xs
xsm
sm
md
lg

ต้นสะปงยักษ์จอมขโมยซีนแห่ง“ปราสาทตาพรหม” /ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี

นครวัด ยิ่งใหญ่อลังการสมกับเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคปัจจุบัน

ปราสาทบายน ในนครธม น่าทึ่งด้วยรูปสลักหินพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรหรือยิ้มบายนอันลือลั่น

ปราสาทบันทายสรี สมส่วนสวยงามและงดงามวิจิตรไปด้วยลวดลายจำหลักหิน จนได้รับการยกย่องให้เป็น“รัตนมณีแห่งศิลปะเขมร”

แต่ว่าหากพูดถึงปราสาทขอมที่ดูแปลกตาที่สุด สำหรับผมแล้วเห็นจะไม่มีปราสาทไหนเกิน“ปราสาทตาพรหม” ที่มีต้นไม้ยักษ์ขึ้นปกคลุมจนดูโดดเด่นแปลกตายิ่งนัก...

1...

พ.ศ. 1729 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์ผู้ยิ่งยงแห่งยุคเมืองพระนคร(พ.ศ.1333-1974) ผู้ประกาศตนว่านับถือศาสนาพุทธนิกายมหายานอย่างเปิดเผย(ในยุคนั้นกษัตริย์ขอมส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาฮินดูไศวะนิกาย) ได้สร้างปราสาทตาพรหมขึ้นหลังจากขึ้นครองราชย์ได้ 5 ปี

ปราสาทตาพรหม เป็นศิลปะขอมแบบบายน(ราวพ.ศ.1720-1780) ที่เมื่อสร้างแล้วเสร็จมีความแปลกแตกต่างจากปราสาทขอมทั่วไปในยุคนั้น เพราะปราสาทแห่งนี้คือ“วัด”ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงสร้างให้แก่พระราชมารดาคือ“พระนางชัยราชจุฑามณี” ในขณะที่ปราสาทขอมที่สร้างมาก่อนหน้านั้นส่วนใหญ่จะเป็นศาสนสถานตามคติความเชื่อแบบฮินดู

ส่วนที่มาของชื่อ “ปราสาทตาพรหม”นั้น มีเรื่องเล่าว่า จริงๆแล้วปราสาท(วัด)แห่งนี้มีชื่อว่า“เรียชวิเฮียร”หรือ“ราชวิหาร”เนื่องจากมีปรากฏในจารึก แต่ว่าเมื่อครั้งที่ทีมสำรวจชาวฝรั่งเศสมาพบปราสาทหลังนี้ ได้เจอกับ“ตาพรหม” หรือ “ตาโปรม” (ภาษาเขมร) จึงเรียกขานว่า“ปราสาทตาพรหม”

เรื่องนี้จริง-เท็จแค่ไหน ผู้ที่สนใจเรื่องปราสาทขอมคงต้องไปค้นคว้าหาที่มาที่ไปกันเอาเอง

นอกจากปราสาทตาพรหมแล้ว ในยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่เมืองพระนครเจริญถึงขีดสุด พระองค์ยังได้สร้างปราสาทพระขรรค์ให้พระราชบิดา สร้างปราสาทบายนที่มีชื่อเสียงกระฉ่อนโลกเป็นปราสาทประจำพระองค์ และสร้างสิ่งก่อสร้างใหญ่โตอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น นครธม ปราสาทบันทายกุฎี ปราสาทบันทายฉมา ฯลฯ

แต่ว่างานศิลปะเชิงช่างในยุคนั้นส่วนใหญ่ออกมาค่อนข้างหยาบและแข็งกระด้าง ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีช่างที่มีฝีมือมากมาย แต่การที่สร้างปราสาทใหญ่โตหลายๆแห่งพร้อมกันน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้งานศิลปะเชิงช่างในยุคนั้นขาดความประณีตไปมากโข...

2...

เมื่อปราสาทตาพรหมสร้างเพื่อเป็นวัดในศาสนาพุทธ คติความเชื่อต่างๆจึงออกมาเป็นแบบพุทธไม่ได้เป็นแบบฮินดูตามคติการสร้างปราสาทขอมส่วนใหญ่ในยุคเมืองพระนคร โดยตามฝาผนังจะมีรูปจำหลักหินเรื่องราวพุทธประวัติและมีรูปจำหลักพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรอยู่ทั่วไป นอกจากนี้ที่ปรางค์ประธานยังมีรูปเคารพที่โดดเด่นคือ“พระนางปรัชญาปารมิตา” ที่ถือเป็นพระมารดาของพระพุทธเจ้าตามคติพุทธมหายาน เป็นเทพีแห่งปัญญาและความเฉลียวฉลาด ซึ่งนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่สันนิษฐานว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เปรียบพระองค์เป็นอวตารของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงยกพระราชมารดาให้เป็นพระนางปรัชญาปารมิตา

