xs
xsm
sm
md
lg

ชมอดีตอันงดงาม ณ เมืองเก่าสุโขทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


1.

“...เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ลู่ทาง เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใคร่จักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจักใคร่ค้าม้า ค้า ใครจักใคร่ค้าเงือนค้าทองค้า ไพร่ฟ้าหน้าใส...”

อยู่ดีๆ ข้อความในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงก็ผุดขึ้นมาในความคิดของ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” ขณะที่กำลังนั่งรถรางชมโบราณสถานและวัดวาอารามต่างๆ ใน อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย พร้อมๆ กับที่ในหัวกำลังจินตนาการถึงความรุ่งเรืองในอดีตของราชธานีแห่งแรกของราชอาณาจักรไทย

“ผู้จัดการท่องเที่ยว” อดไม่ได้ที่จะนึกไปถึงความงดงามของวัดพระแก้วในพระบรมมหาราชวัง และเชื่อว่าวัดวาอารามต่างๆ ของกรุงสุโขทัยที่อยู่ตรงหน้านี้ เมื่อในอดีตก็คงจะมีความงดงามอลังการไม่แพ้กัน เพียงแต่เวลาที่ผ่านมากว่า 700 ปี ย่อมทำให้ความงามเหล่านั้นผุพังไปตามกาลเวลา นึกๆ แล้วก็อยากให้ภาพในอดีตนั้นหวนคืนมาอีกสักครั้งหนึ่ง แต่ก็คงยากเต็มที...

2.

“พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อนางเสือง พี่กูชื่อบานเมือง ตูพี่น้องท้องเดียวห้าคน ผู้ชายสามผู้ญีงโสง พี่เผือผู้อ้ายตายจากเผือเตียมแต่ยังเล็ก...”

อย่างที่ทราบกันว่า ต้นราชวงศ์พระร่วงของกรุงสุโขทัยซึ่งก่อตั้งอาณาจักรขึ้นใน พ.ศ.1800 นั้น ก็คือพ่อขุนบางกลางหาว หรือพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ซึ่งเป็นบิดาของพ่อขุนรามคำแหง กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชอาณาจักรสุโขทัย

ตามคำบอกเล่าของศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง จะเห็นว่าในสมัยสุโขทัยนั้น เป็นยุคทองของอะไรหลายๆ อย่าง เช่น การกำเนิดลายสือไทย ความเจริญรุ่งเรืองในพุทธศาสนา และการปกครองราษฎรที่เรียกว่า “พ่อปกครองลูก” ประชาชนสามารถเข้าถึงผู้ปกครองได้ ดังข้อความตอนหนึ่งจากศิลาจารึกที่กล่าวว่า “...ในปากประตูมีกระดิ่งอันณื่งแขวนไว้หั้น ไพร่ฟ้าหน้าปก กลางบ้านกลางเมือง มีถ้อยมีความ เจ็บท้องข้องใจ มันจักกล่าวเถิงเจ้าเถิงขุนบ่ไร้ ไปลั่นกะดิ่งอันท่านแขวนไว้ พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองได้...”


3.

“...เมืองสุโขทัยนี้ มีสี่ปากประตูหลวง เที้ยรย่อมคนเสียดกัน เข้ามาดูท่านเผาเทียน ท่านเล่นไฟ เมืองสุโขทัยนี้ มีดั่งจักแตก กลางเมืองสุโขทัยนี้ มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารศ มีพระพุทธรูป มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม มีพิหารอันใหญ่ มีพิหารอันราม…”

ภายในกำแพงเมืองสุโขทัย อันกลายมาเป็นอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยในวันนี้ มีวัดวาอารามสำคัญมากมาย ซึ่งวัดที่สำคัญที่สุด เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองสุโขทัยก็คือ วัดมหาธาตุ ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมือง วัดนี้ประกอบด้วยเจดีย์ประธาน วิหาร 10 หลัง มณฑป 8 องค์ อุโบสถ 1 หลัง ตระพังหรือสระน้ำ 4 แห่ง และเจดีย์รายกว่า 200 องค์ เจดีย์ประธานนั้นมีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของศิลปะสุโขทัยโดยแท้ คือเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือทรงดอกบัวตูม และมีเจดีย์อีก 8 องค์อยู่รายรอบ

