xs
xsm
sm
md
lg

“อัสลีมาลา” ผู้นำพาความงดงามแห่งดนตรี“ร็องเง็ง” สู่มวลชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
เมื่อเอ่ยถามถึง “ร็องเง็ง” คนไทยทั่วไปคงบอกว่า ‘เคยได้ยินชื่อ แต่ไม่รู้จัก’ ในขณะที่คนไทยภาคใต้บางคน อาจจะบอกว่า ‘รู้จัก แต่ไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ฟัง’

ไม่ใช่เรื่องที่แปลก ถ้าคำตอบของคำถามจะออกมาในลักษณะนี้ เพราะร็องเง็งก็เป็นเช่นเดียวกับแสดงพื้นบ้านอีกหลายประเภทของไทยที่ถึงแม้จะมีมาช้านาน แต่ก็จะใกล้เลือนหายไป เหตุเพราะทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถล้วนแต่อยู่ในวัยชรา อายุไม่ต่ำกว่า 60 ปี และมีหลงเหลืออยู่ในจำนวนที่แทบจะนับได้

ซึ่งถ้าลมหายใจของผู้เฒ่าเหล่านั้นหมดลง ลมหายใจของ “ร็องเง็ง” ก็ดูจะไม่แตกต่างนัก

จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ถ้าการแสดงพื้นบ้านของชาวไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีมาช้านานหลายร้อยปี อย่างร็องเง็ง ซึ่งผสมผสานความเป็นยุโรปและเอเชียได้อย่างกลมกลืน กลายมาเป็นเสียงดนตรีที่อ่อนหวานไพเราะ และแฝงด้วยจังหวะที่คึกคักสนุกสนาน จะเหลือทิ้งไว้แค่ในหนังสือหรือเพียงการเล่าขาน

แต่โชคดีที่อย่างน้อย ณ วันนี้ ยังมีกลุ่มคนที่เห็นคุณค่าของร็องเง็ง และพยายามที่จะสืบสานพร้อมกับเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักยิ่งขึ้น ผ่านบทเพลงบรรเลงในนาม “อัสลีมาลา” ซึ่งมีความหมายว่า “ความงดงามราวดอกไม้บานของจังหวะร็องเง็ง”

(คลิกฟังดนตรีร็องเง็งฝีมือวงอัสลีมาลาในเพลง "ใจปรารถนา" ได้ที่ ไอคอนมุมบนด้านขวา)



ต่างคนต่างวิถี แต่มีใจเดียวกัน

“ศรัทธา หนูแก้ว” หรือ พี่คุ้ม อายุ 50 ปี อยู่ที่เขาสก จ. สุราษฎร์ธานี มีอาชีพหลักคือรับออกแบบทั่วไป รวมทั้งทำงานให้กับองค์การสหประชาชาติ (UN) เพื่อฟื้นฟูเกาะลันตา ส่วนอาชีพเสริมซึ่งเป็นสิ่งที่รักก็คือเล่นแมนโดรินให้กับวงอัสลีมาลา

ที่มาของวงดนตรีอัสลีมาลา เริ่มขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้วศรัทธาได้ไปบรรยายเรื่องการออกแบบให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคใต้ จ. สงขลา และได้เจอกับ แม็ค “อภิชาติ คัญทะชา” นักศึกษาในชั้นเรียนผู้ซึ่งมีความสามารถทางด้านดนตรีร็องเง็ง ซึ่งได้กลับกลายมาเป็นอาจารย์สอนให้ศรัทธาเล่นแมนโดริน หนึ่งในเครื่องดนตรีร็องเง็ง และจากนั้นจึงรวมตัวกับคนอื่นตั้งเป็นวงดนตรีขึ้น

“แต่ก่อนผมเป็นนักดนตรีเพื่อชีวิต เล่นกีตาร์อยู่วงคุรุชน กับดนตรีร็องเง็งก็เคยได้ยินได้ฟังและชอบอยู่แล้ว พอแม็คมาสอน ได้ลองเล่นแล้วก็ยิ่งชอบ พอตั้งเป็นวงก็มีคนชวนให้ไปเล่นตามรีสอร์ต ตามงานต่างๆ ไล่เรื่อยไปตลอดอันดามัน ถ้ามีแขกต่างประเทศหรือมีงานพิเศษ วงเราก็จะไปแสดงเปิด เพื่อให้เขาได้ฟัง เป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมให้เห็นว่า ดนตรีพื้นบ้านภาคใต้ของเรามีความเป็นมายาวนาน นับตั้งแต่ที่ยุโรปเข้ามาเชื่อมสัมพันธไมตรี ซึ่งพอชาวต่างชาติได้ยิน เขาก็จะตื่นเต้นและให้ความสนใจมาก ซึ่งก็เป็นความภูมิใจของเรา”

