คติการสร้างพระพุทธไสยาสน์ปางต่างๆนั้น ได้กำหนดขึ้นตามพุทธประวัติ โดยเฉพาะในช่วงที่พระพุทธเจ้ากำลังจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน แต่ในประเทศไทยพระพุทธไสยาสน์ที่นิยมสร้างกันเป็นพระพุทธรูปคือ ปางโปรดอสุรินทราหูและปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน ส่วนปางอื่นๆนั้นมักปรากฏเป็นภาพวาด ซึ่งได้มีผู้รวบรวมไว้ทั้งหมด 9 ปาง ได้แก่
1. ปางทรงพระสุบิน
ตามพุทธประวัติกล่าวว่า ในคืนก่อนวันตรัสรู้
พระพุทธเจ้าทรงสุบินเป็นบุพนิมิตมหามงคล 5 ประการ อันเป็นการแสดงว่าพระองค์จะตรัสรู้และได้เผยแผ่พระธรรมออกไปทั่วทิศานุทิศ พระพุทธรูปปางทรงพระสุบิน จะประทับนอนตะแคงขวา พระหัตย์ซ้ายทอดทาบไว้กับพระวรกาย พระพาหาขวาแนบพื้น งอหลังพระหัตถ์ขวาแนบกับพระปราง หลับพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย
2. ปางทรงพักผ่อนปรกติ
พุทธลักษณะของพระพุทธรูปปางนี้เป็นพระพุทธรูปนอนแบบสีหไสยาสน์ มีพระอานนท์เป็นพุทธอุปัฏฐาก คอยนวดเฟ้นอยู่ด้านหลัง หลับพระเนตร ซึ่งเป็นอากัปกิริยาของการพักผ่อนโดยทั่วไปของพระพุทธองค์
3. ปางโปรดอสุรินทราหู
ครั้งพุทธกาล สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงนิมิตกายให้ใหญ่โตเพื่อแสดงให้อสุรินทราหูผู้ครองอสูรพิภพ ลดความทิฐิและกลับมาเลื่อมใสในพระองค์ พระพุทธรูปปางนี้มักมีขนาดใหญ่โตมาก ประทับนอนแบบสีหไสยาสน์ พระกัจฉาทับพระเขนยและพระหัตถ์ยกขึ้นประคองพระเศียร
4. ปางทรงพยากรณ์พระอานนท์
ก่อนพระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ทรงรับสั่งหาพระอานนท์ และพยากรณ์ว่าพระอานนท์จะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ พระพุทธรูปปางทรงพยากรณ์พระอานนท์ ประทับนอนตะแคงขวา ลืมพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย พระหัตถ์ซ้ายทาบบนพระวรกายเบื้องซ้าย พระหัตถ์ขวายกขึ้นวางระหว่างพระนาภี
5. ปางโปรดพระสุภัททะ
พระพุทธรูปปางนี้ พุทธศาสนิกชนสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ซึ่งได้แสดงธรรมโปรดสุภัททปริวาชสาวกองค์สุดท้าย ในขณะที่พระองค์ทรงดำรงพระชนม์ชีพ พุทธลักษณะของพระพุทธรูปจะประทับนอนตะแคงขวา ลืมพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย พระหัตถ์ซ้ายทอดทาบไปตามพระวรกายเบื้องซ้าย พระหัตถ์ขวายกตั้งขึ้น จีบนิ้วพระหัตถ์เสมอระหว่างพระอังสา เป็นกิริยาขณะทรงแสดงธรรม
6.ปางปัจฉิมโอวาท
จากพุทธประวัติตอนที่พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ทรงแสดงปัจฉิมโอวาท โดยทรงเน้นให้ยึดพระธรรมวินัยเป็นหลักแทนองค์ พระพุทธรูปปางนี้จะประทับนอนแบบสีหไสยาสน์ และมีลักษณะพิเศษ คือ พระหัตถ์ขวายกตั้งขึ้นจีบพระองคุลี (จีบนิ้วหัวแม่มือจดข้อนิ้วมือแรกของนิ้วชี้) เสมอพระอุระ
7. ปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน (ปางที่ 1)
พระพุทธรูปปางนี้ประทับนอนตะแคงขวา หลับพระเนตรร พระเศียรหนุนพระเขนย พระหัตถ์ซ้ายทอดทาบพระวรกายเบื้องซ้าย พระหัตถ์ขวาหงายอยู่ที่พื้นขนาบพระเขนย อันเป็นพระอิริยาบถตามธรรมชาติ ขณะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ตามความเชื่อของพุทธศาสนิกชน
8. ปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน (ปางที่ 2)
หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระบรมศพได้ถูกนำมาจัดแต่งให้เหมาะสม ซึ่งตามพุทธประวัติกล่าวว่า ทรงบรรทมหงายพระบาทเหยียดเสมอกัน พระหัตถ์วางทับซ้อนกันบนพระอุระ บ้างก็ว่าทับซ้อนบนพระนาภี ดังปรากฏเป็นพุทธลักษณะของพระพุทธรูปปางนี้
9. ปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน (ปางที่ 3)
พระพุทธรูปปางนี้แสดงอิริยาบถประทับนอนหงาย พระองค์ทอดยาว พระบาทเหยียดขนาบกันทั้งสองข้าง พระหัตถ์วางทาบยาวขนาบพระวรกาย พระมหากัสสปะยืนถวายบังคมอยู่เบื้องพระบาท เพื่อรำลึกถึงพุทธประวัติเมื่อครั้งงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ ซึ่งเพลิงไม่ลุกไหม้ต่อเมื่อพระมหากัสสปะ พระเถระผู้ใหญ่เดินทางมาถึง เพลิงก็ลุกไหม้เป็นที่อัศจรรย์