โดย...หนุ่มลูกทุ่ง

บางทีความรู้ก็ไม่ได้มีอยู่เพียงแค่ในตำรา ยิ่งถ้าเราแสวงหาก็จะยิ่งรู้ว่า ยังมีเรื่องราวอีกมากมายร้อยพันที่เรายังไม่รู้
เห็นจั่วหัวมาอย่างนี้ อย่าเพิ่งแปลกใจว่าครั้งนี้จะมาแนวไหน ก็แค่อยากเล่าในสิ่งที่ฉันมีโอกาสดีๆได้ไปเห็นมา และคิดว่าต้องนำมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อแบ่งปันสิ่งดีๆ ให้ได้รับรู้อย่างถ้วนทั่ว เพราะถ้าปกติแล้วเมื่อเอ่ยถึง "วัดโสมนัสวิหารราชวรวิหาร" และ"วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร" เชื่อว่าบางคนยังถามด้วยซ้ำว่าสองวัดนี้ตั้งอยู่ที่ไหน และยิ่งถ้าจะบอกว่าสองวัดนี้มีเสมา 2 ชั้น แถมยังเต็มไปด้วยภาพจิตรกรรมที่งดงาม ก็ไม่รู้ว่าจะมีใครรู้หรือไม่ เอาเป็นว่าตามฉันไปรู้จักสองวัดนี้ให้ดียิ่งขึ้นดีกว่า

ฉันนั่งรถเมล์สาย 53 ไปลงหน้าวัดโสมนัส หรือชื่อเต็มว่า "วัดโสมนัสวิหาร ราชวรวิหาร" ที่ตั้งอยู่ริมคลองผดุงกรุงเกษมด้านตลาดนางเลิ้ง แล้วไปสมทบกับชาวกลุ่มภัสสรสัญจร ซึ่งเป็นกลุ่มที่มักจะมีกิจกรรมเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ อยู่บ่อยๆ ฉันเองก็พลอยได้ความรู้จากเหล่าบรรดากูรูผู้อยู่ในกลุ่มนี้หลายท่าน
อย่างครั้งนี้ก็ทำให้รู้ว่านอกจากวัดโสมนัส จะเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติและอุทิศพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระบรมราชเทวี แล้วยังเป็นวัดที่พระองค์ท่านได้ทรงวางแปลนวัดไว้อย่างเหมาะสมและสวยงาม ถูกต้องตามพระธรรมวินัยที่สุดวัดหนึ่งในประเทศไทย คือนอกจากวัดจะแยกเขตพุทธาวาสและสังฆาวาสที่อยู่ของพระออกจากกันเป็นสัดส่วน แล้วก็ยังกันเขตชุมนุมชนออกจากวัดโดยเด็ดขาด จึงจะเห็นว่าแม้วัดจะอยู่ในย่านชุมชน แต่เมื่อเข้าไปภายในวัดแล้วกลับดูเงียบสงบอย่างมาก

วัดโสมนัสยังเป็นวัดที่มีสีมา 2 ชั้น ได้แก่ มหาสีมา ที่อยู่ภายในเขตกำแพงวัด และยังมีเสมาเล็กรอบพระอุโบสถอีกเรียกว่า ขัณฑสีมา ซึ่งวัดที่มีเสมา 2 ชั้นนี้คือพระสงฆ์สามารถประชุมทำสังฆกรรมได้ทั้งพระอุโบสถและพระวิหาร วัดที่เป็นมหาสีมาจึงมีน้อยมาก เพราะต้องใช้เนื้อที่ทั่ววัดและทำกันเป็นการใหญ่ และล้วนเป็นพระอารามหลวงที่องค์พระมหากษัตริย์ทรงสร้างทั้งสิ้น โดยที่วัดโสมนัสเป็นวัดที่มีมหาสีมาใหญ่ที่สุด
เท่าที่รู้ดูเหมือนว่ามีอยู่ 5 วัดเท่านั้นในประเทศไทยที่เป็นวัดมีมหาสีมาและต่างเป็นวัดธรรมยุต คือ วัดโสมนัสวิหาร วัดมกุฏกษัตริยาราม วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ทั้งหมดอยู่ในกรุงเทพฯ และวัดนิเวศธรรมประวัติ อ.บางปะอิน จ. พระนครศรีอยุธยา

