“พรุ่งนี้น้ำมันจะขึ้นอีก 40 สตางค์”
สิ้นเสียงประกาศของผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์ สมาชิกในหลายครัวเรือนต่างพากันส่ายหัวพร้อมกับบ่นอุบกับราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นและไม่มีทีท่าว่าจะลดลงแต่อย่างใด ซ้ำยังประกาศขึ้นราคาไม่เว้นแต่ละวัน และแน่นอนว่าเมื่อราคาน้ำมันซึ่งเปรียบได้กับต้นทุนของเหล่าผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อสินค้าอุปโภค-บริโภคที่ต้องขยับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
แต่จะทำอย่างไรได้ ในเมื่อในทุกวันทุกคนก็ยังต้องกินข้าว 3 มื้อ น้ำมันก็ยังต้องเติม ขึ้นรถเมล์ก็ต้องจ่ายเพิ่ม แต่ค่าตอบแทนยังได้เท่าเดิม หลายคนหันมาใช้มาตรการ “รัดเข็มขัด” กันจนเอวกิ่ว แต่ก็ยังลดรายจ่ายลงไปไม่ได้มาก
ส่วนรัฐบาลในช่วงนี้ก็พยายามส่งสัญญาณให้ประชาชนหันมาประหยัดพลังงานทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดการเปิด–ปิดเครื่องปรับอากาศในอาคารของทางราชการให้เป็นเวลา โดยเริ่มเปิดเวลา 8.45 น.และปิดเวลา 15.30 น.สำหรับพักลางวันให้ปิดเครื่องปรับอากาศเวลา 12.00 น.และเปิดเวลา 13.00 น. หรืองดการใช้ลิฟต์กรณีขึ้นลงชั้นเดียว การตรวจเช็กลมยาง หมั่นเช็กเครื่องยนต์อย่างสม่ำเสมอ และไม่ออกรถด้วยความเร็ว ก็จะสามารถประหยัดน้ำมันได้ในระดับหนึ่ง
ในขณะที่การประหยัดพลังงานและน้ำมันดำเนินไปอย่างเข้มข้น ก็มีผู้ใช้รถจำนวนไม่น้อยที่หันมาเติมน้ำมันแก๊ซโซฮอล์ล 95 (Gasohol) ที่ถูกกว่าน้ำมันธรรมดาถึงลิตรละ 1.50 บาท อันที่จริงแล้วน้ำมันแก๊ซโซฮอล์ลถือเป็นพลังงานทดแทนรูปแบบหนึ่ง เป็นการผสมกันระหว่างเอทานอลหรือเอทิลแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 99.5% ผสมกับน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว ในอัตราส่วนเบนซิน 9 ส่วน เอทานอล 1 ส่วน จึงได้มาเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ล ออกเทน 95 ที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับน้ำมันเบนซินพิเศษไร้สารตะกั่ว ออกเทน 95
นอกจากน้ำมันแก๊ซโซฮอล์ลที่รัฐบาลหมายมั่นปั้นมือจะพัฒนาให้เป็นพลังงานทดแทน ที่ในอนาคตจะเพิ่มปริมาณการผลิตไปพร้อมๆ กับการขยายพื้นที่การให้บริการมากขึ้นแล้ว ยังมีไบโอดีเซล ซึ่งก็คือพลังงานทดแทนที่ได้จากพืชอย่าง “สบู่ดำ” ที่ ณ เวลานี้กำลังอยู่ในความสนใจและจับตามองของสังคม ว่าจะสามารถพัฒนาให้เป็นพลังงานทดแทนน้ำมันดีเซล เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้หรือไม่
รู้จักสบู่ดำ
ย้อนไปเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ชาวสยามรู้จักพืชไม้พุ่มยืนต้นที่มีนามว่า “สบู่ดำ” จากการที่ชาวโปรตุเกสนำเข้ามาในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา เพื่อรับซื้อเมล็ดไปคัดบีบเอาน้ำมันสำหรับทำสบู่ แต่น้ำมันที่ได้ไม่มีสีดำเหมือนชื่อ จะเหมือนน้ำมันพืชทั่วไปที่สีเหลืองขุ่น
นับแต่นั้นสบู่ดำก็ได้กระจายไปตามหัวเมืองต่างๆ ของสยามประเทศ ภาคเหนืออาจรู้จักกันในนาม มะหุ่งฮั้ว ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียกว่า มะเยา หรือสีหลอด แต่สำหรับภาคใต้เรียก มะหงเทศ
