ถ้าพูดถึงจังหวัดที่เอกลักษณ์ในด้านการกินมากที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย "ตรัง" นับเป็นจังหวัดที่มีเอกลักษณ์ทางด้านการกินไม่เป็นที่สองรองใคร เพราะเมืองตรังนอกจากจะมากมายไปด้วยของกินที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว คนตรัง ณ เมืองตรัง ยังเป็นคนช่างกินชนิดหาตัวจับยากทีเดียว
ซึ่งจากการที่คนตรังส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายจีนและมีอาชีพทำสวนยาง จึงทำให้มีวิถีชีวิตเกี่ยวกับการกินไม่เหมือนใคร เพราะด้วยความที่คนกรีดยางต้องทำงานตั้งแต่หลังเที่ยงคืนไปจนเช้า อาหารในมือเช้าจึงสุดแสนจะอลังการนั่นคือ มีของกินนานาสารพันวางอยู่เต็มโต๊ะให้กินกันเต็มที่ชดเชยกับพลังงานที่ได้ใช้ไปจากการทำงาน
อาหารเช้าแบบฉบับตรังที่ต้องมีเป็นหลัก นั่นคือกาแฟ ติ่มซำ และหมูย่าง ซึ่งกาแฟนั้นถือเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมของชาวตรังทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าเช้าสายบ่ายเย็น ค่ำมืดดึกดื่น เป็นได้เห็นคนตรังมานั่งรวมตัวกันจิบกาแฟและพูดคุยกัน โดยมีทั้งกาแฟที่ใส่นมเรียกโกปี๊ ไม่ใส่นมเรียกโกปี๊อ้อ และยังมีโกปี๊ช้ำ ซึ่งเป็นชาผสมกาแฟสัดส่วนอย่างละครึ่ง ซึ่งเรื่องกินกาแฟของคนตรังนั้นถึงขนาดว่า ถนนทุกสายในเมืองตรังเดินไปทุก 100 เมตร เป็นได้เจอกับร้านกาแฟแน่นอน
ส่วนติ่มซำที่กินคู่กับกาแฟนั้นก็มีให้เลือกกินทั้งขนมจีบเหลือง ขนมจีบขาว(ฮะเก๋า) เต้าหู้ปลายัดไส้ มะระยัดไส้ กุยช่าย ปูอัดยัดไส้ ปอเปี๊ยะทอด บะจ่าง ซาละเปา ฯลฯ จิ้มกับน้ำจิ้มสีแดงที่คนตรังเรียกชื่อด้วยสำเนียงจีนกวางตุ้งว่า ก้อมเจือง หรือ ค้อมเจือง
นอกจากนี้ยังมีปาท่องโก๋ ที่ทอดด้วยน้ำมันตัวเหลืองกรอบหอมกรุ่น แต่คนตรังเรียกว่าอิ่วจาก้วย หรือจาโก้ย ส่วนปาท่องโก๋ หรือ ปัดถ่องโก้ว จริงๆ ที่ชาวตรังเรียกนั้นคือขนมน้ำตาลทรายขาวลักษณะเป็นขนมฟูตัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยม ซึ่งสองอย่างนี้คนต่างถิ่นจะต้องแยกให้ออกและอย่าสับสนในชื่อ
ในมื้อเช้าของคนตรังยังมี ข้าวยำ หมี่ฮุ้นกระดูกหมู ขนมจีนน้ำยา ขนมปากหม้อ ขนมครกข้าวเหนียวปิ้งไส้ต่างๆ และของกินอื่นๆอีกมากมาย ส่วนในมื้อกลางวันเลยไปถึงยามบ่ายจะเป็นประเภทข้าวแกง ข้าวขาหมู หรือข้าวหมูแดงสูตรเมืองตรังมาเสริมทัพ ถึงมื้อเย็นก็เปลี่ยนมาเป็นขนมจีบ ซาลาเปา โรตี คล้ายๆ มื้อเช้า
