"ไปเที่ยววัดกันไหม"
เชื่อว่าหลายคนพอได้ยิน "วาไรตี้ท่องเที่ยว" ชวนไปเที่ยววัดแล้ว คงจะไม่เชื่อหูตัวเองว่าไม่มีที่อื่นไปแล้วเหรอถึงได้ไปเที่ยววัด เพราะการไปวัดในความเข้าใจของพุทธศาสนิกชนคือการไปทำบุญหรือฟังเทศน์ บางคนจะเข้าวัดก็ต่อเมื่อมีปัญหาชีวิตคิดไม่ตก ต้องหนีความร้อนรุ่มในหัวใจไปนั่งสงบสติอารมณ์ในวัดให้เย็นลง
แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ "กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงธรรมะ" หรือ "การเที่ยววัด" ได้รับความนิยมขึ้นมาก ซึ่งบรรดาวัดต่างๆที่มีมากมายในเมืองไทย ถือได้ว่าเป็นทั้งศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธและเป็นศูนย์รวมทรัพยากรท่องเที่ยวที่สะท้อนอารยธรรมและวิถีชีวิตของท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี
แต่การจะเที่ยววัดให้สนุกและไม่น่าเบื่อนั้นมีวิธีมากมายและบางครั้งก็ง่ายจนเรานึกไม่ถึง แต่จะมีวิธีอย่างไรไปฟัง "จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา" จาก นักวิชาการด้านศิลปวัฒนธรรม หอไทยนิทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ มาบอกเล่าถึงเคล็ดไม่ลับดังกล่าวกันดีกว่า
"โดยส่วนตัวแล้วเป็นคนที่ชอบเที่ยววัดมานานแล้ว รู้สึกว่าวัดเป็นที่รวมทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นที่รวมความศรัทธา ความรู้ ศิลปกรรมต่างๆ ของคนไทย การจะศึกษาสังคมของไทยก็สามารถดูได้จากวัดนี่เอง เนื่องจากในสมัยก่อนวัดถือได้ว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งในสามของสังคมไทยที่จะมี บ้าน วัด วัง
พูดง่ายๆก็คือวัดเป็นอะไรที่มากกว่าศาสนสถาน แต่เป็นศรัทธาที่สามารถมองเห็นและจับต้องได้ การเที่ยววัดนอกจากจะไปไหว้พระทำบุญแล้ว ถ้าเรามีโอกาสได้ศึกษาองค์ประกอบต่างๆในวัด จะเห็นว่าคนโบราณมักจะสร้างอะไรที่เป็นแบบแผนเป็นระบบระเบียบชัดเจน"
นั่นก็คือวัดจะประกอบด้วยบริเวณ 2 เขตคือ เขตพุทธาวาส เป็นที่ตั้งของพระวิหาร พระอุโบสถ เจดีย์และพระปรางค์ โดยอาคารทั้งหมดจะอยู่ในกำแพงแก้ว ซึ่งเป็นกำแพงที่ไม่สูงมากนักกั้นไว้โดยรอบ ส่วนเขตสังฆาวาส เป็นที่ตั้งของกุฏิหรือที่อยู่ของพระสงฆ์ ศาลาการเปรียญ หอไตร หอฉัตร หรือหอสวดมนต์ หากผู้สร้างมีอำนาจบารมีสูงในระดับพระมหากษัตริย์หรือผู้ปกครองประเทศ ก็มักจะสร้างวัดอย่างใหญ่โต ปราณีตและตกแต่งอย่างวิจิตรตระการตา
