xs
xsm
sm
md
lg

สักการะ "พระแม่" แม่พระผู้เป็นที่พึ่งพิง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในตำนานหรือประวัติศาสตร์ของหลายๆ ชาติ มีการกล่าวถึง "พระแม่" ผู้เป็นสตรีเพศที่ได้รับการยกย่องเชิดชูให้เป็นแม่ผู้ยิ่งใหญ่ มีความปรารถนาดี มีเมตตาต่อมวลหมู่มนุษย์จนถึงขึ้นยกย่องให้เป็นดั่ง "แม่พระ" อยู่หลายพระองค์

ซึ่งแม้จะมิใช่แม่ผู้ให้กำเนิดชีวิต แต่ด้วยจิตใจเมตตาปรานี ที่คอยช่วยเหลืออยู่เป็นนิจ จึงสมควรแก่การได้กล่าวถึงพระแม่ผู้เป็นแม่พระเหล่านั้น

"พระแม่กวนอิม" พระโพธิสัตว์ผู้เมตตา

นอกเหนือจากพระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาแห่งศาสนาพุทธแล้ว ชาวพุทธนิกายมหายานยังได้ให้ความเคารพนับถือต่อพระโพธิสัตว์ด้วย โดยเชื่อว่าพระโพธิสัตว์ก็คือผู้ที่ตรัสรู้แล้ว เพียงแต่ยังไม่เข้าสู่พุทธภูมิ จนกว่าจะช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากเสียก่อน ซึ่งในบรรดาพระโพธิสัตว์ที่ปรากฏพระนาม เป็นที่เลื่อมใสศรัทธามากพระองค์หนึ่ง ก็คือ "พระอวโลกิเตศวร" พระโพธิสัตว์แห่งความเมตตา หรือที่ชาวจีนเรียกกันว่า "กวนซีอิม" หรือ "กวนอิมพู่สัก" ซึ่งแปลว่า พระโพธิสัตว์ผู้เงี่ยหูฟังเสียงโลก

"พระโพธิสัตว์กวนอิม" จึงเปรียบเสมือนแม่ที่เมื่อได้ยินเสียงแห่งความทุกข์ของลูกๆ ก็พร้อมที่จะคอยช่วยเหลือลูกๆให้พ้นจากความทุกข์ ซึ่งนับว่าเป็นความเมตตาและเสียสละที่ใหญ่หลวงนัก

แม้จนบัดนี้ ความเชื่อและศรัทธาของบรรดาลูกๆ ที่มีต่อแม่พระกวนอิมก็ไม่เคยจางหาย

เรื่องราวความเป็นมาและการกำเนิดของของพระโพธิสัตว์กวนอิมนั้นปรากฎเป็นตำนานเล่าขานที่แตกต่างกันออกไป แต่ที่ตรงกันอย่างหนึ่งก็คือ ในพุทธศาสนานิกายมหายาน มีพระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง นามว่า "พระอวโลกิเตศวร" ซึ่งพระองค์จะปรากฏพระกายเพื่อโปรดเวไนยสัตว์ในพระรูปกายต่างๆ ถึง 33 รูปกายตามโอกาสและเวลา คือผู้ใดควรได้รับการโปรดด้วยปางใดก็ปรากฏพระกายปางนั้น ๆ เช่น ปางพุทธกาย ปางขุนศึก ปางพระราชา ปางนาค ปางยักษ์ ฯลฯ รวมถึงปางที่เป็นผู้หญิง ซึ่งได้รับความนิยมและแพร่หลายมากกว่าปางอื่น ๆ เพราะความเป็นผู้หญิงนั้นเห็นได้ถึงความอ่อนโยนและมีเมตตามากกว่าผู้ชาย

ในคัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตรของมหายานกล่าวว่า การที่พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ได้ชื่อว่ากวนอิมนั้น ก็เพราะได้ทรงช่วยเหลือบรรดาสรรพสัตว์ทั้งปวง โดยไม่เลือกชนชั้นวรรณะ เพศ วัย และสถานภาพ เพียงสรรพสัตว์ ได้สวดพระนามของพระองค์ก็หลุดพ้นจากห้วงทุกข์ เท่ากับทรงช่วยเหลือตามกระแสเสียงที่ได้ยินนั่นเอง

