โดย : หนุ่มลูกทุ่ง

ถ้าถามฉันเมื่อก่อนตอนที่ยังไม่ได้เข้ากรุง ว่ารู้จักที่ไหนของกรุงเทพฯมากที่สุด ฉันก็ต้องตอบแบบไม่ลังเลสงสัยเลยว่า "ฉันรู้จักสนามหลวงมากที่สุด"
อ้าว...ก็จะไม่ให้ฉันตอบว่าสนามหลวงได้อย่างไร ในเมื่อตั้งแต่เล็กจนโต นั่งดูโทรทัศน์ทีไร ฉันเป็นได้เห็นข่าวเหตุการณ์สำคัญๆ หรืองานอะไรต่อมิอะไรใหญ่ๆ โตๆ ก็มักจะจัดกันที่ท้องสนามหลวง ยิ่งโดยเฉพาะมองออกไปไกลๆ ด้านหลังก็เห็นแนวกำแพงวัดและยอดมุมบางส่วนของวัดพระแก้ว ซึ่งเป็นภาพสวยงามที่จับตาและจับใจฉันเป็นที่สุด
นี่ยังไม่รวมกับเรื่องเล่าต่างๆ ที่เกี่ยวกับสนามหลวงที่ฉันได้ยินมา โดยเฉพาะช่วงใกล้จะเข้ากรุง มีคนบอกฉันว่าอย่าเผลอไปสนามหลวงตอนดึกๆ นะ ประเดี๋ยวจะได้เจอผีมะขาม เอ๊ะ !! ผีมะขาม คืออะไรหว่า...ฉันงงแต่ไม่กล้าถาม เอาไว้ให้ฉันเข้ากรุงแล้วไปค้นหาคำตอบด้วยตัวเองดีกว่า....
แต่พอได้เข้ากรุง ฉันก็มุ่งหน้าทำงานงกๆ จนลืมเรื่องสนามหลวงและผีมะขามไปเสียสนิท กระทั่งเมื่อไม่นานที่ฉันได้ชะแว๊บแอบไปเที่ยวหาความรู้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับสนามหลวงพอดิบพอดี นี่เองจึงทำให้ฉันนึกถึงสนามหลวงขึ้นมาอีกครั้ง

ฉันจึงหาโอกาสไปค้นคว้าเรื่องราวของสนามหลวงเมื่อครั้งอดีตว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ซึ่งก็ทำให้ได้รู้อะไรดีๆ เพิ่มขึ้นอีกโข และเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ ฉันจึงหาเลือกหาเวลาว่างๆ มาเดินเล่นที่สนามหลวง เพื่อมาสัมผัสและเห็นกับตาว่าบรรยากาศของสนามหลวง ณ ตอนนี้เป็นอย่างไร
ภาพที่ฉันได้เห็นคือ บนพื้นที่รูปทรงรีๆ ขนาด 74 ไร่ 63 ตารางวาของสนามหลวง มีผู้คนมากมายกระจายอยู่ทั่วทุกมุม แต่ละคนก็อยู่ในอากัปกิริยาและกิจกรรมที่แตกต่างกันออกไป จะมีใครรู้บ้างไหมหนอ ว่าที่เขากำลังยืนอยู่นี้ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานมาตั้งแต่ปี 2520
ไม่น่าเชื่อว่าผืนดินธรรมดาที่ไม่ธรรมดาแห่งนี้ จะมีเรื่องราวน่าสนใจมากมาย ที่นี่เป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ที่ฉันเปรียบเป็นเหมือนสมุดบันทึกเล่มใหญ่ๆ ที่ได้บันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ของบ้านเมืองเอาไว้มากมาย
เพราะเท่าที่ฉันรู้ สนามหลวงนี้ก็มีมาพร้อมๆ ตั้งแต่เมื่อแรกสร้างกรุงเทพฯ คือเคยเป็นที่ทำนาของชาวบ้านมานับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ในสมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในยามที่บ้านเมืองยังมีศึกสงครามอยู่เนืองๆ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ทำนาที่สนามหลวงอีกครั้ง เพื่อแสดงให้นานาประเทศเห็นว่าสยามมีความอุดมสมบูรณ์ มีไร่นาทั่วไป แม้จนใกล้ๆ พระบรมมหาราชวังก็ยังมี ทั้งยังเป็นกุศโลบายอ้อมๆ ให้เห็นด้วยว่าสยามได้เอาใจใส่ในการสะสมเสบียงอาหารไว้เป็นกำลังของบ้านเมืองถึงขนาดปลูกข้าวมาจนถึงกำแพงวังเลยทีเดียว