ได้ความรู้เรื่องมหาสีมาแล้ว ก็ถึงคราวเข้าสู่ความงามของงานศิลป์ เริ่มกันที่ "พระวิหาร" ก่อนจะเข้าไปด้านในก็ลองแหงนดูหน้าบันกันก่อน เพราะจะมองเห็นกระเบื้องเคลือบสีและสีทองเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์ในรัชกาลที่ 4 และพระบรมราชเทวี ที่งดงามวิจิตรยิ่ง และเมื่อเข้าไปภายในพระวิหารก็จะยิ่งเห็นถึงภาพจิตรกรรมที่ล้วนงดงามและแฝงด้วยความหมาย
นับตั้งแต่ต้นเสาทั้ง 12 ต้น ที่เป็นปริศนาธรรม นั่นคือเสาแต่ละต้นมีลวดลายและสีพื้นต่างกัน แสดงถึงจิตใจของคนที่อยู่ใกล้และไกลพระศาสนาตามลำดับ เช่นเสาต้นที่หนึ่งด้านขวามือมีสีน้ำเงินและเป็นภาพคนกำลังฆ่าวัวซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีคุณจึงยังเป็นคนที่อยู่ไกลพระศาสนา ส่วนคนที่อยู่ใกล้พระศาสนาจะแทนด้วยเสาสีอ่อนที่อยู่ใกล้พระประธาน เช่นเสาต้นที่หกที่มีสีขาวนวลผ่องและเป็นภาพการเข้าถึงพระศาสนาด้วยการสำเร็จเป็นพระอรหันต์

นอกจากนี้ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่พระวิหารวัดโสมนัส ยังนับว่าแปลกกว่าที่อื่น คือเขียนเป็นเรื่อง "อิเหนา" ขณะที่วัดอื่นมักจะเขียนภาพชาดกหรือภาพพุทธประวัติ ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องราวในเรื่องอิเหนาแล้ว ภาพที่เห็นยังเป็นสิ่งสะท้อนได้เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของช่างในช่วงรัชกาลที่ 4 ที่เริ่มจะมีรูปแบบตะวันตกมาผสมผสาน เช่นการเขียนภาพเริ่มมีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น มีการผลักระยะใกล้ไกลเหมือนจริง รวมถึงสภาพบ้านเมืองหรือวัฒนธรรมตะวันตกต่างๆก็มีปรากฏให้เห็น แต่น่าเสียดายว่ามีหลายภาพที่สีได้หลุดร่อนผุกร่อนไป ไม่รู้ว่าจะมีใครดูแลในส่วนนี้ให้ดีขึ้นหรือไม่
จากนั้นก็ไปชม"พระอุโบสถ" กันต่อซึ่งภายในมีจิตรกรรมฝาผนังทั้งภาพชุดปริศนาธรรม ภาพพุทธประวัติ ภาพธุดงควัตร ภาพพระยืนเพ่งซากศพ อยู่รอบฝาผนังโบสถ์ นอกจากนี้ที่บานประตูและหน้าต่างนั้นยังเป็นภาพเขียนของเนื้อและผลไม้ที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามและทรงอนุญาตให้พระภิกษุสามเณรฉัน ซึ่งจะเป็นอะไรบ้างนั้นฉันอยากให้ชมกันด้วยตาตัวเองจะดีกว่า

อันที่จริงยังมีสิ่งต่างๆในวัดโสมนัสอีกมากที่ล้วนแล้วแต่น่าชมทั้งสิ้น ซึ่งฉันไม่สามารถบรรยายได้หมดเท่าที่อยากจะบอก เพราะต้องเหลือพื้นที่บอกเล่าเรื่องราวของอีกหนึ่งวัดสำคัญที่เคียงคู่กัน นั่นคือ "วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร" หรือวัดมกุฏ นั่นเอง
