ต้องถือเป็นข่าวดีสำหรับคนไทยที่ตอนนี้บ้านเรามีมรดกโลกทางธรรมชาติเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งแห่ง นั่นก็คือป่า “เขาใหญ่และดงพญาเย็น” ซึ่งองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียนป่าเขาใหญ่เป็น 1 ใน 7 มรดกโลกแห่งใหม่ของโลก ซึ่งประกอบไปด้วย
เวรเดฟอร์ด โดม ในแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นแอ่งที่เกิดจากการพุ่งชนของอุกกาบาตที่ใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุดในโลก มีอายุประมาณ 2,023 ล้านปี
หุบเขาปลาวาฬวาดี้ อัล-ไฮตัน ในอียิปต์ ซึ่งเป็นแหล่งรวมของซากดึกดำบรรพ์ปลาวาฬยุคแรกเริ่ม
คาบสมุทรชิเรโตโกะ ทางเหนือสุดของเกาะฮอคไกโด แหล่งรวมของนกอพยพและสิ่งมีชีวิตในทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งรวมของสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์
หน้าผาสูงชัน 2 แห่ง ที่เกิดจากการกัดเซาะของธารน้ำแข็ง ในนอร์เวย์ คือ ไกแรนเกอร์ฟยอร์ด และเนรอยฟยอร์ด ซึ่งมีความสวยงาม เนื่องจากประกอบด้วยกำแพงหินคริสตัล น้ำตก และธารน้ำแข็ง
พื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวแคลิฟอร์เนีย อันประกอบไปด้วยเกาะน้อยใหญ่ 244 เกาะ ซึ่งเป็นแหล่งรวมของพืชและสิ่งมีชีวิตในทะเล
อุทยานแห่งชาติโคอิบา ในปานามา ซึ่งเต็มไปด้วยการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่
และผืนป่าเขาใหญ่และดงพญาเย็นในประเทศไทย ที่เป็นพื้นที่ป่าฝนเขตร้อนและแหล่งรวมสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก และสัตว์เลื้อยคลานจำนวนมากที่ใกล้สูญพันธุ์
สำหรับผืนป่าเขาใหญ่ที่ถูกขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลกนั้น อยู่ในพื้นที่ป่าเขาใหญ่และป่าดงพญาเย็น ประกอบด้วยผืนป่าใหญ่ 5 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่-ทับลาน-ปางสีดา-ตาพระยา-และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ มีพื้นที่ 4 ล้านไร่ นับเป็นผืนป่าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
สุวัช สิงหพันธ์ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า กว่าที่เขาใหญ่จะได้รับเลือกเป็นมรดกโลกต้องใช้เวลากว่า 10 ปี เพราะแต่เดิมนั้นเมืองไทยเสนอแค่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เพียงแห่งเดียวให้เป็นมรดกโลก แต่ว่าก็ไม่ได้รับการพิจารณา จนเมื่อเสนอผืนป่า 5 แห่งรวมกันจึงได้รับการคัดเลือก นับเป็นความภูมิใจของคนไทยทุกคน
“พื้นที่ดังกล่าวถือว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก มีทั้งสัตว์ป่าและพืชป่าจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างจระเข้น้ำจืด นกเงือกสีน้ำตาล ชะนีมงกุฎ ด้วยเหตุนี้จึงได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการพิจารณามรดกโลก ส่วนเรื่องถนนที่ตัดผ่านป่าเขาใหญ่-ทับลาน หลังจากนี้ไปคงต้องหาทางทำให้ป่าเชื่อมกัน เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของคณะกรรมการมรดกโลกที่ต้องการให้ป่าเชื่อมเป็นผืนเดียวกัน” อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าว
และนอกจากความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว ผืนป่าเขาใหญ่ยังประกอบไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย ซึ่งกว่าที่จะได้รับการคัดเลือกให้มรดกโลกทางธรรมชาตินั้นป่าใหญ่ผืนนี้ได้ผ่านร้อนผ่านหนาวผ่านฝนมาอย่างโชกโชน
ในอดีตเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว ผู้คนต่างเรียกขานผืนป่าใหญ่แห่งนี้ว่า “ดงพญาไฟ” ที่เป็นป่าดงดิบอันกว้างใหญ่ขวางกั้นระหว่างที่ราบสูงอีสานและที่ราบลุ่มภาคกลาง ซึ่งเต็มไปด้วยอันตรายต่างๆ นานา ทั้งจากสัตว์ป่า ไข้ป่า และความลี้ลับมากมาย ซึ่งก็ได้สร้างความน่าหวาดหวั่นครั่นคร้ามให้แก่คนทั่วไปยิ่งนัก เรียกว่าหากไม่ใช่พรานป่ามือฉมังแล้วไม่มีใครอยากย่างกรายเข้าไปในผืนป่าดงพญาไฟ
แต่ว่าเมื่อบ้านเมืองพัฒนาขึ้น ป่าดงพญาไฟแม้ว่าจะน่ากลัวสักเพียงไหนก็ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่จะต้องเดินทางผ่านป่าผืนนี้ ไม่ว่าจะเป็น “นายฮ้อย” ที่ต้องต้อนควายจากภาคอีสานไปขายยังภาคกลาง หรือขบวนคาราวานสินค้าจากภาคกลางที่ต้องเดินทางไปยังภาคอีสาน ต่างก็ต้องผ่านป่าใหญ่แห่งนี้ทั้งสิ้น
โดยเส้นทางที่นิยมใช้กันมากก็จะเป็นบริเวณ “ปากช่อง” ที่เป็นช่องเขาระหว่างเขาน้อยกับเขานกยูง ในเส้นทางสายนี้หากบ่ายเย็นแล้วผู้คนจะไม่กล้าสัญจรผ่าน เพราะว่ากลัวสัตว์ร้ายและอาถรรพ์ต่างๆ พวกเขาจะเลือกก่อไฟพักแรมอยู่บริเวณที่เป็นตลาดปากช่องในปัจจุบัน แต่กระนั้นก็ยังมีผู้จำนวนมากที่ต้องจบชีวิตลงที่ปากช่องจากพิษภัยของไข้ป่า
จนมาในปี พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการสร้างทางรถไฟเชื่อมภาคกลางกับภาคอีสาน โดยในเส้นทางที่สร้างผ่านป่าดงพญา ทั้งวิศวกร ช่างและแรงงานจำนวนมากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต่างก็จบต้องสังเวยชีวิตให้กับไข้ป่า
เรื่องนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสลดพระทัยยิ่งนัก พระองค์ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้โดยทั่วกัน พร้อมๆ กับยุติการสร้างทางรถไฟไว้แต่เพียงเท่านี้ ซึ่งใช้เวลาสร้าง 7 ปี มีระยะทาง 171 กิโลเมตรครึ่ง
และเมื่อพระองค์เสด็จมาทำพิธีเปิดทางรถไฟ ขณะเสด็จกลับทางรถไฟได้ผ่านป่าใหญ่ดงดิบ(ปัจจุบันคือบริเวณเขื่อนลำตะคอง) ถึงสถานีรถไฟปากช่อง ก็ได้ทรงมีรับสั่งถามว่าป่านี้มีชื่อว่าอะไร ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ได้กราบทูลว่าชื่อ “ป่าดงพญาไฟ” พระองค์ทรงสนพระทัยมาก พร้อมๆ กับมีรับสั่งว่าป่านี้ชื่อฟังดูน่ากลัว จึงตรัสว่าให้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ป่าดงพญาเย็น” เพื่อความเป็นสิริมงคลและความร่มเย็นเป็นสุขของผู้คนในวันข้างหน้า
หลังจากนั้นดงพญาเย็นก็เริ่มมีผู้คนเข้าไปอาศัยอยู่และตั้งเป็นชุมชนเล็กๆ ขึ้นมา โดยชุนชนส่วนหนึ่งถูกยกฐานะเป็น “ตำบลเขาใหญ่” ขึ้นอยู่กับ อ.ปากพลี จ.นครนายก แต่ว่าด้วยสภาพพื้นที่ที่ยังคงเป็นป่ารกชัฏ ทำให้ ต.เขาใหญ่ กลับกลายเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน เพราะเต็มไปด้วยแหล่งซ่องสุมโจรผู้ร้ายและคนนอกกฎหมายจำนวนมาก
จนกระทั่งในช่วงปี พ.ศ.2499 ถึง พ.ศ. 2500 ทางรัฐบาลไทยได้ทำการสร้างถนนมิตรภาพ จากสามแยกสระบุรีตัดผ่านป่าดงพญาเย็น คู่ขนานไปกับทางรถไฟในบางช่วง ทำให้ความเจริญรุกคืบเข้าสู่ผืนป่าดงพญาเย็นมากขึ้นเรื่อยๆ
ครั้นมาในปี พ.ศ. 2502 ในสมัยของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ไปตรวจราชการผ่านบริเวณนั้น และเห็นว่าผืนป่าดงพญาเย็นมีสภาพธรรมชาติที่สมบูรณ์มาก จึงได้สั่งให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรร่วมกันจัดตั้งระบบอุทยานขึ้น ก่อนที่นิยมไพรสมาคมโดยนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล จะช่วยผลักดันให้มีการออก พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติขึ้น
