกือบ 3 กิโลเมตร ส่วนตัวกำแพงสูง 6 เมตร และเมืองนครธมมีรูปทรงเกือบจะเป็นสี่เหลี่ยมจัตตุรัส โดยมีศูนย์กลางคือปราสาทบายน ที่มีหินสลักพระพักตร์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรหรือยิ้มบายนอันลือลั่น

นอกจากนครธม ซึ่งถือเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความรุ่งโรจน์ในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แล้ว อาณาจักรขอมในช่วงนั้นยังถือได้ว่ามีความเจริญรุ่งเรืองจนสามารถแผ่ขยายอารยธรรมครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงดินแดนอีสานใต้ของไทยในปัจจุบัน

จากจารึกปราสาทพระขรรค์บันทึกไว้ว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดให้สร้างธรรมศาลาหรือที่พักคนเดินทางควบคู่ไปกับอโรคยาศาลา ( สถานพยาบาล )จำนวน 102 แห่ง โดยระบุว่ามีจำนวน 17 แห่งอยู่ตามรายทางจากเมืองพระนครไปยังเมืองพิมายที่เรียกกันว่าเส้นทางปราสาทขอม สันนิษฐานว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สร้างปราสาทเหล่านี้เพื่อเป็นทานแก่ผู้เดินทาง ส่วนผู้เดินทางจะมีวัตถุประสงค์อย่างไรนั้นยังเป็นประเด็นที่ผู้สนใจสืบค้นกันอยู่

เส้นทางที่เชื่อกันว่าคนสมัยก่อนใช้สัญจรกันนั้นเห็นได้อย่างชัดเจนในฝั่งกัมพูชาเป็นแนวคันดินสูง มีความกว้างราว 2 – 3 เมตร และยังคงเป็นถนนที่ชาวกัมพูชาใช้กันในปัจจุบัน แต่แนวถนนเดียวกันนี้กลับไม่พบในฝั่งไทย เส้นทางสายโบราณที่หายไป ร่องรอยชุมชนที่เคยมีชีวิตและวัฒนธรรมรุ่งเรืองหากแต่สูญสิ้น เหล่านี้เป็นคำถามที่นักวิจัย“โครงการค้นหาและพัฒนาสารสนเทศของราชมรรคาสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7” ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กำลังหาคำตอบ

การศึกษาวิจัยทำโดยอาศัยข้อมูลทางประวัติศาสตร์และหลักฐานทางโบราณคดีที่ยังพอมีเหลืออยู่ เช่น ถนนโบราณ สะพานหิน ธรรมศาลา อโรคยาศาลา ปราสาทหินต่างๆ ร่วมกับหลักฐานที่อาจมองไม่เห็นเมื่ออยู่บนพื้นดินแต่จะมีร่องรอยให้สามารถวิเคราะห์ได้โดยใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียม เทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล และระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นวิธีการที่ทั่วโลกใช้ในการค้นหาแหล่งอารยธรรมหรือแหล่งโบราณคดีที่สามารถนำมาพัฒนาต่อ การศึกษาครั้งนี้ครอบคลุมพื้นที่เริ่มจากเมืองพระนคร ( นครวัด ) จังหวัดเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา และในพื้นที่ภาคอีสานตอนใต้ของประเทศไทยต่อเนื่องไปจนถึงพิมายจังหวัดนครราชสีมา

“โครงการค้นหาและพัฒนาสารสนเทศของราชมรรคาสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7” เป็นโครงการวิจัยที่เรียกได้ว่าเป็นความร่วมมือทางวิชาการครั้งใหญ่ระหว่างประเทศไทย - กัมพูชาประกอบด้วยนักโบราณคดี นักวิทยาศาสตร์ นักสังคมวิทยามานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยศิลปากร สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และองค์กรอัปสรา หน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบงานโบราณคดีที่นครวัด จ.เสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา โดยมี พ.อ.ผ.ศ.ดร.สุรัตน์ เลิศล้ำ หัวหน้าสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ภาควิชาคณิตศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และ ดร.ปานใจ ธารทัศนวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นหัวหน้าโครงการฯร่วมกัน

พ.อ.ผ.ศ.ดร.สุรัตน์ เลิศล้ำ หนึ่งในหัวหน้าโครงการวิจัยฯเล่าว่าการใช้เทคโนโลยีสำรวจระยะไกลทำให้เราเห็นภาพรวมว่าในพื้นที่ขนาดใหญ่มีชุมชนอะไรบ้าง ภาพถ่ายจากมุมสูงทำให้เราเห็นถึงแผนผังอันใหญ่โตของศาสนสถาน ตลอดจนสภาพแวดล้อมบริเวณโดยรอบและความต่อเนื่องในการตั้งถิ่นฐานอาศัยแต่ทั้งนี้ข้อมูลที่ได้ต้องนำมาวิเคราะห์ร่วมกับหลักฐานทางโบราณคดี

“ตามจารึกปราสาทพระขรรค์ บันทึกว่ามีธรรมศาลา 17 หลัง บางหลังสันนิษฐานว่าอยู่ในฝั่งกัมพูชาระยะทางห่างจากช่องตาเมือนเขตแดนไทยไปประมาณ 45 กิโลเมตร สาเหตุที่ยังไม่เจอเพราะมีทุ่นระเบิดอยู่อีกมาก” นักวิจัยคนเดิมเล่าถึงอุปสรรคของทำงานวิจัยซึ่งดูเหมือนว่าอุปสรรคเดียวกันนี้จะพบได้โดยทั่วไปตามแหล่งโบราณคดีปราสาทขอมบริเวณแนวชายแดน

จากการศึกษาเส้นทางอารยธรรมขอมตั้งแต่เมืองพระนครถึงเมืองพิมาย พบว่าบริเวณแนวกันชนระหว่างไทย – กัมพูชา มีชุมชนโบราณ แหล่งอุตสาหกรรม เตาเผาสังคโลก และแหล่งถลุงโลหะโบราณ ข้อมูลเหล่านี้เป็นพื้นฐานในการศึกษาเชื่อมโยงองค์ความรู้ต่างๆเกี่ยวกับอารยธรรมของชุมชนโบราณในพื้นที่ทั้งที่หายสาบสูญไปแล้วและที่ยังดำรงอยู่ นอกจากนี้ยังเป็นฐานข้อมูลพื้นฐานด้านกายภาพสำหรับการวางแผนการใช้ที่ดินและพัฒนาพื้นที่จังหวัดภาคอีสานตอนใต้ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาค รวมถึงการพัฒนาด้านอื่นๆที่มีความต้องการใช้ข้อมูลด้านกายภาพ

หากเปรียบโครงการวิจัยนี้กับการเดินทาง ข้อมูลที่ได้ในขณะนี้คงเป็นเพียงย่างก้าวเล็กๆจากจุดเริ่มต้น หากแต่ก้าวต่อไปของงานวิจัยคงเป็นการเดินทางที่ไม่เปลี่ยวเหงานักเพราะถนนสายนี้อบอวลไปด้วยไมตรีของมวลมิตรนักวิชาการทั้งสองฝั่ง คงไม่เกินความจริงนักหากจะวาดฝันถึงการเดินทางในอนาคตอันใกล้ที่ได้ย้อนรอยทางอดีตอันเกรียงไกรของเส้นทางปราสาทขอม

***หมายเหตุ : ข้อมูลส่วนหนึ่งจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
กำลังโหลดความคิดเห็น