“อันดามัน ปริ๊นเซส” เจ๊ง ลูกทัวร์โวย-พนักงานเคว้ง
พาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 1 สิงหาคม 2548 รวมถึงสื่ออื่นๆ ที่นำเสนอเกี่ยวกับการประกาศปิดกิจการชั่วคราวของบริษัทสยามครุยซ์ ซึ่งให้บริการเรือท่องเที่ยว “อันดามัน ปริ๊นเซส” ทิ้งลูกค้าที่ซื้อทัวร์จำนวนมากที่จ่ายเงินล่วงหน้าไปก่อน ทำให้ต้องมีออกมาแจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทให้คืนเงิน และยังมีพนักงานร่วมร้อยชีวิตที่ต้องออกจากงานโดยไม่ได้รับเงินชดเชยจำนวนมากร่วมร้องเรียน
ข่าวนี้นับว่าสร้างความแปลกใจให้กับคนในวงการท่องเที่ยวไม่น้อยทีเดียว เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีใครคาดคิดกันมาก่อนว่าเรือสำราญชื่อดังสัญชาติไทยที่เปิดให้บริการมายาวนานกว่า 16 ปี จะต้องประสบกับภาวการณ์เช่นนี้
โดยหนึ่งในลูกทัวร์ที่ซื้อแพกเกจท่องเที่ยวของเรือได้เผยว่า ไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นกับตนและเพื่อนนักท่องเที่ยว ขณะที่รัฐบาลพยายามประชาสัมพันธ์ให้คนไทยไปท่องเที่ยว 6 จังหวัดทะเลอันดามัน กลับมีบริษัททัวร์บางแห่งฉกฉวยโอกาสเอารัดเอาเปรียบหรือหลอกลวงนักท่องเที่ยว
ด้าน นายศุรวีร์ รัตนไชย ผู้รับมอบอำนาจที่ปรึกษาด้านการเงินและกิจการบริษัทฯ กล่าวว่าตั้งแต่เกิดเหตุการณ์สึนามิช่วงเดือนธันวาคมปลายปีที่แล้ว ทางการได้ประกาศปิดพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันที่ประสบภัยเพื่อค้นหาผู้เสียชีวิต และฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว ทำให้บริษัทไม่สามารถออกเรือให้บริการแก่นักท่องเที่ยวได้ นอกจากนี้ลูกค้าส่วนใหญ่ยกเลิกการเดินทาง และนักท่องเที่ยวลดจำนวนลง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจ น้ำมันแพง ทำให้บริษัทขาดทุนเรื่อยมา
และในทันทีที่มีข่าวออกมา ก็มีเสียงสะท้อนจากผู้คนทั่วไปในแง่มุมต่างๆ ซึ่ง “วาไรตี้ท่องเที่ยว” ได้นำความคิดเห็นส่วนหนึ่งมาจาก www.manager.co.th
“อ้าว จะปิดกิจการแล้วทำไมยังไปออกงานท่องเที่ยวต่างๆ หาลูกค้าอยู่เลยล่ะ อย่างนี้ยังไงละเนี่ย แปลกจริงๆ” ผ่านมา
“ช่วงสึนามิ ดูรายการกบนอกกะลาเรื่องเกี่ยวกับเรืออันดามัน แล้วท้ายรายการก็บอกว่า ทริปท่องเที่ยวนี้ (เที่ยวที่มีการถ่ายทำกบนอกกะลา) เป็นเที่ยวสุดท้ายของปี 2547 เสียดายจังเลยที่ต้องเป็นทริปท่องเที่ยวสุดท้ายของเรือด้วย น่าเห็นใจเรือมาก เพราะช่วงสึนามิเรือลำนี้ยังได้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดยการขนส่งคน สิ่งของ และเป็นเรือพยาบาลช่วยสึนามิ เรายังตื้นตันใจอยู่เลย ที่เรือสำราญหรูได้ช่วยเหลือสึนามิ น่าจะมีใครช่วยเหลือเรือได้บ้างนะ" คนไทย (อีกคน)
