xs
xsm
sm
md
lg

แซ่บหลาย...ควายหลวงพระบาง/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี

ควาย : น. ชื่อสัตว์เคี้ยวเอื้องชนิด Bubalus bubalis ในวงศ์ Bovidae เป็นสัตว์กีบคู่ รูปร่างใหญ่ สีดำหรือเทา เขาโค้งยาว ที่ใต้คางและหน้าอกมีขนขาวเป็นรูปง่าม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2542 ได้ให้ความหมายของควายเอาไว้เช่นนั้น

ควายนับเป็นสัตว์ที่มีบุญคุณและผูกพันกับคนไทยมาช้านาน

บรรพบุรุษชาวนาของเรามีควายเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการทำนา

ชาวบ้านบางระจันขี่ควายออกรบกับพม่า

ค.ควาย เป็นพยัญชนะไทยลำดับที่ 4

บทเพลงหลายเพลง นิทานพื้นบ้านหลายเรื่องมีควายปรากฏอยู่

บางพื้นที่ในเมืองไทยมีการจัดประเพณีสู่ขวัญควายเพื่อเป็นการยกย่องเทิดทูนควาย ส่วนในบางพื้นที่ก็นิยมบริโภคเนื้อควายเป็นอาหาร ซึ่งสอดคล้องกับท่อนหนึ่งของเนื้อเพลงชีวิตบ้านนาของ ครูคำรณ สัมบุญญานนท์ ที่ร้องว่า

“...แรงควายไถนา มันกินหญ้าไม่กินน้ำมัน ตายก็แกงแบ่งเนื้อกินกัน คุณของมันช่างมีมากหลาย...”

มาวันนี้ความผูกพันของควายกับคนไทยลดน้อยถอยลงไปมาก เพราะสังคมไทยพยายามเปลี่ยนตัวเองจากสังคมเกษตรกรรมไปสู่สังคมอุตสาหกรรม

ชาวนาส่วนหนึ่งละทิ้งควายแท้ๆหันไปใช้บริการรถไถควายเหล็ก

ผิดแผกแตกต่างไปจากชาวนาส่วนใหญ่ในเมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว ที่ในวันนี้ยังคงใช้ควายเป็นหัวเรี่ยวแรงหลักในการทำนา

ส่วนคนหลวงพระบางนั้นก็นิยมกินควายเป็นเนื้อสัตว์(บก)หลัก เพราะควายเลี้ยงง่าย ขายคล่อง ราคาไม่แพง กินได้กินดี ด้วยเหตุนี้ในหลวงพระบางจึงมีเนื้อควายให้กินอยู่ทั่วไป

และหากถามว่าความแตกต่างของควายไทย กับควายลาวนั้นอยู่ที่ใด

เพื่อนผมคนหนึ่งมันบอกว่า “ควายไทยเดินชิดซ้าย ควายลาวเดินชิดขวา” ซึ่งก็ฟังดูเข้าท่าไม่น้อย เพราะว่ามันเข้าใจจับเอาความแตกต่างของการขับรถบนถนนในไทยกับลาวมาประยุกต์เป็นการเดินของควายบนถนน

ส่วนผมมองว่าควายไทยกับควายลาวต่างกันแค่การเรียกชื่อเท่านั้นเอง ซึ่งการเรียกชื่อควายของคนลาวอาจฟังแล้วแสลงหูใจแสลงใจสาวไทยหลายๆคน แต่ว่านี่ไม่ใช่คำหยาบสำหรับคนลาวแต่อย่างใด และหากใครได้ฟังคนลาวเรียกขานควายก็จะรู้สึกได้ในเสน่ห์หาแห่งภาษาลาวที่น่ารัก ตรงไปตรงมา และงดงาม

แม้ว่าควายไทยกับควายลาวจะไม่แตกต่างกัน แต่ว่าการกินควายในหลวงพระบางนี่บางครั้งก็ให้อรรถรสที่แตกต่างไปจากบ้านเราไม่น้อย เพราะหลายๆคนกินควายอย่างเอร็ดอร่อยโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ครั้นพอมารู้ภายหลัง บางคนถึงกลับอ้วกแตกอ้วกแตน บางคนพะอืดพะอม ในขณะที่บางคนกลับ“ติดใจ”ในรสชาติ ดังเช่นสาวสะคราญนางหนึ่งที่ร่วมทริปไปเที่ยวหลวงพระบางกับผมเมื่อไม่นานมานี้

หลังจากที่เดินทางถึงหลวงพระบาง พวกเราประเดิมมื้อแรก(มื้อเที่ยงกว่าๆ)กันด้วย“เฝอ” ที่ร้านจันถนอม ร้านริมถนนจากสนามบินเข้าสู่ตัวเมืองหลวงพระบาง แถวโรงแรมมะโนลัก

เฝอ เป็นก๋วยเตี๋ยวที่ลาวรับมาจากเวียดนามอีกที นับเป็นหนึ่งในอาหารยอดนิยมของคนหลวงพระบางที่สามารถหากินได้ทั่วไป มีทั้งเฝอไก่ เฝอหมู เฝอเนื้อวัว และเฝอเนื้อควาย

ในร้านจันถนอม ผมเลือกสั่ง“เฝอควาย” เนื่องจากเจ้าของร้านแนะนำว่าเฝอควายนี่แหละเด็ดสุดและคนหลวงพระบางก็นิยมกินกันมาก ส่วนสาวสะคราญคนนั้นเธอขอเลือกกิน“เฝอเนื้อ(วัว)”เพราะว่าไม่กินควาย โดยเราทั้งคู่ต่างสั่งเฝอกับเจ้าของร้านชาวลาว

จากนั้นแป๊บเดียวเจ้าของร้านยกเฝอเนื้อมาเสิร์ฟสาวสะคราญนางนั้นก่อน ส่วนเฝอควายของผมนั้นอีกชั่วอึดใจก็ถูกยกตามมา

น่าแปลกที่ทั้งเฝอเนื้อและเฝอควายหน้าตาคล้ายกัน?!?

สาวสะคราญกินเฝอเนื้ออย่างเอร็ดอร่อย พร้อมกับแซวผมว่าถึงเฝอควายของผมจะดูเหมือนเฝอเนื้อของเธอ แต่ว่ารสชาตินั้นคงอร่อยสู้เฝอเนื้อของเธอไม่ได้แน่ ว่าแล้วเธอก็ก้มหน้าก้มตากินต่ออย่างเอร็ดอร่อยจนเฝอเนื้อหมดลงอย่างรวดเร็ว

สำหรับความอร่อยของเฝอเนื้อชามนั้นแค่ผมชมเธอกินก็รับรู้ได้ถึงความอร่อยแล้ว แต่ว่าสาวสะคราญเธอการันตีความอร่อยด้วยการขอ“เบิ้ล”อีกหนึ่งชาม เพราะติดอกติดใจในรสชาติของเฝอเนื้อชามแรก โดยการสั่งในครั้งที่สอง สาวสะคราญเธอสั่งผ่านไกด์คนไทย

น่าแปลกที่ทั้งเฝอเนื้อชามแรกและเฝอเนื้อชามหลังดูต่างกัน?!? แถมพอสาวสะคราญเธอกินไปได้สักพักก็เริ่มรู้สึกว่ารสชาตินั้นต่างกัน รสเนื้อในเฝอชามหลังอร่อยสู้ชามแรกไม่ได้

“เอ...หรือว่านี่จะเป็นเฝอควาย”

สาวสะคราญเธอถามผม ซึ่งผมก็ไม่สามารถให้คำตอบได้ จนสุดท้ายเราจึงสอบถามไปยังเจ้าของร้านว่า นี่คือเฝออะไร?