วัดมกุฏ ก็เป็นวัดที่รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นวัดส่วนพระองค์เคียงคู่กับวัดโสมนัสวิหารโดยตั้งอยู่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ด้านใกล้ถนนราชดำเนินนอก ซึ่งในขั้นแรกโปรดเกล้าฯ ให้เรียกชื่อว่า "วัดนามบัญญัติ" ไปพลางก่อนจนกว่าจะสิ้นรัชกาล จึงค่อยเรียกนามพระราชทาน
วัดมกุฏ เป็นอีกวัดที่มีมหาสีมา 2 ชั้น และล้วนมีสิ่งที่น่าดูน่าชม โดยพระวิหารและพระอุโบสถ จะมีลายพระมหามงกุฏอันเป็นตราประจำรัชกาลที่ 4 ทั้งที่หน้าบันและด้านบนของซุ้มประตูหน้าต่างเช่นเดียวกัน และเมื่อเข้าไปชมความงามภายในพระอุโบสถก็จะยิ่งตะลึง เพราะนอกเหนือจากความสูงใหญ่อลังการของพระอุโบสถแล้ว จิตรกรรมฝาผนังยังเป็นสีสันที่สดสว่าง ต่างจากวัดโสมนัสที่สีสันค่อนข้างจะทึมทึบกว่า บวกกับภาพเทวดาชุมนุมที่อยู่ด้านบนซึ่งมีมากมาย จึงราวกับว่าได้เข้ามาอยู่ในสรวงสวรรค์ที่มีเหล่าเทพเทวดามาประทานพรให้ เมื่อนั่งนิ่ง ๆ สักพักก็ทำให้รู้สึกสงบขึ้นทันใด

ผนังด้านในพระอุโบสถยังมีภาพจิตรกรรมอันหลากหลายแตกต่างจากวัดอื่น เช่น เขียนเรื่องพระอัครสาวกในบาลีและอรรถกถา 11 พระองค์ อัครสาวิกา 8 องค์ ซึ่งเท่าที่ไล่ดูก็มีที่ฉันที่พอรู้ประวัติบ้าง อย่างภาพของพระอัครสาวิกา ปฏาจาราเถรี เอตทัคคะในฝ่ายผู้ทรงพระวินัย ที่พอเห็นภาพแล้วก็นึกถึงเรื่องราวของท่านทันที เพราะตามประวัตินั้นนางเคยเป็นลูกสาวเศรษฐี แต่หนีไปอยู่กับชายยากจน จนกระทั่งมีลูก 2 คน ก็คิดอยากจะกลับไปหาพ่อแม่ แต่ระหว่างทางสามีถูกงูกัดตาย นางก็ให้รู้สึกเศร้าเสียใจ แล้วเมื่อต้องข้ามแม่น้ำกว้างใหญ่ นางไม่สามารถพาลูกทั้งสองว่ายข้ามไปได้ จึงให้ลูกคนโตรออยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำ แล้วอุ้มลูกคนเล็กข้ามน้ำไปวางไว้อีกฝั่ง
แต่ระหว่างที่ข้ามน้ำกลับมาหาลูกคนโต ปรากฎว่าว่ามีเหยี่ยวบินมาคาบลูกคนเล็กไป นางโบกมือและตะโกนไล่เหยี่ยว ลูกคนโตเห็นก็นึกว่าแม่เรียกจึงข้ามน้ำมาและถูกกระแสน้ำพัดหายไป พอกลับถึงบ้านก็ได้ยินข่าวว่าบ้านไฟไหม้ พ่อแม่พี่ชายก็ตายในกองไฟด้วย นับเป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ นางจึงกลายเป็นบ้า กระทั่งได้ไปพบพระพุทธเจ้า ได้ฟังพระธรรมเทศนาจึงขอบวชเป็นภิกษุณีและได้รับการยกย่องให้เป็นพระอัครสาวิกาองค์หนึ่ง