แนวดนตรีที่วงอัสลีมาลาเล่นเป็น ร็องเง็งปัตตานี คือจะเล่นเฉพาะในวัง สำหรับต้อนรับแขกสำคัญ จึงไม่เป็นที่แพร่หลายของคนทั่วไป แต่เป็นเพลงเฉพาะที่มีเมโลดี้จังหวะชัดเจน

“เสน่ห์ของร็องเง็งอยู่ที่เมโลดี้ มันมีความสวยงามของดนตรีเอเชียและยุโรปที่มาผสานกันเกิดเป็นจังหวะร็องเง็ง แล้วตอนนี้ก็มีคนเล่นเหลืออยู่น้อย พอดีกับที่ผมได้ทำงานให้กับ UN ซึ่งมีโครงการฟื้นฟูวิถีชีวิตและชาติพันธุ์ชาวเลเกาะลันตา เพราะที่นั่นมีชาวเลที่เขาเล่นร็องเง็งพื้นบ้าน แต่ตอนนี้แทบจะไม่มีคนสืบทอด มีแต่คนเฒ่าคนแก่ที่อายุมาก จึงได้พยายามที่จะฟื้นฟูและอนุรักษ์ให้คงอยู่ ไม่ให้หายไป”

อภิชาติ หรือแม็ค สถาปนิกวัย 25 ที่อายุน้อยที่สุดในวงแต่เพื่อนทุกคนต่างยกให้เป็น“อาจารย์แม็ค” เพราะด้วยความสามารถในการเล่นดนตรีหลากชิ้นได้อย่างเชี่ยวชาญ จึงทำหน้าที่ถ่ายทอดวิชาที่ได้ร่ำเรียนมากับ “อาจารย์ขาเดร์ แวเด็ง” ซึ่งเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน) ประจำปี 2536 และส่งต่อให้กับเพื่อนร่วมวงคนอื่นๆ

“ผมเริ่มเล่นดนตรี เมื่อตอน ป. 6 คือแม่ผมก็ฝากให้ไปเรียนดนตรีไทยในช่วงวันเสาร์อาทิตย์ เริ่มจากเล่นระนาดเอก เบื่อแล้วก็เล่นเครื่องดนตรีชิ้นอื่นๆ ไปเรื่อยๆ จนถึง ม.3 ก็หยุด เพราะไปเรียนต่อที่วิทยาลัยเทคนิคยะลา พออยู่ชั้น ปวช. 2 วันหนึ่งก็ได้ยินเสียงเพลงร็องเง็งจากวิทยุ ก็รู้สึกแปลกๆ สงสัยว่าเป็นเพลงอะไร เพราะไม่เคยได้ยินมาก่อน ก็เลยศึกษาค้นคว้าหาเทปมาเปิดฟัง จนได้มาเห็นอาจารย์ ขาเดร์ แวเด็ง จากในรายการโทรทัศน์ ซึ่งบอกว่าใครสนใจจะเรียนท่านก็จะสอนให้ โดยไม่คิดเงิน ผมก็เลยไปหาและขอเป็นลูกศิษย์”

แม็คใช้เวลาว่างจากการเรียนหนังสือไปเรียนและฝึกฝนเล่นดนตรีกับกับแว (เป็นภาษายาวี แปลว่าลุง) ซึ่งอยู่ที่ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี (ห่างจากที่แม็คอยู่ประมาณ 60 กม.) เครื่องดนตรีชิ้นแรกที่แวสอนคือ ไวโอลินโดยแวจะเล่นให้ฟังเป็นตัวอย่าง ไม่มีโน้ตให้ จึงต้องอัดเทปมาฟังพร้อมกับยืมไวโอลินของคนรู้จักมาฝึกฝนเองที่บ้านร่วมด้วย ไปๆมาๆ ระหว่างยะลากับปัตตานีอยู่หลายปี แม็คก็สามารถเล่นเครื่องดนตรีได้ทุกชิ้นที่ใช้บรรเลงบทเพลงร็องเง็ง และยังสามารถถ่ายทอดความรู้ที่ได้ไปสู่คนอื่นๆ ด้วย ซึ่งในจำนวนนั้นก็คือเพื่อนๆในวงอัสลีมาลา

