xs
xsm
sm
md
lg

เสี้ยวหนึ่งของ "แรงงานไทย" ในสิงคโปร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"โอ้ย !! ถ้าไม่จนก็ไม่มาหรอก ที่ไหนๆ ก็ไม่สบายเหมือนบ้านเรา"

เสียงแหบแห้งของ ถนัด ประพรม ชายวัยกลางคนผู้จากเมืองไทยหลายปีดีดักบ่นขึ้นมาเป็นครั้งที่นับไม่ถ้วน เพราะหลังจากที่ถนัดเดินทางข้ามน้ำทะเลจากเมืองไทยมาขายแรงงานในดินแดนลอดช่องสิงคโปร์ได้ไม่นาน เขาก็มักจะบ่นประโยคนี้ให้เพื่อนๆฟังอยู่เสมอ

สำหรับ "สิงคโปร์" แม้จะเป็นประเทศที่มีพื้นที่ขนาดเล็ก (มาก) แต่ว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่สูงกว่าเมืองไทย

ด้วยเหตุนี้สิงคโปร์จึงเป็นบ่อเงินบ่อทองให้กับคนไทยส่วนหนึ่งที่มีฐานะขัดสนเดินทางไปแสวงโชคเพื่อหวังจะได้สิ่งที่ดีกว่ากลับมา ไม่ว่าจะเป็นเงินที่จะนำมายกฐานะของครอบครัว เงินที่จะนำมาส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัย เงินที่จะนำมาใช้หนี้ ธ.ก.ส. เงินที่จะนำมาสร้างบ้านหลังใหม่ เงินที่จะนำมาแต่งงาน เงินที่จะนำมาผ่อนรถ ซื้อข้าวของเครื่องใช้ ซื้อมือถือ และเงินที่จะนำมา ฯลฯ

แต่ว่าเส้นทางชีวิตคนเรา (ส่วนใหญ่) นั้นหาได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ โดยเฉพาะเส้นทางชีวิตของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเรื่องราวของแรงงานไทยในสิงคโปร์ (และประเทศอื่นๆ) แม้ว่าจะเป็นเรื่องราวเก่าๆ ที่หลายๆ คนมองว่าเป็นเรื่องเล่าซ้ำซากที่เล่าขานกันมานานหลายสิบปี แต่ว่าในความซ้ำซากนั้นกลับเต็มเปี่ยมไปด้วยเรื่องราวชีวิตของผู้ใช้แรงงานไทยที่ส่วนใหญ่ประสบแต่ความรันทดทุกข์ แต่ว่าพวกเขาก็พยายามที่จะหาความสุขให้ตัวเองบ้างตามอัตภาพ...

ถูกหลอก-ลอยแพ ปัญหาอมตะแรงงานไทย

ถนัด ประพรม หนุ่มสุโขทัยที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลจากเมืองไทยมาอยู่ยังสิงคโปร์ด้วยความหวังว่าเมื่อมาแล้วจะมีรายได้ที่ดีกว่าเมืองไทย แต่ว่า "โชคร้าย" โดยเขาเองกลับตกก็เป็นผู้หนึ่งที่เคย "ถูกหลอก" ซึ่งถนัดเล่าความหลังเมื่อ 7 ปีที่แล้วให้ฟังว่า

"เมื่อก่อนอยู่เมืองไทยผมเป็นพ่อครัว รายได้ไม่ค่อยดี เลยตัดสินใจมาสิงคโปร์ มานี่แบบไม่รู้จักใครเลย เหมือนถูกลอยแพมา เพราะคล้ายๆ มีนายหน้าพามา เขาให้ผมเป็นพ่อครัวอยู่ที่ภัตตาคารที่หนึ่ง ตกลงกันว่าผมจะได้ค่าจ้างเดือนละ 1,500 เหรียญ พอครบ 3 เดือนถึงจะได้ค่าจ้าง กินอยู่กับเขาแบบประหยัดสุดๆ ซึ่งผมก็ทำไปจนครบ 3 เดือนปรากฏว่่นายหน้าคนนั้นเขาเบิกเงินล่วงหน้าของผมไปตั้งนานแล้ว