โดย สบู่ดำเป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดกลาง ความสูง 2-7 เมตร อายุยืนไม่น้อยกว่า 20 ปี มีลำต้นและยอดคล้ายละหุ่ง แต่ไม่มีขน ลำต้นเกลี้ยงเกลาใช้มือหักได้ง่ายเพราะเนื้อไม้ไม่มีแก่น ใบหยักคล้ายใบละหุ่งแต่หยักตื้นกว่า มี 4 หยัก มีดอกเป็นช่อกระจุกที่ข้อส่วนปลายยอด ขนาดเล็กสีเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อนๆ มีดอกตัวผู้มากกว่าดอกตัวเมียในช่อเดียวกับ
สำหรับของผลสบู่ดำจะมีลักษณะเป็นพู โดยส่วนมากจะมี 3 พู สีเขียวอ่อน เวลาแก่จัดสุกจะมีสีเหลือง ระยะเวลาของผลสบู่ดำตั้งแต่ออกดอกถึงผลแก่ประมาณ 60–90 วัน
สบู่ดำสามารถการขยายพันธุ์ได้ทั้งการเพาะเมล็ด การปักชำ นอกจากนี้ในปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรสามารถทำการขยายพันธุ์สบู่ดำโดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้แล้ว ซึ่งผลที่ได้จะเหมือนกับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชชนิดอื่นทั่วไป
นำสบู่ดำมาทำไบโอดีเซล
“สบู่ดำ หรือ Physic nut มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Jatropha curcas Linn. เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ไม้ยางพารา Euphorbiaceae เช่นเดียวกับสบู่แดง ปัตตาเวีย ฝิ่นต้นหรือมะละกอฝรั่ง หนุมานนั่งแท่น โป๊ยเซียน มันสำปะหลัง มะยม ซึ่งมีความหลากหลายค่อนข้างมากในลักษณะต้น ใบ ช่อดอก ผล และเมล็ด สบู่ดำเป็นพืชพื้นเมืองของอเมริกาใต้”
รศ.ดร.สมบัติ ชิณะวงศ์ คณะบดีคณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นักวิจัยโครงการสบู่ดำไบโอดีเซล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวพร้อมกับเท้าความให้ฟังว่า
“การวิจัยเรื่องสบู่ดำนั้นเริ่มในประเทศไทยมาเมื่อประมาณ 25-26 ปีแล้ว แต่ที่ยังไม่เป็นที่สนใจก็เนื่องมาจากว่าในสมัยก่อนราคาน้ำมันยังตกอยู่ประมาณลิตรละ 3-5 บาทซึ่งถือถูกมาก ไม่มีใครคาดคิดว่าน้ำมันจะราคาสูงเหมือนอย่างปัจจุบันนี้ ทำให้งานวิจัยของอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ต้องหยุดไป แต่ทุกคนก็รู้แล้วว่าสบู่ดำสามารถนำมาเป็นไบโอดีเซลได้
ที่เราหันกลับมามองเรื่องสบู่ดำก็เนื่องจากคิดว่าทิศทางของน้ำมันมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้น เมื่อ 2 ปีที่แล้วเราก็มองว่าเมื่อไรก็ตามที่รัฐเลิกอุ้มน้ำมันดีเซลก็ต้องพุ่งสูงขึ้น กระแสตอนนั้นเริ่มมองเห็นแก๊สโซฮอล์ (ทำมาจากอ้อย+มันสำปะหลัง) พอแก๊สโซฮอล์เริ่มมาก็กระตุ้นปาล์มน้ำมัน แล้วก็กระแสตรงนี้ไม่เฉพาะประเทศไทย มันเป็นทั่วโลกที่พยายามจะหาพลังงานทดแทนจากแหล่งอื่น”
หลังจากนั้นดูเหมือนว่าทางคณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จะได้ทุ่มเทความสนใจทำการวิจัยพลังงานทดแทนเรื่องสบู่ดำให้เป็นพืชเศรษฐกิจเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งจะมุ่งไปที่เรื่องของการศึกษาวิจัยเขต “เกษตรกรรม” เป็นหลัก และใช้พื้นที่กว่า 6 ไร่ ทำการทดลองปลูกสบู่ดำซึ่งเป็นสายพันธ์จากแพร่และโคราช ตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายน ปี 2546 จำนวนไร่ละ 800 ต้น พร้อมกับการเก็บข้อมูลอย่างละเอียด โดยมีการดูแลจัดการเหมือนกับพืชไร่อื่นๆ มีการเตรียมดินที่ดี ดูแลจัดการเรื่องน้ำ ฯลฯ เพื่อที่จะดูศักยภาพการให้ผลผลิตในปีแรก ซึ่งเพียง 2 เดือนให้หลังต้นสบู่ดำก็ออกดอก และหลังจากนั้น 4 เดือนก็สามารถให้ผลได้