ไม่ใช่พี่คุ้ม ศรัทธา เพียงคนเดียวที่เป็นร็องเง็งมือใหม่ ที่อาจารย์แม็คต้องฝึกฝนดนตรีให้ แต่ยังมีเพื่อนสมาชิกคนอื่นๆ ซึ่งต่างมีอาชีพหลักไม่ซ้ำกัน เป็นทั้งชาวสวน พ่อค้าขายก๋วยเตี๋ยว หรือแม้แต่เป็นช่างซ่อมจักรยานยนต์ แต่ก็สามารถจะมารวมกันได้ เพราะมีหัวใจที่รักดนตรีเช่นกัน

“ปิยะพงศ์ วงศ์ภักดี” หรือเปี๊ยก อายุ 36 ปี เรียนจบรัฐศาสตร์มากว่าสิบปี เคยทำงานบริษัทในเมือง แต่พอใจที่จะลาออกมาทำเป็นชาวสวนและค้าขายเล็กๆ น้อยๆแล้วยังเป็นโค้ชสอนฟุตบอลให้กับเด็กนักเรียนที่โรงเรียนในชุมชน พร้อมกับรับหน้าที่ตีกลองรำมะนาใหญ่ในวง

“ผมมาเจอกับพี่คุ้มที่เขาสก พี่เขาชวนให้ลองเล่นรำมะนา มีอาจารย์แม็คเป็นคนสอนให้ อาศัยทักษะว่าเคยมีพื้นฐานการเล่นกลองมาบ้าง เลยทำให้เล่นได้เร็วขึ้น คือผมมองว่าร็องเง็งเป็นงานวัฒนธรรมพื้นบ้าน ถ่ายทอดอารมณ์มาจากเรื่องใกล้ตัว สื่อตรงๆ ถ้าเราฟังแล้วก็จะมองเห็นภาพในเมโลดี้ ไปเล่นที่ไหน เขาก็ชอบ บอกว่าเป็นดนตรีที่แปลก หาฟังไม่ค่อยได้แล้ว

มีหลายคนบอกว่าอยากให้เล่นตลอด ให้คนรุ่นหลังได้รู้จักเป็นที่แพร่หลาย เพราะตอนนี้มีดนตรีที่เป็นคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นกระแสที่เข้ามาเยอะ เพราะมันเล่นง่าย แต่ที่เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านกลับไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ไม่ใช่เฉพาะร็องแง็งแต่หมายถึงศิลปะพื้นบ้านทุกแขนง ลึกๆแล้วผมอยากให้มีอยู่ตลอดไป ก็ฝากดนตรี ร็องแง็งไว้ด้วยครับ”

ด้านมือกลองรำมะนาเล็กของวงคือ “ธานี เต่งใหญ่” หรือบ่าว อายุ 35 ปีเพื่อนซี้ของปิยะพงศ์ นอกจากทำสวนยางแล้วยังสืบทอดกิจการก๋วยเตี๋ยวเนื้อ ซึ่งเปิดขายมานานตั้งแต่รุ่นแม่ในชื่อร้านเจ๊แน่ว ฝีมือการตีกลองรับรองไม่แพ้การลวกเส้นก๋วยเตี๋ยว

“เห็นเพื่อนเปี๊ยกเล่น ก็สนใจ เขาเลยมานั่งซ้อมให้ และอาจารย์แม็คก็ช่วยสอนให้ด้วย ยอมรับว่าเล่นยาก เพราะไม่มีพื้นฐานเลย รำมะนาใหญ่จะตีลงจังหวะ แต่รำมะนาเล็กตีขัดจังหวะ กว่าจะเป็นก็ใช้เวลาเกือบปี”

ธานีบอกด้วยว่ารายได้แค่จากการเล่นดนตรีอย่างเดียวคงไม่พอ แต่อาศัยว่าเป็นสิ่งที่ได้ประสบการณ์ ได้เดินทางท่องเที่ยว และที่สำคัญคือการเผยแพร่วัฒนธรรม