มันก็เหมือนว่าให้ผมไปทำงานใช้หนี้เขา ซึ่งช่วงที่ทำอยู่ 3 เดือนนั้นไอ้เราก็พูดภาษาเขาไม่ได้ ต่างคนก็ต่างสื่อ ทำให้ไม่เข้าใจกัน มันก็เป็นปัญหา อาศัยเพื่อนคนไทยที่อยู่มานานช่วยเป็นล่ามให้ ผมก็บอกเจ้านายที่เป็นคนสิงคโปร์ว่าจะไปแจ้งตำรวจ ที่สุดแล้วเขาก็พาไปฝากที่ร้านอาหารไทย จีน มาเลเชีย ให้ทดลองงาน 15 วัน ปรากฏว่าผ่าน และได้ใบอนุญาตให้ทำงาน (Work Permit) ก็เลยทำอยู่ยาวจนปีนี้ก็เป็นปีที่ 7 ตอนนี้รายได้ 2,000 กว่าเหรียญต่อเดือน คิดว่าจะอยู่ทำต่อไปอีกสักพัก ก็คงกลับเมืองไทยครับ"


 
แม้จะโชคดีมีงานทำ ชดเชยกับที่ถูกหลอกต้องสูญเงินกว่า 4,500 เหรียญสิงคโปร์ แต่ถนัดก็คงไม่ใช่รายสุดท้ายที่ต้องเจอกับปัญหาเหล่านี้ เพราะมีหลายครั้งที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้าง ทั้งไม่จ่ายค่าล่วงเวลา หรือค้างจ่ายค่าจ้าง บ้างก็จัดที่พักให้คนงานอย่างแออัดยัดเยียด นำมาสู่ปัญหาสุขอนามัยและสุขภาพจิต

แต่ยังดีที่คนไทยยังมีแหล่งชุมนุมให้พอเป็นที่นัดพบปะสังสรรค์ และร่วมทำกิจกรรมต่างๆ นั่นคือ Golden Mile Complex (โกลเดน ไมล์ คอมเพล็กซ์) ศูนย์การค้าที่กลายเป็นย่านคนไทย เพราะนอกจากจะเป็นแหล่งอาหารการกินและซื้อขายสินค้าทุกๆ อย่างที่มีในเมืองไทยแล้ว ยังเป็นศูนย์บริการต่างๆ ที่สามารถติดต่อสื่อสารไปยังเมืองไทย ทั้งไปรษณีย์ โทรศัพท์ ศูนย์รับแลกเปลี่ยนเงิน ศูนย์หนังสือ และอื่นๆ อีกจิปาถะ

ภาพของคนไทยที่จับจ่ายสินค้า ภาพของคนไทยจับกลุ่มพูดคุย รวมไปถึงภาพของการตั้งวงร่ำสุราตามสไตล์ของของคนไทยผู้ชอบสนุกสนาน จึงมีให้เห็นอยู่ทั่วไปตามมุมต่างๆ ของ Golden Mile Complex

 
บุญทัน บุญพา จากบ้านที่อุดรธานีมาทำงานก่อสร้างวางสายเคเบิล ที่สิงคโปร์ได้เกือบ 9 ปีแล้ว วันนี้เขามีธุระมาส่งเงินกลับเมืองไทยที่ Golden Mile จึงถือโอกาสแวะสังสรรค์กับเพื่อนฝูง โดยมีเบียร์เย็นๆ และกับแกล้ม 2-3 อย่างเป็นเครื่องเคียงสนทนา

"มาอยู่นี่ก็มีรายได้ดีกว่าอยู่เมืองไทย ผมโชคดีไม่มีเจอปัญหาอะไร เพราะมากับบริษัทจัดหางานที่ถูกต้อง เคยได้ยินเรื่องของเพื่อนคนงานว่าถูกหลอก แต่กับตัวเองยังไม่เคยเจอ ตอนนี้คนไทยนิยมมาทำงานสิงคโปร์น้อยลง ที่เห็นมาเยอะขึ้นกลายเป็นคนจีน มาเลเชีย แล้วก็พวกบังกลาเทศ"

เนื่องจากสิงคโปร์เปิดให้แรงงานต่างประเทศสามารถเข้ามาทำงานได้ภายได้กรอบความตกลงระหว่างประเทศ แต่ใช่ว่ารายได้ของแรงงานแต่ละชาติจะเท่ากัน เพราะชาวจีนและมาเลเซียจะได้ค่าแรง 40-50 เหรียญต่อวัน ถ้าบางคนฝีมือดีก็อาจจะได้ถึง 60-70 เหรียญ ในขณะที่แรงงานไทยได้เพียงวันละ 23-25 เหรียญ ส่วนแรงงานบังกลาเทศได้วันละ 16-18 เหรียญ ซึ่งบุญทันให้ความเห็นตามที่เขาเข้าใจว่า รายได้ของแรงงานที่ต่างกันนั้นมาจากการคิดตามค่าเงินของแต่ละประเทศ

"อีก 2 ปีถึงจะกลับ นี่มาตั้งนานยังไม่ได้บ้านสักหลังเลย" บุญทันพูดยิ้มๆ พร้อมกับยกแก้วเบียร์ขึ้นจิบ

 
ถ้าไทยไม่ช่วยไทย แล้วใครจะช่วย

สารพัดปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนไทยในต่างแดน สถานที่แรกที่พวกเขาจะนึกถึงและพึ่งพาคือสถานทูตไทย เฉลิมพล ทันจิตต์ เอกอัครราชทูตไทย ณ สิงคโปร์ กล่าวว่าแรงงานไทยยังขาดความรู้เรื่องภาษา ทางสถานทูตได้พยายามจัดหาครูผู้สอนให้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาจีน เพื่อจะช่วยให้ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน รวมทั้งได้ร่วมมือกับสำนักงานแรงงานจัดให้มีการศึกษา ทั้งการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) เพื่อให้คนไทยในสิงคโปร์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานได้เรียนเพื่อเพิ่มวุฒิการศึกษาให้สูงขึ้น

"ค่าแรงของแรงงานไทยที่ต่ำกว่าแรงงานจีนและมาเลเชียที่สำคัญก็ด้วยเรื่องภาษา เพราะเราเองก็ไม่ใช่ไร้ฝีมือ แต่ที่นี่เขาสื่อสารกันด้วยภาษาอังกฤษ ภาษาจีนและภาษามาเลย์ และสิงคโปร์มี Special Treatment กับจีน มาเลย์ อยู่เล็กน้อย ซึ่งเราเสียเปรียบตรงนี้ ผมก็ได้นำเรื่องนี้ไปคุยกับทางสิงคโปร์ เขาก็บอกว่ากำลังจะปรับ แต่ยังไม่แน่ชัดว่าเป็นเมื่อไหร่"

ขณะเดียวกัน ปัญหาคนไทยถูกหลอกให้มาทำงานและผู้หญิงไทยถูกหลอกให้ขายตัว รวมถึงการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายก็เป็นปัญหาสำคัญที่แก้ได้ยาก

 
"ตอนนี้ได้ทำเรื่องอยากให้ส่งสำนักข่าวกรองแห่งชาติ หรือตำรวจมาเพิ่ม ทุกวันนี้มีคนมาร้องเรียนและมีทั้งที่กลัวไม่กล้ามาร้องเรียนก็เยอะ ซึ่งที่สถานทูตช่วยเหลือได้ก็โดยการให้ที่พัก ทำพาสปอร์ต และหาเงินส่งกลับบ้าน ดูแลเขาให้ดี แต่ถ้าจะสืบอะไรก็ต้องส่งให้ตำรวจ ตอนนี้ขบวนการค้ามนุษย์มีเยอะมาก ผมได้รับโทรศัพท์บ่อยเรื่องการถูกหลอกให้ขายตัว พวกที่หนีเข้ามาหรืออยู่เกิน 30 วันก็มาก ซึ่งส่วนใหญ่จะหลบเข้ามาทางรถยนต์ ตอนนี้เรามีนักโทษในเรือนจำสิงคโปร์เกือบ 500 คน สถานทูตก็ต้องไปดูแล

