xs
xsm
sm
md
lg

ยลศิลปะ 4 ชาติ ที่วัดแก้วพิจิตร ปราจีนบุรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นที่แน่นอนว่า วัด(ไทย) คือสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของศาสนิกชนชาวพุทธทุกคน แต่จะเกิดอะไรขึ้น หากวัดไทยมิได้มีเพียงศิลปะไทย แต่ยังได้หลอมรวมเอาศิลปะของหลายชาติเข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืนและงดงามยิ่ง วันนี้ “รอบรู้เรื่องเที่ยว”จะพาคุณผู้อ่านไปที่ “วัดแก้วพิจิตร”จังหวัดปราจีนบุรี ที่ซึ่งได้รวมเอาศิลปะของทั้ง ไทย จีน เขมร ตะวันตก(ยุโรป) เข้าไว้ด้วยกัน

วัดแก้วพิจิตร เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2422 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างขึ้นโดย นางประมูลโภคา หรือนางแก้ว ประสังสิต เพื่อใช้ในการทำบุญตักบาตร ถือศีลฟังธรรม สิ่งก่อสร้างในระยะแรก ประกอบด้วย ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ กุฎี พระอุโบสถ ศาลาท่าน้ำและเรือนแพ ภายในพระอุโบสถแต่เดิมประดิษฐานรอยพระพุทธจำลอง

เมื่อเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์(ชุ่ม อภัยวงศ์) ได้อพยพครอบครัวจากเมืองพระตะบองมาอยู่ที่ปราจีนบุรี ท่านก็ได้อุปถัมภ์วัดนี้ โดยการบูรณะปฎิสังขรณ์ ตลอดจนการสร้างเสนาสนะทั้งที่สร้างขึ้นใหม่และสร้างทดแทนของเก่า
เช่น ในปี พ.ศ. 2451 ได้สร้างศาลาธรรมสังเวช และเมรุเผาศพ ต่อมาในปี พ.ศ. 2457 เมื่อเจ้าพระยาอภัยภูเบศรสร้างโรงเรียน ศาลา เมรุ จึงได้ถูกรื้อไปจนหมดสิ้น

ต่อมาในปี พ.ศ. 2461 เจ้าพระยาภูเบศรได้รื้อพระอุโบสถหลังเก่าซึ่งชำรุดแล้วสร้างพระอุโบสถ หลังใหม่ขึ้นแทนที่ พระอุโบสถหลังใหม่นี้มีลักษณะสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานกันระหว่างศิลปะไทย จีน เขมร และตะวันตก ที่มีความงดงาม หาดูได้ยากยิ่ง

พระอุโบสถหลังนี้เป็นอาคารเครื่องก่อ ขนาด 5 ห้อง มีเฉลียงรอบ หลังคามุงกระเบื้อง มีหลังคามุขประเจิด และหลังคาเฉลียงรอบ 2 ชั้น เครื่องลำยอง เป็นปูนลงรักประดับหน้าบันปูนปั้นเขียนสี มีลายปูนปั้นเป็นภาพวิมานพระอินทร์กลางลายพันธ์พฤกษา ขอบล่างของหน้าบันเป็นลายกระจังลายสาหร่ายรวงผึ้ง เสาหน้ามุขประเจิดเป็นลายปูนปั้นรูปมังกรข้างละ 1 ตัว

ผนังพระอุโบสถ ฉาบปูนเรียบที่ซุ้มประตูหน้าต่างทำเป็นลายก้านขด ระหว่างประตูเข้าด้านหน้าและด้านหลังทำเป็นลาย ปูนปั้นเล่าเรื่องรามเกียรติ์ ผนังตอนบนใต้ชายคาเป็นภาพจิตรกรรมแบบตะวันตก เป็นลายเครื่องแขวน มีภาพเหมือนบุคคลหญิงชายชาวต่างประเทศครึ่งตัวอยู่ในครึ่งวงกลม เฉลียงรอบพระอุโบสถมีเสา รองรับชายคา เป็นเสากลมเซาะร่องลูกพูกโดยรอบ หัวเสาใบผักกาดตามแบบตะวันตก

รอบพระอุโบสถ มีซุ้มเสมาและกำแพงแก้วล้อมรอบ ผนังกำแพงเป็น ลายดอกไม้ในวงกลมหัวเสากำแพงตั้งกระถางต้นไม้ กึ่งกลางระหว่างกำแพงแก้ว มีซุ้มประตู ยอดซุ้มประดับลายปูนปั้นรูปหน้ากาก ดอกไม้ และนาฬิกา ที่ผนังภายในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปปูนปั้นประทับยืนติดอยู่ที่ผนังด้านตะวันตก พระพุทธรูปองค์ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ได้รวบรวมชิ้นส่วนของพระประธานในโบสถ์เดิมมาดัดแปลงขึ้นใหม่

สำหรับพระประธานคือ หลวงพ่ออภัย เป็นพระพุทธรูปปางอภัยทาน เป็นพระพุทธรูปที่ขึ้นทะเบียนเป็นปางพิเศษ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นผู้ออกแบบ ด้านบนหลวงพ่อมีฉัตร 5 ชั้น เป็นฉัตรของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์

สำหรับศิลปะแบบเขมรในวัดแก้วพิจิตร คือซุ้มประตูเรือนเเก้วทางเข้าสู่โบสถ์ บนซุ้มมีปริศนาธรรมซ่อนอยู่ คือมีนาฬิกาที่บอกเวลาใกล้ๆ เที่ยง คือหมายความว่าชีวิตของมนุษย์นั้นไม่เที่ยง แต่หากเดินเข้าไปยังโบสถ์ด้านนอกจะเห็นลวดลายเป็นรูปคนครึ่งตัว หน้าตาเป็นชาวตะวันตกมีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ซึ่งเป็นศิลปะแบบตะวันออก

ส่วนภายในโบสถ์จะพบกับ กระเบื้องปูพื้นที่สั่งตรงมาจากอิตาลี ส่วนโคมไฟระย้าเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากฝรั่งเศส แต่หากสังเกตตรงบันไดทางเข้าโบสถ์จะเห็นปูนปั้นลายมังกร 12 ตัว ซึ่งเป็นศิลปะแบบจีนแลดูสวยงามแปลกตายิ่ง สำหรับศิลปะแบบไทยไม่มองหาก็ต้องเจออยู่แล้วเพราะมีอยู่ทุกมุมของวัด อย่าง หน้าบัน ลายประตูหน้าต่าง จิตรกรรมฝาผนังเรื่องทศชาติชาดก

จากความเป็นมาและการเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาที่สำคัญของจังหวัดปราจีนบุรี กรมศิลปากรจึงได้ขึ้นทะเบียน วัดนี้เป็นโบราณสถาน ของชาติ ในปี พ.ศ. 2533 และในปี พ.ศ.2535 จังหวัดปราจีนบุรีจึงได้ดำเนินการบูรณะวัดนี้อีกครั้ง โดยใช้รูปแบบวิธีการบูรณะของกรมศิลปากร

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

วัดแก้วพิจิตร ตั้งอยู่ริมฝั่งด้านขวาของแม่น้ำบางปะกง ในเขตเทศบาลเมืองปราจีนบุรี ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออกประมาณ 2 กิโลเมตร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ สำนักงาน ททท. ภาคกลางเขต 8 โทร.0-3731- 2282, 0-3731-2284
กำลังโหลดความคิดเห็น