ถ้ายังจำกันได้ เมื่อหลายสัปดาห์ก่อนนู้น ฉันพาคุณๆ ไปเที่ยวห้องสมุดยุคใหม่ที่มีรูปลักษณ์โมเดิร์น อินเทรนด์สุดๆ ไม่รู้ว่าพวกคุณได้ไปเที่ยวกันมาบ้างหรือยัง?
หากยังไม่ได้ไปอันนี้ไม่ว่ากัน เพราะว่าฉันมีห้องสมุดดีๆ มาแนะนำให้ไปเที่ยวชมกันอีกแล้ว แหม !! อย่าเพิ่งอ้าปากบ่นกันว่าเที่ยวห้องสมุดอีกแล้ว เพราะฉันว่าห้องสมุดแต่ละที่มีดี มีความน่าสนใจไม่เหมือนกันหรอก
ซึ่งห้องสมุดที่ฉันจะแนะนำในครั้งนี้ ถือว่าเป็นห้องสมุดที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ เพราะเป็นห้องสมุดที่เป็นขุมคลังทางปัญญาและที่รวบรวมสมบัติของประเทศชาติไว้จำนวนมาก ห้องสมุดที่ฉันกำลังพูดถึงก็คือ “สำนักหอสมุดแห่งชาติ” ตรงท่าวาสุกรี ถ.สามเสนนี่เอง
ฉันไม่เคยรู้มาก่อน (จนกระทั่งได้มาเอง) ว่าที่ สำนักหอสมุดฯ นอกจากจะมีหอสมุดแห่งชาติที่จัดเก็บรวบรวมหนังสือหนังหาจำนวนมากแล้ว ที่นี่ยังมีอีก 6 ห้องสมุดปลีกย่อยรวมอยู่ภายในด้วย เมื่อรู้อย่างนี้แล้วฉันคิดว่าต้องเที่ยวห้องสมุดอย่างอิ่มอรทัยเป็นแน่ เอาเป็นว่าขอเริ่มจากเดินสำรวจ “หอสมุดแห่งชาติ”ก่อนเป็นที่แรก
เมื่อก้าวเข้าสู่อาคารหอสมุดฯ ที่มีอยู่ 4 ชั้น ฉันออกเดินที่ชั้น 1 ก่อน ชั้นนี้มีห้องบริการสืบค้นหนังสือที่มีอยู่ในหอสมุดทั้งหมดผ่านทางคอมพิวเตอร์ ง่ายกว่ามานั่งค้นมือด้วยตัวเองมากโข และมีอินเตอร์เน็ตให้บริการเล่นฟรีด้วย ส่วนอีกห้องฝั่งตรงข้าม เป็นห้องวารสารและหนังสือพิมพ์ มีวารสาร หนังสือพิมพ์ทั้งเก่าและใหม่ให้ได้เลือกอ่านกันตามใจชอบ
ชั้น 2 ชั้นเป็นชั้นที่รวบรวมหนังสือหมวดเบ็ดเตล็ดทั่วๆ ไป มีทั้งปรัชญา ศาสนา สังคมศาสตร์ ภาษาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ (แต่น่าเสียดายที่ช่วงนี้เขาปิดปรับปรุงอยู่) ส่วนชั้น 3 ชั้นมีหนังสือประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรมและวรรณคดีต่างๆ และภายในชั้นนี้ยังมีห้องสมุดย่อยอีก 2 ห้อง คือ ห้องสมุดอนุมานราชธน บริการข้อมูลประวัติศาสตร์ไทยเป็นภาษาอังกฤษ และ ห้องสมุดวิจิตรวาทการ ให้บริการหนังสือเก่าหาอ่านยากเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย มีทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ด้านชั้น 4 เก็บรวบรวมตู้ไทยโบราณลายรดน้ำปิดทอง และก็มีหนังสือโบราณ คัมภีร์ใบลาน ที่หาดูได้ยากยิ่งในปัจจุบัน
หลังจากเดินสำรวจดูทุกชั้นของหอสมุดฯ จนทั่วแล้ว ฉันมุ่งหน้าไปยังอาคาร 3 ที่อยู่ด้านหลังของหอสมุดฯ เป็นที่ถัดไป ที่นี่มี “ห้องสมุดกล้วยไม้ระพี สาคริก” เป็นห้องสมุดเล็กๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ภายใต้ความมืดมิด และเงียบสงัด ที่ ชั้น 2 ของอาคารหลังนี้ ซึ่งศาสตราจารย์ระพี สาคริก (บิดาแห่งกล้วยไม้ไทย) เป็นผู้จัดสร้างขึ้น ภายในมีเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติของอาจารย์ระพี และมีหนังสือเกี่ยวกับกล้วยไม้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยดไว้ให้ผู้ที่สนใจได้มาศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลกัน ฉันว่าเป็นห้องสมุดนี้มีความน่าสนใจอยู่ในตัวไม่น้อยเลยทีเดียว อย่างน้อยๆ คนที่ชอบปลูกกล้วยไม้ สนใจเรื่องกล้วยไม้ ถ้าได้มาที่นี่รับรองว่าไม่มีคำว่าผิดหวังกลับบ้านไปแน่นอน
จากห้องสมุดกล้วยไม้ฯ ฉันเดินเลาะไปทางด้านหลัง มายืนอยู่ตรงหน้า “หอพระสมุดวชิรญาณ” และสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายความโบราณภายในนั้น ครั้นเมื่อเดินเข้าไปด้านในยิ่งสัมผัสได้ถึงความโบราณที่ทรงคุณค่า คือชั้นล่างมีตู้ไม้โบราณอายุหลายร้อยปีเก็บรวบรวมไว้มากมาย ซึ่งประโยชน์ใช้สอยของตู้ไทยโบราณเหล่านี้ก็เหมือนกับตู้หนังสือที่ใช้ใส่หนังสือนั่นล่ะ ส่วนอีกด้านมีศิลาจารึกในสมัยยุคต่างๆ ที่จารึกอักษรโบราณทรงคุณค่า มีถึง 53 หลักด้วยกัน