“ผมก็อยากจะเล่นดนตรีร็องแง็งไปนานๆ เพราะเป็นดนตรีที่แปลกใหม่ คือจริงๆเขาก็มีมานาน แต่มันใหม่สำหรับเรา พอฟังแล้วก็ได้อยู่ ผมว่ากลิ่นมันแรงนะ คือมันมีกลิ่นอายของความคลาสสิกอะไรบางอย่าง มีเมโลดี้ที่แปลกใหม่ เป็นการผสมผสานระหว่างดนตรีตะวันตกกับดนตรีพื้นบ้านภาคใต้มาไว้ด้วยกัน”

นอกเหนือจากนี้ ในบางครั้ง “แบแซ” นักดนตรีวัย 65 จากสุไหงโกลก ที่ยังสามารถเล่นแอคคอร์เดี้ยนและกีตาร์ได้อย่างเฉียบขาด และ “แบแย็ง” นักดนตรีพื้นบ้านระดับครูจากปัตตานี ผู้เชี่ยวชาญแมนโดริน ยังรับอาสาร่วมบรรเลงเพลงร็องเง็งด้วยเช่นกัน

สืบสานและนำพา เพื่อการดำรงอยู่

แม็คฝากไปถึงคนรุ่นใหม่ว่า อยากให้หันมาเข้าใจและรู้ว่าเรามีวัฒนธรรมพื้นบ้าน ไม่ใช่เพียงร็องเง็ง แต่ยังรวมไปถึงศิลปะพื้นบ้านอย่างอื่นด้วย แค่ได้เข้าใจและศึกษาสักนิด จะรู้ว่าศิลปะพื้นบ้านมีสิ่งที่สอดแทรกอยู่มาก ทั้งได้เข้าใจเรื่องราวความเป็นมาให้รู้ว่าคนในอดีตมีความคิดจินตนาการอย่างไร

เช่นเดียวกับที่พี่คุ้ม ศรัทธา บอกว่า“อยากให้ดนตรีร็องเง็งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ฟัง เพราะมันเป็น World Music เป็นความงดงามดั้งเดิมที่คนสมัยก่อนคิดขึ้นมา แล้วเราได้อนุรักษ์ อยากให้มีโครงการที่ช่วยเหลือศิลปะและศิลปินพื้นบ้าน สืบทอดให้คงอยู่ ซึ่งมันก็จำเป็นต้องใช้เงินสนับสนุน

อยากจะฝากไว้ ว่าทำอย่างไรที่จะมีส่วนช่วยให้คนที่ทำทางด้านวัฒนธรรมได้มีกำลังใจ อย่างการแสดงพื้นบ้านที่สุราษฎร์ธานี ทั้งหนังตะลุง มโนราห์ ลิเกป่า ก็เป็นคนแก่อายุมาก ไม่มีงานทำ และไม่ค่อยมีคนมาสานต่อ เพราะเขาเห็นว่ารายได้ไม่ดีต่างคนก็จึงต้องต่างออกไปทำงานอย่างอื่นหาเงินเลี้ยงดูครอบครัว ลูกหลานก็ไม่ได้สานต่อ ซึ่งพอคนเฒ่าคนแก่เขาตายไป สิ่งดีๆ มันก็ตายไปด้วย”

จึงได้แต่หวังว่าบทเพลงของอัสลีมาลา จะเป็นเสียงสะท้อนที่ก้องดังไปถึงผู้ที่ยังเห็นคุณค่าของร็องเง็ง และรวมไปถึงการแสดงพื้นบ้านอื่นๆ ให้สามารถสืบสานและดำรงอยู่เป็นมรดกวัฒนธรรมได้ต่อไป

(สำหรับผู้ที่สนใจซีดีเพลงบรรเลงร็องเง็ง ของวงอัสลีมาลา สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 0-1946-0791, 0-9201-8994 และ khaosokhomestay@hotmail.com)


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ร็องเง็ง เป็นการเต้นรำของชาวไทยมุสลิมที่อาศัยอยู่บริเวณภาคใต้ตอนล่างของไทย มีวิวัฒนาการมาจากการเต้นรำพื้นเมืองของชาวสเปน โปรตุเกส ซึ่งนำมาแสดงในแหลมมลายู เมื่อคราวได้เข้ามาติดต่อการค้า จากนั้นชาวมลายูได้นำมาดัดแปลงและเรียกการเต้นรำแบบนี้ว่า “ร็องเง็ง” ซึ่งสมัยเริ่มแรกใช้เครื่องดนตรีเพียง 2 ชิ้น คือ ฆ้องและรำมะนา ร้องเล่นเต้นรำกันในหมู่ชาวบ้าน ต่อมาเมื่อฝรั่ง จีน อาหรับเดินเรือเข้ามาค้าขายแถบแหลมมลายูได้นำเครื่องดนตรีเข้ามาผสม เมื่อร่วมบรรเลงก็เกิดเป็นสำเนียงดนตรีที่ผสมผสานตะวันตกกับตะวันออก

