“...บอดก็เพียงสายตาเท่านั้น
แต่จิตใจก็ยังผูกพันความงาม
อาจจะรับ รู้ไปตาม
สูดกลิ่นงามฟังเสียงวิไลร่มไม้บังเงา...”
ส่วนหนึ่งของเพลง “ต้นชบากับคนตาบอด” : วงเฉลียง (คลิกฟังเพลง ต้นชบากับคนตาบอดได้ที่ไอคอนมุมบนขวามือ)
ภาพท้องทะเลอันดามันที่ผู้เคยได้ไปเห็นมาต่างก็ออกปากชมว่า สวยเหมือนดังเกาะสวรรค์…
ภาพพระอาทิตย์ขึ้นบนยอดภูกลางสายหมอก ที่หลายคนบอกว่า ได้มาเห็นสักครั้งหนึ่งในชีวิตก็ถือว่าคุ้ม...
ภาพของนครวัด นครธม ที่มีประโยคเด็ดกำกับไว้ว่า “See Angkor and Die”…
ภาพเหล่านี้ มนุษย์ที่มีอวัยวะครบ 32 บางคนอาจจะยังไม่มีโอกาสได้ไปพบไปเห็น แต่เชื่อว่าตราบใดที่ยังมีเวลา และมีโอกาส สักวันหนึ่งก็คงจะได้ไปสัมผัสกับบรรยากาศเช่นนั้น
แต่กับคนตาบอดแล้ว ถึงแม้จะได้ไปยืนอยู่ ณ สถานที่นั้น ก็ยังไม่อาจมองเห็นภาพที่ใครต่อใครต่างบอกว่าสวยงามเหล่านั้นได้ เพราะข้อจำกัดทางสายตาทำให้พวกเขาพลาดโอกาสที่จะได้เห็นสิ่งต่างๆ อย่างคนปกติ
1.
ณ โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ บนถนนราชวิถี “วาไรตี้ท่องเที่ยว” ได้มีโอกาสมานั่งคุยกับน้องๆ เด็กตาบอดแบบสบายๆ ในเรื่องของประสบการณ์การไปท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ
น้องเจน หรือ เอกภพ ดวงพล ซึ่งกำลังเรียนอยู่ชั้น ม.1 เล่าถึงการไปท่องเที่ยวที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งกับทางโรงเรียนเมื่อปีที่แล้วให้ฟังว่า “พี่ๆ ที่เขาพาไปก็จะบอกตั้งแต่ตอนขึ้นรถว่า ห้วยขาแข้งมันมีอะไรบ้าง ป่าเต็งรังนี่มันเป็นยังไง เราก็พยายามนึกภาพไปว่าห้วยขาแข้งธรรมชาติมันคงจะสวย มันคงจะมีต้นไม้ ดอกไม้ ใบไม้ อะไรพวกนี้ แล้วพอเค้าพาไปถึงที่แล้วเราก็ได้ทำกิจกรรมต่างๆ อย่างเดินป่า ดูธรรมชาติ ก็สนุกดีครับ”
ส่วนน้องเบิร์ด ชาญยุทธ มาลาดี นักเรียนชั้น ป.6 ที่ได้ไปเที่ยวห้วยขาแข้งด้วยกันก็บอกว่า “ที่ไปเที่ยวทำให้ได้รู้จักอะไรหลายอย่าง เช่น รู้จักป่าผลัดใบ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ แล้วก็ได้ไปอนุสรณ์สถานของสืบ นาคะเสถียร พี่เค้าอธิบายว่ารูปร่างของอนุสรณ์สถานเป็นยังไง เราก็นึกภาพออกบ้างว่าน่าจะเป็นเหมือนตัวคน สองคืนสามวันนี้ก็ได้ไปเดินป่า แล้วก็มีเล่นรอบกองไฟด้วย”
แน่นอนว่าการเป็นคนตาบอดย่อมทำให้ขาดโอกาสในการมองเห็นสิ่งต่างๆ แล้วน้องๆ เหล่านี้เขามีการรับรู้ต่อสิ่งต่างๆ เหล่านี้อย่างไร?