นอกจากชั้น 1 แล้ว ที่ชั้น 2 และชั้น 3 ก็มีตู้ไทยโบราณ หีบโบราณจัดแสดงไว้เต็มไปหมด นับรวมแล้วตู้ไทยโบราณที่มีจัดแสดงอยู่ที่หอสมุดนี้มีทั้งสิ้น 376 ตู้ ฉันเดินดูตู้เหล่านี้อยู่นาน ตะลึงในความงดงามของลวดลายที่ช่างบรรจงวาดลงไปบนเนื้อไม้ แต่ละลายงดงามจับตาจริงๆ
หลังจากดูจนอิ่มใจ ฉันเดินออกมาตามทาง แล้วก็เจอะเข้ากับอาคารขนาดย่อมติดกัน 2 หลัง มีชื่อติดไว้ว่า “หอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9” และ “ห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร” เห็นชื่อแล้ว ไอ้ฉันมันเป็นคนมีดนตรีอยู่ในหัวใจ จึงไม่ขอพลาดที่จะเข้าไปชม
ฉันเลือกเดินดูห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธรก่อน ที่นี่จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับเพลงไทย เพลงสากล เพลงไทยเดิม มีหนังสือ วารสาร โน้ตเพลง รูปภาพ ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย ให้เลือกอ่านกันได้ตามใจชอบเลยทีเดียว และที่สำคัญมีห้องให้บริการฟังเพลงและดูวีดีทัศน์ด้วย
ส่วนด้านหอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จัดแสดงบทเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งหมดของในหลวง รวมถึงพระราชกรณียะกิจของพระองค์ท่านทางด้านดนตรี แล้วก็มีห้องให้บริการฟังเพลงและห้องสำหรับแสดงคอนเสิร์ตตามโอกาสต่างๆ อีกด้วย
ฉันเพลิดเพลินกับเสียงเพลงที่หอสมุดดนตรีจนเต็มอิ่ม ก่อนจะออกเดินตรงไปยัง “หอเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” ที่ตั้งอยู่ถัดมา ซึ่งโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรม ที่ถ้าใครมองผ่านๆเป็นต้องยกมือไหว้ เพราะนึกว่าเป็นศาลหรืออาคารบรรจุสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ฉันเองก็หลงไหว้เหมือนกันก่อนที่จะก้าวเท้าเข้าสู่ตัวอาคาร และสิ่งแรกที่มองเห็นเด่นชัดสะดุดตาเมื่อเดินเข้ามาด้านใน คือ แท่งแก้วที่ภายในบรรจุเอกสารประชามติของประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อครั้งมีการถวายพระราชสมัญญานามแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และพอมองขึ้นไปบริเวณผนังด้านบนมีภาพเขียนกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ แสดงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ วาดไว้อย่างสวยงาม
นอกจากนี้แล้วยังได้รวบรวมหนังสือเกี่ยวกับพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ไว้ให้ประชาชนทุกคนได้อ่านศึกษากัน
จากหอเฉลิมพระเกียรติฯ ฉันเดินมุ่งหน้าตรงไปยัง “หอวชิราวุธานุสรณ์” ทันทีที่เดินเข้าไปด้านใน ฉันพบกับพระบรมรูปหุ่นขี้ผึ้งร.6 ในฉลองพระองค์ชุดพิชัยสงคราม ตั้งเด่นสง่าอยู่กลางห้อง
จากนั้นฉันเดินขึ้นไปที่ชั้น 2 ที่ชั้นนี้มีห้องรามจิตติเป็นห้องสมุดที่ให้บริการหนังสือพระราชนิพนธ์ใน ร.6 งานวิจัยต่างๆ ในสมัย ร. 6 ส่วนอีกห้องที่ทำให้ฉันตื่นตาตื่นใจมากคือห้องปรศุราม เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปหุ่นขี้ผึ้งของร.6 ทรงเครื่องเหมือนจริง (มากๆ) และห้องอื่นๆที่เก็บรวบรวมเหรียญกษาปณ์ และเหรียญที่ระลึกต่างๆเกี่ยวกับร.6
เดินดูได้สักพักฉันก้าวขึ้นสู่ชั้น 3 ที่ชั้นนี้จัดเป็นนิทรรศการถาวรหุ่นขี้ผึ้งร.6 แสดงเป็นพระราชกรณียะกิจสำคัญๆของพระองค์ทั้งหมด 12 ห้องด้วยกัน ฉันใช้เวลาที่เหลือทั้งหมดของวันอยู่ที่ห้องสมุดนี้เป็นห้องสุดท้าย เดินดูนู่นดูนี่จนทั่ว ก็ถึงเวลาปิดพอดี
ฉันว่าการมาเที่ยว ที่ “สำนักหอสมุดแห่งชาติ” ในช่วงเวลาสั้นๆ ภายใน 1 วัน มันช่างคุ้มค่ากับเวลาที่เสียไป คือได้ทั้งความรู้ใหม่ๆ ความสนุกสนานตื่นตาตื่นใจในสิ่งที่ได้ดู ดีกว่าสิ้นเปลืองเวลา (อันมีค่า) ไปเดินเที่ยวเตร่แบบไร้สาระ โฉบไปโฉบมาตามย่านศูนย์การค้า คุณๆ ว่าจริงไหม??
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
เที่ยวท่อง "ห้องสมุด" ทั้งสนุก ได้ความรู้