xs
xsm
sm
md
lg

สะท้อนภูมิปัญญาพื้นบ้านผ่าน "พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"วัฒนธรรมของชาติ ขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นสมบัติของชาติ ถ้ารักษาไว้ไม่ได้ก็ไม่ต่างอะไรกับคนขายชาติ ไทยเรามีเอกราชมายาวนานเป็นเพราะว่าเรามีขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นของเราเอง สิ่งนี้เป็นเครื่องยืนยัน ทำให้เราเชิดหน้าชูตาเป็นที่ยอมรับจากต่างประเทศได้"

คำกล่าวของ กฤษณ์ ฤทธิ์เดชา ครูภูมิปัญญาไทยด้านศิลปกรรม(การสืบสานศิลปศาสตร์การต่อสู้ประจำชาติไทย) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ

เมื่อภูมิปัญญาเป็นสิ่งสะท้อนความเป็นตัวตนของท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจึงเกิดขึ้น เพื่อเป็นศูนย์รวมภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรม

หากเอ่ยคำว่า "พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น" แล้วตามด้วยคำถามว่า คืออะไร?? คำตอบของใครหลายต่อหลายคนคงแตกต่างกันออกไป บางคนอาจจะนิยามว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ไม่ใช่ของทางการ บางคนอาจจะบอกว่าต้องดูที่เนื้อหาว่าต้องเป็นพิพิธภัณฑ์ที่แสดงเรื่องราวของท้องถิ่น บางคนอาจจะบอกว่าองค์กรของท้องถิ่น เช่น หมู่บ้าน วัด หรือ อบต.ดูแลก็น่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นได้ ตำตอบเหล่านี้หรือคำตอบไหนๆ ก็ไม่ใช่คำตอบที่ผิด หากแต่ความหมายของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นมันกว้างมาก

พิพิธภัณฑ์ เป็นคำนาม หมายถึง "สิ่งของต่างๆ ที่รวบรวมไว้เพื่อประโยชน์ในการศึกษา เช่น โบราณวัตถุ หรือ ศิลปวัตถุ" ซึ่งถึงแม้ว่า ในพจนานุกรมได้ให้ความหมายไว้เช่นนั้น แต่การใช้คำว่า พิพิธภัณฑ์ ในปัจจุบันมักนิยมหมายถึง "สถานที่ หรือสถาบันสำหรับเก็บรวบรวมสิ่งของต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการศึกษา" ดังนั้นจะเห็นได้ว่าความหมายของพิพิธภัณฑ์นี้ได้แปรเปลี่ยนไปจากรูปศัพท์เดิม กลายเป็นมีความหมายเดียวกันกับคำว่า พิพิธภัณฑสถาน

ส่วนพิพิธภัณฑสถาน [พิ-พิด-ทะ-พัน-ทะ-สะ-ถาน] ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 กล่าวไว้ว่า เป็นคำนาม หมายถึง "สถาบันถาวรที่เก็บรวบรวมและแสดงสิ่งต่างๆ ที่มีความสำคัญด้านวัฒนธรรม หรือ ด้านวิทยาศาสตร์ โดยมีความมุ่งหมายเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเล่าเรียน และก่อให้เกิดความเพลิดเพลินใจ"

ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กล่าวในงานพิพิธภัณฑ์เสวนาครั้งที่ 6 เรื่องสถานภาพพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในประเทศไทย ว่า

"พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเป็นมากกว่าสถานที่ที่เก็บสิ่งของ วัตถุ แต่เป็นขบวนการทางสังคม คือความคิดอะไรบางอย่างเกี่ยวกับสังคมและการเปลี่ยนแปลง แล้วก็มีรูปแบบของการปฏิบัติต่างๆ ความคิดอันนี้ทำให้เกิดการมองพิพิธภัณฑ์ด้วยความหมายอีกแบบหนึ่ง คือมองว่าพิพิธภัณฑ์เป็นกระบวนการที่จะสนองต่อสิ่งที่ต้องการ ทำให้คนในชุมชนใดชุมชนหนึ่งเกิดความสำนึกและตระหนักถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์ของรากเหง้าของตัวเอง เพื่อให้เกิดความเข้าใจตัวเอง เพราะฉะนั้นการทำพิพิธภัณฑ์แบบนี้ไม่ใช่เพื่อที่จะแสดงให้คนอื่นเห็นอย่างเดียว แต่ทำเพื่อกระตุ้นความเข้าใจตัวเอง กระตุ้นความสำนึกบางอย่างเกี่ยวกับตัวเอง"

ย้อนหลังไปประมาณ 20–30 ปี นักวิชาการท้องถิ่นเริ่มให้ความสนใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยอยากจะเล่าประวัติศาสตร์ของตนเองซึ่งไม่มีอยู่ในประวัติศาสต์ชาติ สิ่งนี้เองเป็นต้นความคิดที่ว่าชุมชนควรแสดงบางอย่างที่เป็นเฉพาะพื้นที่ แสดงความเป็นตัวเอง อาจจะไม่เหมือนกับคนอื่น หรือคนอื่นอาจจะไม่พูดถึง เพราะฉะนั้นชุมชนต้องพูดเอง