นอกจากจะใช้เป็นที่ทำนาแล้ว ในหน้าแล้งท้องทุ่งแห่งนี้ยังเป็นสถานที่สร้างพระเมรุมาศถวายพระเพลิง พระบรมศพพระมหากษัตริย์ พระราชินีและบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ชาวบ้านจึงได้จึงเรียกติดปากว่า "ทุ่งพระเมรุ" จนเมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริว่านามนี้ไม่เป็นมงคล จึงโปรดเกล้าฯ ให้เรียกใหม่ว่า "ท้องสนามหลวง" และในช่วงนี้ก็ไม่ได้มีการทำนาของชาวบ้านแล้ว แต่ได้โปรดเกล้าฯ ให้ท้องสนามหลวงเป็นที่ทำนาหลวงประกอบพระราชพิธีพืชมงคลและพิรุณศาสตร์ รวมถึงใช้ในการประกอบพระราชพิธีมงคลต่างๆ
ถึงตรงนี้ ฉันก็นึกถึงพ่อแม่ปู่ย่าตายายที่บ้านฉันทันที ซึ่งคงจะกำลังลุ้นตัวโก่งว่าพระราชพิธีพืชมงคลในปีนี้พระโคจะเลือกกินอะไร เพราะสิ่งที่พระโคกินนั้นมีผลต่อความเชื่อเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของน้ำท่าและพืชผลเกษตรกรรมอยู่มาก เรื่องอย่างนี้ลูกหลานเกษตรกรอย่างฉันรู้ดี
นอกจากนี้ เท่าที่นึกได้ก็ยังมีงานสำคัญใหญ่ๆ ที่จัดที่สนามหลวงเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการสรงน้ำพระในวันสงกรานต์ การแข่งว่าวและกีฬาไทย การจัดงานวันแรงงาน งานวันสำคัญทางศาสนา ไปจนถึงการจัดงานพิเศษในโอกาสต่างๆ ที่เดี๋ยวนี้มักจะหาเรื่องจัดกันอยู่บ่อยๆ
ระหว่างนึกถึงการจัดงานต่างๆ ฉันก็เปลี่ยนมุมไปนั่งรับลมเย็นๆ ที่ม้านั่งใต้ต้นมะขาม สักพักก็มีพี่ผู้หญิงคนหนึ่งมาเสนอขายอาหารนกพิราบ ฉันปฏิเสธ เพราะเห็นว่ามีคู่หนุ่มสาวที่อยู่ใกล้ๆ ได้อาสาซื้อและโปรยอาหารให้นกพิราบไปแล้ว

พอเห็นนกพิราบ ฉันก็ไม่รู้ว่าเจ้านกเหล่านี้มาอยู่คู่สนามหลวงตั้งแต่คราวไหน ใครเอามันมาปล่อย หรือมันอพยพมาจากที่ใด บางทีมันก็เป็นเหมือนสิ่งสวยงาม อย่างเวลาที่มันกระพือปีกบินขึ้นลงพร้อมๆ กัน แต่เวลาที่มันขี้เรี่ยราด และส่งกลิ่นเหม็นๆ ฉันว่าหลายๆ คนก็คงรำคาญมันเหมือนกัน
แต่สิ่งที่ฉันรู้แน่ๆ ก็คือว่า รอบๆ สนามหลวงนี้มีต้นมะขามทั้งหมด 365 ต้น และต้นมะขามเหล่านี้ อายุอานามก็ไม่ใช่น้อยๆ เพราะมีมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งภายหลังเสด็จกลับจากประพาสยุโรปครั้งแรก ได้ทรงโปรดฯ ให้ปลูกต้นมะขามไว้โดยรอบสนามหลวงเพื่อให้เกิดความร่มรื่นเหมือนถนนในต่างประเทศ
นี่คงจะช่วยคลายสงสัยของใครหลายๆ คนว่าทำไมสนามหลวงถึงมีแต่ต้นมะขามเยอะแยะไปหมด แต่จะยังคงอยู่ครบสมบูรณ์ดีทั้ง 365 ต้นหรือไม่นั้น ใครจะลงทุนเดินนับดูสักตั้งก็ได้