“ตอนที่ผมไปวัดพระแก้ว ผมก็คิดว่าต้องเป็นวัดใหญ่ๆ มีพระเยอะๆ แล้วก่อนไปก็มีคนอธิบายถึงให้ฟังก่อนว่าวัดพระแก้วเป็นวัดที่มีพระแก้วมรกตนะ เขาก็อธิบายความเป็นมาให้ฟัง พอไปถึงก็รู้สึกว่ามันเหมือนกับที่คิดไว้ แล้วผมก็ได้จับสิ่งต่างๆ อย่างเช่นราวบันไดที่เป็นรูปพญานาค หรือพวกรูปปั้นต่างๆ แล้วก็จะมีคนคอยบอกตลอดว่านี่คืออะไรๆ ก็ทำให้เราเห็นภาพ” เบิร์ด เล่าให้ฟัง
เช่นเดียวกับ น้องแจ๋น จีราพรรณ ชุดกลาง นักเรียนชั้น ม.5 ที่เล่าให้ฟังว่า “เวลาที่ไปเที่ยวกับทางโรงเรียนเขาก็จะจัดพี่อาสาสมัครเป็นกลุ่มๆ เวลาเจออะไรเขาก็จะอธิบาย ว่าตอนนี้ถึงตรงไหนแล้ว แล้วตรงนี้มีอะไรเขียนไว้บ้าง เพื่อให้เราเข้าใจมากที่สุด พี่ๆ อาสาสมัครก็จะพาเราเดิน และถ้ามีสิ่งของที่เขาอนุญาตให้จับ สามารถสัมผัสหรือคลำได้ เขาก็จะให้จับว่ามันเป็นอะไร อย่างเช่นได้ไปจับหุ่นไดโนเสาร์ในพิพิธภัณฑ์ แต่ที่ประทับใจมากก็คือที่ห้วยสะด่อง ที่จังหวัดกาญจนบุรี ประทับใจตรงที่เขาจะพาเราเดินป่า พาไปจับต้นไม้ พาไปดมกลิ่นว่ามันมีกลิ่นยังไง คือถึงเราจะมองไม่เห็นแต่ให้เราใช้ประสาทสัมผัสอื่นๆ แทน”
ส่วนเจน ที่ได้ไปเที่ยวน้ำตกไทรโยคน้อย จังหวัดกาญจนบุรีกับครอบครัวก็บอกว่า ถึงเรามองไม่เห็น แต่ก็ได้สัมผัสกับธรรมชาติหลายๆ อย่าง ทำให้นึกภาพจินตนาการออกว่า ข้างล่างมันเป็นหินนะ น้ำก็ใสเย็น อากาศเย็นสบาย
สำหรับคนตาปกติ หากให้ลองปิดตาแค่หนึ่งวันหรือสองวันก็เชื่อว่าคงอึดอัดใจทำอะไรก็ไม่สะดวกไปเสียหมด แล้วสำหรับน้องๆ ที่ตาบอดมาตั้งแต่กำเนิดเหล่านี้ล่ะ เขาคิดอย่างไร?
“ผมก็อึดอัดบ้างบางอย่าง อย่างตอนผมไปเที่ยวน้ำตกสาริกาที่นครนายก เขาก็จะมีพายเรือแบบสองคน ผมอยากพายแต่พ่อผมไม่ให้เล่น เขากลัวว่าถ้าจมน้ำไปใครจะช่วยทัน ผมก็อยากลอง แต่ก็เล่นไม่ได้” เบิร์ด บอก
แต่สำหรับเจน เขาบอกว่า “ผมไม่อึดอัด เพราะว่าชินแล้ว เป็นมาตั้งแต่เกิด เป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว เราก็ต้องพอใจในสิ่งที่เราเกิดมา ผมเลยไม่เสียใจ แล้วการที่เรามองไม่เห็น เราก็จะเกิดความสงสัยว่าสถานที่นี้มันเป็นยังไง ก็จะมีคนอธิบายให้ฟัง อย่างพี่สาวผมเขาอธิบายได้ชัดเจนมาก เพราะเขารู้ว่าคนตาบอดเป็นยังไง เขาต้องอธิบายให้กระจ่าง” เช่นเดียวกับแจ๋นที่บอกว่า ไม่เสียใจหรือเสียดาย เพราะมีคนยินดีที่จะอธิบายให้เราฟัง และจะหยิบเอาสิ่งสำคัญๆ มาบอกให้เรารู้
การที่ไม่สามารถมองเห็น น่าจะทำให้พวกเขาต้องใช้ความคิดและจินตนาการมากกว่าคนอื่น เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ พวกเขาต่างก็เห็นด้วย โดยน้องโอ จักรกฤษณ์ มณีรัตนสุบรรณ ซึ่งกำลังเรียนอยู่ชั้น ป.6 และสามารถมองเห็นได้บ้าง แสดงความคิดเห็นว่า