อาหารอย่างหนึ่งที่จะขาดไม่ได้เลยในมื้อเช้าและนับเป็นของกินที่ขึ้นชื่อ นั่นคือ "หมูย่าง" ที่เป็นสูตรพิเศษของเมืองตรัง ซึ่งคนตรังจะกินหมูย่างตอนเช้า เพราะมีความเชื่อว่าพอทานแล้วงานทุกอย่างในวันนั้นจะกลายเป็นเรื่องหมูๆ ไปเลย
สลิล โตทับเที่ยง ประธานหอการค้าจังหวัดตรัง เล่าว่า คนเมืองตรังกินหมูย่างมานานเป็นเวลากว่า 200 ปีแล้ว โดยในอดีตคนตรังเชื้อสายคนจีนซึ่งอพยพมาจากเมืองจีนได้นำวัฒนธรรมประเพณี รวมถึงวิธีการปรุงอาหารมาด้วย อย่างหนึ่งนั้นคือการทำหมูย่างสูตรกวางตุ้ง ซึ่งจะหมักด้วยเครื่องเทศปรุงยาจีน และน้ำผึ้ง ซึ่งจะทำให้ได้รสชาติหวานกลมกล่อม มีกลิ่นหอมถึงเครื่อง รสหวานปะแล่มๆ และไม่คาว ส่วนที่หนังหมูจะใช้เข็มเล็กๆแทงให้ทั่ว เพื่อเป็นการระบายอากาศและทำให้น้ำมันได้ซึมออกมา แล้วนำไปย่างในเตาที่ออกแบบพิเศษซึ่งจะทำให้ความร้อนถ่ายทอดเข้าสู่ตัวหมูได้สม่ำเสมอ
ลักษณะเด่นของหมูย่างเมืองตรังจึงกรอบนอกนุ่มใน ไม่ฉ่ำน้ำ ไม่สุกๆ ดิบๆ มีชั้นมันน้อย ซึ่งถ้าจะให้อร่อยจะต้องทานทั้งสามชั้น คือ หนัง มัน เนื้อ และไม่ต้องกินคู่กับน้ำจิ้มใดๆ เลย
ไม่เพียงเป็นของกินมื้อเช้าเท่านั้นแต่หมูย่างยังเป็นอาหารที่ใช้ในงานประเพณีต่างๆ เรียกว่าคนตรังมีความผูกพันกับหมูย่างตั้งแต่เกิดจนตาย คือเมื่อลูกหลานบ้านใดเกิด พ่อแม่ญาติพี่น้องก็จะเอาหมูย่างไปไหว้เจ้าเพื่อให้เด็กที่เกิดมามีร่างกายแข็งแรงเลี้ยงง่าย โตเร็วและฉลาด พอเข้าโรงเรียน พ่อแม่ก็เอาหมูย่างไปไหว้เจ้า ขอให้ลูกเรียนเก่งๆ ไม่ดื้อไม่ซน พอถึงเวลาสอบก็จะไหว้เจ้าด้วยหมูย่างเช่นกัน เมื่อโตมาแต่งงานก็ใช้หมูย่างไหว้เจ้า เพื่อให้ชีวิตครอบครัวมีความสุข ราบรื่น มีลูกหลานเร็วๆ เมื่อถึงงานบำเพ็ญกุศลศพโดยเฉพาะวันเคลื่อนศพไปสุสานของคนไทยเชื้อสายจีน ก็จะมีหมูย่างมาเกี่ยวข้องถือเป็นประเพณีสืบทอดปฏิบัติกันมายาวนาน
ของกินขึ้นชื่ออีกอย่างของเมืองตรังคือ ขนมเค้ก ซึ่งมีเอกลักษณ์เช่นกัน นั่นคือขนมเค้กเมืองตรังต้องมีรูตรงกลาง ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยระบายความร้อน ซึ่งเป็นต้นตำรับที่มีมากว่า 60 ปี ของ "ขุกมิ่ง แซ่เฮง" ผู้เคยทำงานในแผนกเบเกอรี่ของโรงแรมแห่งหนึ่ง แล้วนำสูตรมาทำที่ร้านและกินกับกาแฟ ปรากฏว่าคนกินต่างติดใจ และนำสูตรไปทำต่อกัน โดยเค้กเมืองตรังจัดเป็นเค้กไข่ ไม่มีการใช้ครีมแต่งหน้า ความอร่อยอยู่ที่ความนุ่มหอม มัน และมีหลายรสให้เลือก ซึ่งตอนนี้มีการพัฒนาให้มีหลากหลายรสชาติ แม้กระทั่งขนมเค้กรสหมูย่าง
