โดย...หนุ่มลูกทุ่ง

“แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์ มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน”
(พระอภัยมณี)
บทกลอนอันไพเราะ ข้อความอันจับจิต นี้ ฉันเชื่อว่าทุกคนจะต้องผ่านหูผ่านตากันมาบ้างล่ะ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องพระอภัยมณี ผลงานที่ขึ้นชื่อของ “สุนทรภู่” กวีเอกของไทยผู้ไม่ธรรมดา เพราะถึงขนาดที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ยกย่องให้เป็นเป็นบุคคลสำคัญของโลก ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม หรือนัยหนึ่งก็คือเป็น “กวีเอกของโลก” เมื่อปี พ.ศ. 2529
ผลงานของสุนทรภู่แต่ละเรื่องล้วนแล้วแต่น่าสนใจ พอๆ กับเรื่องราวชีวิตจริงของท่านที่มีหลากหลายน่าศึกษา เพราะตลอดช่วงชีวิตท่านได้ตระเวนไปยังที่ต่างๆ มากมาย ฉันเลยเกิดความคิดว่าจะตามรอยท่านสุนทรภู่ แต่ครั้นจะตามทุกเขตแคว้นที่ท่านไป คงต้องใช้เวลานานเป็นเดือนๆ แน่ ฉันจึงเลือกไปแค่ 3 วัดในเมืองกรุง ซึ่งสุนทรภู่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องตั้งแต่เล็กกระทั่งล่วงเข้าสู่วัยชรา

วัดชีปะขาว : เรื่องราวในวัยเด็กของสุนทรภู่
สุนทรภู่เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2329 ที่บ้านใกล้กำแพงวังหลัง คลองบางกอกน้อย ซึ่งน่าจะอยู่แถวสถานีรถไฟธนบุรี ท่านไม่ใช่คนบ้านกล่ำ เมืองแกลง จังหวัดระยอง อย่างที่หลายคนเข้าใจสับสน เพราะจริงๆ แล้วที่นั่นเป็นบ้านเกิดของพ่อท่าน
ในช่วงวัยเด็กจนถึงวัยหนุ่ม ท่านจึงได้ศึกษาเล่าเรียนที่ วัดชีปะขาว หรือ วัดศรีสุดารามวรวิหาร ที่อยู่ใกล้บ้านท่านปัจจุบันอยู่ในซอยบางขุนนนท์ ไม่ไกลจากถนนจรัญสนิทวงศ์เท่าใด
คนแก่แถวนั้นเล่าให้ฟังว่าเมื่อก่อนบริเวณวัดและย่านนี้เป็นสวนลิ้นจี่ เต็มไปด้วยความสงบ แต่มาถึงตอนนี้ สภาพเก่าๆ เหล่านั้นไม่เหลือแล้ว กลายเป็นบ้านของผู้คนที่อยู่กันอย่างหนาแน่นแทน
ฉันเดินเข้าไปในวัดเพื่อสอบถามว่ายังคงมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับสุนทรภู่หลงเหลืออยู่หรือไม่ ปรากฏว่าสิ่งเดียวที่มีอยู่และทำให้รู้ว่า วัดชีปะขาวนี้เคยเป็นทั้งที่เรียน ที่เล่น และที่ทำงานของสุนทรภู่ เพราะท่านเคยเป็นครูสอนผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นเสมียน นั่นก็คือ “อนุสาวรีย์สุนทรภู่” ซึ่งมีปรากฏในโคลงนิราศสุพรรณ ตอนหนึ่งว่า
"วัดปะขาวคราวรุ่นรู้ แรกเรียน
ทำสูตรสอนเสมียน สมุดน้อย
เดินระวางระวังเวียน หว่างวัด ปะขาวเฮย
เคยชื่นกลืนกลิ่นสร้อย สวาทห้างกลางสวน"
อนุสาวรีย์สุนทรภู่นี้ เป็นรูปปั้นจำลองท่านในวัยเด็ก ซึ่งสมัยก่อนยังไม่มีเทคโนโลยีการถ่ายภาพ จึงไม่มีใครบอกได้ว่าหน้าตาของท่านจะเป็นเช่นที่เห็นอยู่หรือไม่