และถ้าไม่เป็นการรบกวนเกินไป ฉันขอฝากนับจำนวนหมอดูที่นั่งอยู่ใต้ต้นมะขามด้วยนะว่ามีกี่คน เพราะเห็นมีกันเยอะเหลือเกิน แค่ที่ฉันเดินผ่านก็มีไม่ต่ำกว่า 10 คนที่กวักมือเรียกให้ไปเป็นลูกค้า มีทั้งดูเวลาตกฟาก ดูไพ่ยิปซี ดูลายมือ และคงจะมีบางคนที่อาจจะดูลายเท้าด้วย ซึ่งสนนราคาดูหมอก็ไม่แพงมากนัก แต่หมอดูคนไหนจะแม่นขนาดไหนนั้น อันนี้ฉันก็ไม่รู้แฮะ

ฉันเดินตัดไปที่กลางท้องสนามหลวง และเหลียวมองรอบๆ เห็นภาพของผู้คนกับกิจกรรมตอนเย็นๆ ที่ยิ่งดูจะคึกคักขึ้น เด็กตัวเล็กๆ กำลังวิ่งไล่จับกันอย่างสนุกสนาน มีผู้สูงอายุหลายคนที่กำลังออกกำลังกายแบบวิ่งเหยาะๆ รอบสนาม ส่วนอีกมุมก็กลายเป็นสนามฟุตบอลย่อยๆ ของวัยรุ่นหลายกลุ่มซึ่งต่างก็ประชันฝีแข้งกันอย่างเต็มที่
นี่ถ้าหากมีใครได้รู้ว่า ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 สนามหลวงแห่งนี้เคยเป็นทั้งสนามแข่งม้าและสนามกอล์ฟมาแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะมีใครนึกสนุกมาตีกอล์ฟแถวนี้หรือไม่ (ซึ่งหวังว่าคงไม่มีใครอุตริ คิดจะทำอย่างนั้นจริงๆ นะ)
ฉันออกเดินไปเรื่อยๆ คราวนี้เห็นหลายคนกำลังปูเสื่อพลาสติกนั่งกินของกินที่สารพัดรถเข็นมีมาขายทั้งลูกชิ้น ผัดไทย ไข่นกกระทาทอด ส้มตำ ไส้กรอก และอีกหลายอย่าง ทำให้นึกขึ้นมาได้อีกอย่างว่า สนามหลวงนี้เคยเป็นตลาดนัดวันเสาร์-อาทิตย์ก่อนที่จะย้ายไปยังสวนจตุจักร
และถึงแม้ตลาดนัดจะย้ายไปอยู่ที่อื่น แต่ทุกวันนี้ก็ยังได้ภาพชีวิตของผู้คนมากมาย ที่ได้อาศัยพื้นที่ของสนามหลวงเป็นที่ทำมาหากินในสารพันรูปแบบอาชีพ อย่างที่บอกไปว่ามีตั้งแต่หมอดู พ่อค้าแม่ค้ารถเข็น แม้กระทั่งรับจ้างนวดแผนไทยที่มีให้บริการในตอนเย็นๆ ก็ยังมี
ไม่ใช่แค่แหล่งเป็นทำมาหากิน แต่สนามหลวงยังเป็นเหมือนแหล่งพักพิงให้กับคนที่ไม่มีบ้านจะอยู่ นี่เองจึงทำให้ภาพของสนามหลวงในยามค่ำคืนดูกลายเป็นสถานที่อันตรายและน่ากลัว เพราะไม่รู้ใครเป็นใคร มีทั้งดีและร้ายปะปน สีสันและความเป็นไปของสนามหลวงในตอนกลางวันและกลางคืนจึงต่างกันอย่างสิ้นเชิง
นึกๆ แล้วสนามหลวงก็ผ่านร้อนผ่านหนาว และมีเรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้นมากมายนับไม่ถ้วน ทั้งเหตุการณ์สำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม ในหลายๆ ครั้ง ก็มีสนามหลวงมาเกี่ยวข้อง ไม่ว่ารัฐบาลอยากจัดงานใหญ่ระดับชาติ เอกชนอยากจัดงานเพื่อสังคม กลุ่มคนอยากรวมตัวชุมนุมเรียกร้อง หรือผู้คนที่อยากพักผ่อนทำกิจกรรมต่างๆ ล้วนแล้วแต่ต้องนึกถึงสนามหลวงเป็นอันดับแรก
เรียกได้ว่าพื้นที่บริเวณแห่งนี้เป็นที่อเนกประสงค์ สมกับชื่อ "สนามหลวง" จริงๆ