นอกจากนี้ยังมีภาพจิตรกรรมการบำเพ็ญกรรมฐาน สิ่งที่พึ่งปฏิบัติเนื่องด้วยธรรมวินัย พร้อมรูปแสดงธุดงควัตร ซึ่งไม่ต้องกลัวว่าจะไม่เข้าใจ เพราะจิตรกรรมทุกๆภาพจะมีอักษรเขียนอธิบายไว้ตลอด และที่บนบานหน้าต่างและบานประตูด้านในยังมีเขียนพระสูตรที่เป็นคาถาด้วยตัวอักษรขอมบรรจง รวมทั้งคาถาธรรมบทบางวรรค และโสฬสปัญหา ให้ได้ศึกษาด้วย
สิ่งที่ได้จากการเที่ยวชมทั้งสองวัดในครั้งนี้ ฉันว่ามันได้มากกว่าอิ่มเอิบใจ เพราะแน่นอนล่ะเมื่ออยู่ในเขตวัดย่อมจะรู้สึกสงบร่มเย็น แล้วยังเต็มไปด้วยความรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนามากมาย รวมถึงเรื่องประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม จิตรกรรม วัฒนธรรม อื่นๆ ที่ร้อยเรียงเรื่องราวเมื่อคราวร้อยกว่าปีต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้
เพราะของดีๆ อย่างนี้ ถึงจะมีเทคโนโลยีทันสมัยใหม่ๆ ถ่ายทอดผ่านอินเทอร์เน็ต วิทยุ หรือโทรทัศน์ ยังไงก็ไม่สู้เท่ากับได้มาเห็นของจริงด้วยตาของเราเองดีกว่า
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
"วัดโสมนัสวิหาร ราชวรวิหาร" ตั้งอยู่ริมคลองผดุงกรุงเกษมด้านตลาดนางเลิ้ง ส่วน "วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร" ตั้งอยู่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ด้านใกล้ถนนราชดำเนินนอก ทั้งสองวัดมีรถเมล์สาย 53 ผ่าน
บางทีความรู้ก็ไม่ได้มีอยู่เพียงแค่ในตำรา ยิ่งถ้าเราแสวงหาก็จะยิ่งรู้ว่า ยังมีเรื่องราวอีกมากมายร้อยพันที่เรายังไม่รู้
เห็นจั่วหัวมาอย่างนี้ อย่าเพิ่งแปลกใจว่าครั้งนี้จะมาแนวไหน ก็แค่อยากเล่าในสิ่งที่ฉันมีโอกาสดีๆได้ไปเห็นมา และคิดว่าต้องนำมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อแบ่งปันสิ่งดีๆ ให้ได้รับรู้อย่างถ้วนทั่ว เพราะถ้าปกติแล้วเมื่อเอ่ยถึง "วัดโสมนัสวิหารราชวรวิหาร" และ"วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร" เชื่อว่าบางคนยังถามด้วยซ้ำว่าสองวัดนี้ตั้งอยู่ที่ไหน และยิ่งถ้าจะบอกว่าสองวัดนี้มีเสมา 2 ชั้น แถมยังเต็มไปด้วยภาพจิตรกรรมที่งดงาม ก็ไม่รู้ว่าจะมีใครรู้หรือไม่ เอาเป็นว่าตามฉันไปรู้จักสองวัดนี้ให้ดียิ่งขึ้นดีกว่า
ฉันนั่งรถเมล์สาย 53 ไปลงหน้าวัดโสมนัส หรือชื่อเต็มว่า "วัดโสมนัสวิหาร ราชวรวิหาร" ที่ตั้งอยู่ริมคลองผดุงกรุงเกษมด้านตลาดนางเลิ้ง แล้วไปสมทบกับชาวกลุ่มภัสสรสัญจร ซึ่งเป็นกลุ่มที่มักจะมีกิจกรรมเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ อยู่บ่อยๆ ฉันเองก็พลอยได้ความรู้จากเหล่าบรรดากูรูผู้อยู่ในกลุ่มนี้หลายท่าน
