xs
xsm
sm
md
lg

กลองมโหระทึก สัญลักษณ์แห่งอุษาคเนย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากเอ่ยถึง “กลอง” เชื่อว่าทุกคนคงรู้จักเป็นอย่างดี เนื่องจากในวิถีชีวิตของชาวไทยนั้น กลอง นับว่ามีบทบาทสำคัญ ไม่ว่าจะงานบุญ งานรื่นเริง การร้องรำทำเพลง มักจะต้องมีเจ้าเครื่องดนตรีที่เรียกว่า “กลอง”รวมอยู่ด้วยแทบทุกครั้ง แต่จะมีสักกี่คนกันที่รู้จักกลองมโหระทึก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า กลองทอง ซึ่งเป็นกลองโบราณอายุนับพันๆปี

กลองมโหระทึก หรือชาวบ้านเรียกว่า “กลองทอง” ถูกเก็บไว้ในวัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง) อ. ดอนตาล จ. มุกดาหาร ในเอกสารของสำนักงานจังหวัดมุกดาหารกล่าวไว้ว่า พบเมื่อ พ.ศ. 2481 ที่บริเวณตลิ่งริมแม่น้ำโขงถูกน้ำเซาะพังทลายตรงบ้านนาทามในเขตลาว ตอนแรกเก็บไว้ที่วัดเวินไชยมงคล บ้านดอนตาล ตำบลดอนตาล ต่อมาย้ายไปเก็บรักษาไว้วัดกลาง

ลักษณะของกลองมโหระทึกใบนี้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 86 เซนติเมตร ก้นกลอง 90 เซนติเมตร สูง 66 เซนติเมตร นับว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยขณะนี้

บริเวณหน้ากลองมีลายนูนเป็นรูปคล้ายดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ มีรัศมี 14 แฉก แล้วมีประติมากรรมรูปกบประดับ 4 มุม ๆ ละตัวด้าน นักโบราณคดีกำหนดอายุตามรูปแบบ และลวดลายว่ามีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 5-6- (หรือหลัง พ.ศ. 400-500)

มโหระทึกไม่ใช่สมบัติวัฒนธรรมของพวกฮั่น (จีน) มาแต่เดิม เพราะเอกสารจีนโบราณระบุว่า เป็นของพวกป่าเถื่อนทางใต้ สมัยหลัง ๆ ต่อมายังเรียกมโหระทึกว่า "หนานถงกู่" หมายถึงกลองทองแดงของพวกชาวใต้ แต่มโหระทึกเป็นสัญลักษณ์ของอารยธรรมเริ่มแรกของภูมิภาคอุษาคเนย์ และมีอายุไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว เพราะในวัฒนธรรมจ้วง กว่างซียังมีประเพณีประโคมตีมโหระทึกในหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อบูชากบ และขอฝน สืบมาจนทุกวันนี้

นอกจากนี้กลองมโหระทึกยังแพร่หลายไปทั้งทางบกและทางทะเลไปยังดินแดนต่าง ๆ ของอุษาคเนย์ ทั้งบนผืนแผ่นดินใหญ่และหมู่เกาะ เพราะพบกลองมโหระทึกอยู่ในท้องถิ่นเหล่านั้น เช่นคาบสมุทรมลายู และหมู่เกาะอินโดนีเซีย รวมทั้งประเทศไทย

สำหรับในดินแดนประเทศไทย พบมโหระทึกทั่วทุกภาค เช่นพบที่ นครพนม มุกดาหาร อุตรดิตถ์ อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ กาญจนบุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลา และสุราษฎร์ธานี ทั้งนี้การพบมโหระทึกในที่ต่าง ๆ ทั้งใกล้และไกล แสดงออกให้เห็นถึงเส้นทางคมนาคมที่มนุษย์มีการติดต่อไปมาหาสู่กันทั้งภูมิภาค และทั้งทางบก – ทางทะเล มาตั้งแต่สมัยอดีตกาลแล้ว

อันที่จริงแล้ว "มโหระทึก" เป็นคำโบราณที่ยืมมาจากต่างประเทศแล้วกร่อนจนเพี้ยนไป มีใช้อยู่ในเอกสารไทยสมัยก่อนๆ ไม่ใช่คำไทยแท้ แต่ เช่น ไตรภูมิเรียกว่า "มโหระทึก" แต่กฎมณเฑียรบาลเรียก "หรทึก" จัดเป็นเครื่องประโคมตีชนิดหนึ่งมีเสียงดังมาก ในกฎมณเฑียรบาลจึงบอกว่า "ขุนดนตรีตีหรทึก" และในไตรภูมิบอกว่า "มโหระทึกกึกก้อง" แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็น "กลอง" หรือ "ฆ้อง"

เมื่อมาถึงปัจจุบันมักจัดมโหระทึกเป็นประเภทกลอง เพราะมีรูปร่างคล้ายกลอง จึงเรียกกันติดปากว่า "กลองมโหระทึก" แต่มโหระทึกทำด้วยโลหะผสมที่เรียกว่าสำริด (Bronze) ในตระกูลฆ้อง แล้วมักมีประติมากรรมรูปกบขนาดเล็กๆ ประดับขอบแผ่นหน้า คนบางกลุ่มจึงเรียก "ฆ้องกบ" หรือ "ฆ้องเขียด" แต่เอกสารจีนเรียก "กลองทองแดง" เพราะมีส่วนผสมของทองแดงเป็นโลหะหลัก ส่วนชาว จ.มุกดาหารมักเรียกมโหระทึกว่า "กลองทอง"

มโหระทึกในประเทศไทยสมัยโบราณก็เป็นสัญลักษณ์ของพระเจ้าแผ่นดิน ดังมีหลักฐานอยู่ในกฎมณเทียรบาลสมัยกรุงศรีอยุธยาใช้มโหระทึกประโคม ตีในงานพระราชพิธีและที่เกี่ยวกับ ความอุดมสมบูรณ์ของอาณาจักร แล้วยังสืบเนื่องมาถึงสมัยกรุงเทพฯ ทุกวันนี้ ดังที่ใช้ประโคมตีในงานพระราชพิธีจรดพระนังคัล แรกนาขวัญที่ท้องสนามหลวงทุกปี เป็นต้น

หากใครอยากจะเห็นหน้าตาจริงๆของกลองมโหระทึกหรือว่ากลองทองแล้วล่ะก็ ถ้าผ่านมาแถวริมแม่น้ำโขง ทางฝั่ง อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร ก็สามารถแวะเวียนเข้ามาชมได้ นอกจากนั้นแล้วยังสามารถท่องเที่ยวไปในบรรยากาศสบายๆชมวัฒนธรรม ริมฝั่งโขง อาทิ ธรรมาสน์ไม้สองชั้น ที่วัดกลาง ธรรมาสน์เสาเดียว ที่วัดพิจิตรสังฆาราม พร้อมทั้งชมทัศนียภาพและวิถีความเชื่อของชุมชนริมฝั่งโขง เรียกได้ว่าคุ้มค่ากับการมาเยือนเลยทีเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น