ศรัทธาที่ชาวพุทธนิกายมหายานมีต่อพระแม่กวนอิมนี้เอง จึงไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดๆ ก็จะร่วมกันสร้างรูปเคารพของพระแม่กวนอิมเพื่อเป็นที่สักการะและเป็นที่พึ่งพิงยึดเหนี่ยวจิตใจ ว่ามีพระแม่คอยฟังเสียงอยู่ใกล้ๆ ซึ่งในประเทศไทยเองก็มีรูปเคารพของพระแม่กวนอิมประดิษฐาน ณ สถานที่ต่างๆ ทั่วไป โดยที่มีมากที่สุดแห่งหนึ่งก็คือเยาวราช ซึ่งเป็นย่านที่มีชาวพุทธนิกายมหายานอาศัยอยู่มากที่สุด

โดยสถานที่ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีแห่งหนึ่งคือ "มูลนิธิเทียนฟ้า" ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ กับซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา บริเวณโอเดียน โดยมูลนิธิเทียนฟ้าได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อสงเคราะห์ผู้ป่วยไข้ที่ยากไร้ให้ได้รับการรักษาพยาบาล มีทั้งการรักษาแบบแพทย์ปัจจุบันและแพทย์แผนจีน ภายในศาลมีรูปเคารพของพระแม่กวนอิม ปางประทานพร รูปแบบสมัยราชวงศ์ถังที่งดงาม ประดิษฐานเป็นเทพเจ้าองค์ประธาน ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะและศรัทธาเชื่อถือกันอย่างมาก โดยเฉพาะกับญาติของผู้ป่วยที่มักจะมาอธิษฐานต่อพระแม่กวนอิมให้หายจากอาการป่วยไข้

ส่วนที่ "ศาลเจ้าอาเนี้ยเก็ง" ที่ตั้งอยู่ถนนพาดสายนั้นเป็นศาลเจ้าพระแม่กวนอิมขนาดเล็ก แต่ความเชื่อถือศรัทธายิ่งใหญ่เปี่ยมล้น เพราะจากพื้นที่ที่คล้ายกองขยะ แต่ด้วยศรัทธาที่มีต่อพระแม่กวนอิม ชาวจีนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นได้ช่วยกันพัฒนาจนเป็นศาลเจ้าขึ้นมาได้ มีเรื่องเล่าว่าในสมัยที่สำเพ็งเกิดเหตุเพลิงไหม้ไฟลุกลามไปทั่ว แต่เมื่อมาถึงบริเวณศาลไฟที่โหมไหม้ก็ดับทันทีเป็นที่อัศจรรย์ จึงเชื่อกันว่าเกิดจากอิทธิฤทธิ์ของพระแม่กวนอิมนั่นเอง

นอกเหนือจากนี้ยังมีพระแม่กวนอิมประดิษฐาน ณ ที่แห่งอื่นๆ อยู่อีกมาก ทั้งที่ "วัดเล่งเน่ยยี่" ซึ่งมีพระโพธิสัตว์กวนอิมเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด "มูลนิธิกว๋อง สิว" ศาลเจ้ากวางตุ้งแห่งเดียวในประเทศไทย ก็มีเจ้าแม่กวนอิมเป็นเทพประจำศาล รวมทั้ง "โพธิสถานมงคลธัญญ์" ซึ่งเป็นสถานปฏิบัติธรรมตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาภายในอาคารก็มีรูปเคารพของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์สำคัญอยู่หลายองค์