อย่างครั้งนี้ก็ทำให้รู้ว่านอกจากวัดโสมนัส จะเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติและอุทิศพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระบรมราชเทวี แล้วยังเป็นวัดที่พระองค์ท่านได้ทรงวางแปลนวัดไว้อย่างเหมาะสมและสวยงาม ถูกต้องตามพระธรรมวินัยที่สุดวัดหนึ่งในประเทศไทย คือนอกจากวัดจะแยกเขตพุทธาวาสและสังฆาวาสที่อยู่ของพระออกจากกันเป็นสัดส่วน แล้วก็ยังกันเขตชุมนุมชนออกจากวัดโดยเด็ดขาด จึงจะเห็นว่าแม้วัดจะอยู่ในย่านชุมชน แต่เมื่อเข้าไปภายในวัดแล้วกลับดูเงียบสงบอย่างมาก
วัดโสมนัสยังเป็นวัดที่มีสีมา 2 ชั้น ได้แก่ มหาสีมา ที่อยู่ภายในเขตกำแพงวัด และยังมีเสมาเล็กรอบพระอุโบสถอีกเรียกว่า ขัณฑสีมา ซึ่งวัดที่มีเสมา 2 ชั้นนี้คือพระสงฆ์สามารถประชุมทำสังฆกรรมได้ทั้งพระอุโบสถและพระวิหาร วัดที่เป็นมหาสีมาจึงมีน้อยมาก เพราะต้องใช้เนื้อที่ทั่ววัดและทำกันเป็นการใหญ่ และล้วนเป็นพระอารามหลวงที่องค์พระมหากษัตริย์ทรงสร้างทั้งสิ้น โดยที่วัดโสมนัสเป็นวัดที่มีมหาสีมาใหญ่ที่สุด
เท่าที่รู้ดูเหมือนว่ามีอยู่ 5 วัดเท่านั้นในประเทศไทยที่เป็นวัดมีมหาสีมาและต่างเป็นวัดธรรมยุต คือ วัดโสมนัสวิหาร วัดมกุฏกษัตริยาราม วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ทั้งหมดอยู่ในกรุงเทพฯ และวัดนิเวศธรรมประวัติ อ.บางปะอิน จ. พระนครศรีอยุธยา
ได้ความรู้เรื่องมหาสีมาแล้ว ก็ถึงคราวเข้าสู่ความงามของงานศิลป์ เริ่มกันที่ "พระวิหาร" ก่อนจะเข้าไปด้านในก็ลองแหงนดูหน้าบันกันก่อน เพราะจะมองเห็นกระเบื้องเคลือบสีและสีทองเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์ในรัชกาลที่ 4 และพระบรมราชเทวี ที่งดงามวิจิตรยิ่ง และเมื่อเข้าไปภายในพระวิหารก็จะยิ่งเห็นถึงภาพจิตรกรรมที่ล้วนงดงามและแฝงด้วยความหมาย
นับตั้งแต่ต้นเสาทั้ง 12 ต้น ที่เป็นปริศนาธรรม นั่นคือเสาแต่ละต้นมีลวดลายและสีพื้นต่างกัน แสดงถึงจิตใจของคนที่อยู่ใกล้และไกลพระศาสนาตามลำดับ เช่นเสาต้นที่หนึ่งด้านขวามือมีสีน้ำเงินและเป็นภาพคนกำลังฆ่าวัวซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีคุณจึงยังเป็นคนที่อยู่ไกลพระศาสนา ส่วนคนที่อยู่ใกล้พระศาสนาจะแทนด้วยเสาสีอ่อนที่อยู่ใกล้พระประธาน เช่นเสาต้นที่หกที่มีสีขาวนวลผ่องและเป็นภาพการเข้าถึงพระศาสนาด้วยการสำเร็จเป็นพระอรหันต์