"ถ้าถามว่าเข้าวัดไปดูอะไร ตอบได้เลยว่าไปดูศิลปกรรมต่างๆซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนสังคมในแต่ละยุคสมัย เช่นสมัยอยุธยาลงมาจนถึงรัชกาลที่ 3 การเขียนส่วนใหญ่จะเป็นภาพในจินตนาการ เพราะฉะนั้นภาพจะไม่เหมือนจริง พอถึงสมัยรัชกาลที่ 4 เริ่มติดต่อกับต่างประเทศ จิตรกรรมในยุคนั้นก็จะเริ่มมีการเขียนปริศนาธรรม คติคำสอนต่างๆ เช่น วัดบวรฯจะเขียนเสาของวิหารด้วยสีที่ไม่เหมือนกัน เสาแต่ละคู่ให้สีที่แตกต่าง เสาที่อยู่ใกล้พระประธานจะออกโทนสว่าง ขาว ก็เหมือนกับคนที่อยู่ใกล้พระจะมีจิตใจผุดผ่องบริสุทธิ์ ทุกอย่างมันสะท้อนและแฝงแง่คิด"
เที่ยววัดก็หลายที่ แต่วัดที่ชื่นชอบเป็นพิเศษ คือวัดสุวรรณารามที่บางกอกน้อยซึ่งมีจิตรกรรมที่สวยมาก ส่วนวัดสุทัศนเทพวรารามจะชอบที่การวางผังของอาคาร เพราะการวางตำแหน่งอาคารในสถาปัตยกรรมไทย บางครั้งสร้างก็สร้างตามระบบ แต่วัดนี้เอาคติความเชื่อมาด้วย คือสร้างตามตำแหน่งจักรวาลวิทยา
จุลภัสสร บอกว่า "อยากให้คนสมัยใหม่หันมามองวัดเป็นเสมือนแหล่งการเรียนรู้ ไม่ใช่วัดเป็นแค่แหล่งทำบุญไหว้พระฟังธรรม รดน้ำมนต์ จำศีล แต่อยากให้มองลงไปในศิลปะเราจะเห็นรูปแบบของความศรัทธา เพราะถ้าคนไม่มีความศรัทธาที่ยิ่งใหญ่ก็จะทำอะไรแบบนั้นไม่ได้"
เช่นเดียวกับ "ธีรภาพ โลหิตกุล" กูรูด้านการท่องเที่ยวศิลปวัฒนธรรมอีกคนที่หาตัวจับยากของเมืองไทย ได้ให้ความเห็นว่าหากเรารู้ประวัติความเป็นมาหรือเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของวัด จะทำให้การเที่ยววัดสนุกและออกรสชาติมากยิ่งขึ้น
อย่างที่วัดกัลยาณมิตรนั้น หากได้ศึกษาประวัติความเป็นมาก่อนที่จะเข้าไปไหว้หลวงพ่อซำปอกงหรือพระพุทธไตรรัตนนายก ก็จะทราบว่าเดิมทีนั้นเจ้าพระยานิกรบดินทร(โต กัลยาณมิตร)ได้อุทิศบ้านและซื้อที่ดินบริเวณใกล้เคียงซึ่งแต่เดิมเป็นหมู่บ้านที่มี่พระภิกษุจีนพำนักอยู่และเรียกต่อกันมาว่า หมู่บ้านกุฎีจีน นำมารวมเข้าไว้ด้วยกันแล้วถวายเป็นพระอารามหลวง นามว่า "วัดกัลยาณมิตร"
"อย่างที่วัดพระปฐมเจดีย์ หลายๆคนอาจจะไม่รู้ว่าที่พิพิธภัณฑ์พระปฐมเจดีย์ มีโลงศพของย่าเหล สุนัขทรงเลี้ยงของรัชกาลที่ 6 หรือรอบๆองค์พระปฐมเจดีย์มีพระพุทธรูปปางต่างๆให้ศึกษา มีปางหนึ่งคือปางเสยพระเกศา หลายๆคนเข้าใจว่าเป็นท่าพระพุทธเจ้าทำท่าตะเบ๊ะ แต่จริงๆแล้วเป็นปางทรงเสยเส้นพระเกศา
หรือที่วัดพิชัยญาติเป็นวัดศาสนาพุทธของไทย มีน้อยคนที่รู้ว่าในวัดมีการแกะสลักภาพสามก๊กเอาไว้ ถ้าเราพอมีความรู้ด้านนี้อยู่บ้างก็จะสนุกและเพลิดเพลิน หรือถ้าไม่รู้จริงๆแต่มีโอกาสได้ไปดู กลับมาแล้วก็มาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในสิ่งที่สงสัยก็ได้