"อุมา -กาลี -ทุรคา" นามแห่งพระแม่ผู้ทรงอำนาจ

เรื่องราวของเทพเจ้าต่างๆ ที่ผู้ที่นับถือศาสนาฮินดูให้ความเคารพนั้น คงจะเป็นที่รู้จักกันบ้าง เพราะมักจะมีเรื่องเล่าว่าด้วยการกำเนิดที่มารวมถึงเรื่องราวเหตุการณ์ที่แสดงถึงพลังอำนาจของเทพแต่ละองค์ ซึ่ง "พระอุมา"ก็นับเป็นเทพองค์หนึ่ง ที่ใจดี มีพระพักตร์สวยงาม และยังเป็นชายาของพระศิวะ (หรือพระอิศวร) หนึ่งในตรีเทพผู้ยิ่งใหญ่ของศาสนาฮินดู ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นทั้งผู้ทำลายและผู้ให้กำเนิดทุกสรรพสิ่งในเวลาเดียวกัน

เช่นเดียวกับ "พระอุมา" ที่ไม่ได้มีเพียงเฉพาะภาคใจดี แต่หากยังเป็น "พระทุรคา" และ "พระกาลี" ผู้อยู่ในภาคดุร้ายที่เปี่ยมล้นด้วยพลังอำนาจอยู่ด้วยเช่นกัน

อุมา ทุรคา กาลี ก็คือนามของพระแม่คนๆ เดียวกัน ซึ่งจะปรากฏพระนามตามลักษณะท่าที คือ "พระอุมา"หมายถึงความรู้ เป็นปางปกติของพระนางที่งดงามเลอโฉม ใจดี มีเมตตา ส่วน "พระทุรคา"แปลว่าเข้าถึงมิได้หรือไปไม่ถึง จะเป็นปางดุร้าย มีแปดมือทรงอาวุธต่างๆและมีสิงโตเป็นพาหนะ ในขณะที่ "พระกาลี" หรือ กาลิกา (กาลราตรี) นับเป็นปางดุร้ายที่สุดของพระอุมา โดยเป็นรูปสตรีมีสี่มือรูปร่างดุร้ายผิวกายมีสีดำ ดูน่าเกรงขาม

ซึ่งตำนานว่าด้วยการกำเนิดรวมถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับพระอุมา หรือพระทุรคา หรือพระกาลีนั้น ก็มีการกล่าวถึงต่างกันออกไปในแต่ละปาง แต่ที่เกี่ยวกับฤทธิ์อำนาจที่สามารถเอาชนะมารผู้เป็นศัตรูได้นั้น กล่าวไว้ว่า พระกาลีได้ต่อสู้อย่างดุเดือดกับมาธูอสูร ที่เคยได้รับพรจากพระศิวะว่าให้มีชีวิตเป็นอมตะ หากเลือดมาธูอสูรตกลงถึงพื้นดินก็จะเกิดเป็นอสูรอีกมากมายไม่สิ้นสุด ดังนั้นพระศิวะจึงได้ประทานวิธีให้พระแม่กาลีได้ดื่มเลือดอสูรทุกครั้งโดยที่ยังไม่ทันได้ตกลงถึงพื้นดิน มาธูอสูรจึงถึงแก่ความตายในที่สุด

ปางทุรคาและปางกาลีนั้นจึงนับเป็นอีกด้านหนึ่งที่แสดงถึงพลังอำนาจในการปกป้องของผู้เป็นเพศแม่ เป็นธรรมชาติของเพศหญิงที่จะมีภาวะกราดเกรี้ยวรุนแรงไร้ขีดจำกัดชนะเหตุผลทั้งปวง ซึ่งถ้ามีภัยอันตรายก็พร้อมจะสู้หรือป้องกันอย่างยิบตา

ด้วยเหตุนี้ปางที่ดุร้ายอย่างพระแม่ทุรคาและพระแม่กาลี จึงกลับเป็นที่นิยมบูชากันมาก เพราะเชื่อว่าทรงพลังอำนาจในการให้พรผู้บูชาด้วยอำนาจอันไม่ยับยั้งว่าด้วยการประทานความสำเร็จหรือมีชัยชนะต่อศัตรู คือถ้าผู้ใดบูชาจนพระนางพอพระทัยก็จะประทานพรมากมายเพราะเป็นปางที่แสดงลักษณะปลดปล่อย จากความเลวร้ายทั้งมวล(เปรียบกับที่ทรงปราบมาธูอสูรผู้ดุร้าย)

