หากจะเอ่ยถึงความงดงามของสถาปัตยกรรมในอดีต "ผู้จัดการท่องเที่ยว" ว่า ในเมืองไทยนี้ มีให้พบเห็นอยู่ทั่วไป ซึ่งในแต่ละที่แต่ละแห่งก็มีความงดงามและเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป แต่หากเป็น "สถาปัตยกรรม" ที่ตั้งอยู่ริมทะเลนั้น “ผู้จัดการท่องเที่ยว”ว่า"พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน"ก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่พบเห็นเพียงครั้งแรกก็สร้างความประทับใจให้กับผู้พบเห็นและซาบซึ้งในประวัติความเป็นมายิ่งนัก
และในทันทีที่สองเท้าของ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" เหยียบย่างลงไปบนพื้นที่แห่งนี้ ก็รู้สึกได้ถึงความร่มรื่นของบรรดาพันธุ์ไม้น้อยใหญ่ที่ปกคลุมอยู่โดยรอบ
สำหรับพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน สร้างขึ้นจากพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ที่จะให้เป็นที่ประทับสำหรับการเสด็จแปรพระราชฐานฤดูร้อน ณ ชายหาดตำบลบางกรา ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็นตำบลมฤคทายวัน จ.เพชรบุรี บนเนื้อที่ในเขตพระราชฐานทั้งหมดรวม 31 ไร่ 1 งาน 62.5 ตารางวา ใช้ระยะเวลาการสร้างเพียง 1 ปีเท่านั้น(พ.ศ.2466-2467) ว่ากันว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงร่างแบบด้วยพระองค์เองบนผืนทราย แล้วจึงให้สถาปนิกชาวอิตาลีเป็นคนสร้างแบบให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่างอีกทีหนึ่ง
โดยพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน สร้างด้วยไม้สักทองชั้นเดียวใต้ถุนสูง ประกอบด้วยอาคาร 16 หลัง แบ่งออกเป็น 3 หมู่ใหญ่ มีชื่อคล้องจองกันคือ พระที่นั่งสมุทรพิมาน พระที่นั่งพิศาลสาคร และพระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์
พระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ ตั้งอยู่ด้านหน้าสุดและเปรียบเสมือนกับท้องพระโรง เป็นอาคารสองชั้นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เปิดโล่งจากพื้นชั้นล่างไปจนจรดเพดาน ลักษณะโปร่งโล่งสบาย สามารถรับลมได้จากทุกด้านเพราะไม่มีฝากั้น เปรียบเสมือนสถานที่ว่าราชการและยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สามารถจัดเป็นเวทีการแสดงละครได้"ไพรัช หัดกล้า เจ้าหน้าที่ประจำพระที่นั่งฯอรรถาธิบาย
ซึ่งพอ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" กวาดตามองไปรอบๆก็ต้องทึ่งกับความอ่อนช้อยของลวดลายไม้ที่บรรจงแกะสลักทำเป็นโค้งขอบรับกับเสาด้านบน ส่วนเสาด้านล่างเป็นเสาคอนกรีตที่โคนเสาหล่อเป็นร่องบัวยกขอบสำหรับหล่อน้ำกันมดแมลงขึ้นไปไต่บนพระที่นั่งเช่นเดียวกับหมู่อาคารพระที่นั่งอื่นๆ ทำให้ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" ต้องรู้สึกทึ่งอีกครั้งกับภูมิปัญญาของคนในสมัยก่อนและเห็นถึงความละเอียด ละเมียดละไม ที่เหมือนจะแทรกอยู่ทุกอณูของพระราชนิเวศน์แห่งนี้
ชั้นบนของท้องพระโรงนี้เองที่มีทางเดินระเบียงไม้หลังคาคลุมต่อไปยังหมู่พระที่นั่งพิศาลสาคร ซึ่งเป็นที่ประทับของพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีอาคารเป็นบริวารอยู่หลายหลัง และอาคารหลังใหญ่ที่สุดนี้เองที่ทรงจัดเป็นห้องพระบรรทม ห้องพระอักษร ห้องแต่งพระองค์และห้องสรง
"ผู้จัดการท่องเที่ยว" มองเข้าไปก็พบว่าในห้องพระบรรทมนั้น มีพระแท่นบรรทมแบบสี่เสา และมีพระเก้าอี้ขนาดโต๊ะวางเชิงเทียนซึ่งทรงให้ให้เมื่อไฟฟ้าดับ เพราะในสมัยก่อนโน้นยังต้องใช้เครื่องปั่นไฟและมีกำหนดเวลาหยุดเครื่อง เดินต่อมาเรื่อยๆก็จะถึงห้องทรงพระอักษรที่จัดอย่างเรียบง่าย มีโต๊ะทรงงานและพระเก้าอี้ พี่ไพรัชเล่าให้ฟังอีกว่า พระองค์ท่านโปรดที่จะทรงงานในเวลากลางคืนและจะมีนักเรียนมหาดเล็กรุ่นแรกๆคอยเหลาดินสอส่งให้กับพระองค์ท่านและจะเข้าบรรทมเวลาประมาณตี 3