“เสียดายที่ไม่มีโอกาสไปเที่ยวกับเรืออีกเพราะอาหารและพนักงานดีที่สุด นับว่าผมยังโชคดีที่ไปเที่ยวกับเรือวันเกิดเหตุคลื่นยักษ์สึนามิด้วย กลับถึงบ้าน (อเมริกา) มีเรื่องเล่าให้เพื่อนฟังเกี่ยวกับประสบการณ์ที่ผ่านมา คิดไม่ถึงว่าปัญหาบริษัทมีเยอะจนต้องปิดกิจการลงเสียดายจริงๆ” วสันต์ USA
“บริษัทปิดกิจการแล้วครับ ตามไปดูที่ ซ.ทองหล่อได้ ผมโดนหลอกเสียเงินไปแล้ว ยังไม่มีผู้รับผิดชอบ” ดำริ
“บริษัทขี้โกงชัดๆ เลย เพราะอ่านดูแล้วหลอกเอาตังค์เขานี่ ทั้งที่รู้อยู่ว่ากิจการตัวเองไปไม่รอด อย่าอ้างอะไรเลย เรื่องโกง คือโกง ดูท่าตั้งใจโกงซะด้วย” ผ่านมาจ้ะ
“อย่าซ้ำเติมเค้าอีกเลย ไม่มีใครอยากทำธุรกิจเจ๊งหรอก ตอนเกิดเหตุการณ์สึนามิ เรือลำนี้ก็แปลงเป็นเรือพยาบาลช่วยคนเจ็บไม่ใช่หรือ เค้าก็คงทำเต็มที่แล้ว คงจะไปไม่ไหวจริงๆ คงไม่ได้มีเจตนาจะโกงหรอก ขอให้ทางบริษัทรีบออกมาพบกับลูกค้า ขอให้ผ่อนชำระหนี้คืนก็ยังดี เชื่อว่าคนไทยไม่แล้งน้ำใจหรอก สู้ๆ นะ ขอให้โชคดี” วงการท่องเที่ยวเหมือนกัน
ทั้งนี้ ล่าสุดบริษัทฯ ยืนยันที่จะจ่ายค่าเสียหายให้กับลูกค้า แต่ขอเวลาเพื่อจัดการเรื่องจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัทโดยเฉพาะเรืออันดามันฯ ก่อน ซึ่งแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อนำเงินมาคืนให้กับลูกค้าแล้ว คือ 1.จะขอสินเชื่อเพิ่มเติมจากธนาคารกรุงไทย 2. ขายเรือเพื่อมาชดใช้ และ 3. จะร่วมกับสมาคมโรงแรมภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียง ขอนำตั๋วเรือไปแลกห้องพัก
แน่นอนว่าในส่วนของลูกค้าที่ได้รับความเดือดร้อนก็คงต้องว่ากันตามกฎหมาย แต่ในฐานะที่เป็นเรือสำราญที่รับใช้คนไทยมาเนิ่นนาน ความประทับใจของผู้เคยใช้บริการย่อมจะมีเช่นเดียวกัน
สุนันทา หามนตรี นักท่องเที่ยวที่เคยขึ้นเรืออันดามัน ปริ๊นเซส และท่องเที่ยวในฝั่งอันดามัน เส้นทางภูเก็ต-อาดังราวี บอกว่ามีความประทับใจหลายอย่าง ทั้งการที่ได้สัมผัสกับความสวยงามในท้องทะเล และเป็นครั้งแรกที่ได้เห็น ‘บลูมูน’ คือในคืนวันพระจันทร์เต็มดวง ซึ่งจะส่องสะท้อนท้องทะเลเป็นสีน้ำเงิน ดูแล้วสวยงามและได้บรรยากาศที่ดีมาก
สิ่งที่ประทับใจอีกอย่างคือเจ้าหน้าที่ของเรือทุกคนน่ารักมาก นักท่องเที่ยวสามารถที่จะเข้าไปดูการทำงานในห้องกัปตันได้เลย “เรือลำนี้เป็นเรือของคนไทยที่การให้บริการสามารถเทียบเท่ากับเรือของต่างชาติได้ 95 % คือนักท่องเที่ยวคนไทย ถือเป็นการท่องเที่ยวสำหรับครอบครัว ตั้งแต่เด็กๆ ไม่กี่ขวบ ไปจนถึงคนแก่อายุ 80 ก็สามารถที่จะได้ท่องเที่ยวชมความสวยงามของท้องทะเลได้ เสียดายถ้าเรือจะปิดกิจการลง เสียดายถ้าจะไม่มีเรือสำราญที่เป็นของคนไทยเราเอง และจะเป็นที่น่าเสียดายถ้าคนไทยจะไม่มีโอกาสได้ใช้ทรัพยากรของประเทศที่สวยงามนี้”
วินิจ รังผึ้ง บรรณาธิการอนุสาร อสท. บอกว่ามีความรู้สึกดีๆ หลายอย่างกับเรือลำนี้ เพราะในช่วงที่เกิดสึนามิก็ได้ช่วยขนย้ายนักท่องเที่ยวออกจากพื้นที่ หรือแม้แต่ในช่วงหลังเกิดสึนามิยังเป็นเรือที่นำอาสาสมัครนักดำน้ำไปฟื้นฟูปะการังที่หมู่เกาะพีพี- สุรินทร์-สิมิลัน ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยเหลือด้วยใจรัก โดยไม่มุ่งหวังทางด้านธุรกิจเลย
นอกเหนือจากนั้น เรืออันดามัน ปริ๊นเซสยังมีโครงการที่น่าชื่นชม ซึ่งทำร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ทททฺ) มาได้ระยะหนึ่งแล้ว นั่นคือการจัดกิจกรรมฝึกอบรมการดำน้ำลึกให้กับเยาวชนไทยได้สัมผัสกับความสวยงามของท้องทะเลจริงๆ และเป็นการปลูกฝังให้เยาวชนสำนึกรักธรรมชาติ เช่นเมื่อปีก่อนที่ได้ไปปล่อยปลาการ์ตูนที่หมู่เกาะสุรินทร์ สิมิลัน
“ผมได้คุยกับผู้ประกอบการด้วยกัน ก็บอกว่าน่าเห็นใจ เพราะทั้งสึนามิหรือสถานการณ์น้ำมันทำให้ต้องเจอกับภาวะอย่างนี้ ซึ่งก็มีเสียงสะท้อนมาจากผู้ประกอบการว่ารัฐบาลบอกว่าจะช่วยในเรื่องเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับให้ผู้ประกอบการได้ฟื้นฟูแต่ตั้งแต่เกิดสึนามิ จนถึงเดี๋ยวก็ยังไม่ได้รับความช่วยเหลืออะไร ทั้งที่บอกว่าเป็นนโยบายเร่งด่วน คือเขาไม่ต้องการเงินสด หรือว่าจะช่วยอะไรมากไปกว่าขอเงินทุนในการฟื้นฟูและดำเนินกิจการต่อ
คือถ้าเป็นบริษัทไม่ดี ก็ต้องช่วยกันกำจัดให้หมดไป แต่ถ้าเป็นบริษัทดีๆ ก็จะเป็นกำลังใจให้ และอยากให้ช่วยเหลือดูแลกัน นี่ขนาดว่าเป็นอันดามัน ปริ๊นเซสที่มีฐานค่อนข้างมั่นคง ยังส่งผลได้ขนาดนี้ แล้วถ้าเป็นผู้ประกอบการรายย่อยเล็กๆ ล่ะ จะเป็นหรือจะอยู่กันอย่างไร ก็ฝากผู้ที่เกี่ยวข้องให้ช่วยมาดูตรงนี้ด้วย”
พีรพัฒน์ บุญเพ็ชร ซึ่งเคยทำหน้าที่ครูสอนดำน้ำของ “อันดามันไดร์ฟคลับ” บนเรืออันดามัน ปริ๊นเซสเมื่อหลายปีก่อน บอกว่าเมื่อได้ยินข่าวก็ตกใจ คิดไม่ถึงว่าอันดามันฯ จะปิดตัวลง เพราะเรื่องของการท่องเที่ยวทางทะเล ถือว่าอันดามัน ปริ๊นเซสเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้คนที่ไม่เคยรู้จักทะเลได้ไปสัมผัสกับโลกทะเลจริงๆ
“การมีเรือสำราญในลักษณะที่เป็นอันดามัน ปริ๊นเซส ผมถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะว่าการที่คนเราจะไปสัมผัสทะเลหรือโลกใต้ทะเลไกลๆ ทางฝั่งอันดามันได้อย่างสะดวกและปลอดภัยในระดับหนึ่ง และมีปริมาณคนที่ไปคราวละมากๆ ไม่มีใครทำได้เหมือนอันดามัน ปริ๊นเซส นอกจากนั้นถ้าเป็นคนไทยที่จะไปสัมผัสโลกใต้ทะเลก็ต้องเป็นนักดำน้ำแบบสคูบา ซึ่งก็เป็นส่วนน้อยที่จะมีโอกาสอย่างนั้น”
สามารถ ศรีดาวเรือง Products Manager Marketing บริษัท หนุ่มสาวทัวร์ บอกว่าล่าสุดเพิ่งจะมีการ inspect ที่เรือ เมื่อเดือนที่แล้ว คือ 5 บริษัทที่รวมกลุ่มกัน ก็ยังมีบางบริษัทที่เตรียมจะจัดทำแพกเกจออกมาแล้ว คือตอนนั้นที่ไปสถานการณ์น้ำมันมันยังไม่รุนแรงมากนัก ซึ่งเมื่อได้ยินข่าวก็ค่อนข้างจะงง ไม่น่าเชื่อ
“คือลักษณะการท่องเที่ยวแบบนี้ก็มีเพียงไม่กี่เจ้า แล้วยิ่งที่เป็นของคนไทยจริงๆ ที่สามารถเทียบเท่ากับเรือต่างชาติได้ ก็มีเรืออันดามัน ปริ๊นเซสนี่แหละ เราก็ไม่อยากให้มันหดหายไป รู้สึกหวิวๆ จริงๆ แล้วค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น เขาก็คงจะคิดหนักแหละ
เรืออันดามัน ปริ๊นเซสที่อยู่มายืนยาวนี่ถือว่าเป็น ‘ปูชนียเรือ’ ได้เลยนะ ซึ่งถ้าไม่มีเรือนี้ก็รู้สึกว่าเหมือนอะไรบางอย่างมันขาดหายไป คงจะไม่มีภาพของเรือลำใหญ่มาจอดทอดเสมอข้างๆ เกาะ ไม่มีเรือลำเล็กที่ทรานสเฟอร์นักท่องเที่ยวขึ้นเกาะไปเล่นน้ำ ต่อไปก็คงไม่มีเรือแบบนี้ มีแต่เรือแบบไปเช้าเย็นกลับ ใช้เวลาแบบกระชับขึ้น แทนที่จะเป็นการท่องเที่ยวแบบพักผ่อนดำน้ำเต็มที่”
ทั้งหมดของความรู้สึกคงจะสะท้อนได้ดีถึงเรือสำราญไทย “อันดามัน ปริ๊นเซส” ลำนี้ จึงได้แต่หวังว่าในช่วงระยะเวลา 3 เดือนที่ทางบริษัทสยามครุยซ์ ประกาศปิดกิจการชั่วคราวนั้นจะสามารถกลับมาฟื้นฟูและดำเนินกิจการต่อได้ ขณะเดียวกันทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาดูแลและจัดการช่วยเหลือ ซึ่งคงไม่ใช่เฉพาะเรืออันดามัน ปริ๊นเซส เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผู้ประกอบท่องเที่ยวรายย่อยอื่นๆ ด้วย