ถ้าถามฉันเมื่อก่อนตอนที่ยังไม่ได้เข้ากรุง ว่ารู้จักที่ไหนของกรุงเทพฯมากที่สุด ฉันก็ต้องตอบแบบไม่ลังเลสงสัยเลยว่า "ฉันรู้จักสนามหลวงมากที่สุด"
อ้าว...ก็จะไม่ให้ฉันตอบว่าสนามหลวงได้อย่างไร ในเมื่อตั้งแต่เล็กจนโต นั่งดูโทรทัศน์ทีไร ฉันเป็นได้เห็นข่าวเหตุการณ์สำคัญๆ หรืองานอะไรต่อมิอะไรใหญ่ๆ โตๆ ก็มักจะจัดกันที่ท้องสนามหลวง ยิ่งโดยเฉพาะมองออกไปไกลๆ ด้านหลังก็เห็นแนวกำแพงวัดและยอดมุมบางส่วนของวัดพระแก้ว ซึ่งเป็นภาพสวยงามที่จับตาและจับใจฉันเป็นที่สุด
นี่ยังไม่รวมกับเรื่องเล่าต่างๆ ที่เกี่ยวกับสนามหลวงที่ฉันได้ยินมา โดยเฉพาะช่วงใกล้จะเข้ากรุง มีคนบอกฉันว่าอย่าเผลอไปสนามหลวงตอนดึกๆ นะ ประเดี๋ยวจะได้เจอผีมะขาม เอ๊ะ !! ผีมะขาม คืออะไรหว่า...ฉันงงแต่ไม่กล้าถาม เอาไว้ให้ฉันเข้ากรุงแล้วไปค้นหาคำตอบด้วยตัวเองดีกว่า....
แต่พอได้เข้ากรุง ฉันก็มุ่งหน้าทำงานงกๆ จนลืมเรื่องสนามหลวงและผีมะขามไปเสียสนิท กระทั่งเมื่อไม่นานที่ฉันได้ชะแว๊บแอบไปเที่ยวหาความรู้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับสนามหลวงพอดิบพอดี นี่เองจึงทำให้ฉันนึกถึงสนามหลวงขึ้นมาอีกครั้ง
ฉันจึงหาโอกาสไปค้นคว้าเรื่องราวของสนามหลวงเมื่อครั้งอดีตว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ซึ่งก็ทำให้ได้รู้อะไรดีๆ เพิ่มขึ้นอีกโข และเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ ฉันจึงหาเลือกหาเวลาว่างๆ มาเดินเล่นที่สนามหลวง เพื่อมาสัมผัสและเห็นกับตาว่าบรรยากาศของสนามหลวง ณ ตอนนี้เป็นอย่างไร
ภาพที่ฉันได้เห็นคือ บนพื้นที่รูปทรงรีๆ ขนาด 74 ไร่ 63 ตารางวาของสนามหลวง มีผู้คนมากมายกระจายอยู่ทั่วทุกมุม แต่ละคนก็อยู่ในอากัปกิริยาและกิจกรรมที่แตกต่างกันออกไป จะมีใครรู้บ้างไหมหนอ ว่าที่เขากำลังยืนอยู่นี้ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานมาตั้งแต่ปี 2520
ไม่น่าเชื่อว่าผืนดินธรรมดาที่ไม่ธรรมดาแห่งนี้ จะมีเรื่องราวน่าสนใจมากมาย ที่นี่เป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ที่ฉันเปรียบเป็นเหมือนสมุดบันทึกเล่มใหญ่ๆ ที่ได้บันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ของบ้านเมืองเอาไว้มากมาย
เพราะเท่าที่ฉันรู้ สนามหลวงนี้ก็มีมาพร้อมๆ ตั้งแต่เมื่อแรกสร้างกรุงเทพฯ คือเคยเป็นที่ทำนาของชาวบ้านมานับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ในสมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในยามที่บ้านเมืองยังมีศึกสงครามอยู่เนืองๆ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ทำนาที่สนามหลวงอีกครั้ง เพื่อแสดงให้นานาประเทศเห็นว่าสยามมีความอุดมสมบูรณ์ มีไร่นาทั่วไป แม้จนใกล้ๆ พระบรมมหาราชวังก็ยังมี ทั้งยังเป็นกุศโลบายอ้อมๆ ให้เห็นด้วยว่าสยามได้เอาใจใส่ในการสะสมเสบียงอาหารไว้เป็นกำลังของบ้านเมืองถึงขนาดปลูกข้าวมาจนถึงกำแพงวังเลยทีเดียว