“เฝองัว” เป็นคำตอบที่เจ้าของร้านยืนยัน

“แล้วทำไมรสชาติถึงแตกต่างจากชามแรกนัก”สาวสะคราญเธอถามต่อ

“ก็ชามแรกพี่สั่งเฝอเนื้อ”เจ้าของร้านยังคงยืนยันตามเดิม

ก่อนที่การ“โอ้โลม”(สนทนา)จะยืดเยื้อ ทางไกด์จึงเข้าไปสอบถามเจ้าของร้าน ก็ยังคงได้รับคำตอบเหมือนเดิมว่า ชามแรกคือเฝอเนื้อส่วนชามหลังคือเฝองัว

เท่านั้นแหละไกด์ถึงกับหัวเราะ แล้วเดินกลับมาบอกสาวสะคราญว่า ชามแรกที่สั่งเฝอเนื้อไปนั้น จริงๆแล้วก็คือเฝอควายเพราะคนลาวเรียกเนื้อควายว่า“เนื้อ”ส่วนชามหลังเป็นเฝอเนื้อวัวโดยคนลาวเรียก“งัว”

คำตอบนี้เล่นเอาสาวสะคราญเธอทำหน้าหัวร่อมิได้รำไห้มิออก ก่อนบ่นอุบอยู่พักใหญ่ เพราะเรื่องของเรื่องก็คือเราต่างสื่อสารกันผิดพลาด

แต่ที่ไม่น่าเชื่อก็คือ หลังจากนั้นในมื้อต่อๆมา หากเมนูไหนมีเนื้อ-หนังควายเป็นส่วนผสมด้วย สาวสะคราญเธอจะต้องขอลองลิ้มชิมรสเนื้อควายให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อควายทอด ลาบควาย ออหลามควาย และที่มาแรงในช่วงนี้ก็คือเนื้อควายกระทะ(คล้ายหมูกระทะ เนื้อกระทะในบ้านเรา)ที่มีขายอยู่หลายร้านแถวถนนริมโขง

งานนี้สาวสะคราญเธอไม่ยอมพลาดการกินควายกระทะด้วยประการทั้งปวง เรียกว่าเธอต้องมนต์เสน่ห์เนื้อควายเข้าให้แล้ว ซึ่งจะว่าไปแล้วคนหลวงพระบางนี่ทำเมนูจากควายได้ยอดเยี่ยมไปเบา หลายเมนูมีควายเป็นส่วนผสม เมื่อกินแล้วแซ่บหลายนัก

แจ่วหลวงพระบาง อาหารที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของเมืองนี้ รสชาติคล้ายน้ำพริกตาแดงบ้านเรา แต่ที่เด็ดนักก็เห็นจะเป็นหนังควายต้มเปื่อยชิ้นเล็กๆที่ใส่คลุกลงไปนั้นเคี้ยวหนุบหนับอร่อยนัก

ออหลามควาย อาหารพื้นบ้านลาวคล้ายแกงเผ็ดน้ำขลุกขลิก รสชาติออกไปทางแกงเปอะ ที่เข้มข้นด้วยเครื่องแกง เห็ด มะเขือ สะคานและเนื้อ-หนังควายที่หนึบหนับเคี้ยวเพลิน

แคบควาย กินเล่นๆเคี้ยวกรอบๆ

อ่อมควาย รสกลมกล่อมไม่เหม็นสาบ

และฯลฯ

สำหรับใครที่กินเนื้อควายเป็นทุนอยู่แล้วไปหลวงพระบางคงไม่เคอะเขินต่อการกินควาย ส่วนใครที่ไม่กินเนื้อควายก็หันไปกินเมนูเนื้อสัตว์อย่างอื่นแทน แต่ว่าก็ไม่ควรรังเกียจคนที่กินเนื้อควายที่มีอยู่ทั่วไป