นอกจากนี้ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่พระวิหารวัดโสมนัส ยังนับว่าแปลกกว่าที่อื่น คือเขียนเป็นเรื่อง "อิเหนา" ขณะที่วัดอื่นมักจะเขียนภาพชาดกหรือภาพพุทธประวัติ ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องราวในเรื่องอิเหนาแล้ว ภาพที่เห็นยังเป็นสิ่งสะท้อนได้เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของช่างในช่วงรัชกาลที่ 4 ที่เริ่มจะมีรูปแบบตะวันตกมาผสมผสาน เช่นการเขียนภาพเริ่มมีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น มีการผลักระยะใกล้ไกลเหมือนจริง รวมถึงสภาพบ้านเมืองหรือวัฒนธรรมตะวันตกต่างๆก็มีปรากฏให้เห็น แต่น่าเสียดายว่ามีหลายภาพที่สีได้หลุดร่อนผุกร่อนไป ไม่รู้ว่าจะมีใครดูแลในส่วนนี้ให้ดีขึ้นหรือไม่
จากนั้นก็ไปชม"พระอุโบสถ" กันต่อซึ่งภายในมีจิตรกรรมฝาผนังทั้งภาพชุดปริศนาธรรม ภาพพุทธประวัติ ภาพธุดงควัตร ภาพพระยืนเพ่งซากศพ อยู่รอบฝาผนังโบสถ์ นอกจากนี้ที่บานประตูและหน้าต่างนั้นยังเป็นภาพเขียนของเนื้อและผลไม้ที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามและทรงอนุญาตให้พระภิกษุสามเณรฉัน ซึ่งจะเป็นอะไรบ้างนั้นฉันอยากให้ชมกันด้วยตาตัวเองจะดีกว่า
อันที่จริงยังมีสิ่งต่างๆในวัดโสมนัสอีกมากที่ล้วนแล้วแต่น่าชมทั้งสิ้น ซึ่งฉันไม่สามารถบรรยายได้หมดเท่าที่อยากจะบอก เพราะต้องเหลือพื้นที่บอกเล่าเรื่องราวของอีกหนึ่งวัดสำคัญที่เคียงคู่กัน นั่นคือ "วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร" หรือวัดมกุฏ นั่นเอง
วัดมกุฏ ก็เป็นวัดที่รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นวัดส่วนพระองค์เคียงคู่กับวัดโสมนัสวิหารโดยตั้งอยู่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ด้านใกล้ถนนราชดำเนินนอก ซึ่งในขั้นแรกโปรดเกล้าฯ ให้เรียกชื่อว่า "วัดนามบัญญัติ" ไปพลางก่อนจนกว่าจะสิ้นรัชกาล จึงค่อยเรียกนามพระราชทาน
วัดมกุฏ เป็นอีกวัดที่มีมหาสีมา 2 ชั้น และล้วนมีสิ่งที่น่าดูน่าชม โดยพระวิหารและพระอุโบสถ จะมีลายพระมหามงกุฏอันเป็นตราประจำรัชกาลที่ 4 ทั้งที่หน้าบันและด้านบนของซุ้มประตูหน้าต่างเช่นเดียวกัน และเมื่อเข้าไปชมความงามภายในพระอุโบสถก็จะยิ่งตะลึง เพราะนอกเหนือจากความสูงใหญ่อลังการของพระอุโบสถแล้ว จิตรกรรมฝาผนังยังเป็นสีสันที่สดสว่าง ต่างจากวัดโสมนัสที่สีสันค่อนข้างจะทึมทึบกว่า บวกกับภาพเทวดาชุมนุมที่อยู่ด้านบนซึ่งมีมากมาย จึงราวกับว่าได้เข้ามาอยู่ในสรวงสวรรค์ที่มีเหล่าเทพเทวดามาประทานพรให้ เมื่อนั่งนิ่ง ๆ สักพักก็ทำให้รู้สึกสงบขึ้นทันใด
ผนังด้านในพระอุโบสถยังมีภาพจิตรกรรมอันหลากหลายแตกต่างจากวัดอื่น เช่น เขียนเรื่องพระอัครสาวกในบาลีและอรรถกถา 11 พระองค์ อัครสาวิกา 8 องค์ ซึ่งเท่าที่ไล่ดูก็มีที่ฉันที่พอรู้ประวัติบ้าง อย่างภาพของพระอัครสาวิกา ปฏาจาราเถรี เอตทัคคะในฝ่ายผู้ทรงพระวินัย ที่พอเห็นภาพแล้วก็นึกถึงเรื่องราวของท่านทันที เพราะตามประวัตินั้นนางเคยเป็นลูกสาวเศรษฐี แต่หนีไปอยู่กับชายยากจน จนกระทั่งมีลูก 2 คน ก็คิดอยากจะกลับไปหาพ่อแม่ แต่ระหว่างทางสามีถูกงูกัดตาย นางก็ให้รู้สึกเศร้าเสียใจ แล้วเมื่อต้องข้ามแม่น้ำกว้างใหญ่ นางไม่สามารถพาลูกทั้งสองว่ายข้ามไปได้ จึงให้ลูกคนโตรออยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำ แล้วอุ้มลูกคนเล็กข้ามน้ำไปวางไว้อีกฝั่ง
แต่ระหว่างที่ข้ามน้ำกลับมาหาลูกคนโต ปรากฎว่าว่ามีเหยี่ยวบินมาคาบลูกคนเล็กไป นางโบกมือและตะโกนไล่เหยี่ยว ลูกคนโตเห็นก็นึกว่าแม่เรียกจึงข้ามน้ำมาและถูกกระแสน้ำพัดหายไป พอกลับถึงบ้านก็ได้ยินข่าวว่าบ้านไฟไหม้ พ่อแม่พี่ชายก็ตายในกองไฟด้วย นับเป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ นางจึงกลายเป็นบ้า กระทั่งได้ไปพบพระพุทธเจ้า ได้ฟังพระธรรมเทศนาจึงขอบวชเป็นภิกษุณีและได้รับการยกย่องให้เป็นพระอัครสาวิกาองค์หนึ่ง
นอกจากนี้ยังมีภาพจิตรกรรมการบำเพ็ญกรรมฐาน สิ่งที่พึ่งปฏิบัติเนื่องด้วยธรรมวินัย พร้อมรูปแสดงธุดงควัตร ซึ่งไม่ต้องกลัวว่าจะไม่เข้าใจ เพราะจิตรกรรมทุกๆภาพจะมีอักษรเขียนอธิบายไว้ตลอด และที่บนบานหน้าต่างและบานประตูด้านในยังมีเขียนพระสูตรที่เป็นคาถาด้วยตัวอักษรขอมบรรจง รวมทั้งคาถาธรรมบทบางวรรค และโสฬสปัญหา ให้ได้ศึกษาด้วย
สิ่งที่ได้จากการเที่ยวชมทั้งสองวัดในครั้งนี้ ฉันว่ามันได้มากกว่าอิ่มเอิบใจ เพราะแน่นอนล่ะเมื่ออยู่ในเขตวัดย่อมจะรู้สึกสงบร่มเย็น แล้วยังเต็มไปด้วยความรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนามากมาย รวมถึงเรื่องประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม จิตรกรรม วัฒนธรรม อื่นๆ ที่ร้อยเรียงเรื่องราวเมื่อคราวร้อยกว่าปีต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้
เพราะของดีๆ อย่างนี้ ถึงจะมีเทคโนโลยีทันสมัยใหม่ๆ ถ่ายทอดผ่านอินเทอร์เน็ต วิทยุ หรือโทรทัศน์ ยังไงก็ไม่สู้เท่ากับได้มาเห็นของจริงด้วยตาของเราเองดีกว่า
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
"วัดโสมนัสวิหาร ราชวรวิหาร" ตั้งอยู่ริมคลองผดุงกรุงเกษมด้านตลาดนางเลิ้ง ส่วน "วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร" ตั้งอยู่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ด้านใกล้ถนนราชดำเนินนอก ทั้งสองวัดมีรถเมล์สาย 53 ผ่าน