“โดยปกติแล้วพืชชนิดนี้เป็นพืชทนแล้ง คือไม่ตายแต่ไม่ให้ผลผลิตในหน้าแล้ง เพราะฉะนั้นในหน้าแล้งต้นจะทิ้งใบหมดเลย แต่เมื่อฝนมามันก็แตกใบ จนกว่าจะหมดความชื้นแห้งเหี่ยวอีก ขณะที่แนวทางการพัฒนาเพื่อให้เป็นพืชเศรษฐกิจได้นั้นจะต้องทำให้มีผลผลิตออกมาตลอดทั้งปี เราก็เลยมาทดลองกันว่าจะจัดการเรื่องน้ำในช่วงหน้าแล้ง โดยแบ่งเป็น 2 แปลง แปลงแรกมีระบบการจัดการเรื่องน้ำเป็นอย่างดีและมีการตัดแต่งกิ่ง ส่วนแปลงที่สองจะปล่อยให้โตตามธรรมชาติ จะไม่มีการไปยุ่งเรื่องน้ำ แต่จะรอให้ฝนตกลงมาเอง พบว่าแปลงแรกต้นสบู่ดำสามารถให้ผลผลิตต่อเนื่องไม่เว้นแม้แต่หน้าแล้ง
เมื่อปลูกไปแล้วพอเก็บผลผลิตได้ เราก็สังเกตเห็นว่าต้นไม้มันโตเร็วขึ้น สูงขึ้นเรื่อยๆ พอ 1 ปีต้นสบู่ดำก็สูงเกิน 2 เมตรแล้ว เราจึงมีความคิดว่าหากปล่อยให้สูงต่อไปเรื่อยจะเก็บเกี่ยวลำบาก จึงได้ทำการตัดแต่งกิ่งเพื่อไม่ให้มันสูงเกินไป เหมือนเป็นการบังคับความสูงให้ไม่เกินเมตรครึ่ง พอหลังจากการตัดแต่งตรงช่วงข้อที่สั้นที่สุด หลังจากนั้นอีก 6 สัปดาห์พบว่าต้นสบู่ดำสามารถแตกกิ่งและเกิดดอกมาใหม่ และพอ 8 สัปดาห์ก็มีการติดผล สรุปว่าหลังตัดแต่งกิ่ง 2 เดือนก็สามารถจะมีผลผลิตให้เก็บเกี่ยวอีกแล้ว ซึ่งตรงนี้ก็เหมือนเป็นการตอบโจทย์ได้ว่าทำยังไงจะให้มันสามารถออกดอกได้ทั้งปี
ถ้าถามว่ามีเรื่องแมลงมีมารบกวนไหม ตอนนี้เราปลูกในจำนวนไม่มากก็ยังไม่มารบกวน แต่เมื่อไรที่เราปลูกจำนวนมากขึ้นแน่นอนว่าแมลงต้องเข้ามากิน เชื่อว่าปัญหามีแน่ แต่ที่ทำได้คือต้องหาทางป้องกันไปพร้อมๆ กับการคิดว่าทำอย่างไรจึงจะให้ผลผลิตออกมามากที่สุด เนื่องจากสบู่ดำเป็นพืชผสมข้าม คือต้องมีพวกแมลง ผึ้ง ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นพาหะนำเกสรไปผสม ไม่เหมือนกับพวกข้าวที่ผสมในตัวเองได้” รศ.ดร.สมบัติกล่าว
หลังจากที่ได้ผลของสบู่ดำแล้วก็ถึงเวลาที่จะนำไปกะเทาะเปลือกออก เพื่อจะเก็บเมล็ดที่อยู่ภายในไว้ใช้สำหรับการสกัดน้ำมัน อาจกล่าวได้ว่าต้นสบู่ดำ 1 ต้นสามารถให้ผลผลิตคือเมล็ดสบู่ดำประมาณ 1 กิโลกรัม หรือคิดเป็นผลผลิตต่อไร่ก็คือ 800 กิโลกรัม (เมล็ด) ต่อ 1 ไร่
ซึ่งเมล็ดสบู่ดำนี่เองที่จะนำเข้าสู่กระบวนการสกัดน้ำมัน ซึ่งจะต้องใช้ประมาณ 4 กิโลกรัมจึงจะให้น้ำมันไบโอดีเซล 100% 1 ลิตร เวลาใช้ก็แค่กรองเอาตะกอนออกก็นำมาใช้งานได้ แต่มีข้อจำกัดคือใช้ได้กับเครื่องยนต์หมุนช้าเท่านั้น จำพวกเครื่องสูบน้ำ รถไถเดินตาม เครื่องรถอีแต๋น เครื่องการเกษตรต่างๆ แต่หากนำมาใช้กับเครื่องยนต์หมุนเร็วมันจะมีอุปสรรค เนื่องจากว่าไบโอดีเซลที่ได้จากสบู่ดำนี้จะมีไข เวลานำไปใช้กับเครื่องยนต์หมุนเร็วจะทำให้เครื่องยนต์หนืด อาจทำให้เครื่องรวนได้