“สำหรับคนที่ตาเป็นแบบนี้ก็น่าจะมีจินตนาการที่สูงกว่าคนอื่นๆ เพราะถ้าคิดตามคนปกติ มองเห็นแล้วก็จะไม่คิดอะไรเท่าไร แต่ถ้าเราหลับตาแล้วลองเดิน เราต้องจินตนาการว่าตรงนี้มีอะไร ตรงนี้เป็นอะไร เพราะฉะนั้นคนตาบอดจะต้องใช้จินตนาการมากกว่า”
แต่นั่นก็ไม่ถือว่าเป็นอุปสรรคในการท่องเที่ยว เพราะเมื่อถามถึงเรื่องนี้ โอตอบทันทีว่า “ไม่เป็นครับ เพราะเวลาเราไปก็ไม่ได้ไปคนเดียวอยู่แล้ว และเวลาที่เราไม่รู้ก็จะมีคนคอยบอก คอยอธิบายให้เราฟังแบบละเอียด คือถ้าเรามองเห็นเขาก็จะไม่บอกเราละเอียดเท่านี้ เพราะฉะนั้นก็ไม่มีปัญหา บางทีอาจจะรู้มากกว่าด้วย”
ส่วนเจน ไม่ถือเรื่องนี้เป็นอุปสรรคแน่นอน เพราะเขาบอกว่า “การไปเที่ยวทำให้ได้เจอสิ่งที่ไม่เคยเจอ ผมเองมองไม่เห็นแล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องเปิดโลกให้กว้างขึ้น พยายามแสวงหาสิ่งที่เราไม่เคยเจอเพื่อเป็นประสบการณ์นอกห้องเรียน”
นอกจากเรื่องความบกพร่องทางสายตาจะไม่เป็นอุปสรรคในการเรียนรู้โลกของพวกแล้ว แต่ละคนก็ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่ใฝ่ฝันเอาไว้ว่าอยากจะไปอีกด้วย สำหรับเบิร์ดบอกว่า อยากจะไปเที่ยวซาฟารีเวิลด์ เพราะยังไม่มีโอกาสได้ไป และคิดว่ามันน่าจะสนุก คงจะมีการโชว์ การแสดง และซาฟารีเวิลด์ในความคิดนั้นคงจะกว้างใหญ่ และอาจจะมีสัตว์อะไรที่น่ากลัวบ้าง
ส่วนเจน ฝันอยากจะไปเที่ยวที่แม่น้ำโขง เพราะได้เคยเรียนเกี่ยวกับแม่น้ำโขงว่าไหลผ่านประเทศไทยประเทศลาว และได้ยินคนพูดกันว่ามันสวย อยากจะรู้ว่าน้ำมันใสหรือเปล่า และที่สำคัญ “ผมอยากรู้ว่ามีพญานาคจริงไหม” เจน บอก ทางด้านน้องโอ บอกว่า หากมีโอกาสก็อยากจะไปสัมผัสอากาศหนาวบนยอดภูกระดึง ถึงต้องเดินขึ้นเขาไกลๆ ก็เดินไหวเพราะเขาบอกว่าชอบการเดินป่าอยู่แล้ว “ผมอยากจะไปดูว่ามันจะหนาวจนมีน้ำค้างแข็งเลยหรือเปล่า และอยากจะไปดูตอนพระอาทิตย์ขึ้น เพราะเขาบอกว่ามันสวย”
ส่วนแจ๋น ใฝ่ฝันอยากจะไปเที่ยวปราสาทหินพนมรุ้ง หรือหากมีโอกาสก็อยากจะไปถึงนครวัดที่ประเทศเขมรเลย ในความคิดของแจ๋นคิดว่าปราสาทหินพนมรุ้ง น่าจะเป็นยอดเหมือนเจดีย์สูงๆ ขึ้นไป เต็มไปด้วยหญ้ารกร้าง และคิดว่าที่นี่เป็นสถานที่สำคัญเป็นมรดกสำคัญของชาติ ครั้งหนึ่งในชีวิตเราก็น่าจะไปดู
ยังไงๆ “วาไรตี้ท่องเที่ยว” ก็ขอเอาใจช่วยให้น้องๆ ได้ไปเที่ยวยังสถานที่ที่แต่ละคนใฝ่ฝันได้ในสักวันหนึ่ง
2...