อย่างที่บอกไปว่าอดีตของสุนทรภู่ ณ บริเวณนี้แทบไม่มีสิ่งใดหลงเหลือไว้ แม้กระทั่งปัจจุบันก็เหมือนจะไม่มีใครรู้ว่าที่วัดนี้มีอนุสาวรีย์ของท่านอยู่ รอบๆ บริเวณจึงดูเงียบเหงา ที่แท่นหน้ารูปปั้นเห็นเพียงรอยเทียนที่ถูกจุดและพวงมาลัยเก่าๆ แห้งๆ วางไว้อย่างเดียวดาย
ใครที่ได้ไปแถวบางขุนนนท์ ซึ่งเป็นย่านของกินมีชื่อแล้ว ก็น่าจะแวะเข้าไปสัมผัสความสงบที่วัดชีปะขาว ถือโอกาสทำบุญให้อาหารปลาที่อยู่ในคลองบางกอกน้อยหน้าวัด และอย่าลืมไปทำความเคารพอนุสาวรีย์สุนทรภู่ซึ่งตั้งอยู่ที่ด้านหลังของ “รูปปั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังษี)” ด้วยก็แล้วกัน

วัดราชบูรณะ : พระสุนทรภู่บวชแล้วถูกขับออกจากวัด
จากความสามารถในงานกวี ทำให้สุนทรภู่มีความรุ่งโรจน์มากที่สุดในช่วงรัชกาลที่ 2 แต่แล้วชีวิตก็ต้องผกผันเพราะได้ไปแก้บทพระนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำต่อหน้าพระที่นั่ง พระองค์ทรงอับอายข้าราชบริพาร จึงเป็นเหตุให้ขุนสุนทรโวหารถูกถอดยศถาบรรดาศักดิ์ ถึงคราวตกอับต้องออกบวช
อันที่จริงแล้วสุนทรภู่ได้บวชและตระเวนจำพรรษาในหลายวัดมาตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ 2 เช่นที่วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) วัดพระเชตุพน (วัดโพธิ์) วัดมหาธาตุ
ส่วนที่ วัดราชบูรณะ หรือ วัดเลียบ เป็นวัดที่ท่านบวชในปี พ.ศ. 2367 และได้มีโอกาสถวายอักษรเจ้าฟ้าชายกลาง และเจ้าฟ้าชายปิ๋ว พระโอรสในรัชกาลที่ 2
จนกระทั่งคราวหนึ่ง พระภู่เกิดอธิกรณ์ (ต้องโทษ,คดี) เพราะดื่มเหล้า จึงถูกขับออกจากวัด เหตุที่คาดว่าท่านเกิดการวิวาทกับพระในวัด ด้วยความตอนหนึ่งในนิราศภูเขาทองกล่าวว่า
"โอ้อาวาสราชบูรณะพระวิหาร แต่นี้นานนับทิวาจะมาเห็น
เหลือรำลึกนึกน่าน้ำตากระเด็น เพราะขุกเข็ญคนพาลมารานทาง
จะหยิบยกอธิบดีเป็นที่ตั้ง ก็ใช้ถังแทนสัดเห็นขัดขวาง
จึ่งจำลาอาวาสนิราศร้าง มาอ้างว้างวิญญาในสาคร"
สุนทรภู่มีความอาลัยรักในศิษย์ทั้งสอง ก่อนที่จะจากไปจึงได้ถวายอักษรเป็น “เพลงยาวถวายโอวาท” ซึ่งเป็นสุภาษิตคำสั่งสอนที่ติดใจคนทั่วไปมาก อย่างเช่น “อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย”
เป็นที่น่าเสียดายว่าอดีตของสุนทรภู่อย่างเช่น พระวิหารที่เคยอยู่ ก็ไม่คงเหลือไว้ เพราะเมื่อคราวสงครามโลกครั้งที่ 2 วัดเลียบกลายเป็นเป้ารับระเบิดแบบเต็มๆ แทนการไฟฟ้านครหลวงและสะพานพุทธที่อยู่ใกล้ๆ ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ วัดเลียบเสียหายหนัก กว่าจะฟื้นฟูให้กลับคืนมาได้ก็ใช้เวลานานหลายสิบปี
มีเพียง พระปรางค์ ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่เป็นปูชนียวัตถุชิ้นเดียวของวัดที่รอดพ้นจากภัยทางอากาศในสงครามโลกครั้งที่ 2