พระพุทธรูปทองที่กล่าวถึงในหลักศิลาจารึกนั้น ปัจจุบันก็คือพระศรีศากยมุนี พระประธานในวิหารหลวงแห่งวัดสุทัศนเทพวราราม โดยเมื่อครั้งที่ท่านยังประดิษฐานอยู่ในวิหารหลวงที่วัดมหาธาตุนี้ ชาวเมืองต่างก็เรียกท่านว่าหลวงพ่อโต ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 จึงได้อัญเชิญท่านมาประดิษฐานที่วัดสุทัศน์ฯ มาจนถึงปัจจุบัน ส่วนทางด้านทิศเหนือของเจดีย์ประธานนั้นมีพระพุทธรูปยืนความสูงประมาณ 9 เมตร เรียกว่าพระอัฎฐารสตั้งอยู่เคียงกัน

ส่วนวัดที่อยู่ถัดไปทางด้านทิศตะวันตกของวัดมหาธาตุ มีชื่อว่าวัดตระพังเงิน ซึ่งมีเจดีย์ทรงดอกบัวตูมเป็นเจดีย์ประธาน และมีโบสถ์ตั้งอยู่กลางน้ำ ที่นี่ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” ได้ความรู้ใหม่ว่า โบสถ์บางโบสถ์ก็ไม่จำเป็นต้องมีเสมาเสมอไป ปกติแล้วตามอุโบสถทั่วไปจะมีใบเสมาเป็นเครื่องแสดงเขตสังฆกรรม แต่สำหรับอุโบสถของวัดตระพังเงินแห่งนี้กลับไม่มีเหมือนที่อื่นๆ เพราะมีการใช้สระน้ำเป็นเครื่องแสดงเขตแทน โดยเรียกว่าอุทกสีมา หรือนทีสีมานั่นเอง

รถรางวิ่งพามาถึงยัง วัดศรีสวาย วัดที่มองแวบแรกก็รู้ได้ทันทีว่าเป็นศิลปะแบบขอม เพราะประกอบด้วยปรางค์ 3 องค์ เป็นศิลปะแบบลพบุรี ลวดลายปูนปั้นบางส่วนเหมือนลายบนเครื่องถ้วยแบบจีน และยังได้พบทับหลังสลักเป็นรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ ชิ้นส่วนของเทวรูป และศิวลึงค์ที่แสดงให้เห็นว่าเคยเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดูมาก่อน แล้วได้ต่อเติมเป็นวัดในพุทธศาสนาในภายหลัง

วัดในกำแพงเมืองอีกแห่งหนึ่งก็คือ วัดสระศรี ตั้งอยู่บนเกาะกลางสระน้ำขนาดใหญ่ที่มีชื่อว่าตระพังตระกวน หรือสระผักบุ้งนั่นเอง วัดแห่งนี้ประกอบด้วยเจดีย์ประธานทรงลังกา ด้านหน้าวิหารมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่ และมีอุโบสถขนาดเล็กตั้งอยู่กลางน้ำตามคติอุทกสีมาเช่นเดียวกับวัดตระพังเงิน บรรยากาศยามพระอาทิตย์ตกดินด้านหลังวัดสระศรี ทำให้หลายคนหลงใหลมานักต่อนัก รวมทั้ง “ผู้จัดการท่องเที่ยว” เองก็เช่นกัน

นอกจากนั้นในเขตกำแพงเมืองก็ยังมีโบราณสถานอีกมากมาย เช่น ศาลตาผาแดง ซึ่งเป็นปราสาทหลังเดี่ยวตามแบบเขมร มีเนินปราสาทพระร่วงซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นฐานของปราสาทพระราชวังเก่า รวมทั้งมีอนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงที่สร้างขึ้นในปี 2518

ยังมีวัดอีกแห่งหนึ่งซึ่งแม้จะอยู่ภายนอกกำแพงเมืองสุโขทัยออกไป แต่ก็ไม่ควรพลาดชมด้วยประการทั้งปวง นั่นก็คือวัดศรีชุม คำเรียกชื่อวัดศรีชุมนั้น บ้างก็ว่ามาจากคำว่า สะหลีชุม หรือหมายถึงดงต้นโพธิ์ บ้างก็ว่าหมายถึง ฤๅษีชุม อันนี้ก็แล้วแต่จะว่ากันไป แต่ความน่าสนใจของวัดศรีชุมแห่งนี้อยู่ที่คำเล่าลือที่ว่า พระพุทธรูปที่วัดแห่งนี้พูดได้

มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างมาอย่างนี้ก็ต้องไปพิสูจน์กันเสียหน่อย พระพุทธรูปที่ว่าพูดได้นั้น มีชื่อว่าพระอจนะ ซึ่งแปลว่าผู้ไม่หวั่นไหว เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง 11.30 เมตร และมีความสูงถึง 15 เมตร ลักษณะงดงามมากทีเดียว แต่ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” ดูยังไงๆ ก็เป็นพระพุทธรูปธรรมดา ยังมองไม่เห็นว่าท่านจะพูดได้อย่างไร

จนเมื่อมาได้ฟังประวัติของพระอจนะว่า ครั้งหนึ่ง เมื่อพระนเรศวรได้มาประชุมทัพเพื่อจะยกไปปราบเมืองสวรรคโลก ณ วัดศรีชุมนี้ ท่านต้องการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เหล่าทหาร ดังนั้นจึงได้มีพิธีเสี่ยงทายกับพระพุทธรูป โดยได้เสี่ยงทายว่า การรบครั้งนี้หากจะได้ชัยชนะกลับมาก็ขอให้พระอจนะจงกล่าวตอบ แต่หากไม่ชนะก็ไม่ต้องตอบสิ่งใด

ผลของการเสี่ยงทายคือ พระอจนะก็ได้กล่าวตอบมาจริงๆ แต่ตอบได้ด้วยอุบายของพระนเรศวรซึ่งส่งคนขึ้นไปอยู่ด้านหลังเศียรพระและพูดตอบคำถามแทน โดยในผนังนั้นจะมีอุโมงค์แคบๆ ที่ขึ้นไปยังหลังเศียรพระได้ ภายในที่แคบเช่นนี้ เมื่อมีเสียงพูดแล้วเสียงจะก้องกังวานเหมือนว่าพระพุทธรูปนั้นพูดได้จริงๆ จากนั้นเป็นต้นมาก็กลายเป็นคำร่ำลือว่า พระอจนะแห่งวัดศรีชุมนี้พูดได้ รวมทั้งสามารถปลุกปลอบใจทหารทุกคนให้ฮึกเหิมได้อีกด้วย

4.

ณ วันนี้ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” ก็ยังคงไม่ทราบว่าศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงที่ยกมากล่าวถึงนั้นถูกสร้างขึ้นในสมัยใดและโดยใครกันแน่ แต่ไม่ว่าข้อสรุปจะออกมาเป็นเช่นไร ก็ยังมีสิ่งหนึ่งที่ทุกคนสามารถรับรู้ได้แน่ๆ นั่นก็คือความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมแห่งอาณาจักรสุโขทัย จากหลักฐานของโบราณสถานที่ยังหลงเหลือให้ทุกคนได้เห็น แม้จะไม่สมบูรณ์นักเพราะกฎแห่งกาลเวลา นั่นก็น่าจะเพียงพอให้คนรุ่นหลังได้ภูมิใจกับอดีตของชนชาติตน ที่ได้รับยกย่องจากสากลให้เป็นถึงมรดกโลกเลยทีเดียว
*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *
อัตราค่าเข้าชม  นักท่องเที่ยว ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 40 บาท เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 06.00-21.00 น. (ปิดจำหน่ายบัตรเวลา 18.00 น.) และตั้งแต่เวลาประมาณ 19.00-21.00 น.  จะมีการส่องไฟชมโบราณสถาน ในกรณีที่นำยานพาหนะเข้าเขตโบราณสถานจะต้องเสียค่าธรรมเนียมอีกด้วย และที่บริเวณลานจอดรถของอุทยานฯ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวมีบริการ รถราง นำชมรอบ ๆ บริเวณอุทยานฯ อัตราค่าบริการ นักท่องเที่ยว ชาวไทย 10 บาท   ชาวต่างชาติ 20 บาท นอกจากนั้นที่บริเวณด้านหน้าอุทยานฯ มีบริการ รถจักรยาน ให้เช่าในราคาคันละ 20 บาท

สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท.ภาคเหนือเ้ขต 3 โทร. 0-5525-2742-3 กรณีเข้าชมเป็นหมู่เป็นคณะและต้องการวิทยากรนำชม หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร. 0-5569-7310

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
การเดินทาง                                      ที่พัก                         ร้า้นอาหาร
 "ศรีสัชนาลัย"มรดกไทย มรดกโลก         จังหวัดสุโขทัย           ของที่ระลึก"บ้านทุ่งหลวง"
กำลังโหลดความคิดเห็น