เป็นที่รู้กันดีว่า เมื่อก่อนนี้ “เขตทหารห้ามเข้า” แต่ตอนนี้ ไม่ว่าเขตทหารที่ไหนๆ ต่างก็เปิดกว้าง และยินดีให้ทุกคนได้เข้าไปเยี่ยมชม ซึ่งก็รวมถึง “อุทยานประวัติศาสตร์ กองบิน 53” จ. ประจวบคีรีขันธ์ ที่ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” จะไปเที่ยวในครั้งนี้ด้วย
“กองบิน 53” อาจจะต่างไปจากเขตทหารที่อื่น คือที่นี่ไม่ใช่สนามฝึกซ้อมรบ แต่ที่นี่คือสมรภูมิที่เคยผ่านการรบจริงๆ มาแล้ว และพร้อมจะย้อนประวัติศาสตร์การรบที่สำคัญให้คนไทยรุ่นหลัง ได้ร่วมสัมผัสและรับรู้ถึงวีรกรรมของผู้กล้า ที่ยอมสละชีวิตเพื่อต่อต้านทหารญี่ปุ่นที่ได้ยกพลขึ้นบกเพื่อใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านไปยังประเทศพม่า เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2
เมื่อไปถึงอุทยานประวัติศาสตร์ กองบิน 53 “น.ต. ศิริพงษ์ หล่อสุวรรณ” ซึ่งเป็นนายทหารประชาสัมพันธ์ ผู้ทำหน้าที่วิทยากรก็ไม่รอช้า บอกว่าจะพาไปชม “หน้าต่างมหัศจรรย์” ว่าแล้วก็นำ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” และชาวคณะเข้าไปในห้องมืดเล็กๆ ทันที
หน้าต่างมหัศจรรย์ที่ว่าก็มหัศจรรย์สมชื่อจริงๆ เพราะเป็นการแสดงด้วยระบบแสง สี เสียง ขนาดเล็ก แต่เต็มไปด้วยเรื่องราวเหตุการณ์ที่เร้าใจ ทำให้รู้สึกเหมือนได้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ซึ่งเป็นวันที่กองกำลังทหารญี่ปุ่นได้เคลื่อนกำลังเข้าสู่ประเทศไทยและยกพลขึ้นบกตามจุดต่างๆ ทางภาคใต้ คือ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี
แน่นอนว่าเมื่อมีผู้รุกรานประเทศ คนไทยก็ต้องร่วมใจกันปกป้องบ้านเมืองไม่ให้ใครรุกราน ซึ่งที่ กองบิน 53 หรือชื่อในอดีตคือกองบินน้อยที่ 5 ก็เป็นจุดหนึ่งที่ทหารญี่ปุ่นได้มาแอบซุ่มยกพลขึ้นบกและเข้ายึดพื้นที่ ทำให้เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรง โดยที่กำลังพลของกองบินน้อยที่ 5 มีประมาณ 120 คน ส่วนกำลังพลทหารญี่ปุ่นมีประมาณ 3,000 คน
ถึงแม้ทหารไทยจะต่อสู้ด้วยความเด็ดเดี่ยวและกล้าหาญถึงขั้นใช้อาวุธต่อสู้ประชิดตัวเป็นเวลาข้ามวันข้ามคืน แต่ที่สุดน้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ เพราะเป็นรองฝ่ายญี่ปุ่นในทุกๆ ด้าน ผู้บังคับการกองบินน้อยที่ 5 จึงสั่งให้เผากองรักษาการณ์ และคลังน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อไม่ให้เป็นประโยชน์แก่ข้าศึก แล้วสั่งให้รวบรวมกำลังพลและครอบครัว ไปรวมกันที่บริเวณเชิงเขาล้อมหมวก แต่ทุกคนก็ยังต่อสู้อย่างเข้มแข็ง
ในระหว่างนั้น รัฐบาลไทยกับญี่ปุ่นก็ได้มีการเจรจากัน โดยที่สุดแล้วรัฐบาลไทยก็ต้องยินยอมให้ฝ่ายญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไปยังประเทศพม่าได้ จึงได้มีการทำหนังสือแจ้งไปยังทุกจุดที่กำลังมีการสู้รบต่อต้านญี่ปุ่น ซึ่งปรากฏว่าทุกที่ที่กำลังมีการสู้รบกันนั้น ได้รับการแจ้งข่าวหมด ยกเว้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพราะโดนทหารญี่ปุ่นตัดสัญญาณโทรเลข ทำให้ไม่สามารถติดต่อสื่อสารได้
เหตุการณ์กลายเป็นว่าที่อื่นหยุดการสู้รบกันแล้ว แต่ที่กองบินน้อยที่ 5 ยังคงสู้รบยืดเยื้อ จนต้องใช้วิธีการให้มีคนนำสารของจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่ปรากฏว่า นายตำรวจผู้นำสารเข้าไปในกองบินน้อยที่ 5 นั้นถูกกระสุนยิงเสียชีวิตเสียก่อน ผู้ว่าฯ เมืองประจวบ จึงต้องใช้วิธีให้ นายตี๋ ซึ่งเป็นบุรุษไปรษณีย์ ว่ายน้ำนำสารจากศาลากลางเมืองประจวบฯ ไปที่กองบินน้อย ด้วยระยะทางเกือบ 4 กม. และมอบให้กับผู้บังคับการกองบินน้อยได้สำเร็จ
ภายหลังการสู้รบ ฝ่ายทหารญี่ปุ่นซึ่งมีกำลังมากกว่า เสียชีวิต 417 คน ในขณะที่ฝ่ายไทยเสียชีวิต 42 คน ซึ่งประกอบด้วยทหารอากาศ 38 คน ตำรวจ 1 คน ยุวชนทหาร 1 คน และครอบครัวทหาร 2 คน
ตลอดเวลาการแสดงจำลองเหตุการณ์ผ่านหน้าต่างมหัศจรรย์นั้น บอกตรงๆ ว่า “ผู้จัดการท่องเที่ยว” เกิดอาการขนลุกซู่ เลือดรักชาติแล่นซ่านไปทั่วตัว ยิ่งเมื่อออกมาด้านนอก มองไปเห็น “อนุสาวรีย์วีรชน 8 ธันวาคม 2484” ซึ่งเป็นอนุสรณ์สถานและบรรจุอัฐิของวีรชนผู้เสียสละ ก็ยิ่งตื้นตันใจในวีรกรรมอันยิ่งใหญ่
น.ต. ศิริพงษ์ นำคณะของเราไปดูสถานที่จริงที่เกิดการสู้รบทั้งอ่าวที่ยกพล หลุมฝังศพทหารไทย บริเวณเผาศพทหารญี่ปุ่น แนวรบ แนวยุติการรบ หลุมปืนกลหนัก ภูเขาล้อมหมวกจุดที่มั่นฝ่ายไทย รวมทั้งแท่นหินทรายสีเขียว หนักประมาณ 60 ตัน ซึ่งแกะสลักภาพจำลองเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การต่อต้านการยกพลขึ้นบกของญี่ปุ่นของทหารอากาศไทย
เพื่อให้ซาบซึ้งไปกับบรรยากาศไฟสงครามในช่วงนั้นมากขึ้นไปอีก น.ต. ศิริพงษ์ ก็พาไปชม “อาคารประวัติศาสตร์สมัยญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก” ซึ่งอาคารหลังนี้ เดิมเป็นบ้านพักนายทหาร สร้างในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้ตกแต่งแบ่งเป็น 5 ห้อง คือ “ห้องอุบัติการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2” ซึ่งเป็นการบรรยายว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นได้อย่างไร ใครเป็นผู้ทำให้สงครามเกิดขึ้น มีประเทศใดอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตร ประเทศใดอยู่ฝ่ายอักษะ
ผ่านมาถึงห้องถัดๆ มา คือ “ห้องชีวิตทหารไทยในไฟสงคราม” “ห้องการเจรจาขอผ่านแดน” “ห้องเกียรติภูมิผู้กล้า” และ “ห้องสู่สันติภาพ” ซึ่งแต่ละห้องนั้น ได้บรรยายถึงเหตุการณ์สงคราม ซึ่งขณะนั้นในภูมิภาคเอเชียมีการสู้รบของ “สงครามมหาเอเชียบูรพา” ทำให้เห็นว่าประเทศไทย ซึ่งเคยอยู่อย่างสงบสุขแต่เมื่อต้องเข้าสู่ภาวะสงคราม และถูกรุกรานจากประเทศที่มีกำลังอำนาจมากกว่า คนไทยก็พร้อมจะต่อสู้สละเลือดเนื้อเพื่อปกป้องประเทศชาติ