สำหรับศาสนสถานที่เป็นเคารพสักการะพระแม่อุมาหรือพระแม่กาลีอันเป็นที่รู้จักกันดี ก็คือ "วัดพระศรีมหาอุมาเทวี" หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า วัดแขก โดยเป็นวัดในศาสนาพราหมณ์ฮินดู นิกายศักติ ซึ่งจะนับถือเทพสตรีผู้เป็นแม่เป็นใหญ่ในลัทธิ

รูปแบบของวัดเป็นสถาปัตยกรรมแบบอินเดียตอนใต้ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ภายในวัดมีเทพเจ้าทางศาสนา ฮินดูอยู่หลายองค์ ด้านในวิหารจะมีเจ้าแม่ศรีมหาอุมาเทวีอยู่ตรงกลาง ด้านซ้ายเป็นพระพิฆเณศวร ด้านขวาเป็นพระขันธ์กุมาร ซึ่งก่อนนี้จะเป็นสถานที่เฉพาะผู้นับถือศาสนาฮินดู แต่ในปัจจุบันผู้ที่นับถือศาสนาอื่นก็สามารถมาสักการะเยี่ยมชมได้

วัดอีกแห่ง คือ "วัดวิษณุ" ตั้งอยู่ที่ซอยวัดปรก แขวงทุ่งวัดดอน โดยนับเป็นวัดของศาสนาพราหมณ์ฮินดูเพียงแห่งเดียวในเอเชียอาคเนย์ที่มีเทวรูปศักดิ์สิทธิ์สร้างด้วยหินอ่อนแกะสลักด้วยมือ จากประเทศอินเดีย ครบ 24 องค์ซึ่งหนึ่งในนั้น เป็น "พระแม่ทุรคา" ที่นอกจากจะมีรูปปั้นท่านประดิษฐานอยู่ในโบสถ์ใหญ่แล้ว ยังมีโบสถ์ย่อยเป็นโบสถ์พระแม่ทุรคาโดยเฉพาะ เพื่อให้ผู้คนได้กราบไหว้สักการะและเพื่อปฏิบัติกิจทางศาสนาตามจิตศรัทธา

"พระนางมารีอา" มารดาผู้อารี

กล่าวกันว่า "พระนางมารีอา" มิใช่จะเป็นเพียง "มารดาพระเจ้า" (Mater Dei) เท่านั้นแต่หากยังเป็นมารดาของคริสตชนนิกายโรมันคาทอลิกทั้งโลกด้วย

โดยคริสตชนนิกายโรมันคาทอลิกมีความศรัทธาภักดีต่อพระนางมารีอา เนื่องจากชีวิตและฤทธิ์กุศลความดีงามต่างๆในชีวิตของพระนางเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิตของชาวคริสตชน

ซึ่งฤทธิ์กุศลที่สำคัญในชีวิตแม่พระคือ ความบริสุทธิ์ ท่านเป็น "แม่พระเป็นผู้ปฏิสนธินิรมล" คือเกิดมาโดยไม่มีบาปกำเนิด และยังดำเนินชีวิตถือพระบัญญัติของพระเป็นเจ้าอย่างครบถ้วน โดยพระนางมารีอาตั้งใจว่าจะถือพรหมจรรย์ แต่ด้วยพระเป็นเจ้าต้องการให้พระนางให้กำเนิดพระเยซู และด้วยความที่พระนางมีความสุภาพนอบน้อมเชื่อฟัง และความรัก จึงน้อมรับเพื่อให้สำเร็จตามแผนการไถ่บาปมนุษย์ของพระเป็นเจ้า

ด้วยความรักยิ่งใหญ่ที่แม่มีต่อลูก พระนางมารีอาจึงได้ทุ่มเทเลี้ยงดูพระบุตรอย่างดีที่สุด ความรัก ความห่วงใย ที่แม่มีต่อลูกไม่เคยเหือดหาย เพราะน้ำใจของแม่นั้นประเสริฐยิ่งนัก

