xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก "พระพิราพ" ครูแห่งวงการนาฏศิลป์และดนตรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากเอ่ยถึง "พระพิราพ" เชื่อว่าคงมีไม่มากคนนักที่จะคุ้นเคยกับชื่อนี้...

แต่กับคนในวงการนาฏศิลป์และดุริยางคศิลป์แล้ว ชื่อ "พระพิราพ" ถือเป็นชื่อที่มีความสำคัญ เป็นที่เคารพบูชาอย่างสูง และถือเป็นครูคนหนึ่ง ซึ่งคนที่ได้มีโอกาสไปชมการแสดงละคร ในโรงละครแห่งชาติ หรือเคยร่วมในพิธีครอบครูก็คงจะได้เห็นว่า ก่อนที่จะแสดงนั้นจะต้องมีการบูชาครู ซึ่งก็จะมีทั้งพระพิฆเนศ พระฤาษี พระปรคนธรรพ และครูท่านอื่นๆ อีกมาก รวมไปถึง "พระพิราพ" ซึ่งอยู่ในรูปของหัวโขนให้บรรดาศิษย์ได้เคารพกัน

"พระพิราพ" เป็นใคร มาจากไหน และเหตุใดจึงมีความสำคัญต่อวงการนาฏศิลป์และดนตรี?? ตรงนี้มีคำตอบว่า พระพิราพ คือปางหนึ่งของพระศิวะ เป็นปางที่ดุร้าย เหมือนกับพระอุมาที่มีปางเจ้าแม่กาลี พระพิราพถือเป็นเทพเจ้าแห่งความตายและสงคราม แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นผู้ให้ชีวิตและปัดเป่าโรคภัยได้

ส่วนเหตุที่ว่า ทำไมจึงนับถือพระพิราพว่าเป็นครูในวงการนาฏศิลป์และดนตรีนั้น เริ่มมาจากในประเทศอินเดีย ซึ่งถือว่าพระพิราพ หรือพระไภรวะนี้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับนาฏศิลป์ เพราะท่านเป็นผู้ให้กำเนิดท่ารำที่เรียกว่า "วิจิตรตาณฑวะ" ซึ่งเป็นท่ารำท่าหนึ่งใน 108 ท่ารำของพระศิวะ ดังนั้นจึงถือว่าท่านเป็น "นาฏราช" ที่หมู่นาฏศิลป์อินเดียให้ความเคารพเกรงกลัว เพราะถือเป็นเทพที่บันดาลความเป็นความตายได้

ส่วนในประเทศไทย ซึ่งได้รับอิทธิพลหลายๆ อย่างมาจากประเทศอินเดียนั้น ก็ได้มีการนับถือพระพิราพกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ และมีหลักฐานแน่ชัดในสมัยรัชกาลที่ 4 ในตำราไหว้ครูฉบับของครูเกษ (พระราม) ซึ่งมีเพลงหน้าพาทย์พระพิราพเต็มองค์ที่ใช้ประกอบพิธีไหว้ครู เพลงหน้าพาทย์พระพิราพเต็มองค์นี้ถือว่าเป็นเพลงที่มีความสำคัญมาก เพราะผู้ที่จะเรียนได้ จะต้องผ่านการเรียนหน้าพาทย์ชั้นต้น ชั้นกลาง และชั้นสูง รวมทั้งต้องมีอายุ 30 ปีขึ้นไป และผ่านการอุปสมบทมาแล้วด้วย

นอกจากเพลงพระพิราพแล้ว ก็ยังมีการรำพระพิราพเต็มองค์ ซึ่งพระยานัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) เป็นผู้ประดิษฐ์ท่ารำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 และสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

ทั้งเพลงและท่ารำพระพิราพเต็มองค์นี้ ถือเป็นการบรรเลงและร่ายรำประกอบอากัปกิริยาของพระพิราพ ซึ่งเป็นอสูรเทพ เป็นภาคที่ดุร้ายของพระศิวะ ไม่ใช่เป็นเพียงอสูรธรรมดาๆ แต่ถือเป็นเทพ ดังนั้น เพลงหน้าพาทย์และท่ารำพระพิราพเต็มองค์นี้ จึงถือว่าเป็นสิ่งที่สูงสุดในวงการดนตรีและนาฏศิลป์ จะแสดงเฉพาะในงานสำคัญๆ เท่านั้น

เป็นโอกาสดีที่ในตอนนี้ ทางห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร และหอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในหอสมุดแห่งชาติ กำลังจะจัดนิทรรศการพระพิราพขึ้นในวันที่ 9 กรกฎาคม ไปจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม รวมเป็นเวลา 4 เดือนด้วยกัน เพื่อให้ผู้ที่สนใจ ทั้งในและนอกวงการนาฏศิลป์และดนตรี ได้เข้ามาทำความรู้จัก "พระพิราพ" ให้มากยิ่งขึ้น

พระครูสังฆรักษ์ ศิริพงศ์ ติสสภรโณ จากวัดสุทธาราม หนึ่งในผู้จัดงานนิทรรศการ รวมทั้งยังเป็นผู้ที่มีความชำนาญในเรื่องการทำหัวโขน ได้กล่าวถึงสิ่งที่ผู้มาชมงานนิทรรศการพระพิราพจะได้กลับไปว่า

"ผลที่ได้แน่ๆ คือให้คนได้เรียนรู้ประวัติพระพิราพที่ถูกต้องและสมบูรณ์ เวลานี้คนเรามีลัทธิคนทรงเข้าครอบงำ ตำหนักทรงบางที่เอาศีรษะพระพิราพไปบูชา แล้วก็อ้างกันไปต่างๆ นานา ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด"

และนอกจากจะได้ทราบประวัติความเป็นมาของพระพิราพอย่างละเอียดแล้ว ในงานก็ยังมีการจัดแสดงหัวโขนพระพิราพหลายสิบชิ้นด้วยกัน แต่ละชิ้นก็มีรูปแบบและความสวยงามแตกต่างกันไป ทั้งพระพิราพหน้าทอง พระพิราพสีน้ำรัก พระพิราบทรงเครื่อง เป็นต้น ซึ่งมีทั้งฝีมือของพระครูสังฆรักษ์เอง ของลูกศิษย์บ้าง รวมทั้งฝีมือของผู้ที่มีความศรัทธาในพระพิราพจำนวนหลายชิ้นด้วยกัน

แต่ชิ้นที่พิเศษที่สุดก็เห็นจะเป็นศีรษะพระพิราพที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก ขนาดเท่าปลายก้อย โดยฝีมือของพระครูสังฆรักษ์ และศีรษะพระพิราพที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งใช้เวลาในการทำถึงกว่า 6 เดือนเลยทีเดียว เป็นฝีมือของ เจษฎา สารัตน์ ลูกศิษย์ของพระครูสังฆรักษ์นั่นเอง

นอกจากการจัดแสดงหัวโขนเหล่านี้แล้ว ก็ยังมีการสาธิตวิธีการทำหัวโขนพระพิราพให้ดูกันอีกด้วย โดยวิธีทำนั้นยังใช้วิธีแบบโบราณอยู่ เริ่มจากการตั้งเครื่องสังเวยและเครื่องบายศรี มีการสวดมนต์และชุมนุมเทวดาบูชาครูทั้งหลายแล้วจึงเริ่มขึ้นหุ่น มีการลงอักขระเลขยันต์ในชั้นในสุด และแต่ละขั้นตอนของการทำหัวโขนจะต้องมีการตั้งเครื่องสังเวย ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นหัวโขนหนึ่งหัวก็จะต้องตั้งเครื่องสังเวยทั้งหมด 6 ครั้งด้วยกัน นับว่ากว่าจะสำเร็จได้หัวโขนแต่ละชิ้นนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งในงานนี้ก็คือ มีการบันทึกเพลงพระพิราพเต็มองค์ไว้ด้วยโน้ตเพลงสากลเป็นครั้งแรก ความน่าสนใจที่ว่านั้น พระครูบอกว่า การต่อเพลงไทยโบราณจะต้องต่อกันแบบตัวต่อตัวระหว่างครูกับศิษย์ และต้องใช้ความจำ ไม่มีการจดบันทึก เพราะฉะนั้นทางเพลงก็อาจลบเลือนไปได้ ในครั้งนี้จึงได้มีการจดเพลงพระพิราพไว้เป็นโน้ตสากล เพื่อเป็นหลักฐานและมาตรฐานในการค้นคว้าของคนรุ่นหลังต่อไป

อีกอย่างหนึ่งที่ไม่ควรพลาดอย่างยิ่งก็คือ คือการชมวีดิทัศน์ท่ารำองค์พระพิราพ ซึ่งเป็นภาพยนตร์ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้ถ่ายทำไว้เมื่อปี 2504 โดยมีนายรงภักดี (เจียร จารุจรณ) เป็นศิลปินโขนที่แสดงการร่ายรำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพต่อหน้าพระพักตร์ สำหรับท่ารำเพลงพระพิราพนั้นนับว่าหาชมไม่ได้ง่ายๆ เพราะจะมีแสดงในพิธีสำคัญๆ เท่านั้น นับว่าเป็นพระกรุณาธิคุณที่ในหลวงทรงพระราชทานให้นำมาฉายในงานครั้งนี้เป็นพิเศษ

"เพลงพระพิราพนี้จะแสดงได้ต่อเมื่อมีวาระสำคัญ และในปีนี้เนื่องจากเป็นวาระครบรอบสมเด็จพระเทพฯมีพระชนมายุครบ 50 ชันษา นิทรรศการพระพิราพครั้งนี้จึงถือเป็นนิทรรศการเทิดพระเกียรติของพระองค์ท่านด้วย" พระครูสังฆรักษ์ กล่าว

งานนิทรรศการดีๆ แบบนี้ไม่ได้มีให้ดูกันบ่อยๆ ถ้าหากใครสนใจอยากจะเรียนรู้เรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับพระพิราพ ก็เตรียมตัวไปชมได้ ในวันเสาร์ที่ 9 ก.ค. เป็นวันแรก รับรองว่าจะได้พบกับอะไรดีๆ แน่นอน

*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

นิทรรศการพระพิราพ จะจัดขึ้นในวันที่ 9 ก.ค.-31 ต.ค. 2548 ตั้งแต่เวลา 09.00-16.30 น. ณ ตึกห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร และหอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในบริเวณหอสมุดแห่งชาติ สำหรับการสาธิตการทำหัวโขนจะมีทุกวันอังคารและวันเสาร์ ส่วนวีดิทัศน์ท่ารำองค์พระพิราพ และโขนพระพิราพ จะมีในเวลา 10.00-12.00 น. และเวลา 14.0-16.00 น. ในวันเสาร์ที่ 9 ก.ค. เวลา 13.00 น. จะมีพิธีเปิดนิทรรศการ และมีการประชันปี่พาทย์ไม้แข็งจาก 4 สถาบันด้วยกัน ขอเชิญผู้สนใจทุกท่านเข้าร่วมชม สอบถามรายละเอียดโทร. 0-2282-8045

กำลังโหลดความคิดเห็น