ถึงวันนี้ไม่เหลือร่องรอยอดีตของสุนทรภู่ แต่ฉันก็ถือโอกาสนี้เดินเที่ยวบริเวณรอบวัด ถึงแม้จะขัดตาไปบ้างกับบางจุดที่กลายเป็นที่จอดรถไป แต่ก็ไม่ว่ากันเพราะยุคสมัยเปลี่ยนอะไรๆก็เปลี่ยน แม้แต่ “ต้นเลียบ” ที่เคยมีอยู่มากในวัด ก็ยังเหลืออยู่ไม่กี่ต้น ใครอยากรู้ว่าต้นเลียบเป็นอย่างไร คงต้องตามไปค้นหากันดู

วัดเทพธิดาราม : ยามบวช ณ บั้นปลาย
อีกวัดหนึ่งที่ฉันจะไม่ไปไม่ได้เลย เพราะเป็นวัดสำคัญที่ยังมีเรื่องราวและการเก็บรักษาข้าวของเครื่องใช้ของสุนทรภู่ไว้เป็นอย่างดี นั้นก็คือ “วัดเทพธิดาราม”
กล่าวคือหลังจากที่พระสุนทรภู่ได้จากวัดเลียบ ก็ได้ได้เดินทางไปยังสุพรรณบุรี ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นระยะหนึ่ง แล้วเดินทางกลับกรุงเทพฯ จำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดารามเมื่อปี พ.ศ. 2383 ขณะนั้นอายุได้ 54 ปี อยู่ที่วัดนี้ได้ 3 พรรษาท่านก็ลาสิกขาบท ด้วยเหตุผลเพื่อเตรียมตัวตาย โดยมีสาเหตุมาจากฝันร้าย ว่าชะตาขาดจนถึงแก่ชีวิต
จึงได้แต่งนิราศรำพันพิลาป ซึ่งเป็นบทกวีที่ทำให้ทราบเรื่องราวในชีวิตของท่านอีกเป็นอันมาก
“เป็นคราวเคราะห์ก็ต้องพรากจากวิหาร กลัวพวกพาลผู้ร้ายจำย้ายหนี
อยู่วัดเทพธิดาด้วยบารมี ได้ผ้าปีปัจจัยไทยทาน
ถึงยามเคราะห์ก็เผอิญให้เหินห่าง ไม่เหมือนอย่างอยู่ที่พระวิหาร
โอ้ใจหายกลายกลับอัประมาณ โดยกันดารเดือดร้อนไม่หย่อนเย็น”
เพราะเป็นวัดที่ท่านบวชในช่วงเกือบจะบั้นปลาย จึงยังคงมีเรื่องราวและร่องรอยของท่านอยู่มาก โดยภายในวัดเทพธิดารามมี “กุฏิสุนทรภู่” ที่ท่านได้พำนัก ดังในบทหนึ่งของรำพันพิลาป
“เคยอยู่กินถิ่นที่กระฎีก่อ เป็นตึกต่อต่างกำแพงฝากแฝงฝา
เป็นสองฝ่ายท้ายวัดวิปัสสนา ข้างโบสถ์บาเรียนเรียงเคียงเคียงกัน”
ก่อนหน้านี้ฉันเคยมีโอกาสมาที่วัดเทพธิดารามมาแล้ว แต่ก็ไม่ได้ใส่ใจเยี่ยมชมกุฎิสุนทรภู่มากนัก เพราะมัวแต่ไปชมงานศิลปะและสถาปัตยกรรมในเขตอุโบสถ มาครั้งนี้จึงตั้งใจมุ่งตรงมาที่กุฎิท่าน ซึ่งได้เก็บเครื่องอัฐบริขาร เมื่อครั้งที่ท่านยังอยู่ในสมณเพศ ปัจจุบันได้รักษาไว้เป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อให้ประชาชนทั่วไปมาเยี่ยมชมและศึกษาค้นคว้า
แค่เพียงด้านนอก ฉันก็สะดุดตากับไม้ดัดที่เป็นรูปนางยักษ์ผีเสื้อสมุทร หนึ่งในตัวละครสำคัญในเรื่องพระอภัยมณี ผลงานเลื่องชื่อของสุนทรภู่ และเมื่อเข้าไปข้างในสุนทรภู่ก็ได้เห็นรูปปั้นครึ่งตัวของสุนทรภู่ตั้งเด่นอยู่ที่มุมห้องด้านใน ฉันเข้าไปไหว้ทำความเคารพและถือโอกาสเยี่ยมชมภายในกุฏิท่าน ซึ่งข้าวของเครื่องใช้ของท่านหลายๆอย่าง ยังคงถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี มีทั้งสมุดข่อย 200 ปี คัมภีร์พระมาลัย ตำรารักษาโรคต่างๆ รวมถึงเครื่องใช้ขณะจำพรรษา เครื่องใช้เล่นแร่แปรธาตุ และอีกหลายอย่าง