จากพระที่นั่งฯนี้ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" มองออกไปก็พบระเบียงทอดยาวตรงไปยังศาลาลงสรงริมทะเล และบนหลังคาของศาลาลงสรงฝ่ายหน้านี้ มีเสาไม้เป็นรูปกากบาทสำหรับชักโคมไฟในยามค่ำคืน เหมือนพี่ไพรัชจะรู้ทันความสงสัยของเรา จึงอธิบายให้ฟังว่าไม้กางเขนที่เห็นนี้ มิให้เป็นสัญลักษณ์ของศาสนาใด หากแต่เป็นที่เสาเพื่อใช้ชักโคมไฟบอกสัญญาณให้แก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพารให้ทราบว่าเมื่อใดก็ตามหากชักโคมไฟสีเหลืองหมายถึงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกำลังทรงแต่งพระองค์ เพื่อเสด็จออกเสวยพระกระยาหารค่ำ เป็นสัญญาณให้ผู้เกี่ยวข้องร่วมโต๊ะเสวยหรือเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท แต่หากเป็นโคมสีเขียวหมายความว่าเสด็จออกประกอบพระราชกรณียกิจแล้ว ไม่สมควรที่ผู้ใดจะเข้ามาในเขตพระราชฐานที่ประทับอีก
เราเดินลัดเลาะต่อไปยังพระที่นั่งสมุทรพิมานซึ่งเป็นที่ประทับฝ่ายในของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างพระที่นั่งสมุทรพิมาน พระราชทานแด่สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี(ต่อมาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ออกพระนามว่า พระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา) ซึ่งพระที่นั่งสมุทรพิมานก็คล้ายๆกับพระที่นั่งพิศาลสาคร คือมีห้องรับแขก ห้องบรรทม ห้องแต่งพระองค์ ห้องสรง มีหอเสวย (ฝ่ายใน)เช่นเดียวกับหอเสวยฝ่ายหน้า แต่มีขนาดเล็กกว่า
พี่ไพรัชคนเดิมเล่าว่า เดิมทีนั้นพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีทรงมีพระครรภ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดีพระทัยยิ่ง ด้วยทรงมุ่งหวังว่าจะทรงมีพระปิโยรส แต่ความหวังนั้นก็เป็นอันต้องสิ้นสลายเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีไม่สามารถมีพระประสูติกาลได้ ยามนั้นพระองค์ทรงอภิบาลพระมเหสีด้วยน้ำพระทัยเป็นห่วงและเศร้าสร้อย นั่นจึงเป็นที่มาแห่ง "พระราชนิเวศน์แห่งความรักและความหวัง"
ด้วยทรงหวังว่าจะมีพระราชโอรสไว้สืบราชสันตติวงศ์ แต่ในที่สุดพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในรัชการที่ 6 ก็มีพระประสูติกาลสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2468 แต่ในเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงพระประชวรหนัก เมื่อมีผู้นำพระราชธิดามาเข้าเฝ้า พระองค์ทรงทำได้เพียงยกเพียงวางพระหัตถ์ไว้บนพระเศียรพระราชกุมารีเท่านั้น แต่มิสามารถมีพระราชดำรัสได้เสียแล้ว จากนั้นก็ทรงพระรู้สึกพระองค์น้อยลง กระทั่งสวรรคตเมื่อเวลา 01.45 น.ของวันที่ 26 พฤศจิกายน 2468 ที่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง
เดินมาถึงตอนนี้เริ่มรู้สึกเมื่อย หรือว่านี่เป็นผลของการไม่ยอมออกกำลังกาย "ผู้จัดการท่องเที่ยว" เลยเลือกที่จะนั่งพักผ่อนพร้อมซึมซับบรรยากาศที่ศาลาลงสรงของฝ่ายในซึ่งอยู่ริมทะเล มองออกไปจะเห็นท้องทะเลเต็มตา แต่วันนี้สีของทะเลดูหม่น ด้วยเพราะท้องฟ้าไม่แจ่มใสเท่าที่ควร เห็นจะเป็นเพราะยังอยู่ในช่วงฤดูฝนและพอคิดถึงฝน ฝนก็มาจริงๆ เพราะยามนี้ฝนตกปรอยๆ ทำให้บรรยากาศโดยรอบยิ่งเศร้าสร้อยหนักขึ้นไปอีก หรือจะเป็นเพราะรู้สึกคล้อยตามไปกับเรื่องราวที่เพิ่งได้ยินก็เป็นได้
แต่นั่งพักได้ซักครู่ พี่ไพรัชก็ตามมาเล่าต่อแบบไม่รู้จักเห็นเหนื่อยว่า ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคตแล้ว พระราชนิเวศน์แห่งความรักและความหลังแห่งนี้ก็ถูกทิ้งร้าง ทำให้เครื่องเรือน กระเบื้องหลังคาผุกร่อนไปตามกาลเวลาที่ผ่านไปกว่า 60 ปี
ภายหลังในปีพ.ศ.2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบันทรงพระกรุณาโปรดกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กองกำกับการสนับสนุนทางอากาศ ตำรวจตระเวนชายแดนใช้สถานที่เป็นที่ฝึกอบรม และให้บูรณะซ่อมแซมอาคารต่างๆ และได้จัดตั้งมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวันในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เพื่อทำกิจกรรมต่างๆเป็นการสืบทอดมรดกของชาติให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมและศึกษาในมรดกที่ทรงคุณค่าชิ้นนี้สืบไป
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
การเดินทางไปจ.เพชรบุรี
ที่พักในอ.ชะอำ
ร้านอาหารในอ.ชะอำ
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง