xs
xsm
sm
md
lg

"พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ" แหล่งรวมของดีของไทย ที่ไม่ไปไม่รู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บอกตรงๆ ว่า ความคิดในเรื่องการไปเที่ยวพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ได้วนเวียนอยู่ในความคิดฉันสักเท่าไรนัก ด้วยภาพที่ติดอยู่ในหัวว่าพิพิธภัณฑ์คือสถานที่ที่มีบรรยากาศเอื่อยๆ เฉื่อยๆ เต็มไปด้วยความรู้ที่เข้าไม่ถึง และออกจะน่าเบื่อ ฉันก็เลยยังไม่มีอารมณ์อยากจะไป แม้จะรู้ว่าที่นี่แหละที่รวบรวมเอาเรื่องราวต่างๆ ในอดีตกว่าร้อยกว่าพันปีมาจัดแสดงให้คนอย่างฉันได้รับรู้ถึงอดีตของตัวเอง

แต่พอดีเมื่อเร็วๆ นี้ฉันรู้มาว่า ในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ทางพิพิธภัณฑ์เขาจะมีมัคคุเทศก์อาสาสมัครมาคอยนำชมให้ฟรี ฉันก็เลยตัดสินใจจะลองไปชมดูสักที ไม่ใช่ว่าฉันเห็นแก่ของฟรีหรอกนะ แต่ฉันว่าการมีคนนำชมพิพิธภัณฑ์แบบนี้ก็ย่อมจะได้ความรู้มากกว่าเดินดุ่มๆ เดาสุ่มไปเองคนเดียว แล้วฉันก็อยากจะรู้ๆ กันไปเลยว่าบรรยากาศของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะเหมือนกับที่ฉันคิดไว้หรือเปล่า

สิบโมงเช้าวันอาทิตย์ ฉันจึงเข้าไปแจ้งความประสงค์ขอมัคคุเทศก์นำชมตรงฝ่ายประชาสัมพันธ์ และก็ได้ "พี่หน่อง" พรสวรรค์ พุฒเทศ และ "พี่หนุ่ย" วิสิทธิ์ บุญโต มาเป็นผู้นำชมในวันนี้ ฉันขอเรียกว่าพี่ไกด์ก็แล้วกัน

พี่ไกด์ทั้งสองคนนี้ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์แต่อย่างใด แต่เป็นผู้ที่ผ่านการอบรมจากทางพิพิธภัณฑ์แล้ว และในยามว่างๆ อย่างวันเสาร์-อาทิตย์นั้นก็มาช่วยนำนักท่องเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ ส่วนในวันธรรมดานั้นต่างคนต่างก็มีงานประจำของตัวเองทำ แต่อาศัยว่ามีความรู้และความรักเกี่ยวกับเรื่องประวัติศาสตร์จึงมาช่วยด้วยใจ (แล้วก็ได้แต่ใจกลับไป เงินไม่ได้จ้ะ)

พี่ไกด์ทั้งสองเริ่มบรรยายความเป็นมาของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินี้ว่า เดิมที่ตรงนี้เป็นพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า ที่สร้างขึ้นมาพร้อมๆ กับวังหลวง (พระบรมมหาราชวัง) และวังหลัง (บริเวณ ร.พ.ศิริราช) ในวังหน้านี้มีพระที่นั่งและตำหนักงดงามหลายหลัง ซึ่งปัจจุบันก็กลายมาเป็นสถานที่เก็บรักษาโบราณวัตถุทั้งหลาย ฉันเริ่มต้นการชมพิพิธภัณฑ์ที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมานซึ่งจัดแสดงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัย สมัยแรกก่อตั้งอาณาจักร จนเมื่อมาถึงสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ปัจจุบัน

ห้องจัดแสดงนี้ตกแต่งไว้อย่างน่าดูทีเดียว มีการนำเสนอเรื่องราวในสมัยต่างๆ ด้วยแผ่นป้ายรายละเอียด โบราณวัตถุจัดแสดง รวมทั้งยังมีข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ทัชสกรีน และหุ่นจำลองเหตุการณ์ต่างๆ ที่เคลื่อนไหวได้พร้อมเสียงบรรยายรายละเอียด ซึ่งอันนี้เด็กๆ คงจะชอบ

ฉันเพิ่งได้ชมแค่เพียงห้องแรกเท่านั้น แต่พี่ไกด์ทั้งสองก็ช่วยกันเล่าถึงเกร็ดประวัติศาสตร์ต่างๆ ให้ฟัง จนสมองน้อยๆ ของฉันจำแทบไม่หมด ต้องบอกว่ามุมมองของพี่ไกด์นี้ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องต่างๆ ซึ่งฉันไม่ขอบอกดีกว่าว่าเรื่องอะไรบ้าง ใครอยากรู้ก็ต้องมาฟังเอาเอง แต่จะบอกให้ว่า หากอยากรู้เรื่องอะไรที่เป็นประเด็นร้อนๆ ก็ลองถามมาเถอะ ไม่ว่าจะเรื่องศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง เรื่องพระเจ้าตากสินกับรัชกาลที่ 1 เรื่องการขอมงกุฎกรุวัดราชบูรณะคืนจากอเมริกา ฯลฯ พี่ไกด์เขายินดีแสดงความคิดเห็นให้ฟัง

จากห้องประวัติศาสตร์ชาติไทย ฉันไปชมพระพุทธสิหิงส์ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ต่อ พอย่างเท้าเข้าไปก็ได้กลิ่นน้ำอบจากเทศกาลสงกรานต์หอมฟุ้งทีเดียว แต่ไกด์บอกฉันว่า พระพุทธสิหิงค์ที่เขานำออกไปสรงน้ำในวันสงกรานต์นั้นเป็นองค์จำลอง เพราะน้ำอบที่ใช้สรงกันนั้นมีฤทธิ์เป็นกรด หากนำองค์จริงไปสรงอาจจะทำให้องค์พระเสื่อมสภาพได้ อย่าลืมว่าท่านมีอายุเป็นพันๆ ปีแล้ว

จิตรกรรมฝาผนังของพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ พี่ไกด์บอกฉันว่าเวลาดูจิตรกรรมฝาผนังต้องเริ่มจากด้านหลังพระประธาน และวนไปทางขวา สำหรับภาพจิตรกรรมด้านบนนั้นเป็นภาพเทพชุมนุม ส่วนด้านล่างลงมาเป็นภาพพุทธชาดก ซึ่งในส่วนนี้จะมีภาพที่สอดแทรกความเป็นไปในยุคนั้นๆ ด้วย เช่น มีภาพของคนฝรั่ง หรือแขกปะปนอยู่กับชาวเมือง ซึ่งแสดงถึงสภาพบ้านเมืองของไทยที่มีการค้าขายกับต่างชาติ ซึ่งรายละเอียดยิบย่อยพวกนี่ถ้าฉันมาดูเอง ก็คงจะไม่สังเกตเห็นหรอก

ในพระที่นั่งแห่งนี้ยังมีอะไรน่าสนใจอีกมาก พี่ไกด์ชี้ให้ฉันเงยหน้าดูขื่อไม้ด้านบน ซึ่งเป็นการแกะสลักไม้ทั้งชิ้น แล้วปิดทองประดับกระจก ซึ่งมีขื่อที่เป็นงานจำหลักไม้อย่างนี้ที่นี่ที่เดียวเท่านั้น แม้แต่ที่วังหลวงก็ไม่มี เพราะครูช่างของวังหน้านั้นเคยเป็นครูช่างวังหลวงอยุธยามาก่อน

จากนั้นเราไปต่อยังพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ซึ่งใช้เป็นที่จัดนิทรรศการหมุนเวียนของทางพิพิธภัณฑ์ ซึ่งขณะนี้กำลังมีนิทรรศการในหัวข้อ "สำริด: โลหะที่เปลี่ยนโลก" ซึ่งก็มีการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ที่ทำจากสำริดในยุคสมัยต่างๆ ทั้งเครื่องประดับกำไล อาวุธหอกดาบ ไปจนถึงกลองมโหระทึก รวมทั้งมีวิธีการหล่อสัมฤทธิ์ด้วย นิทรรศการนี้จะจัดไปถึง 26 มิ.ย. นี้ ใครอยากมาดูก็ต้องรีบมาดูกัน