ปราสาทตาพรหมในยุคนั้น ถือได้ว่าเป็นวัดขนาดใหญ่ที่สำคัญมาก ในจารึกขอมโบราณได้ระบุไว้ว่ามีประชาชนถึง 79,365 คนจาก 3,140 หมู่บ้านให้การสนับสนุนวัดแห่งนี้(หลายๆคนเชื่อว่านี่คือตัวเลขที่เกินจริง เพราะผู้จารึกต้องการสรรเสริญเยินยอต่อพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นพิเศษ)โดยมีการทำบุญเป็นข้าวของเครื่องใช้มากมาย อาทิ เพชร 35 เม็ด ทองคำ 500 กิโลกรัม เงิน 500 กิโลกรัม ไข่มุก 40,000 เม็ด และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งนักประวัติศาสตร์จำนวนหนึ่งต่างเชื่อว่านี่คือหนึ่งในสาเหตุแห่งความเสื่อมของยุคเมืองพระนคร

ครั้นสิ้นยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ความขัดแย้งระหว่างพุทธกับฮินดูที่บ่มเพาะมากขึ้นเรื่อยๆ และมารุนแรงหนักหน่วงในยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 ที่นับถือศาสนาฮินดูไศวะนิกาย ซึ่งในยุคนี้ศาสนาฮินดูเป็นใหญ่ เพราะฉะนั้นสิ่งใดที่สื่อและแสดงถึงความเป็นพุทธจะถูกทำลายหมด

ทำให้ภาพสลักหินพุทธประวัติถูกสกัดทิ้ง ส่วนรูปสลักพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ถ้าไม่ถูกทุบทำลายก็ถูกสกัดเป็นแท่งศิวลึงค์หรือไม่ก็รูปฤาษี แม้กระทั่งรูปสลักพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรก็ยังมีการเจาะตาที่บริเวณหน้าผาก เพื่อให้กลายเป็นพระศิวะที่มีตาที่สาม

อนึ่งเรื่องความขัดแย้งระหว่างพุทธและฮินดูในยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จนถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 “จิตร ภูมิศักดิ์”วิเคราะห์เอาไว้ในหนังสือ “ตำนานนครวัด” ว่าเป็นต้นเหตุสำคัญแห่งการเสื่อมของยุคเมืองพระนครก่อนที่จะล่มสลายในกาลต่อมา...

3...

หลังอาณาจักรขอมโบราณเสื่อมสลายปราสาทต่างๆถูกทิ้งรกร้างอยู่หลายร้อยปี จนในช่วงประมาณ พ.ศ. 2457-2461 ฝรั่งเศสได้ส่งทีมเข้าไปทำการบูรณะปราสาทขอมต่างๆในเมืองเสียมเรียบ

นครวัด นครธม ปราสาทบายน ปราสาทบันทายสรี และปราสาทอื่นๆล้วนได้รับการบูรณะ แต่ว่ากลับปราสาทตาพรหมนักโบราณคดีต่างตกลงปลงใจว่าควรจะปล่อยไว้อย่างที่เห็น บูรณะแค่เพียงถางป่าเพื่อให้เดินชมสะดวกและเสริมฐานบางส่วนเพื่อให้แข็งแรงเท่านั้น เพราะปราสาทแห่งนี้มีต้นสะปงขนาดยักษ์อายุประมาณ 250-300 ปี 2 ต้นขึ้นปกคลุมบางส่วนของปราสาท ซึ่งถ้าหากโค่นตัดอาจจะทำให้ปราสาทตาพรหมพังทลายได้

สำหรับสิ่งหลงเหลือน่าสนใจในปราสาทตาพรหมที่มีให้ยลก็เช่น ภาพสลักพุทธประวัติตอนมารผจญอย่างละเอียด ในซุ้มประตูชั้นใน ปรางค์ทุบอกที่เมื่อไปยืนเอาหลังแนบชิดกำแพงแล้วทุบหน้าอกก็จะเกิดเสียงดังกังวานซึ่งนักท่องเที่ยวหลายๆคนนิยมมาอธิษฐานและทุบอกที่นี่ ภาพสลักมนุษย์นาคที่ตัวคนหัวเป็นนาคในปรางค์ที่เป็นเหมือนหอพระ ภาพสลักสัตว์แปลกต่างๆ(มีสัตว์คล้ายไดโนเสาร์ด้วย)บนกรอบประตูก่อนออกจากระซุ้มประตูชั้นนอกไปยังสะพานยุดนาค รวมถึงภาพสลักนางอัปสรา(แบบแข็งๆ)ตามมุมต่างๆที่หน้าตาดูดุดันเคร่งขรึมแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับนางอัปสราแห่งปราสาทบันทายสรีที่สวยงามอ่อนช้อย