บางครั้งเราอาจจะไปค้นพบเองที่นั่น อย่างเช่นที่วัดอัมพวันเจติยาราม ที่อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ทุกคนไปเพื่อที่จะดูพระอุโบสถและภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สวย แต่จะมีวิหารคตที่รายล้อมเจดีย์อยู่องค์หนึ่ง ซึ่งบางทีถ้าเราไม่รู้เราก็จะไม่ได้เข้าไป แต่ข้างในเป็นที่บรรจุอัฐิ ของรัชกาลที่ 2"
ธีรภาพบอกว่ามีหลายวัดที่ชื่นชอบเป็นพิเศษ ที่เพิ่งไปมาล่าสุดคือวัดฝรั่ง เรียกว่า "อัศนวิหาร แม่พระบังเกิด" บางนกแขวก อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม เป็นโบสถ์ของศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก เป็นศิลปะแบบกอธิก ที่งามจนติดอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศไทย โบสถ์นี้มีกระจกสีสันต่างๆที่สวยงามมากยามต้องแสงอาทิตย์
แต่สำหรับศิลปะที่น่าศึกษาเรียนรู้ภายในวัดไทยจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักๆคือศิลปะด้านประติมากรรม ที่จะมีทั้งรูปลอยตัวสามารถมองเห็นได้รอบด้าน อย่างเช่น รูปปั้นตุ๊กตาจีน รูปปั้นยักษ์ ส่วนรูปนูนต่ำจะมีพื้นหลังหรือพื้นล่างรองรับ และรูปนูนสูงคือรูปที่นูนออกมาค่อนข้างสูงจนเกือบลอยตัว แต่บางส่วนยังติดอยู่กับพื้นหลังของตำแหน่งที่ก่อสร้างอยู่ เช่น รูปปั้นตามกำแพง ลายจำหลักหน้าบันรูปต่างๆ
ส่วนด้านสถาปัตยกรรมหรืออาคารต่างๆที่ก่อสร้างภายในบริเวณวัดนั้น หากเป็นวัดทั่วๆไปที่ประชาชนหรือชาวบ้านเป็นผู้สร้างนั้นมักจะใช้ไม้เป็นหลัก แต่ถ้าเป็นวัดหลวงซึ่งก่อสร้างโดยพระมหากษัตริย์หรือบุคคลที่เป็นใหญ่เป็นโตในบ้านเมือง ก็จะสร้างด้วยไม้และก่ออิฐสอปูนผสมกันไป
สุดท้ายคือภาพจิตรกรรมต่างๆที่ฝังตัวอยู่ตามโบสถ์ วิหาร บานประตูหน้าต่าง ที่ส่วนใหญ่จะเป็นภาพเขียนที่เขียนขึ้นตามความเชื่อหรือคติธรรม เช่น พุทธประวัติและชาดกต่างๆ ภาพทวารบาลผู้รักษาทางเข้าออก พระเวสสันดรชาดกหรือรามเกียรติ์ ลำพังแค่ภาพวาดที่มีเนื้อหาสาระชวนให้สนใจแล้ว แต่หากรู้ลึกลงไปถึงกรรมวิธีในการวาดก็จะน่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีก
เอาเป็นว่าสุดสัปดาห์นี้หากใครว่างและอยากจะเปลี่ยนบรรยากาศเดิมๆจากการไปเดินเล่นตามห้างสรรพสินค้า เปลี่ยนมาเป็นการไปเที่ยววัด ก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ ซึ่งนอกจากจะได้บุญแล้วยังได้เรียนรู้ถึงศิลปะและแนวคิดต่างๆ ทางคติธรรมที่แฝงอยู่มากมายภายในบริเวณวัดอีกด้วย