สาเหตุที่กรุงเทพฯ ต้องประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากมาโดยตลอด เป็นเพราะสภาพภูมิศาสตร์ของเมืองเป็นพื้นที่ราบลุ่มตอนปลายอ่าวไทย ด้วยเหตุนี้กรุงเทพฯในอดีตจึงมากไปด้วยคูคลอง จนไดรับการเรียกขานกันว่าเป็น "เวนิชตะวันออก"
แต่เมื่อความเจริญเติบโตถาโถมเข้าสู่กรุงเทพฯ เมืองจำเป็นต้องขยายตัว ทำให้มีการปรับเปลี่ยนและถมพื้นที่จาก บึง สระ คู คลอง ให้กลายสภาพเป็นถนนหนทาง อาคารบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ จึงทำให้กรุงเทพฯระบายน้ำได้ยากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีสาเหตุที่สำคัญคือ น้ำฝนที่ตกลงมาในปริมาณที่มากเกินไป เมื่อน้ำเหนือไหลหลาก น้ำทะเลจะหนุน และแผ่นดินทรุดตัว ด้วยเหตุนี้กรุงเทพฯจึงประสบกับปัญหาน้ำท่วมมาโดยตลอด
เพียงแต่ว่าปัญหาน้ำท่วมในอดีต กับปัญหาน้ำท่วมในปัจจุบันนั้นแตกต่างกันออกไป เพราะบ้านเมืองเปลี่ยนไป และวิถีชีวิตผู้คนในกรงเทพฯก็เปลี่ยนไป
สำหรับเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งสำคัญในกรุงเทพฯ ตั้งแต่อดีตตั้งกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบันก็มีดังนี้
น้ำท่วมใหญ่ปีมะเส็ง พ.ศ.2328 ในรัชกาลที่ 1 ซึ่งเป็นปีที่สร้างกำแพงพระนครและพระราชวังกรุงรัตนโกสินทร์เสร็จนั้นเอง ได้เกิดอุกทกภัยครั้งใหญ่ ปรากฏว่าระดับน้ำที่สนามหลวงลึกถึง 8 ศอก 10 นิ้ว
น้ำท่วมเดือน ตุลาคม พ.ศ. 2362 ในรัชกาลที่ 2 ข้าวยากหมากแพงเหมือนครั้งแรก
น้ำท่วมเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2374 ในรัชกาลที่ 3 คราวนี้น้ำท่วมทั่วพระราชอาณาจักร และมากกว่าปีมะเส็ง
น้ำท่วมเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2402 ในรัชกาลที่ 4 และเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2410 อีกคราวหนึ่งแต่เสียหายไม่มาก เพียงท่วมภายนอกกำแพงพระราชวังเท่านั้น
น้ำท่วมเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2422 ในรัชกาลที่ 5 น้ำท่วมเพียงประตูพิมานไชยศรี
น้ำท่วม พ.ศ. 2460 ในรัชกาลที่ 6 น้ำท่วมลานพระบรมรูปทรงม้าถึงกับมีการแข่งเรือกันได้
น้ำท่วมใหญ่ ปี พ.ศ. 2485 เริ่มท่วมตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนถึง 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2485 น้ำท่วมมากกว่าปี พ.ศ.2460 เกือบเท่าตัว เนื่องจากฝนตกหนักในลุ่มแม่
น้ำเจ้าพระยา ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับสูงมาก ไหลล้นคันกั้นน้ำทั้งสองฝั่งแม่น้ำตลอดแนว โดยวัดระดับน้ำท่วมที่สะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ได้ 2.27 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง
น้ำท่วม พ.ศ.2518 เนื่องจากพายุดีเปรสชั่นพาดผ่านตอนบนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้มีปริมาณน้ำสูงทางภาคกลางตอนบน เป็นเหตุให้น้ำไหลล้นเข้าท่วมกรุงเทพมหานคร
น้ำท่วม พ.ศ. 2521 เกิดจากพายุ 2 ลูก คือ "เบส" และ "คิท" พาดผ่าน ขณะเดียวกันมีปริมาณน้ำไหลบ่าจากแม่น้ำป่าสักเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดน้ำไหลบ่าจากทุ่งด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานครเข้าท่วมพื้นที่กรุงเทพมหานคร
น้ำท่วม พ.ศ. 2523เกิดปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับสูงเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ที่สะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ 2.00 เมตร ประกอบกับมีฝนตกในพื้นที่กรุงเทพมหานครในช่วง 4 วัน สูงถึง 200 มม. ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง
น้ำท่วม พ.ศ. 2526 น้ำท่วมในปีนี้มีสภาพรุนแรงมาก เนื่องจากมีพายุพัดผ่านภาคเหนือและภาคกลางในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม ประกอบกับมีพายุหลายลูกพัดผ่านกรุงเทพฯ ในช่วงเดือนตุลาคม โดยวัดปริมาณฝนตลอดทั้งปีได้ 2119 มม.
น้ำท่วม พ.ศ. 2529 ได้เกิดฝนตกหนักมากและตกติดต่อกัน ตั้งแต่วันที่ 8 - 10 พฤษภาคม 2529 เนื่องจากได้มีพายุจรนำฝนตกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีฝนตก 254 มม. ที่กรมอุตุนิยมวิทยา(บางกะปิ) และ 273 มม. ที่เขตราษฎร์บูรณะ ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ในบางพื้นที่
น้ำท่วม พ.ศ. 2533 ในเดือนตุลาคมพายุโซนร้อน "อีรา" และ "โลล่า" พัดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ฝนตกหนักที่กรุงเทพมหานครถึง 617 มม.
น้ำท่วม พ.ศ. 2537ได้เกิดพายุฝนฤดูร้อนถล่มกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเมื่อวันที่ 7 และ 8 พฤษภาคม 2537 วัดปริมาณฝนได้มากที่สุด คือ เขตยานนาวาได้ 457.6 มม. โดยเฉลี่ยในทั่วเขตกรุงเทพฯ มีปริมาณน้ำฝน 200 มม. มากที่สุดในประวัติการณ์ เรียกได้ว่าเป็น "ฝนพันปี" ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่สร้างความเดือดร้อนไปทั่วกรุงเทพมหานคร
น้ำท่วม พ.ศ. 2538 มีฝนตกในภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากพายุหลายลูกพัดผ่าน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา และมีสภาพฝนตกหนักในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม เนื่องจากพายุ "โอลิส" ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับสูง โดยวัดที่สะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2538 มีค่าระดับสูงถึง 2.27 เมตร (รทก.) ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์(เท่าน้ำท่วมปี พ.ศ. 2485 ) ทำให้น้ำล้นคันป้องกันน้ำท่วมริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำในระดับสูงถึง 50 - 100 ซ.ม.
น้ำท่วม พ.ศ. 2539 มีระยะเวลาท่วมขังตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน -ธันวาคม 2539 ตั้งแต่หลังปี 2539 เป็นต้นมา ยังไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรงในเขตกรุงเทพมหานคร มีเพียงน้ำท่วมขังในเวลาไม่นานก็ระบายออกได้สู่ภาวะปกติ
น้ำท่วม พ.ศ. 2541 น้ำท่วมเกิดจากฝนตกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร วัดน้ำฝนได้สูงสุดที่สถานีดับเพลิงพญาไท 2451 มม. จุดที่น้ำในถนนแห้งช้าที่สุดที่ถนนประชาสงเคราะห์(จากแยกดินแดงยาวตลอดสาย) เขตดินแดงท่วมสูง 20 ซม. นาน 19 ชม. โดยท่วมสูงสุดที่ถนนเพลินจิต และถนนราชดำริ เขตปทุมวัน ท่วมสูง 20 - 40 ซม. นาน 11 ชม.
หมายเหตุ : เรียบเรียงข้อมูลจาก หนังสือ“เหตุการน์น้ำท่วม พ.ส.2485” ของ “กระซวงมหาดไทย” และจาก “ข้อมูลสถิติน้ำท่วมสำนักระบายน้ำกรุงเทพมหานคร”