แต่หากในอนาคตต้องใช้กับเครื่องยนต์หมุนเร็วจะทำอย่างไร รศ.ดร.สมบัติคนเดิมบอกว่าอาจต้องมาคิดค้นหาวิธีที่จะทำให้ลดความหนืดลง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาและพัฒนากันต่อไป
อนาคตสบู่ดำในเมืองไทย
สำหรับการที่จะปลูกสบู่ดำให้ประสบผลสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจาก รศ.ดร.สมบัติ มองว่ารัฐบาลจะต้องออกมาส่งเสริมพร้อมกับวางทิศทางของสบู่ดำอย่างจริงจัง และไม่เพียงแต่การปลูกสบู่ดำเพื่อนำมาสกัดเป็นน้ำมันไบโอดีเซลเท่านั้น แต่จะต้องมีการจัดการอย่างครบวงจรโดยให้ชุมชนร่วมมือกัน ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลต้องตั้งอุตสาหกรรมชุมชนขึ้นมา ภายในชุมชนนั้นจะต้องมีโรงงานสกัด สองมีโรงงานปุ๋ยอินทรีย์ สามมีโรงงานตัดเยื่อกระดาษ สี่มีโรงงานทำน้ำมัน ห้าโรงงานไฟฟ้าชุมชน ถ้าทำอย่างนี้ได้มันเกิดและเกิดอย่างยั่งยืน ถือเป็นการใช้ประโยชน์จากสบู่ดำได้คุ้มค่าที่สุด
“ตอนนี้สบู่ดำเป็นพืชที่มีปลูกกันอยู่แล้วในท้องถิ่นบางพื้นที่ แต่จะทำยังไงเพื่อที่จะปลูกได้มาก ไม่จำเป็นต้องรองานวิจัยให้เสร็จ ทุกอย่างมันไปแบบคู่ขนานกันได้ แต่อย่าไปวู่วามว่าต้องแห่กันปลูก เพราะจะตกเป็นเหยื่อของนักฉวยโอกาสที่มาบอกว่าให้เกษตรปลูกให้เยอะๆ แล้วจะรับซื้อ แต่ถามว่าที่บอกว่าจะรับซื้อนี่รับซื้อที่ไหน หน้าสวนหรือว่าหน้าโรงงาน
แนวคิดของผมคือไม่อยากให้เกษตรกรมาลงทุนในการเพาะพันธุ์ อยากให้รัฐบาลจัดงบประมาณแล้วผมจะทำให้ เรียกว่าธนาคารท่อนพันธุ์ หรือธนาคารเมล็ดพันธุ์ โดยใช้ มก.กำแพงแสนเป็นศูนย์กลาง แล้วให้เกษตรกรที่สนใจปลูกมากู้ยืมไปปลูก อย่างเอาไป 100 ต้น คิดดอกเบี้ย 10% 6 เดือนให้หลังให้นำต้นพันธุ์มาคืนผม 110 ต้น เกษตรกรไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องกู้ไปเยอะ ทำการทดลองก่อน นี่เป็นความฝันของผม ถ้าผมได้รับการสนับสนุน ผมอยากให้เกษตรกรได้เรียนรู้ในพื้นที่ของตนเอง ว่าทำเป็นไหมคุ้มค่าไหม และที่สำคัญต้องดูการตลาดด้วย
เรียกง่ายๆ ว่าให้การตลาดนำการผลิต เพื่อที่จะสร้างให้สบู่ดำแตกต่างไปจากพืชเศรษฐตัวอื่น กล่าวคือรัฐจะต้องหารือกำหนดตลาดในการรองรับขึ้นมาให้เห็นชัดเจนก่อน แล้วจึงค่อยมีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพื่อสร้างผลผลิตป้อนให้กับตลาด ไม่ใช่จะไปสร้างปัญหาผลผลิตล้นตลาดขึ้นมาอีก วิธีนี้จะช่วยให้สบู่ดำกลายเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนได้”
สุดท้ายนี้ รศ.ดร.สมบัติ มองว่าอนาคตของสบู่ดำดีแน่ หากได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาล แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องดำเนินไปอย่างที่เรียกว่า “ค่อยเป็นค่อยไป” เพราะที่ผ่านมาเราได้รับประสบการณ์จากสภาวะแห่แหนกันปลูกจนทำให้ผลผลิตล้นตลาดและไม่มีทิศทางของตลาดที่ชัดเจน แต่ ณ วันนี้ก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า “สบู่ดำ” พืชที่หลายฝ่ายจับตามองและหมายมั่นปั้นมือว่าจะให้เป็นพลังงานทดแทนต่อไปในอนาคตจะก้าวไปในทิศทางใด
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
"สบู่ดำ" พืชสารพัดประโยชน์