สุนทรภู่ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. 2398 รวมอายุได้ 70 ปี คาดว่าคงจะได้รับพระราชทานเพลิงศพ ที่วัดสระเกศหรือวัดสุวรรณาราม วัดใดวัดหนึ่ง
สิ่งที่ฉันได้จากการตามรอยสุนทรภู่ครั้งนี้ไม่ใช่เพียงจะรู้ประวัติเรื่องราวชีวิต 4 แผ่นดินของท่าน แต่ยังได้ตระหนักว่า ถึงแม้เวลาจะเปลี่ยนผัน สิ่งต่างๆเปลี่ยนแปร ทว่าชื่อเสียงและคุณงามความดีของคนไม่มีวันเสื่อมสลาย ดังเช่น “สุนทรภู่” ซึ่งท่านได้ลาจากไปเนิ่นนาน แต่เราคนไทยก็ยังระลึกถึงท่านอยู่เสมอ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน มีงาน “ชุมชนบางกอกน้อย เปิดถิ่นบานบ้านเกิด มหากวีกระฏุมพีสยาม สุนทรภู่อยู่วังหลัง คนบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี” บริเวณรอบลานพระอุโบสถวัดอมรินทราราม (หลวงพ่อโบสถ์น้อย) ปากคลองบางกอกน้อย สถานีรถไฟธนบุรี สอบถามได้ที่ โทร. 0-2411-0576
ส่วนที่วัดเทพธิดาราม มีการจัดงานรำลึกถึงสุนทรภู่ ในวันที่ 26 มิถุนายน เป็นประจำทุกปี ซึ่งปีนี้มีการจัดกิจกรรมต่างๆมากมาย ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
ทำไม ?? อนุสาวรีย์ "สุนทรภู่" ตั้งอยู่ที่ระยอง
เที่ยว "วัดเทพธิดาราม" ชมความงามศิลปะสมัย ร.3
“แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์ มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน”
(พระอภัยมณี)
บทกลอนอันไพเราะ ข้อความอันจับจิต นี้ ฉันเชื่อว่าทุกคนจะต้องผ่านหูผ่านตากันมาบ้างล่ะ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องพระอภัยมณี ผลงานที่ขึ้นชื่อของ “สุนทรภู่” กวีเอกของไทยผู้ไม่ธรรมดา เพราะถึงขนาดที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ยกย่องให้เป็นเป็นบุคคลสำคัญของโลก ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม หรือนัยหนึ่งก็คือเป็น “กวีเอกของโลก” เมื่อปี พ.ศ. 2529
ผลงานของสุนทรภู่แต่ละเรื่องล้วนแล้วแต่น่าสนใจ พอๆ กับเรื่องราวชีวิตจริงของท่านที่มีหลากหลายน่าศึกษา เพราะตลอดช่วงชีวิตท่านได้ตระเวนไปยังที่ต่างๆ มากมาย ฉันเลยเกิดความคิดว่าจะตามรอยท่านสุนทรภู่ แต่ครั้นจะตามทุกเขตแคว้นที่ท่านไป คงต้องใช้เวลานานเป็นเดือนๆ แน่ ฉันจึงเลือกไปแค่ 3 วัดในเมืองกรุง ซึ่งสุนทรภู่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องตั้งแต่เล็กกระทั่งล่วงเข้าสู่วัยชรา
วัดชีปะขาว : เรื่องราวในวัยเด็กของสุนทรภู่
สุนทรภู่เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2329 ที่บ้านใกล้กำแพงวังหลัง คลองบางกอกน้อย ซึ่งน่าจะอยู่แถวสถานีรถไฟธนบุรี ท่านไม่ใช่คนบ้านกล่ำ เมืองแกลง จังหวัดระยอง อย่างที่หลายคนเข้าใจสับสน เพราะจริงๆ แล้วที่นั่นเป็นบ้านเกิดของพ่อท่าน
ในช่วงวัยเด็กจนถึงวัยหนุ่ม ท่านจึงได้ศึกษาเล่าเรียนที่ วัดชีปะขาว หรือ วัดศรีสุดารามวรวิหาร ที่อยู่ใกล้บ้านท่านปัจจุบันอยู่ในซอยบางขุนนนท์ ไม่ไกลจากถนนจรัญสนิทวงศ์เท่าใด
คนแก่แถวนั้นเล่าให้ฟังว่าเมื่อก่อนบริเวณวัดและย่านนี้เป็นสวนลิ้นจี่ เต็มไปด้วยความสงบ แต่มาถึงตอนนี้ สภาพเก่าๆ เหล่านั้นไม่เหลือแล้ว กลายเป็นบ้านของผู้คนที่อยู่กันอย่างหนาแน่นแทน
ฉันเดินเข้าไปในวัดเพื่อสอบถามว่ายังคงมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับสุนทรภู่หลงเหลืออยู่หรือไม่ ปรากฏว่าสิ่งเดียวที่มีอยู่และทำให้รู้ว่า วัดชีปะขาวนี้เคยเป็นทั้งที่เรียน ที่เล่น และที่ทำงานของสุนทรภู่ เพราะท่านเคยเป็นครูสอนผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นเสมียน นั่นก็คือ “อนุสาวรีย์สุนทรภู่” ซึ่งมีปรากฏในโคลงนิราศสุพรรณ ตอนหนึ่งว่า
"วัดปะขาวคราวรุ่นรู้ แรกเรียน
ทำสูตรสอนเสมียน สมุดน้อย
เดินระวางระวังเวียน หว่างวัด ปะขาวเฮย
เคยชื่นกลืนกลิ่นสร้อย สวาทห้างกลางสวน"
อนุสาวรีย์สุนทรภู่นี้ เป็นรูปปั้นจำลองท่านในวัยเด็ก ซึ่งสมัยก่อนยังไม่มีเทคโนโลยีการถ่ายภาพ จึงไม่มีใครบอกได้ว่าหน้าตาของท่านจะเป็นเช่นที่เห็นอยู่หรือไม่
อย่างที่บอกไปว่าอดีตของสุนทรภู่ ณ บริเวณนี้แทบไม่มีสิ่งใดหลงเหลือไว้ แม้กระทั่งปัจจุบันก็เหมือนจะไม่มีใครรู้ว่าที่วัดนี้มีอนุสาวรีย์ของท่านอยู่ รอบๆ บริเวณจึงดูเงียบเหงา ที่แท่นหน้ารูปปั้นเห็นเพียงรอยเทียนที่ถูกจุดและพวงมาลัยเก่าๆ แห้งๆ วางไว้อย่างเดียวดาย
ใครที่ได้ไปแถวบางขุนนนท์ ซึ่งเป็นย่านของกินมีชื่อแล้ว ก็น่าจะแวะเข้าไปสัมผัสความสงบที่วัดชีปะขาว ถือโอกาสทำบุญให้อาหารปลาที่อยู่ในคลองบางกอกน้อยหน้าวัด และอย่าลืมไปทำความเคารพอนุสาวรีย์สุนทรภู่ซึ่งตั้งอยู่ที่ด้านหลังของ “รูปปั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังษี)” ด้วยก็แล้วกัน
วัดราชบูรณะ : พระสุนทรภู่บวชแล้วถูกขับออกจากวัด
จากความสามารถในงานกวี ทำให้สุนทรภู่มีความรุ่งโรจน์มากที่สุดในช่วงรัชกาลที่ 2 แต่แล้วชีวิตก็ต้องผกผันเพราะได้ไปแก้บทพระนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำต่อหน้าพระที่นั่ง พระองค์ทรงอับอายข้าราชบริพาร จึงเป็นเหตุให้ขุนสุนทรโวหารถูกถอดยศถาบรรดาศักดิ์ ถึงคราวตกอับต้องออกบวช
อันที่จริงแล้วสุนทรภู่ได้บวชและตระเวนจำพรรษาในหลายวัดมาตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ 2 เช่นที่วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) วัดพระเชตุพน (วัดโพธิ์) วัดมหาธาตุ
ส่วนที่ วัดราชบูรณะ หรือ วัดเลียบ เป็นวัดที่ท่านบวชในปี พ.ศ. 2367 และได้มีโอกาสถวายอักษรเจ้าฟ้าชายกลาง และเจ้าฟ้าชายปิ๋ว พระโอรสในรัชกาลที่ 2
จนกระทั่งคราวหนึ่ง พระภู่เกิดอธิกรณ์ (ต้องโทษ,คดี) เพราะดื่มเหล้า จึงถูกขับออกจากวัด เหตุที่คาดว่าท่านเกิดการวิวาทกับพระในวัด ด้วยความตอนหนึ่งในนิราศภูเขาทองกล่าวว่า
"โอ้อาวาสราชบูรณะพระวิหาร แต่นี้นานนับทิวาจะมาเห็น
เหลือรำลึกนึกน่าน้ำตากระเด็น เพราะขุกเข็ญคนพาลมารานทาง
จะหยิบยกอธิบดีเป็นที่ตั้ง ก็ใช้ถังแทนสัดเห็นขัดขวาง
จึ่งจำลาอาวาสนิราศร้าง มาอ้างว้างวิญญาในสาคร"
สุนทรภู่มีความอาลัยรักในศิษย์ทั้งสอง ก่อนที่จะจากไปจึงได้ถวายอักษรเป็น “เพลงยาวถวายโอวาท” ซึ่งเป็นสุภาษิตคำสั่งสอนที่ติดใจคนทั่วไปมาก อย่างเช่น “อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย”
เป็นที่น่าเสียดายว่าอดีตของสุนทรภู่อย่างเช่น พระวิหารที่เคยอยู่ ก็ไม่คงเหลือไว้ เพราะเมื่อคราวสงครามโลกครั้งที่ 2 วัดเลียบกลายเป็นเป้ารับระเบิดแบบเต็มๆ แทนการไฟฟ้านครหลวงและสะพานพุทธที่อยู่ใกล้ๆ ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ วัดเลียบเสียหายหนัก กว่าจะฟื้นฟูให้กลับคืนมาได้ก็ใช้เวลานานหลายสิบปี
มีเพียง พระปรางค์ ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่เป็นปูชนียวัตถุชิ้นเดียวของวัดที่รอดพ้นจากภัยทางอากาศในสงครามโลกครั้งที่ 2
ถึงวันนี้ไม่เหลือร่องรอยอดีตของสุนทรภู่ แต่ฉันก็ถือโอกาสนี้เดินเที่ยวบริเวณรอบวัด ถึงแม้จะขัดตาไปบ้างกับบางจุดที่กลายเป็นที่จอดรถไป แต่ก็ไม่ว่ากันเพราะยุคสมัยเปลี่ยนอะไรๆก็เปลี่ยน แม้แต่ “ต้นเลียบ” ที่เคยมีอยู่มากในวัด ก็ยังเหลืออยู่ไม่กี่ต้น ใครอยากรู้ว่าต้นเลียบเป็นอย่างไร คงต้องตามไปค้นหากันดู
วัดเทพธิดาราม : ยามบวช ณ บั้นปลาย
อีกวัดหนึ่งที่ฉันจะไม่ไปไม่ได้เลย เพราะเป็นวัดสำคัญที่ยังมีเรื่องราวและการเก็บรักษาข้าวของเครื่องใช้ของสุนทรภู่ไว้เป็นอย่างดี นั้นก็คือ “วัดเทพธิดาราม”
กล่าวคือหลังจากที่พระสุนทรภู่ได้จากวัดเลียบ ก็ได้ได้เดินทางไปยังสุพรรณบุรี ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นระยะหนึ่ง แล้วเดินทางกลับกรุงเทพฯ จำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดารามเมื่อปี พ.ศ. 2383 ขณะนั้นอายุได้ 54 ปี อยู่ที่วัดนี้ได้ 3 พรรษาท่านก็ลาสิกขาบท ด้วยเหตุผลเพื่อเตรียมตัวตาย โดยมีสาเหตุมาจากฝันร้าย ว่าชะตาขาดจนถึงแก่ชีวิต
จึงได้แต่งนิราศรำพันพิลาป ซึ่งเป็นบทกวีที่ทำให้ทราบเรื่องราวในชีวิตของท่านอีกเป็นอันมาก
“เป็นคราวเคราะห์ก็ต้องพรากจากวิหาร กลัวพวกพาลผู้ร้ายจำย้ายหนี
อยู่วัดเทพธิดาด้วยบารมี ได้ผ้าปีปัจจัยไทยทาน
ถึงยามเคราะห์ก็เผอิญให้เหินห่าง ไม่เหมือนอย่างอยู่ที่พระวิหาร