ผมถึงบอกว่าการมีตำรวจหรือสำนักข่าวกรองแห่งชาติมาช่วยเหลือตรงนี้จะดีมาก สามารถให้ความช่วยเหลือได้สะดวก ซึ่งอันนี้ยังเป็นโครงการ เราก็ได้แต่พยายามที่จะเร่งดำเนินอยู่"

นอกจากนี้สถานทูตไทยยังได้ร่วมกับสมาคมเพื่อนแรงงานไทยจัดตั้งกล่องร้องทุกข์ที่ Golden Mile โดยวางอยู่ที่ชั้น 3 เพื่อเป็นศูนย์บริการให้กับคนไทยที่มีเรื่องเดือดร้อน

และในความไกลห่างบ้านเมือง แต่ยังมีแง่มุมที่งดงาม...คนไทยอยู่ไหนไม่เคยทิ้งกัน นอกเหนือจากภาครัฐแล้วยังเป็นที่น่ายินดีว่ายังมีคนไทยรวมตัวกันหยิบยื่นน้ำใจให้แก่เพื่อนแรงงานร่วมชาติ

ลุยงค์ คุณอักษร อดีตนักกีฬาโบว์ลิ่งทีมชาติที่มาทำธุรกิจและใช้ชีวิตในสิงคโปร์กว่า 20 ปีจนเป็นที่ยอมรับของคนสิงคโปร์ แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ก็ฝ่าฟันอยู่พอสมควร

"เมื่อสมัยแรกๆ เคยร่วมลงทุนเปิดร้านอาหารกับเพื่อนคนสิงคโปร์ ทำได้ 2 ปีถือว่ากิจการค่อนข้างดี แต่สุดท้ายโดนโกง เขาเอาเงินไปหมด ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะค่าทนายที่สิงคโปร์สูงมากเลยไม่มีการฟ้องศาล ท้อจนคิดจะกลับมาเมืองไทย แต่มีคนบอก ‘อะไร เป็นนักกีฬาแล้วทำไมไม่สู้’ ก็เลยฮึดขึ้นสู้อีกรอบ

 
ด้วยการฮึดสู้อีกรอบทำให้ปัจจุบันลุยงค์มีกิจการร้านอาหารชื่อ "อร่อย ไทย" ถึง 3 สาขา และกิจการสปาชื่อ "เบญจพรรณ" ซึ่งไม่เพียงจะเป็นแหล่งจ้างงานให้กับคนไทยจำนวนหนึ่ง แต่ยังเป็นเหมือนแหล่งช่วยเหลือคนไทยอื่นๆ เมื่อยามเดือดร้อน เพราะอีกหนึ่งบทบาทหนึ่งของเธอคือการร่วมก่อตั้ง "สมาคมไทย-Thai Association" ซึ่งทำหน้าที่คอยช่วยเหลือเพื่อนคนไทยในสิงคโปร์เท่าที่จะช่วยได้ให้มากที่สุด

เพราะเคยมีประสบการณ์เมื่อคราวที่ต้องไปแข่งขันโบว์ลิ่งที่ต่างประเทศ เพื่อนร่วมทีมที่ไปด้วยมีปัญหาเรื่องพาสปอร์ต ซึ่งบังเอิญมีคนไทยที่ไปเปิดร้านอาหารไทยที่ชิคาโกเป็นธุระจัดการช่วยเหลือให้ ทำให้รู้ดีว่าเมื่อต้องห่างไกลบ้านเมืองแล้วต้องเจอกับปัญหานับว่าเป็นเรื่องลำบาก ดังนั้นเมื่อมีผู้มาขอความช่วยเหลือ ลุยงค์จึงเต็มใจที่จะช่วยเต็มที่ เพราะรู้ว่าเขาไม่มีที่ไป

ปัญหาส่วนใหญ่ที่คนงานไทยประสบอยู่เสมอๆ นั่นก็คือ "การถูกหลอก" หรือผิดสัญญาในข้อตกลง เช่น นายจ้างบอกจะให้ชั่วโมงละ 30 เหรียญ แต่เมื่อถึงคราวรับค่าจ้างกลับได้แค่ 20 เหรียญ หรือบางคนลงทุนเอาที่ดินไปจำนอง สัญญาบอกจะอยู่ 2 ปี แต่จริงๆ อยู่ได้แค่ 3 เดือน และอีกสารพันของการถูกหลอก

"เมื่อก่อนใช้ชื่อสมาคมว่า Professional and Business man ทำให้คนที่เป็นแม่บ้านเป็นลูกจ้างเขาไม่กล้าเข้ามาสมัครเป็นสมาชิก เพราะรู้สึกเหมือนเป็นกลุ่มเฉพาะคนทำธุรกิจ ซึ่งพอเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนระบบต่างๆ ใหม่ ก็มีสมาชิก 50-60 คน ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่เรียบร้อย กำลังรอให้ท่านทูตเซ็นรับรองว่าเป็นสมาคม แต่ก็ได้มีการช่วยเหลือคนไทยไปบ้างแล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นการช่วยคนงาน อย่างคนที่ถูกหลอก ไม่มีค่าตั๋วเครื่องบิน ก็รวบรวมเงินที่พอจะช่วยได้ หรือถ้าคนไทยมีเรื่องร้องเรียนต้องขึ้นศาล สมาคมก็จะจัดหาล่ามคนไทยให้ เพื่อให้การพูดคุยต่อรองทำได้สะดวก"

 
เจ็บป่วย รักษาก่อน ผ่อนทีหลัง

ความไม่เข้าใจในภาษาระหว่างคนไทยและคนสิงคโปร์ไม่ใช่จะเป็นอุปสรรคในการสื่อสารและทำความเข้าใจเฉพาะในเรื่องการทำงาน แต่ยังรวมไปถึงเรื่องสุขภาพร่างกายของคนไทยด้วย ซึ่งถ้าไม่จำเป็นหรือเจ็บป่วยอย่างถึงที่สุดพวกเขาก็ไม่อยากจะไปหาหมอ เพราะ "คุยกันไม่รู้เรื่อง"

ซึ่งในส่วนของความช่วยเหลือด้านสุขภาพ สถานทูตไทย ณ สิงคโปร์ ได้จัดให้มีแพทย์และพยาบาลจากสภากาชาดไทยมาตรวจและรักษาสุขภาพให้กับคนไทย โดยตั้งศูนย์ที่ Golden Mile ทั้งนี้ไม่ใช่ว่านายจ้างสิงคโปร์ไม่ดูแล แต่เป็นเพราะความไม่สะดวก โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการสื่อสาร จึงทำให้คนไทยไม่อยากจะใช้บริการกับหมอสิงคโปร์

และถึงแม้จะมีหมอคนไทยจำนวนหนึ่งทำงานในโรงพยาบาลและคลินิกรักษาโรคในสิงคโปร์ แต่กลุ่มลูกค้าหลักก็คือคนสิงคโปร์ ซึ่งแน่นอนว่ารายได้ย่อมสูงและดีเป็นธรรมดา ในขณะที่คนไทยซึ่งส่วนใหญ่คือแรงงานผู้มีรายได้น้อย ผู้ถนัดและเข้าใจแค่เพียงภาษาไทย กลับไม่สามารถเข้าถึงโรงพยาบาลและคลินิกเหล่านั้นได้