ความดีและฤทธิ์กุศลที่พระนางมารีอาเสียสละตลอดพระชนม์ชีพนี่เอง ชาวคริสต์จึงเชื่อว่าพระนางมารีอาได้ไปประทับอยู่บนสวรรค์กับพระเยซูเจ้า พระบุตรของพระนาง แต่พระนางก็ยังรักและเมตตาคริสต์ชนทุกคน เพราะพระนางยังยึดมั่นในคำน้อมรับสุดท้ายที่ได้ให้ไว้กับพระเยซูก่อนที่พระองค์จะสิ้นพระชนม์ นั่นคือ ให้รับทุกคนเป็นลูกของพระนาง

ชาวคริสต์โรมันคาทอลิกมีความศรัทธาภักดีต่อพระนางมารีอาด้วยความเชื่อเก่าแก่ที่สืบทอดมาทางธรรมประเพณีว่าพระนางเป็นผู้นำคำภาวนาของคริสตชนไปทูลขอต่อพระเป็นเจ้า ด้วยว่าคริสตชนรำลึกถึงความต่ำต้อย และไม่สมควร คำภาวนาอาศัยพระนางมารีอาจึงย่อมสมควรกว่า คือพระนางจะพาลูกๆของพระนางทุกคนไปหาพระเป็นเจ้า

"เข้าหาพระเยซูเจ้าผ่านทางแม่พระ" จึงเป็นคำพูดเตือนใจคริสตชนอยู่เสมอ
 
ด้วยว่าในประเทศไทยมีคริสตศาสนิกชน นิกายโรมันคาทอลิกกระจายอยู่ทั่วไป รวมทั้งในกรุงเทพฯ ด้วย จึงสามารถจะเคารพสักการะพระแม่มารีอาได้ ณ โบสถ์แห่งต่างๆ รวมถึงโรงเรียนแห่งนักบุญต่างๆ ก็จะมีรูปเคารพของพระแม่มารีไว้เคารพเช่นเดียวกัน

"พระนางปชาบดี" ภิกษุณีผู้มุ่งมั่น

เรื่องราวในพุทธประวัติ ได้พบว่าบทบาทของผู้หญิงมีมากมาย โดยหนึ่งในนั้นก็คือ "พระนางปชาบดีโคตมี" ภิกษุณีองค์แรกแห่งพุทธศาสนา ที่มีส่วนในการช่วยเผยแพร่พระศาสนาในหมู่อิสตรีด้วย

จากพุทธประวัติจะทราบว่าพระนางปชาบดีโคตมี นั้นเป็นทั้งพระน้านางและพระมารดาเลี้ยงของพระพุทธเจ้า กล่าวคือ หลังจากที่พระนางสิริมหามายาสิ้นพระชนม์ พระนางปชาบดีก็ได้เลี้ยงดูเจ้าชายสิทธัตถะด้วยความรักบริสุทธิ์ประดุจดั่งแม่ผู้ให้กำเนิดจริงๆ จนเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงออกบวช บำเพ็ญเพียรกระทั่งบรรลุธรรม ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วได้เสด็จไปแสดงธรรมโปรดพระบิดา คือพระเจ้าสุทโธทนะ จนบรรลุอรหัตตผล ซึ่งหลังจากนั้น 7 วัน พระพุทธบิดาก็เสด็จปรินิพพาน พระนางมหาปชาบดีโคตมี จึงมีพระประสงค์จะผนวช

โดยพระนางเข้าเฝ้ากราบทูลอ้อนวอนกับพระพุทธองค์ว่า "ขอประทานวโรกาสพระพุทธเจ้าข้า ขอสตรีพึงได้ออกบวชเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้วด้วยเถิด"

ซึ่งแม้จะวิงวอนถึง 3 ครั้ง ก็ไม่ทรงอนุญาต เพราะพระพุทธองค์พยายามอย่างยิ่งที่จะไม่ให้มีสตรีเข้ามาบวช ด้วยเห็นว่าจะเป็นอันตรายต่อพรหมจรรย์