เครื่องดนตรีที่ใช้เล่นสำหรับแนวดนตรีร็องเง็ง คือ ไวโอลิน แมนโดริน แอคคอร์เดี้ยน กลองรำมะนาใหญ่ กลองรำมะนาเล็ก ฆ้อง และบาราคัส (ลูกแซ็ก) สำหรับบทเพลงที่ใช้ร้องประกอบการแสดงร็องเง็งแต่เดิมใช้ "ปันตน" ซึ่งเป็นคำประพันธ์เก่าแก่ประเภทหนึ่งของชาวมลายู และชาวไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย แต่ปัจจุบันไม่นิยมร้องเพลงประกอบการแสดง

คำว่า “ร็องเง็ง” ไม่ใช่คำในภาษามลายู และไม่ทราบว่าเป็นภาษาใด แต่สันนิษฐานว่ามาจากเสียงของเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงนั่นเอง ซึ่งแต่ก่อนมีแต่กลองรำมะนากับฆ้อง เสียงกลองรำมะนาดัง ก็อง ก็อง และเสียงฆ้องดัง เง็ง เง็ง จึงเรียกการละเล่นตามเสียงของเครื่องดนตรีที่ได้ยินคือ “ก็องเง็ง” แต่คำว่า “ก็อง” ในภาษามลายูแปลว่า บ้าๆบอๆ ซึ่งมีความหมายไม่ค่อยมงคลนัก จึงออกเสียง แง็ง เป็น เง็ง ก็เลยกลายเป็นเรียกว่า “รองเง็ง”

มีหลักฐานแน่ชัดว่ามีการเต้นร็องเง็งมาเป็นเวลาช้านานในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยก่อนยกเลิกการปกครอง 7 หัวเมืองภาคใต้ โดยที่นิยมเต้นกันเฉพาะในวังของเจ้าเมือง ในงานพิธีหรืองานเลี้ยงต่างๆ ซึ่งในวังจัดให้มีขึ้นเป็นประจำ ต่อมาร็องเง็งได้แพร่หลายไปสู่ชาวบ้าน ประชาชนนิยมเต้นร็องเง็งกันมาก ถึงขนาดเป็นกิจกรรมบันเทิงในงานประจำปีแบบรำวงคือมีการจัดผู้เต้นฝ่ายหญิงไว้แล้วให้ผู้ชายซื้อบัตรขึ้นไปเต้นด้วย เป็นการเต้นรำสมัยใหม่เรียกว่า Joget modern ต่อมามีความเห็นกันว่าไม่ค่อยสุภาพและทำให้ศิลปะการเต้นร็องเง็งถูกเปลี่ยนแปลงไปเป็นการค้า Joget modern จึงเสื่อมความนิยมไปในที่สุด

จนมาถึงในปี พ.ศ. 2494 ได้มีการรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง โดยท่านขุนวิเศษศึกษากรศึกษาธิการอำเภอเมืองปัตตานี ผู้เชี่ยวชาญร็องเง็ง ได้นำเพลงร็องเง็งดั้งเดิมมาฟื้นฟูปรับปรุงท่าเต้นจากร็องเง็งเดิม และนำออกแสดง ปรากฏว่าความสวยงามแปลกใหม่ได้ทำให้ร็องเง็งกลับมาได้รับความสนใจจากคนทั่วไปอีกครั้ง

แต่มาในปัจจุบันกลับถูกทอดทิ้ง จนเหลือผู้ที่สอนร็องเง็งได้เพียงไม่กี่คน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ไม่ให้สูญหายจนแทบไม่มีร่องรอยเหมือนกับที่การแสดงพื้นเมืองอื่นๆ ได้สูญหายไปแล้ว

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

วิถี "ร็องเง็ง" รวยริน แต่ยังไม่สิ้นพลัง / ปิ่น บุตรี

 
(คลิกฟังดนตรีร็องเง็งฝีมือวงอัสลีมาลาในเพลง "ใจปรารถนา" ได้ที่ ไอคอนมุมบนด้านขวา)

กำลังโหลดความคิดเห็น