นอกจากจะใช้เป็นที่ทำนาแล้ว ในหน้าแล้งท้องทุ่งแห่งนี้ยังเป็นสถานที่สร้างพระเมรุมาศถวายพระเพลิง พระบรมศพพระมหากษัตริย์ พระราชินีและบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ชาวบ้านจึงได้จึงเรียกติดปากว่า "ทุ่งพระเมรุ" จนเมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริว่านามนี้ไม่เป็นมงคล จึงโปรดเกล้าฯ ให้เรียกใหม่ว่า "ท้องสนามหลวง" และในช่วงนี้ก็ไม่ได้มีการทำนาของชาวบ้านแล้ว แต่ได้โปรดเกล้าฯ ให้ท้องสนามหลวงเป็นที่ทำนาหลวงประกอบพระราชพิธีพืชมงคลและพิรุณศาสตร์ รวมถึงใช้ในการประกอบพระราชพิธีมงคลต่างๆ
ถึงตรงนี้ ฉันก็นึกถึงพ่อแม่ปู่ย่าตายายที่บ้านฉันทันที ซึ่งคงจะกำลังลุ้นตัวโก่งว่าพระราชพิธีพืชมงคลในปีนี้พระโคจะเลือกกินอะไร เพราะสิ่งที่พระโคกินนั้นมีผลต่อความเชื่อเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของน้ำท่าและพืชผลเกษตรกรรมอยู่มาก เรื่องอย่างนี้ลูกหลานเกษตรกรอย่างฉันรู้ดี
นอกจากนี้ เท่าที่นึกได้ก็ยังมีงานสำคัญใหญ่ๆ ที่จัดที่สนามหลวงเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการสรงน้ำพระในวันสงกรานต์ การแข่งว่าวและกีฬาไทย การจัดงานวันแรงงาน งานวันสำคัญทางศาสนา ไปจนถึงการจัดงานพิเศษในโอกาสต่างๆ ที่เดี๋ยวนี้มักจะหาเรื่องจัดกันอยู่บ่อยๆ
ระหว่างนึกถึงการจัดงานต่างๆ ฉันก็เปลี่ยนมุมไปนั่งรับลมเย็นๆ ที่ม้านั่งใต้ต้นมะขาม สักพักก็มีพี่ผู้หญิงคนหนึ่งมาเสนอขายอาหารนกพิราบ ฉันปฏิเสธ เพราะเห็นว่ามีคู่หนุ่มสาวที่อยู่ใกล้ๆ ได้อาสาซื้อและโปรยอาหารให้นกพิราบไปแล้ว
พอเห็นนกพิราบ ฉันก็ไม่รู้ว่าเจ้านกเหล่านี้มาอยู่คู่สนามหลวงตั้งแต่คราวไหน ใครเอามันมาปล่อย หรือมันอพยพมาจากที่ใด บางทีมันก็เป็นเหมือนสิ่งสวยงาม อย่างเวลาที่มันกระพือปีกบินขึ้นลงพร้อมๆ กัน แต่เวลาที่มันขี้เรี่ยราด และส่งกลิ่นเหม็นๆ ฉันว่าหลายๆ คนก็คงรำคาญมันเหมือนกัน
แต่สิ่งที่ฉันรู้แน่ๆ ก็คือว่า รอบๆ สนามหลวงนี้มีต้นมะขามทั้งหมด 365 ต้น และต้นมะขามเหล่านี้ อายุอานามก็ไม่ใช่น้อยๆ เพราะมีมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งภายหลังเสด็จกลับจากประพาสยุโรปครั้งแรก ได้ทรงโปรดฯ ให้ปลูกต้นมะขามไว้โดยรอบสนามหลวงเพื่อให้เกิดความร่มรื่นเหมือนถนนในต่างประเทศ
นี่คงจะช่วยคลายสงสัยของใครหลายๆ คนว่าทำไมสนามหลวงถึงมีแต่ต้นมะขามเยอะแยะไปหมด แต่จะยังคงอยู่ครบสมบูรณ์ดีทั้ง 365 ต้นหรือไม่นั้น ใครจะลงทุนเดินนับดูสักตั้งก็ได้
