หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพระแก้วมรกต มีมากมายทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและหลักฐานทางโบราณคดี ซึ่งในส่วนที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรนั้นได้มีปรากฏอยู่ในเอกสารโบราณต่างๆมากมาย เช่น เรื่องรัตนพิมพ์วงศ์ ตำนานพระแก้วมรกต เรื่องพระรัตนปฏิมา ในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ พงศาวดารเหนือ ราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา ตำนานพระแก้วมรกตฉบับหลวงพระบาง และพงศาวดารโยนก เป็นต้น
ข้อมูลต่างๆจากเอกสารดังกล่าว สามารถตีความได้ว่า พระแก้วมรกต สร้างขึ้นจากดำริของพระนาคเสนเถระ แห่งเมืองปาตลีบุตร ในชมพูทวีป (ประเทศอินเดียในปัจจุบัน) เมื่อประมาณ พ.ศ. 500 จากนั้นก็ได้มีการอัญเชิญไปประดิษฐานตามเมืองสำคัญต่างๆ ตามลำดับ ดังนี้
- เกาะลังกา เมื่อประมาณปี พ.ศ. 800
- เมืองนครธม ในอาณาจักรขอมโบราณ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 1000
- เมืองอโยชปุระ หรือเมืองอโยธยาโบราณ ในสมัยพระเจ้าอาทิตยราช
- เมืองกำแพงเพชร ในสมัยพระยาวิเชียรปราการ
- เมืองเชียงราย ในสมัยเจ้ามหาพรหม ประมาณปี พ.ศ. 1979
- นครเขลางค์ หรือเมืองลำปาง ระหว่างปี พ.ศ. 1979 – พ.ศ. 2011
- เมืองเชียงใหม่ ระหว่างปี พ.ศ. 2011 – พ.ศ. 2096 ในสมัยพระเจ้าติโลกราช
- เมืองหลวงพระบาง ในปี พ.ศ. 2096
- เมืองเวียงจันทน์ ระหว่างปี พ.ศ.2096 ๒ พ.ศ. 2322
- กรุงธนบุรี ระหว่างปี พ.ศ. 2322 – พ.ศ. 2327
- กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2327 จนถึงปัจจุบัน
จากหลักฐานทางด้านโบราณคดี ทำให้สามารถทราบได้ว่า ปัจจุบันโบราณสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับพระแก้วมรกตยังคงปรากฏร่องรอยที่เกี่ยวข้องกับพระแก้วมรกตอยู่อย่างชัดเจนในหลายพื้นที่ ไดแก่
- โบราณสถานวัดพระแก้ว ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร
- เจดีย์โบราณ วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม จังหวัดลำปาง
- เจดีย์หลวง ในวัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่
- เจดีย์โบราณ ในวัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย
****หมายเหตุ ข้อมูลดังกล่าวได้จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย