xs
xsm
sm
md
lg

จับจาก“รู” มาสู่เมนูจานเด็ด ชีวิตกลางแจ้งของ“คนหาหอยหลอด”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากใครได้ผ่านไปในเส้นทางที่มุ่งหน้าไปสู่จังหวัดทางภาคใต้ หรือถนนสายธนบุรี-ปากท่อ คงจะสังเกตเห็นป้ายบอกทางไปยัง “ดอนหอยหลอด” เป็นระยะๆ เมื่อเข้าสู่เขตจังหวัดสมุทรสงคราม

มีหลายคนที่ผ่านเลยไป ด้วยมีจุดมุ่งหมายเป็นสถานที่แห่งอื่น แต่ก็มีอีกหลายคน ที่ตั้งใจมุ่งหน้ามายังดอนหอยหลอด โดยอาจติดใจในบรรยากาศสบายๆ ของที่นี่ หรือติดใจในรสชาติของอาหารทะเลริมหาดที่มีให้เลือกมากมายหลายร้าน

แต่แน่นอนว่าจุดเด่นของดอนหอยหลอด ก็ต้องอยู่ที่ตัวหอยหลอด ซึ่งถือได้ว่าเป็นสัตว์โลกอีกชนิดหนึ่งที่มีลักษณะแปลกประหลาดไม่น้อย ซึ่งแทนที่จะมีเปลือกและร่างกายเป็นรูปทรงอย่างหอยธรรมดาทั่วๆ ไป แต่หอยชนิดนี้กลับมีรูปร่างเป็นทรงกระบอกคล้ายหลอดตามชื่อของมัน และหอยหน้าตาประหลาดนี้เองที่นำมาทำเป็นเมนูอาหารจานเด็ดขึ้นชื่อของจังหวัดสมุทรสงครามอย่าง “หอยหลอดผัดฉ่า” ได้เอร็ดอร่อยนัก

เชื่อว่าใครที่เคยแวะเวียนมายังดอนหอยหลอด ก็คงจะได้เห็นภาพของสันดอนโล่งกว้างกว่า 20,000 ไร่ ที่เกิดจากการทับถมของตะกอนปากแม่น้ำแม่กลองที่ไหลออกสู่ทะเล ทำให้ดินดอนบริเวณนั้นเป็นดินโคลนปนทราย หรือที่เรียกว่าทรายขี้เป็ด มีผู้คนกระจายอยู่เป็นจุดเล็กๆ ไกลๆ และแต่ละคนต่างก็กำลังก้มหน้าก้มตา ขะมักเขม้นอยู่กับบางสิ่งบางอย่างในพื้นดินเลนนั้น ซึ่งบางสิ่งที่ว่า ก็คือหอยหลอดนั่นเอง

หลายคนเพียงแต่ได้ชมภาพบรรยากาศเท่านั้น แต่ก็มีอีกหลายคนที่ได้ลองไปสัมผัสกับการหาหอยหลอดด้วยตัวเองมาแล้ว และสำหรับคนที่ยังไม่เคย วันนี้ “ผู้จัดการปริทรรศน์” จะพาคุณไปชมถึงที่ โดยมีนักจับหอยหลอดมืออาชีพมาสอนวิธีจับหอยหลอด รวมทั้งเล่าเรื่องราวต่างๆ ของอาชีพคนจับหอยหลอดให้ฟัง

*********************************

“พี่แก่” หรือ ชะเอม สิริแหยม ชาวสมุทรสงครามโดยกำเนิด ซึ่งมีความคุ้นเคยกับหอยหลอดมาตั้งแต่เล็กจนโต จะเป็นผู้พาเราไปรู้จักกับหอยหลอด โดยพี่แก่บอกว่า “ผมหาหอยหลอดเป็นอาชีพหลัก ส่วนวันไหนที่มีนักท่องเที่ยวมาเยอะๆ ก็จะมาวิ่งเรือรับส่งนักท่องเที่ยวลงไปจับหอยหลอดด้วย”

“คนแถวนี้ส่วนใหญ่ก็ทำอาชีพหาหอยหลอดกันทั้งนั้น ผมเป็นคนสมุทรสงคราม เห็นพ่อกับแม่ทำอาชีพนี้มาตั้งแต่เกิด ผมเองก็จับหอยหลอดมาตั้งแต่เด็ก กลับจากโรงเรียนมาก็มาหาหอยหลอดทุกวัน” พี่แก่เล่า

สถานที่ที่จะไปจับหอยหลอดกันนั้น อยู่ในบริเวณที่เรียกว่าหน้าศาล (ศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์) โดยบริเวณนี้ไม่ได้มีแต่หอยหลอดเท่านั้น แต่ยังมีหอยกระปุก และหอยแครงด้วย แต่มีหอยหลอดอยู่เยอะที่สุด

เมื่อถามถึงวิธีการจับหอยหลอด พี่แก่อธิบายขั้นตอนให้ฟังว่า แรกสุดคือต้องรอให้น้ำลดลงก่อน ซึ่งในแต่ละวันเวลาน้ำขึ้นน้ำลงก็จะต่างกันไป สำหรับในวันนี้น้ำลดลงจนสามารถลงไปจับหอยได้ในเวลาประมาณ 11.30 น. เมื่อน้ำลดแล้วก็ไม่รอช้า จัดเตรียมอุปกรณ์หาหอยหลอดอันประกอบไปด้วย ขัน ปูนขาว ไม้เสียบลูกชิ้นหนึ่งอันเอาไว้หยอดปูนขาว และกระป๋องเอาไว้ใส่หอย ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ ไม่ว่ามืออาชีพหรือมือสมัครเล่นก็จะใช้เหมือนกันหมด

หลังจากที่เตรียมอุปกรณ์เรียบร้อยแล้ว คราวนี้ก็ได้เวลาเริ่มลงมือจับ ซึ่งวิธีจับก็ดูเหมือนจะสั้นๆ ง่ายๆ ได้ใจความ โดยพี่แก่อธิบายว่า “เวลาจะจับก็ต้องใช้มือกระทุ้งพื้นทรายเพื่อให้รูหอยหลอดเปิด แล้วก็เอาปูนขาวหยอดลงไป หอยหลอดมันจะเมาปูนขาว ใช้อย่างอื่นแทนปูนขาวไม่ได้ หอยมันจะไม่ขึ้น”

ลักษณะของมือที่พี่แก่ทำให้ดูเวลากระทุ้งพื้นทรายก็คือ นิ้วชี้กับนิ้วโป้งงอติดกันไว้ อีก 3 นิ้วที่เหลือเอาไว้กระทุ้งลงไปในพื้นโคลนเพื่อหารูของหอยหลอด ซึ่งหากในบริเวณนั้นมีหอยหลอดอยู่ พื้นโคลนก็จะมีรูเล็กๆ เปิดขึ้นมา จากนั้นให้รีบเอาไม้จิ้มปูนขาวแล้วแทงลงไปในรูนั้น รอสักอึดใจเดียว หอยหลอดที่เมาปูนขาวก็จะค่อยๆ พุ่งตัวขึ้นมา ก็ให้รีบเก็บใส่ถังที่เตรียมไว้ มิฉะนั้นหากมันหนีลงรูไปแล้ว มันจะยิ่งขุดตัวเองให้ลึกลงไปอีก

มีข้อห้ามอย่างหนึ่งสำหรับการหาหอยหลอดก็คือ ห้ามโรยปูนขาว หรือผสมน้ำกับปูนขาวแล้วเทสาดไปบนพื้น วิธีนี้อาจจะทำให้ได้หอยหลอดเยอะและเร็วก็จริง แต่มันจะไม่ทำให้หอยหลอดแค่เมาเท่านั้น แต่จะทำให้ถึงกับตาย รวมทั้งไข่และตัวอ่อนของมันที่อยู่บนพื้นก็จะตายไปด้วย เรียกว่าเป็นการทำลายหอยหลอดได้อย่างถอนรากถอนโคน ไม่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง

วิธีจับหอยหลอดที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไรนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด เพราะเมื่อเปรียบเทียบดูระหว่างคนจับหอยหลอดมืออาชีพที่กลับเข้าฝั่งพร้อมหอยหลอดเป็นถังๆ กับนักท่องเที่ยวมือสมัครเล่นที่กลับเข้าฝั่งมือเปล่า ทั้งที่อุปกรณ์เหมือนกัน วิธีจับก็เหมือนกันแล้ว ก็เชื่อว่าน่าจะมีอะไรที่แตกต่างกัน ซึ่งเมื่อถามพี่แก่ไปว่า มีเทคนิคพิเศษอย่างไรหรือเปล่า พี่แก่บอกว่า “ไม่มีเทคนิคพิเศษอะไร มีแต่ความชำนาญอย่างเดียว”

*****************************************

การจับหอยหลอดสามารถจับได้ตลอดทั้งปี ไม่มีเว้นฤดูฝน ฤดูหนาว ที่สำคัญคือต้องรอช่วงเวลาที่น้ำลงเท่านั้นเอง ซึ่งช่วงที่น้ำลงวันหนึ่งๆ นั้นจะมีระยะเวลาประมาณ 6 ชั่วโมง เป็น 6 ชั่วโมงที่คนหาหอยหลอดจะต้องนั่งคุกเข่าก้มหน้าก้มตามองลงบนพื้นไม่สนใจใคร มือหนึ่งถือขันปูนขาว มือหนึ่งคอยกระทุ้งพื้นพร้อมกับหยอดปูนขาวและคอยเก็บหอยหลอดที่โผล่ขึ้นมาด้วยในเวลาเดียวกันใส่ในถังที่วางอยู่ข้างกาย และไม่ว่าจะอยู่ท่ามกลางแดดจ้า ในสายฝน หรือลมหนาว คนจับหอยหลอดก็ไม่สนใจ มีเพียงสิ่งเดียวที่จะทำให้พวกเขาเลิกหาหอยหลอดได้ นั่นก็คือ... เวลาน้ำขึ้นนั่นเอง

“ถ้าน้ำลดตอน 11 โมง ครึ่ง มันจะขึ้นอีกทีก็ประมาณ 4-5 โมงเย็น คนหาหอยหลอดก็จะกลับเข้าฝั่ง เขาจะไป-กลับแค่ครั้งเดียว คือลงไปหาหอยหลอดครั้งเดียวแล้วก็กลับขึ้นมาครั้งเดียว จะไม่ไปๆ มาๆ แล้วพอกลับมาครั้งหนึ่งก็จะได้หอยหลอดมาเต็มถัง คือเต็มที่จะได้ 5-6 กิโล แล้วก็จะมีคนมารับซื้อไปขายในตลาด หรือมีร้านอาหารมารับซื้อไป” พี่แก่บอก

ราคาของหอยหลอดสดตอนนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 80 บาท ซึ่งพี่แก่บอกว่าราคาลดลงจากเมื่อก่อน โดยในยุคทองของหอยหลอดนี้ เคยมีราคาขึ้นสูงถึงกิโลกรัมละ 120 บาท เลยทีเดียว แต่หากใครที่คิดว่าหอยหลอดสดแพงแล้ว ให้ลองมาดูราคาของหอยหลอดแห้งดูบ้าง ซึ่งหอยหวาน หรือหอยหลอดตากแห้งปรุงรสหวานนั้น มีราคากิโลกรัมละ 2,000 บาท หรือขีดละ 200 บาท ส่วนหอยกรอบหรือหอยหลอดตากแห้งปรุงรสจะมีราคาถึงกิโลกรัมละ 3,000 บาท หรือขีดละ 300 บาทเลยทีเดียว ซึ่งการที่มันมีราคาแพงมากขนาดนั้นก็เนื่องจากว่า จะต้องใช้หอยหลอดสดถึง 10 กิโลกรัม มาแปรรูปเพื่อให้ได้หอยหลอดแห้งเพียง 1 กิโลกรัม เท่านั้นเอง

เมื่อถามถึงรายได้ ซึ่งตกอยู่ที่ประมาณวันละ 400-500 บาท พี่แก่บอกว่าก็ถือว่าพออยู่พอกิน พอเลี้ยงตัวได้ แต่ก็ถือเป็นอาชีพที่เหนื่อยพอสมควร เพราะต้องนั่งก้มหน้าคุกเข่าอยู่กลางแดดทั้งวัน แต่เมื่อถามว่า ชอบอาชีพนี้ไหม พี่แก่ตอบทันทีว่า “ชอบสิครับ” โดยให้เหตุผลว่า เพราะได้เห็นและทำอาชีพนี้มาตั้งแต่เด็ก

*****************************************

จากสถานที่ทำมาหากินของชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียง ตอนนี้ดอนหอยหลอดได้กลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อของจังหวัดสมุทรสงคราม แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้วิถีชีวิตของคนหาหอยหลอดเปลี่ยนไปสักเท่าไรนัก แม้บางส่วนจะหันมาวิ่งเรือรับส่งนักท่องเที่ยวแทนการหาหอยหลอด แต่ก็ยังคงเหลือชาวบ้านที่หาหอยหลอดเป็นอาชีพหลักอีกจำนวนมาก

สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการจะมาชมการหาหอยหลอดของชาวบ้าน หรือต้องการจะลองหาหอยหลอดดูด้วยตัวเองบ้าง ก็สามารถมาติดต่อเรือได้ที่บริเวณหาดหน้าศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ โดยจะมีคนเรือพาออกไปยังบริเวณหน้าศาล ซึ่งอยู่ห่างจากฝั่งประมาณ 200 เมตร ในราคาเรือไปกลับคนละ 20 บาท สามารถนั่งไปได้ลำละ 5 คน หรือเช่าเหมาลำละ 100 บาท

สำหรับอุปกรณ์การหาหอยหลอดนั้น ใครจะเตรียมไปเองก็ได้ แต่หากไม่อยากยุ่งยาก ที่ดอนหอยหลอดเขาก็มีขายเป็นชุดๆ ซึ่งจะได้ปูนขาวใส่ในแก้วพลาสติกพร้อมไม้เสียบลูกชิ้นหนึ่งอันในราคา 10 บาท ส่วนใครที่ไม่เคยมีประสบการณ์การหาหอยหลอดมาก่อนก็ไม่ต้องกังวล เพราะคนขับเรือนั่นแหละที่จะสามารถสอนวิธีจับหอยหลอดได้เป็นอย่างดี เพราะส่วนใหญ่ก็จะมีอาชีพจับหอยหลอดมาก่อนแทบทั้งนั้น

ในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์หากใครไม่มีกิจกรรมที่ไหน ก็อยากให้ลองมาสัมผัสบรรยากาศสนุกๆ เหล่านี้ได้ที่ดอนหอยหลอด ใช้เวลาเดินทางเพียงไม่กี่นาทีจากกรุงเทพ แต่จะได้มาพบกับประสบการณ์ใหม่ๆ ที่เชื่อว่าน่าจะประทับใจใครหลายๆ คนไม่น้อย...
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
มาเที่ยวดอนหอยหลอดกันเถอะ
รู้จักหอยหลอด
ชมหิ่งห้อยหาหอยหลอด และยล"มดผูกคอตาย!!!"ที่เมืองแม่กลอง
จังหวัดสมุทรสงคราม
กำลังโหลดความคิดเห็น