หมูย่างและขนมเค้กเมืองตรังอร่อยและขึ้นชื่อ ใครมาเมืองตรังต้องกินและต้องซื้อกลับไปเป็นของฝาก ถือเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ของจังหวัดตรัง และยังมีการจัดเป็นงานประเพณีขึ้นทุกปี โดยเดือนสิงหาคมเป็นเดือนของขนมเค้ก จากนั้นเดือนกันยายนก็ต่อด้วยงานเทศกาลหมูย่างเมืองตรัง
แต่สำหรับปีนี้ยิ่งมีความพิเศษมากขึ้นไปอีก โดยทางหอการค้าจังหวัดตรังได้ผนวกทั้งสองงานเข้าไว้ด้วยกัน พร้อมกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวนั่นคือตลอดวันศุกร์ เสาร์ และวันอาทิตย์ ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม จังหวัดตรังได้จัดงาน "ประเพณี....วิถีตรัง" ภายใต้เทศกาล Season of Peace เพื่อให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสกับขนบประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนตรัง
ซึ่งในเดือนตุลาคม ยังมีงานประเพณีถือศีลกินเจ อันเป็นงานประเพณีดั้งเดิมของชาวจีนในจังหวัดตรัง โดยจะจัดขึ้นในวันขึ้น 1-9 ค่ำ เดือน 9 ของจีน ซึ่งถือเอาวันขึ้น6 ค่ำ เป็นวันสำคัญที่สุดของงาน ในงานจะจัดขบวนแห่เจ้าไปรอบเมือง เพื่อความเป็นสิริมงคล ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมงานประเพณีนี้จะนุ่งขาวห่มขาวไปถือศีลกินเจ ตามศาลเจ้าต่างๆ เป็นเวลา 9 วัน ศาลเจ้าที่มีชื่อเสียงในจังหวัดตรัง
ใครที่ไปเยี่ยมเยือนและท่องเที่ยวเมืองตรังในช่วงนี้จึงนับว่าเป็นโอกาสดี ที่จะได้พบกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมการกิน รวมถึงมุมมองของชาวตรังที่น่าสนใจ โดยเฉพาะกับการท่องเที่ยวในโครงการ "ประเพณี....วิถีตรัง" ซึ่งจะได้เห็นและทดลองกรีดยางพารา อันเป็นอาชีพหลักของคนตรังในยามเช้า พร้อมกับเยี่ยมชมการทำขนมเค้กสูตรดั้งเดิม ลิ้มรสกับแกงใต้รสเด็ด ติ่มซำ โกปี๊ ทั้งในยามค่ำคืน และหมูย่างในยามเช้า
นอกจากนี้ยังได้ร่วมนมัสการเจ้าแม่กวนอิมหยก นมัสการศาลเจ้าพ่อหมื่นราม และศาลเจ้ากิ่วอ่องเอี่ย รวมทั้งสัมผัสความงามของหินงอก หินย้อย และลอดถ้ำได้ที่ถ้ำเล เขากอบ ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวหนึ่งอีกแห่งที่มีชื่อเสียงของตรัง ยังไม่รวมกับความสวยงามของท้องทะเลตรังที่มีอยู่อีกมากมาย
ลองไปสัมผัส ประเพณี....วิถีตรัง ดูสักครั้ง แล้วจะรู้สึกถึงเสน่ห์ของคนตรังและมนต์ขลังแห่งเมืองตรัง จนอาจจะติดใจอยากจะกลับไปอีกเที่ยวแล้ว เที่ยวเล่า ก็เป็นได้
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับโปรแกรมท่องเที่ยวในโครงการ "ประเพณี....วิถีตรัง" ได้ที่ หอการค้าจังหวัดตรัง โทร. 0-7521-0238