แต่ยังโชคดีที่ยังมี "Golden Mile Clinic" คลินิกเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ชั้น 2 ของโกลเดน ไมล์ คอมเพล็กซ์ ที่แม้จะมีชาวสิงคโปร์เป็นเจ้าของ แต่คลินิกแห่งนี้ก็เหมือนเป็นศาลายาของคนไทยไปโดยปริยาย เพราะแรงงานไทยไว้วางใจที่มารักษากับหมอสิงคโปร์ซึ่งสามารถพูดไทยได้ รวมไปถึงผู้ช่วยแพทย์และเจ้าหน้าที่จ่ายยาที่เป็นคนไทย จึงทำให้พูดคุยกันได้ง่ายขึ้น

เชอรี่ สาวไทยที่ทำหน้าที่จ่ายยา เล่าให้ฟังว่าเคยมีกรณีคลินิกที่อื่นซึ่งหมอเป็นคนไทย แต่คนจ่ายยาไม่ใช่คนไทย ทำให้สื่อสารอธิบายรายละเอียดกันไม่ได้ เขาก็จะไม่รู้ ใช้ยาแบบผิดๆ และคนงานค่อนข้างจะซื่อ อย่างด่างทับทิมที่ต้องละลายน้ำแล้วทา แต่เขาไม่เข้าใจก็ทาทั้งที่เป็นเกล็ดแข็งๆ อย่างนั้น ก็ยิ่งไหม้ไปใหญ่

นอกจากความสบายใจในการสื่อสารกันได้อย่างสะดวก คลินิกแห่งนี้ยังมีความพิเศษตรงที่ถ้าคนไข้ยังไม่มีเงินค่ารักษาก็สามารถใช้ระบบ... รักษาก่อน แล้วค่อยมาจ่าย

Dr. Khoo Boo Choong ที่เป็นทั้งหุ้นส่วนและเป็นหมอรักษาโรค บอกว่าเปิดคลินิกมาได้ 6 ปี ส่วนใหญ่คนไข้คือคนงานไทย ซึ่งค่ารักษาที่นี่ก็เหมือนคลินิกอื่นทั่วไปที่ราคาอาจจะสูงกว่าโรงพยาบาล แต่ที่นี่ถ้าไม่มีเงินก็ให้ติดไว้ก่อนได้ จนเมื่อค่าแรงออกแล้วจึงค่อยมาจ่าย และมีบ้างที่หนีไปเลยประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ เพราะหมอไม่มีเขียนบันทึกอะไรเป็นหลักฐาน เอาแบบใจต่อใจวัดกัน

"เมื่อเกือบ 20 ปีก่อนที่ผมเป็นทหาร ก็เคยไปอยู่ที่กาญจนบุรี ประมาณ 6 เดือน ทำให้พอเข้าใจภาษาไทย และชอบในอัธยาศัยของคนไทยตั้งแต่ตอนนั้น พอกลับมาสิงคโปร์ก็ทำงานในโรงพยาบาล เลยทำให้รู้ว่าเมื่อคนไข้ไทยมาหาหมอก็จะมีปัญหาเรื่องภาษา และที่นี่ไม่มีคลินิกสำหรับคนที่เป็นคนไทยจริงๆ ก็เลยเปิดคลินิกนี้ขึ้นมา แล้วผมก็ชอบรักษาคนไทย เพราะคนไทยไม่ยุ่งยาก ให้ทำอะไร ยังไงก็ทำตาม แต่กับคนไข้ที่เป็นคนสิงคโปร์จะชอบถาม ชอบซักไซร้"