จากนั้นในปี พ.ศ. 2505 รัฐบาลก็ได้ประกาศให้ผืนป่าส่วนหนึ่งของป่าดงพญาเย็นในเทือกเขาพนมดงรักเป็น “อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่” ที่นับเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกในเมืองไทย มีพื้นที่ประมาณ 2,168 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัดคือ ปราจีนบุรี นครนายก นครราชสีมา และสระบุรี ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของผืนป่าดงพญาเย็น โดยหลังจากนั้นมาผู้คนนิยมเรียกผืนป่าดงพญาเย็นว่า“เขาใหญ่”
และด้วยความที่เขาใหญ่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยธรรมชาติที่สวยงาม และยังอยู่ใกล้กรุงเทพฯ ทำให้เขาใหญ่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในอันดับต้นๆ ของเมืองไทยที่มีผู้คนนิยมไปเที่ยวกันเป็นจำนวนมาก ทำให้ช่วงหนึ่ง (เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว) บนอุทยานฯ เขาใหญ่ได้มีการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม สนามกอล์ฟขึ้นมา เพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว
แต่สุดท้ายสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านั้นได้ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและสัตว์ป่าอย่างใหญ่หลวง ซึ่งหลายๆ คนบอกว่านี่หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้อุทยานฯ เขาใหญ่ไม่ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกในการเสนอชื่อครั้งก่อนๆ ที่เสนอให้อุทยานฯ เขาใหญ่แห่งเดียวเป็นมรดกโลก (แต่เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน)
จนเมื่อทางอุทยานฯ เขาใหญ่มีการจัดการพื้นที่ใหม่ (ปิดโรงแรมและสนามกอล์ฟ) เพื่อให้ผืนป่าคืนสภาพ พร้อมๆ กับการเสนอชื่อเข้าไปเป็นมรดกครั้งล่าสุดที่ได้ผนวกผืนป่าอีก 4 แห่งในป่าดงพญาเย็นเข้าไป นั่นก็คืออุทยานแห่งชาติทับลาน-ปางสีดา-ตาพระยา-และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ก็ทำให้เขาใหญ่ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกแห่งใหม่ของเมืองไทย
ซึ่งนับจากนี้ไปคงต้องตามดูกันต่อไปว่าในพื้นที่มรดกโลกแห่งใหม่ของเมืองไทยที่อุดมไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวนั้น ทางผู้ที่เกี่ยวข้องจะมีวิธีการจัดการอนุรักษ์ผืนป่าเขาใหญ่และดงพญาเย็นมรดกโลกแห่งใหม่ ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวอย่างไร
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ปัจจุบันเมืองไทยมีมรดกโลก 5 แห่ง คือ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย–ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ใน พ.ศ. 2534 อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมใน พ.ศ. 2534 แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ใน พ.ศ. 2535 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ใน พ.ศ. 2534 และล่าสุดผืนป่าเขาใหญ่และป่าดงพญาเย็น ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ใน พ.ศ. 2548
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
รู้จักผืนป่า 5 แห่งที่ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกแห่งใหม่
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
อุทยานแห่งชาติทับลาน
อุทยานแห่งชาติปางสีดา
อุทยานแห่งชาติตาพระยา
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่