นอกจากนั้นจากการบริหารงานบ้านเมืองแบบกระจายอำนาจยังเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ให้เกิดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นอีกด้วย อาทิ องค์การบริหารส่วนตำบลก็เป็นองค์กรหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น นอกจากพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นทำหน้าที่เป็นสิ่งที่สะท้อนตัวตนของชุมชนแล้ว ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้ชุมชนอีกด้วย

ด้วยสาเหตุนี้เองทำให้ปัจจุบันจำนวนของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งพิพิธภัณฑ์เหล่านี้ล้วนได้รับการดูแลและจัดการจากหน่วยงานที่แตกต่างกันออกไป เช่น วัด โรงเรียน หมู่บ้าน บางทีสิ่งที่นำมาแสดงในพิพิธภัณฑ์ไม่จำเป็นต้องเป็นวัตถุโบราณอายุ 100 ปีขึ้นไป หากแต่เป็นสิ่งของที่ชุมชนนั้นเองต้องการอนุรักษ์สืบสานไว้ อย่างเช่นที่วัดพระเจดีย์ซาว จังหวัดลำปาง ก็มีของเก่านำมาแสดง อาทิ จักรยานเก่า ระหัดวิดน้ำ เครื่องพิมพ์ดีด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นสิ่งของเครื่องใช้ที่หายากในสมัยนี้ เพราะเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตของเรามาก ชุมชนแห่งนี้จึงได้เก็บรวบรวมสิ่งของหายากมาจัดแสดงให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้ดูกันเป็นแหล่งเรียนรู้

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจึงเป็นสิ่งที่ชาวบ้านหรือคนในชุมชนที่ร่วมแรงร่วมใจทำมันให้เกิดขึ้นมา สามารถทำให้คนในท้องถิ่นทั้งที่เป็นรุ่นใหม่และรุ่นเก่ามีความภาคภูมิใจ และมีความพร้อมที่จะรักษามรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้ไว้

สำหรับเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร จะมีใครสักกี่คนที่รู้บ้างว่าเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งแสงสีและมีความศิวิไลซ์นั้นจะมีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกระจายกันอยู่ทั่ว

เมื่อต้นปี 2547 ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครมีการเปิดตัวโครงการนำร่องพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร 4 เขต ได้แก่ เขตบางรัก เขตสัมพันธวงศ์ เขตบางกอกน้อย และเขตบางขุนเทียน ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของความตั้งใจที่จะเก็บสะสมรวบรวมข้อมูลต่างๆของท้องถิ่นนั้น จากอดีต–ปัจจุบัน ทั้งด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม สังคม ศิลปวัฒนธรรม รวมถึงวิถีชีวิตและภูมิปัญญาซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของผู้คนในแต่ละชุมชน

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่นๆ จึงเป็นแหล่งการเรียนรู้ของชุมชน ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามาศึกษาองค์ความรู้และสัมผัสกับวัฒนธรรมหลากหลายของแต่ละท้องถิ่น

ต่อมาในปี 2548 สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในกรุงเทพเพิ่มอีก 23 เขต รวมทั้งหมด 27 เขต ซึ่งแต่ละแห่งก็มีการจัดแสดงประวัติศาสตร์ความเป็นมา ขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน รวมทั้งสถานที่สำคัญและของดีที่เป็นเอกลักษณ์ประจำแต่ละพื้นที่

"กรุงเทพมหานครมีนโยบายหลักที่สำคัญในการที่จะส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนในชุมชนมีความรักความผูกพันกับท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ กรุงเทพฯ ก่อตั้งมา 223 ปี มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน มีการพัฒนา วิวัฒนาการในเรื่องของการสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น มีความเปลี่ยนแปลงไปในยุคสมัยต่างๆ และนอกจากจะเป็นเมืองหลวงแล้วก็ยังเป็นศูนย์กลางในเรื่องต่างๆ ทั้งศูนย์กลางการเรียนรู้ เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว สิ่งที่มีความสำคัญที่สุดคือเราจะสามารถสานต่อความเปลี่ยนแปลงและการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม" อภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในงานวันเปิดตัวพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร 27 เขต เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมา

ส่วนกฤษณ์ ได้กล่าวถึงปัญหาของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นว่า ปัญหาที่พบในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น คือคนที่มาดูพิพิธภัณฑ์จะเข้าใจว่ามาดูพิพิธภัณฑ์เพื่อมาดูของเก่า มาดูสถานที่เก็บวัตถุโบราณ แต่พอมาเห็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่แตกต่างออกไป ก็บอกว่าไม่เห็นมีอะไรดูเลย เราก็ต้องชี้แนะให้เขาได้รู้ว่าจุดประสงค์ของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เราผลักดันนั้น แท้จริงคืออะไร

สำหรับการสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นก็นับเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยอนุรักษ์สืบสาน วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิต ของชุมชนแต่ละท้องถิ่นให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้ศึกษา อีกทั้งยังช่วยสะท้อนภูมิปัญญาและความเป็นตัวตนของชุมชน นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งการเรียนรู้ชั้นยอดของคนรุ่นหลังอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น