จากสถิติของผู้มารับการรักษา ผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุจากการทำงานมีมากที่สุด รองลงไปคือ โรคนิ่ว โรคกระเพาะ โรคไมเกรน โรคปอดอักเสบ ซึ่งเป็นโรคที่ยังพอบรรเทาให้หายได้ แต่กับ โรคไหลตาย ซึ่งในทางการแพทย์เรียกว่า SUDS (sudden unexpected death-syndrome) หรือกลุ่มอาการโรคที่ทำให้ตายเฉียบพลันอย่างไม่คาดฝัน ก็ยังเป็นโรคที่คร่าชีวิตแรงงานไทยปีละหลายคน เพราะแรงงานไทยบางส่วนทำงานหนัก ไม่ได้พักผ่อน และไม่ยอมกินอะไรนอกจากข้าวเหนียวจิ้มเกลือหรือจิ้มน้ำพริก เพื่อหวังจะเก็บเงินส่งกลับเมืองไทยให้มากที่สุด ซึ่งสุดท้ายก็ลงเอยด้วยความเศร้า

แต่ถึงจะต้องแลกด้วยความยากลำบากและบางครั้งอาจต้องแลกด้วยชีวิต แรงงานไทยก็ยังต้องอดทนดิ้นรนทำงาน ณ ต่างแดนต่อไป เพราะที่สุดแล้ว ก็เพื่อหวังว่าสักวันจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น...

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

แรงงานในสิงคโปร์

ประเทศสิงคโปร์ ประกอบด้วย เกาะสิงคโปร์ ซึ่งเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุด (ขนาดประมาณเกาะภูเก็ต) และเกาะใหญ่น้อยในบริเวณรอบๆ อีก 63 เกาะ มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 697.1 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 4 ล้านกว่าคน ประกอบด้วยชาวจีน มาเลย์ อินเดีย และอื่นๆ โดยใช้ภาษาอังกฤษ มาเลย์ จีนกลาง และทมิฬ ในการสื่อสาร ค่าเงิน 1 เหรียญสิงคโปร์ ประมาณ 25 บาท

สิงคโปร์เป็นประเทศที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ จึงมุ่งเน้นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ และความพยายามที่จะเป็นศูนย์กลางธุรกิจของภูมิภาค ซึ่งในระหว่างปี 2536-2545 เป็นช่วงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ ทำให้ต้องมีการจ้างแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานถึงร้อยละ 60 โดยจำนวนแรงงานต่างชาติในประเทศสิงคโปร์มีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 5 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นคนไทยประมาณ 45,000 คน (ซึ่งไปอย่างถูกกฎหมาย และที่ลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมายก็น่าจะมีมากเช่นกัน)

โดยข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน ระบุว่าจำนวนแรงงานไทยในต่างประเทศในช่วง 7 เดือน (ต.ค.2547-เม.ย. 2548) ระบุว่ามีแรงงานไทยไปประเทศไต้หวันมากที่สุด รองลงมาคือ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานในภาคการก่อสร้างและอู่ต่อเรือ ซ่อมเรือ โดยกรรมกรจะได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน วันละ 20 เหรียญ ส่วนคนงานระดับช่างฝีมือได้รับค่าจ้างวันละ 23 เหรียญสิงคโปร์ขึ้นไป (1 เหรียญสิงคโปร์ ประมาณ 24-25 บาท)


ทั้งนี้ประเทศสิงคโปร์ได้อนุญาตให้มีการจ้างแรงงานต่างชาติ สัญชาติต่างๆ เข้ามาทำงาน โดยมีการแบ่งกลุ่มประเทศที่อนุญาตให้เข้ามาทำงานในระดับ Work Permit เป็น 3 กลุ่มประเทศได้แก่

1. กลุ่มประเทศ Traditional Sourecs (TS) ได้แก่ มาเลเซีย สาธารณรัฐประชาชนจีน
2. กลุ่มประเทศ Non-Traditional Sources (NTS) ได้แก่ ไทย อินเดีย
บังกลาเทศ ศรีลังกา พม่า ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และปากีสถาน
3. กลุ่มประเทศ North Asian Sources ( NAS ) ไดัแก่ ฮ่องกง มาเก๊า เกาหลีใต้
และไต้หวัน

กำลังโหลดความคิดเห็น