และถ้าไม่เป็นการรบกวนเกินไป ฉันขอฝากนับจำนวนหมอดูที่นั่งอยู่ใต้ต้นมะขามด้วยนะว่ามีกี่คน เพราะเห็นมีกันเยอะเหลือเกิน แค่ที่ฉันเดินผ่านก็มีไม่ต่ำกว่า 10 คนที่กวักมือเรียกให้ไปเป็นลูกค้า มีทั้งดูเวลาตกฟาก ดูไพ่ยิปซี ดูลายมือ และคงจะมีบางคนที่อาจจะดูลายเท้าด้วย ซึ่งสนนราคาดูหมอก็ไม่แพงมากนัก แต่หมอดูคนไหนจะแม่นขนาดไหนนั้น อันนี้ฉันก็ไม่รู้แฮะ
ฉันเดินตัดไปที่กลางท้องสนามหลวง และเหลียวมองรอบๆ เห็นภาพของผู้คนกับกิจกรรมตอนเย็นๆ ที่ยิ่งดูจะคึกคักขึ้น เด็กตัวเล็กๆ กำลังวิ่งไล่จับกันอย่างสนุกสนาน มีผู้สูงอายุหลายคนที่กำลังออกกำลังกายแบบวิ่งเหยาะๆ รอบสนาม ส่วนอีกมุมก็กลายเป็นสนามฟุตบอลย่อยๆ ของวัยรุ่นหลายกลุ่มซึ่งต่างก็ประชันฝีแข้งกันอย่างเต็มที่
นี่ถ้าหากมีใครได้รู้ว่า ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 สนามหลวงแห่งนี้เคยเป็นทั้งสนามแข่งม้าและสนามกอล์ฟมาแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะมีใครนึกสนุกมาตีกอล์ฟแถวนี้หรือไม่ (ซึ่งหวังว่าคงไม่มีใครอุตริ คิดจะทำอย่างนั้นจริงๆ นะ)
ฉันออกเดินไปเรื่อยๆ คราวนี้เห็นหลายคนกำลังปูเสื่อพลาสติกนั่งกินของกินที่สารพัดรถเข็นมีมาขายทั้งลูกชิ้น ผัดไทย ไข่นกกระทาทอด ส้มตำ ไส้กรอก และอีกหลายอย่าง ทำให้นึกขึ้นมาได้อีกอย่างว่า สนามหลวงนี้เคยเป็นตลาดนัดวันเสาร์-อาทิตย์ก่อนที่จะย้ายไปยังสวนจตุจักร
และถึงแม้ตลาดนัดจะย้ายไปอยู่ที่อื่น แต่ทุกวันนี้ก็ยังได้ภาพชีวิตของผู้คนมากมาย ที่ได้อาศัยพื้นที่ของสนามหลวงเป็นที่ทำมาหากินในสารพันรูปแบบอาชีพ อย่างที่บอกไปว่ามีตั้งแต่หมอดู พ่อค้าแม่ค้ารถเข็น แม้กระทั่งรับจ้างนวดแผนไทยที่มีให้บริการในตอนเย็นๆ ก็ยังมี
ไม่ใช่แค่แหล่งเป็นทำมาหากิน แต่สนามหลวงยังเป็นเหมือนแหล่งพักพิงให้กับคนที่ไม่มีบ้านจะอยู่ นี่เองจึงทำให้ภาพของสนามหลวงในยามค่ำคืนดูกลายเป็นสถานที่อันตรายและน่ากลัว เพราะไม่รู้ใครเป็นใคร มีทั้งดีและร้ายปะปน สีสันและความเป็นไปของสนามหลวงในตอนกลางวันและกลางคืนจึงต่างกันอย่างสิ้นเชิง
นึกๆ แล้วสนามหลวงก็ผ่านร้อนผ่านหนาว และมีเรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้นมากมายนับไม่ถ้วน ทั้งเหตุการณ์สำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม ในหลายๆ ครั้ง ก็มีสนามหลวงมาเกี่ยวข้อง ไม่ว่ารัฐบาลอยากจัดงานใหญ่ระดับชาติ เอกชนอยากจัดงานเพื่อสังคม กลุ่มคนอยากรวมตัวชุมนุมเรียกร้อง หรือผู้คนที่อยากพักผ่อนทำกิจกรรมต่างๆ ล้วนแล้วแต่ต้องนึกถึงสนามหลวงเป็นอันดับแรก
เรียกได้ว่าพื้นที่บริเวณแห่งนี้เป็นที่อเนกประสงค์ สมกับชื่อ "สนามหลวง" จริงๆ