แต่พระนางก็ไม่ทรงละความพยายาม มีศรัทธามุ่งมั่นจะบวชให้ได้ กระทั่งพระอานนท์ได้ช่วยทูลขอถึงครั้งที่ 3 เช่นเดียวกัน ในที่สุดพระพุทธองค์ได้ตรัสว่า "ถ้าพระมหาปชาบดีโคตมี ยอมรับครุธรรม 8 ประการได้ นั่นแหละจะเป็นการบวช ของพระนาง" ซึ่ง ครุธรรม 8 ประการ นั้นคือ

1. ภิกษุณีอุปสมบทแล้ว 100 ปี ต้องกราบไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่ภิกษุที่อุปสมบทในวันนั้น ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต

2. ภิกษุณีไม่พึงอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต

3. ภิกษุณีต้องหวังธรรม 2 ประการ คือ ถามวันอุโบสถ 1 เข้าไปฟัง คำสั่งสอน 1 จากภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต

4. ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้ว ต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่าย โดยสถานทั้ง 4 คือ โดยได้เห็น โดยได้ยิน หรือโดยรังเกียจ ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต

5. ภิกษุณีต้องธรรมที่หนักแล้ว ต้องประพฤติปักขมานัตในสงฆ์ 2 ฝ่าย ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต

6. ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์ 2 ฝ่าย เพื่อสิกขมานาผู้มีสิกขา อันศึกษาแล้ว ในธรรม 6 ประการครบ 2 ปีแล้ว ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต

7. ภิกษุณีไม่พึงด่า บริภาษภิกษุ โดยปริยายอย่างใดอย่างหนึ่ง ธรรม แม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะเคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต


8. ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ปิดทางไม่ให้ภิกษุณีทั้งหลายสอนภิกษุ เปิดทาง ให้ภิกษุทั้ง
หลายสอนภิกษุณีธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต

แม้จะเป็นเงื่อนไขที่ยาก แต่พระนางก็ทรงยินดีรับ และพระพุทธองค์ก็ได้ทรงอนุญาต พระนางปชาบดีโคตมี จึงได้บวชเป็นภิกษุณี ซึ่งถือว่าเป็นภิกษุณีองค์แรกในพระพุทธศาสนา สตรีศากยวงศ์อีก 500 ที่ปรารถนาจะบวชก็พลอยได้รับอุปสมบทด้วย

เมื่อพระนางได้บวชเป็นภิกษุณีแล้วก็พากเพียรบำเพ็ญธรรมทั้งปวง ไม่นานนักก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในโลก ได้ความเป็นเลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายในด้านรัตตัญญู ผู้รู้ราตรีนาน (บวชนาน รู้เหตุการณ์ ต่างๆมาก) ด้านภิกษุณีเหล่าศากยวงศ์ก็บรรลุธรรมเช่นกัน พระนางปชาบดีโคตมี จึงเปรียบเสมือนต้นไม้ใหญ่ให้ภิกษุณีสงฆ์ได้อาศัย

สำหรับพุทธศาสนิกชนที่อยากจะเคารพสักการะพระนางปชาบดีโคตมีนั้น ต้องไปที่ "วัดเทพธิดารามวรวิหาร" ซึ่งตั้งอยู่ที่ริมถนนมหาไชย ใกล้ๆกับวัดราชนัดดา โดยในพระวิหารด้านหน้ารอบพระประธานจะมีรูปหมู่อริยสาวิกา (ภิกษุณี) ที่ได้รับเอตทัคคะ หล่อด้วยดีบุกประดิษฐานถึง 52 องค์ โดยแต่ละองค์จะมีใบหน้าและอิริยาบถที่แตกต่างกัน โดยมีพระนางปชาบดีโคตมี ประดิษฐานอยู่ตรงกลาง

*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

พระแม่ทั้ง 4 พระองค์ แม้จะต่างในศรัทธาความเชื่อ และต่างในวิถีแห่งการนับถือ แต่สิ่งที่มีคล้ายกันคือ ความเป็นสตรีเพศและจิตสำนึกในความเป็นแม่พระที่ยิ่งใหญ่

คือ "แม่" ผู้ที่พร้อมจะให้ความรักแก่ผู้คนทั้งมวลซึ่งเปรียบเสมือนลูกของตนเองได้ทุกขณะจิต

กำลังโหลดความคิดเห็น