โดยเฉพาะที่ห้องเกียรติภูมิผู้กล้านั้น ทำให้ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” ได้รับรู้ถึงวีรกรรมของ “ยุวชนทหาร” ที่เข้าร่วมกับทหารกองประจำการ ตำรวจและประชาชน ทำการสู้รบต่อต้านทหารญี่ปุ่นอย่างห้าวหาญเด็ดเดี่ยว ซึ่งยุวชนทหารในอดีตก็คือ นักศึกษาวิชาทหารกรมการรักษาดินแดน (ร.ด.)ในปัจจุบัน ที่มีการฝึกและภารกิจเดียวกันคือ เป็นกำลังสำรองของประเทศ สนับสนุนกำลังประจำการในยามบ้านเมืองคับขัน วันที่ 8 ธันวาคม ของทุกปีจึงได้กำหนดให้เป็น “วันนักศึกษาวิชาทหาร” ด้วย
นอกจากจะเป็นสถานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องปับประวัติศาสตร์การสู้รบแล้ว “กองบิน 53” ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ที่มีนักท่องเที่ยวได้เข้ามาพักผ่อนหย่อนใจเป็นจำนวนมาก เพราะมีทั้ง อ่าวประจวบฯและอ่าวมะนาว อยู่ในเขตพื้นที่ โดยมี เขาล้อมหมวก กั้นให้แยกจากกัน
ซึ่งที่อ่าวประจวบฯ นั้นมี “เกาะหลัก” ที่น.ต. ศิริพงษ์ บอกว่าในช่วงสายๆ บ่ายๆ ที่น้ำลงจะมีปรากฏการณ์ทะเลแหวก ให้สามารถเดินข้ามไปเที่ยวได้แบบสบายๆ นอกจากนี้ที่เกาะหลักยังมี หมุดวัดระดับน้ำทะเลแห่งแรกในประเทศไทย สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2453 ซึ่งปัจจุบันหมุดตัวนี้ก็ยังอยู่ อยากเห็นก็ต้องข้ามไปดู ส่วน “เกาะไหหลำ” ที่อยู่ใกล้ๆ กันนั้นก็มีศาลเสด็จเตี่ย “กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์” ประดิษฐานเป็นที่เคารพบูชาของคนที่ผ่านไปมา และที่ “เกาะแรด” ก็มีประภาคารตั้งอยู่บนยอดเกาะ
ข้ามมาที่ “อ่าวมะนาว” ซึ่งก็ตั้งอยู่ในบริเวณกองบิน 53 เช่นเดียวกัน ที่นี่นอกจากจะมีหาดทรายขาวสะอาด น้ำทะเลใส บรรยากาศเงียบสงบ ปลอดภัย เหมาะในการเล่นน้ำและพักผ่อนเป็นอย่างยิ่งแล้ว ตรงบริเวณหุบเขาคลองวาฬ ยังมีถ้ำให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปเที่ยวชมคือ “ถ้ำเทพเนรมิต” และ “ถ้ำน้อยหน่า” ที่ภายในมีหินงอกหินย้อยสวยงาม ซึ่งไม่ควรพลาดชม เพราะจะทำให้การท่องเที่ยวในเขตทหารกองบิน 53 เต็มอิ่มครบรสยิ่งขึ้น
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
“อุทยานประวัติศาสตร์ กองบิน 53” ตั้งอยู่ที่ อ.เมือง จ. ประจวบคีรีขันธ์ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 4 กม. เปิดทำการวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.00 -16.00 น. อัตราค่าบริการ ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท ชาวต่างชาติ 30 บาท เพื่อความสะดวก และมีวิทยากรนำชม ควรติดต่อมาล่วงหน้า โทร. 0-9065-7138
ติดต่อสอบถามอาคารที่พักสวัสดิการ ทอ. กองบิน 53 (ติดกับชายหาดอ่าวมะนาว)โทร.0-3261-1088
กองบิน 53
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง
ตัวอย่างการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ที่พักในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์