โบราณวัตถุต่างๆ ในหมู่พระวิมาน ที่มีชื่อคล้องจองกันว่า พระที่นั่งวสันตพิมาน พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ และพระที่นั่งพรหมเมศธาดาก็น่าสนใจไม่น้อย ภายในแบ่งย่อยเป็นห้องต่างๆ อีกมากมาย เป็นที่จัดแสดงโบราณวัตถุต่างๆ เช่น ในพระที่นั่งวสันตพิมาน จัดแสดงเครื่องถ้วยชามสังคโลก ทั้งของสุโขทัยเองและที่นำเข้าจากประเทศจีน ในห้องมุขเด็จด้านตะวันตกจัดแสดงงานจำหลักไม้อย่างบานประตูวิหารวัดสุทัศน์ฯ ที่ถูกไฟไหม้เสียหายไปส่วนหนึ่ง พระที่นั่งอุตราภิมุข จัดแสดงบรรดาเหล่าศิลาจารึกเก่าแก่ที่พบในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย ส่วนที่พระที่นั่งบูรพาภิมุขก็เป็นที่จัดแสดงเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ

และหากอยากจะไปชมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่ค้นพบในยุคสมัยต่างๆ ทั้งยุคก่อนประวัติศาสตร์และยุคประวัติศาสตร์ และศิลปวัตถุในยุคต่างๆ เช่น ศิลปะลพบุรี ศิลปะทวารวดี ฯลฯ ก็ต้องไปที่อาคารมหาสุรสิงหนาถ และอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุเหล่านี้ไว้ มีทั้งเทวรูป พระพุทธรูปต่างๆ โดยงานชิ้นเด่นๆ ก็เช่น พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ศิลปะสมัยศรีวิชัย พระคเณศ จากประเทศอินโดนีเซีย เป็นศิลปะชวา ธรรมจักรกับกวางหมอบ ศิลปะสมัยทวารวดี เป็นต้น

ต้องบอกตามความเป็นจริงว่า แม้จะมีเวลาทั้งวันแต่ฉันก็ยังชมพิพิธภัณฑ์ได้ไม่ทั่ว ยังเหลือโรงราชรถ ซึ่งจัดแสดงราชรถที่ใช้ในกระบวนแห่พระบรมศพ และโบราณสถานอย่างพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ เก๋งจีนนุกิจราชบริหาร หออนุสรณ์เจ้าพระยายมราชที่ฉันยังไม่ได้ไปชม แต่ก็แปลกดีที่ฉันเดินอยู่ในพิพิธภัณฑ์ได้ทั้งวันได้โดยไม่รู้สึกเบื่อ คงเป็นเพราะตัวโบราณวัตถุเองก็มีความน่าสนใจอยู่แล้ว บวกกับมีคนคอยเสริมความรู้และแทรกมุกตลกเป็นระยะๆ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ฉันยังไม่มีโอกาสได้ชมในวันนี้ ก็จะขอมาดูในวันหลังคงไม่เสียหายอะไร

*************************

สี่โมงเย็นเป็นเวลาที่พิพิธภัณฑ์จะปิดลง ฉันเดินกลับบ้านพร้อมกับคิดถึงคำที่พี่ไกด์หน่องและพี่ไกด์หนุ่ยบอกไว้ว่า การมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์นั้นก็เป็นเหมือนทางเลือกของการพักผ่อนอย่างหนึ่ง เป็นการพักผ่อนที่เปลืองเงินน้อยกว่าการดูหนังฟังเพลงเยอะ อีกอย่างหนึ่งในแต่ละวันคนเราใช้เวลาทำอะไรตั้งมากมาย แต่เมื่อได้มาที่นี่แล้วจะรู้สึกเหมือนกับว่าได้หยุดเวลาเอาไว้กับอดีต ซึ่งบางทีการมองย้อนไปในอดีตก็เป็นเรื่องที่มีความสุขได้เหมือนกัน แม้ว่าอดีตของที่นี่จะเป็นอดีตที่ออกจะนานไปสักหน่อยก็ตาม อีกอย่างหนึ่งโบราณวัตถุเหล่านี้ ถ้ามองในแง่ศิลปะแล้ว ก็จะมีคุณค่าตรงที่ช่วยจรรโลงจิตใจ ทำให้จิตใจอ่อนโยนลงได้ด้วย

หากใครมีเวลาว่างในวันหยุด ฉันก็อยากให้ลองมาใช้บริการมัคคุเทศก์อาสาสมัครที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครนี้ดู ไม่แน่ทัศนคติที่ว่า "พิพิธภัณฑ์น่าเบื่อ" อาจเปลี่ยนไปเหมือนกับฉันก็ได้
การเดินทางไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร          ประวัติพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร 
กำลังโหลดความคิดเห็น