แต่ว่าสิ่งน่าสนใจที่หลงเหลืออยู่เหล่านี้ดูจืดไปถนัดเมื่อเจอกับเจ้าต้นสะปงยักษ์ 2 ต้น (มีต้นไทรด้วย 1 ต้น) ที่ออกรากเลื้อยรัดซอกซอนชอนไชบางส่วนของปราสาทตาพรหม เพราะนักท่องเที่ยวที่มายลปราสาทแห่งนี้ต่างพุ่งความสนใจไปที่เจ้าต้นสะปงยักษ์เกือบทั้งหมด มีทั้งมายืนแอ๊คท่าถ่ายรูปคู่กับต้นสะปง มายืนเพ่งมองรากของต้นสะปง มาลูบคลำรากต้นสะปง(แต่ไม่มีการขูดขอหวย) และยิ่งในภาพยนตร์เรื่อง“ทูมบ์ ไรเดอร์” ที่สาวทรงตู้มแองเจลีน่า โจลี(เล่นเป็นลาร่า ครอฟท์) ไปโชว์คิวบู๊โลดโผนแถวรากต้นสะปงที่เลาะเลื้อย ก็ยิ่งทำให้ต้นสะปงยักษ์ดูโดดเด่นในสายตานักท่องเที่ยวมากขึ้นไปอีก

เรียกได้ว่าความน่าสนใจทั้งหลายทั้งปวงของปราสาทตาพรหมโดยเจ้าต้นสะปงยักษ์แย่งซีนความเด่นไปหมด แต่ถ้าปราสาทตาพรหมไม่มีต้นสะปงยักษ์ก็ไม่รู้ว่าป่านฉะนี้จะเป็นฉันใด???
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

“ปราสาทตาพรหม” เป็นปราสาทที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สร้างอุทิศให้แก่พระราชพระมารดา ปราสาทหลังนี้หลังจากถูกใช้เป็นฉากเรื่อง “ทูม ไรเดอร์” ก็กลายเป็นหนึ่งในปราสาทขอมที่คนนิยมไปเที่ยวกันมาก สำหรับความโดดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของปราสาทตาพรหมก็คือ ต้นสะปงขนาดใหญ่ที่ขึ้นปกคลุมและมีรากชอนไชไปทั่ว ซึงปัจจุบันปราสาทตาพรหมกลายเป็นหนึ่งในจุดถ่ายรูปยอดนิยมของนักท่องเที่ยว (ถ่ายรูปคู่กับปราสาทและรากต้นสะปง)
การไปเที่ยวปราสาทตาพรหม นครวัด นครธม ปราสาทบันทายศรีหรือปราสาทอื่นๆในเสียบเรียบ หากไม่ไปกับบริษัททัวร์ก็สามารถเดินไปได้โดย
      
       ทางเครื่องบิน : มีสายการบินบางกอกแอร์เวยส์บินตรง กรุงเทพฯ-เสียมเรียบ ทุกวัน วันละ 4 เที่ยว สอบถาม 1771
      
       ทางรถยนต์ : เส้นทางที่สะดวกที่สุดคือเข้าทาง อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ผ่านด่านคลองลึกเข้าสู่ประเทศกัมพูชาที่ด่านปอยเปต แล้วผ่านจังหวัดบันเตียเมียนเจย สู่จังหวัดเสียมเรียบ ระยะทาง 154 กม. ใช้เวลาเดินทาง 4-5 ชม.เนื่องจากถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ (หากเป็นหน้าฝนอาจใช้เวลา 6-7 ชม.)
      
       ปัจจุบันประเทศกัมพูชายังไม่อนุญาตให้คนไทยนำรถทะเบียนไทยไปขับในกัมพูชาได้ ยกเว้นกรณีที่ขออนุญาตสถานทูตกัมพูชาเป็นกรณีพิเศษ เช่นไปคาราวานทัวร์
      
       ทั้งนี้ผู้ที่ไปเที่ยวชมปราสาทขอมต่างๆในเมืองเสียมเรียบ หากต้องการได้อรรถรสมากขึ้นควรหาหนังสืออ่านเพิ่มเติม ที่น่าสนใจก็มี นิราศนครวัด:สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ถกเขมร : ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ,ตำนานแห่งนครวัด:จิตร ภูมิศักดิ์, เมืองพระนคร-นครวัดนครธม : ยอร์ช เซเดส์ แปลโดย ปราณี วงษ์เทศ, ชายชรากับบ่วงกรรมและคำสาป นครวัด นครธม : ธีรภาพ โลหิตกุล, เที่ยวเขมร : วีระ ธีรภัทร

กำลังโหลดความคิดเห็น