ส่วนใครที่ไม่กินเนื้อควายและไม่รังเกียจต่อการกินเนื้อควาย หากไปหลวงพระบางแล้วลองกินเมนูควายหลายๆเมนู บางทีอาจจะติดใจเหมือนสาวสะคราญนางนั้นก็ได้ ใครจะไปรู้ เพราะเนื้อควายที่หลวงพระบางนั้นกินได้กินดี และกินแล้วบางทีอาจจะช่วยเปลี่ยนทัศนคติที่ไม่ดีต่อควายให้ดีขึ้นด้วยก็เป็นได้

เพราะการกินเนื้อควายของคนหลวงพระบางหรือของคนไทยในหลายพื้นที่ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด

แต่หากว่าประเทศใดมี“รัฐมนตรีสมองควาย”นี่สิ ถือว่าแปลกประหลาดเป็นอย่างยิ่ง?!?
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

หลวงพระบาง ตั้งอยู่ทางเหนือของสปป.ลาว อดีตเคยเป็นนครหลวงของอาณาจักรลานช้าง ได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโกให้เป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในปี พ.ศ. 2538 ใช้เงินกีบเป็นหลักในการซื้อขายโดย 1 บาท ประมาณ 250 กีบ แต่สามารถใช้เงินบาทได้ คนไทยสามารถเข้าหลวงพระบางได้โดยไม่ต้องทำวีซ่า

เฝอ : อาหารประเภทก๋วยเตี๋ยวที่ลาวรับมาจากเวียดนาม มีลักษณะเหมือนก๋วยเตี๋ยวน้ำบ้านเรา มีทั้งเฝอไก่ เฝอหมู เฝอวัว(งัว) และเฝอควาย คนลาวในหลวงพระบางนิยมกินเฝอกับผักสดนานาชนิด พร้อมด้วยเครื่องปรุงเฝอได้แก่ น้ำปลา น้ำตาลทราย กะปิ มะนาว พริกป่น น้ำพริกเผา และที่นิยมมากก็เห็นจะเป็นแป้งนัว(ผงชูรส) ที่นำเข้าจากไทยและเวียดนาม นอกจากนี้ยังนิยมกินเฝอกับข้าวคอบ หรือ ข้าวพองในบ้านเรา เฝอมีขายทั่วไปในหลวงพระบางทั้งร้านริมถนนร้านห้องแถว ร้านเพิง สนนราคาของปี 48 อยู่ที่ 8,000-10,000 กีบ (ประมาณ 35-40 บาท)

ออหลาม : อาหารพื้นเมืองลาว คล้ายแกงเผ็ดน้ำขลุกขลิก มีเครื่องแกงที่โขลกมาประกอบด้วย ข่า ตะไคร้ หอมแดง พระเทียม พริกเผา และมีผักอย่าง มะเขือ พริก เห็ด ซึ่งออหลามหลวงพระบางจะมีสูตรพิเศษตรงที่จะใส่ ไม้สะคานลงไปเพิ่มกลิ่นและรสชาติ(สะคาน : พืชชนิดหนึ่งมีกลิ่นหอม รสเผ็ด-ซ่า)

สำหรับผู้ที่สนใจอาหารพื้นบ้านลาว ในช่วงเย็นๆที่ถนนจากสี่แยกใจกลางเมืองไปสู่ตลาดเช้าจะมีอาหารพื้นเมืองจขายอยู่ทั่วไป

ส่วนเนื้อกระทะ หมูกระทะ ควายกระทะ ช่วงเย็นจะมีขายตามร้านริมน้ำโขง

แซ่บหลาย(ภาษาลาว) : อร่อยมาก(ภาษาไทย)
โอ้โลม(ภาษาลาว) : สนทนา,พูดคุย (ภาษาไทย)

 
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

รู้จักหลวงพระบาง
การเดินทางสู่หลวงพระบาง
เก็บ"หลวงพระบาง" ไว้ในใจเสมอ
"หลวงพระบาง" เมืองงาม

กำลังโหลดความคิดเห็น