โอ้ใจหายกลายกลับอัประมาณ โดยกันดารเดือดร้อนไม่หย่อนเย็น”
เพราะเป็นวัดที่ท่านบวชในช่วงเกือบจะบั้นปลาย จึงยังคงมีเรื่องราวและร่องรอยของท่านอยู่มาก โดยภายในวัดเทพธิดารามมี “กุฏิสุนทรภู่” ที่ท่านได้พำนัก ดังในบทหนึ่งของรำพันพิลาป
“เคยอยู่กินถิ่นที่กระฎีก่อ เป็นตึกต่อต่างกำแพงฝากแฝงฝา
เป็นสองฝ่ายท้ายวัดวิปัสสนา ข้างโบสถ์บาเรียนเรียงเคียงเคียงกัน”
ก่อนหน้านี้ฉันเคยมีโอกาสมาที่วัดเทพธิดารามมาแล้ว แต่ก็ไม่ได้ใส่ใจเยี่ยมชมกุฎิสุนทรภู่มากนัก เพราะมัวแต่ไปชมงานศิลปะและสถาปัตยกรรมในเขตอุโบสถ มาครั้งนี้จึงตั้งใจมุ่งตรงมาที่กุฎิท่าน ซึ่งได้เก็บเครื่องอัฐบริขาร เมื่อครั้งที่ท่านยังอยู่ในสมณเพศ ปัจจุบันได้รักษาไว้เป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อให้ประชาชนทั่วไปมาเยี่ยมชมและศึกษาค้นคว้า
แค่เพียงด้านนอก ฉันก็สะดุดตากับไม้ดัดที่เป็นรูปนางยักษ์ผีเสื้อสมุทร หนึ่งในตัวละครสำคัญในเรื่องพระอภัยมณี ผลงานเลื่องชื่อของสุนทรภู่ และเมื่อเข้าไปข้างในสุนทรภู่ก็ได้เห็นรูปปั้นครึ่งตัวของสุนทรภู่ตั้งเด่นอยู่ที่มุมห้องด้านใน ฉันเข้าไปไหว้ทำความเคารพและถือโอกาสเยี่ยมชมภายในกุฏิท่าน ซึ่งข้าวของเครื่องใช้ของท่านหลายๆอย่าง ยังคงถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี มีทั้งสมุดข่อย 200 ปี คัมภีร์พระมาลัย ตำรารักษาโรคต่างๆ รวมถึงเครื่องใช้ขณะจำพรรษา เครื่องใช้เล่นแร่แปรธาตุ และอีกหลายอย่าง
สุนทรภู่ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. 2398 รวมอายุได้ 70 ปี คาดว่าคงจะได้รับพระราชทานเพลิงศพ ที่วัดสระเกศหรือวัดสุวรรณาราม วัดใดวัดหนึ่ง
สิ่งที่ฉันได้จากการตามรอยสุนทรภู่ครั้งนี้ไม่ใช่เพียงจะรู้ประวัติเรื่องราวชีวิต 4 แผ่นดินของท่าน แต่ยังได้ตระหนักว่า ถึงแม้เวลาจะเปลี่ยนผัน สิ่งต่างๆเปลี่ยนแปร ทว่าชื่อเสียงและคุณงามความดีของคนไม่มีวันเสื่อมสลาย ดังเช่น “สุนทรภู่” ซึ่งท่านได้ลาจากไปเนิ่นนาน แต่เราคนไทยก็ยังระลึกถึงท่านอยู่เสมอ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน มีงาน “ชุมชนบางกอกน้อย เปิดถิ่นบานบ้านเกิด มหากวีกระฏุมพีสยาม สุนทรภู่อยู่วังหลัง คนบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี” บริเวณรอบลานพระอุโบสถวัดอมรินทราราม (หลวงพ่อโบสถ์น้อย) ปากคลองบางกอกน้อย สถานีรถไฟธนบุรี สอบถามได้ที่ โทร. 0-2411-0576
ส่วนที่วัดเทพธิดาราม มีการจัดงานรำลึกถึงสุนทรภู่ ในวันที่ 26 มิถุนายน เป็นประจำทุกปี ซึ่งปีนี้มีการจัดกิจกรรมต่างๆมากมาย ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
ทำไม ?? อนุสาวรีย์ "สุนทรภู่" ตั้งอยู่ที่ระยอง
เที่ยว "วัดเทพธิดาราม" ชมความงามศิลปะสมัย ร.3