ฟังบรรดานักเรียนเล่าถึงการท่องเที่ยวแล้ว ก็มาลองฟังคนที่พาไปเที่ยวดูบ้าง โดยอาจารย์เรณู เดือนดาว ผู้อำนวยการฝ่ายสถานที่และปกครองนักเรียนประจำ เล่าให้ฟังว่า “ทางโรงเรียนจะมีกิจกรรมการไปทัศนศึกษาปีละ 3-4 ครั้ง แบบที่จัดเป็นกิจจะลักษณะ เป็นขบวนใหญ่ๆ เลย แล้วก็จะมีกลุ่มอาสาสมัคร หรือหน่วยงานต่างๆ มาจัดให้ก็มี”
ในการเตรียมตัวจะไปท่องเที่ยวแต่ละครั้งนั้น ก็จะต้องมีวิทยากรคอยบรรยาย และมีคนที่มีความเข้าใจในเด็กตาบอดเป็นผู้ดูแล เช่นในเรื่องการจับจูง เพราะต้องห่วงเรื่องความปลอดภัย ต้องมีการคุยกันก่อนว่าเขาเข้าใจการดูแลเด็กหรือไม่ ต้องมีจิตวิทยา รวมถึงต้องเตรียมตอบข้อซักถามของเด็กๆ ด้วย
“สำหรับบางที่เช่นพิพิธภัณฑ์นั้น สำหรับคนตาดีเขาก็อาจจะไม่ให้แตะ ไม่ให้เข้าใกล้ของเลย เราก็ถามว่า แล้วคนตาบอดล่ะจะทำยังไงให้เขารับรู้ได้ อาจจะทำแบบจำลองให้สามารถสัมผัสแตะต้องได้ หรือมีการอธิบายว่าอะไรเป็นอะไร ซึ่งเขาก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ดี ถ้าลองไปดูตอนนี้ก็จะเห็นว่ามีหลายพิพิธภัณฑ์ที่เปิดใจให้คนตาบอดได้สัมผัสแตะต้องของบางอย่างได้บ้าง” อาจารย์เรณู บอก
ส่วนสถานที่ต่างๆ ที่พาเด็กๆ ตาบอดไปเที่ยวนั้น ก็ต้องรู้ว่ามีอะไรบ้างที่ปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัย โดยจะให้มีคนพาไป มีคนคอยจับจูง มีอุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวกต่างๆ เช่นการลงทะเล ก็ต้องจับมือลงไปกับเด็ก และอาจารย์เรณูบอกว่า จะไม่ทำให้เด็กตื่นตกใจและไม่ขู่ อะไรที่เล่นได้ก็ให้เล่น แต่จะบอกว่า ตรงนี้น่ากลัวเหมือนกันนะ แต่มีวิธีที่จะสนุกกับมันได้โดยปลอดภัย
“การพาเด็กตาบอดไปเที่ยวไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก แต่เราต้องรู้ว่าเราจะทำอะไร เคยพาเขาไปฟังออเคสตร้าของวง BSO มีวาทยกรเป็นฝรั่ง มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ดนตรีเงียบไปเด็กตาบอดเราก็ถามกันใหญ่ว่าทำไมเงียบ เขาทำอะไรกัน วาทยกรเขาก็หันมาชี้บอก ยู เก็ทเอาท์ พูดทำไม เงียบหน่อย ประมาณนี้ เพราะเขาไม่รู้ว่าเป็นเด็กตาบอด เราก็ใจหายเลย จนตอนหลังวาทยกรคนนั้นก็ขอโทษบอกว่าไม่รู้ว่าเด็กตาบอดมาดู แล้วเขาก็เอาแผ่นเพลงมาให้เรา นี่ก็เป็นความรู้เวลาจะพาเด็กไปครั้งต่อไป” อาจารย์เรณู เล่า และทิ้งท้ายว่า สำหรับใครที่ต้องการมาช่วยเป็นอาสาสมัครช่วยดูแลน้องๆ ในการไปเที่ยวแต่ละครั้ง ทางโรงเรียนจะยินดีมาก ซึ่งถ้าหากใครอยากจะช่วยก็สามารถโทรศัพท์มาสอบถามที่โรงเรียนสอนคนตาบอดได้
3...
จริงๆ แล้วไม่ว่าจะตาบอดหรือตาดีก็ไม่ใช่อุปสรรคสำคัญต่อการรับรู้ถึงความสวยงาม น้องๆ จากโรงเรียนสอนคนตาบอดทำให้ “ผู้จัดการปริทรรศน์” รู้สึกเช่นนั้น และทำให้นึกถึงเนื้อเพลงท่อนหนึ่งจากเพลง "ต้นชบากับคนตาบอด" ของวง “เฉลียง” ที่บอกว่า...
“...สิ่งจะงามอยู่กับใจ
บอดที่ใจเห็นไปอย่างไรไม่มีวันงาม
โลกจะสวยนั้นสวยไปตาม
จิตที่งามมองโลกสดใสไปในทางดี”
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ตั้งอยู่ที่ 420 ถนนราชวิถี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400 มีรถประจำทางสาย 8, 18, 28, 108, 12, 515, 542, 539 ผ่าน
สำหรับผู้ที่ต้องการเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือกิจกรรมต่างๆ ในโรงเรียนสอนคนตาบอด สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร.0-2354-8365 ถึง 68, 0-2354-8370 ถึง 71