หากพูดถึงจังหวัดพิษณุโลกแล้ว สิ่งหนึ่งที่หลายๆ คนมักจะนึกถึง รวมทั้งยังถือเป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองสองแควนี้ก็คือ พระพุทธชินราช พระพุทธรูปสำคัญ ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุนั่นเอง
พระพุทธชินราช ถือเป็นพระพุทธรูปที่ได้รับยกย่องว่ามีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในประเทศไทย พระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นในสมัยของพระมหาธรรมราชาที่ 1 หรือพญาลิไทย กษัตริย์ในราชวงศ์พระร่วง สมัยสุโขทัย หรือเมื่อประมาณ พ.ศ.1900 ในครั้งนั้นได้มีพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในคราวเดียวกันอีก 2 องค์ คือ พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ซึ่งอีกสององค์นั้น ขณะนี้ได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดบวรนิเวศ กรุงเทพมหานคร ส่วนที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุนี้เป็นองค์จำลอง
ตำนานการสร้างพระพุทธชินราชนี้ก็น่าสนใจมากทีเดียว เพราะเมื่อได้กระทำพิธีเททองหล่อพระพุทธรูปทั้งสามองค์แล้ว ปรากฏว่า พระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดามีน้ำทองแล่นติดตลอดเสมอกันทั้งองค์ แต่พระพุทธชินราชนั้นทองแล่นไม่ติดเต็มพระองค์ จึงได้มีการหล่อขึ้นใหม่อีกถึงสามครั้งสามครา แต่ก็ยังคงเททองไม่สำเร็จอยู่นั่นเอง
จนในครั้งหลังสุดนั้น ได้มีตาปะขาวคนหนึ่งที่ไม่มีผู้ใดทราบชื่อและที่มา เข้ามาช่วยปั้นหุ่นและเททองทั้งกลางวันกลางคืนจนเสร็จลง คราวนี้น้ำทองที่เทหล่อก็แล่นเต็มตลอดทั่วทั้งองค์ และเมื่อแกะพิมพ์ออกมาก็พบว่าองค์พระนั้นงดงามสมบูรณ์ไม่มีที่ติ ราวกับเทวดามาช่วยสร้าง ส่วนตาปะขาวที่มาช่วยเททองนั้นก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย หลายคนเชื่อกันว่าตาปะขาวคนนั้นน่าจะเป็นเทพยดาที่แปลงกายมาเพื่อช่วยหล่อพระพุทธชินราชขึ้น ทำให้ชาวบ้านร่ำลือกันไปต่างๆ นานา จนความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธชินราชมีมากขึ้น
แต่นอกจากพระพุทธรูปทั้งสามที่กล่าวมานี้แล้ว หากใครที่เคยไปยังวัดพระศรีรัตนมหาธาตุมาก่อน คงจะสังเกตเห็นว่า ด้านหน้าวิหารพระพุทธชินราชนั้น จะมีวิหารหลังเล็กๆ อีกหลังหนึ่งอยู่ใต้ต้นโพธิ์ต้นใหญ่ วิหารที่ว่านั้นมีขนาดเล็กจริงๆ ขนาดที่ว่าบางคนอาจเข้าใจผิดว่าเป็นศาลพระภูมิได้ แต่ที่แท้จริงแล้ว วิหารหลังน้อยนั้นเป็นวิหารของ "พระเหลือ" นั่นเอง
เหตุที่พระพุทธรูปในวิหารน้อยได้ชื่อว่าพระเหลือก็เนื่องมาจากว่า เมื่อครั้งที่หล่อพระพุทธรูปสำคัญทั้งสามองค์อันได้แก่พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดาแล้ว ก็ยังคงมีเศษทองสัมฤทธิ์หลงเหลืออยู่ พระยาลิไทจึงมีรับสั่งให้ช่างนำเศษทองนั้นมาหล่อเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้างเพียง 1 ศอกเศษ และเรียกท่านว่า "พระเหลือ" ถึงกระนั้นเศษทองก็ยังเหลืออยู่อีก จึงได้หล่อพระสาวกขึ้นมาอีกสององค์ยืนอยู่ด้านข้างของพระเหลือ
ส่วนอิฐที่ใช้ก่อเตาสำหรับหลอมทองที่หล่อพระพุทธรูปนั้น ได้นำมารวมกันแล้วก่อเป็นฐานชุกชีสูง 3 ศอกตรงตำแหน่งที่หล่อพระพุทธชินราช พร้อมกับปลูกต้นมหาโพธิ์ 3 ต้นลงบนชุกชีนั้น แสดงว่าเป็นมหาโพธิ์สถานของพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี และพระศรีศาสดาทั้งสามองค์ จึงเรียกว่าโพธิ์สามเส้า และได้สร้างวิหารเล็กๆ ขึ้นมาระหว่างต้นโพธิ์นั้น เพื่อเป็นที่ประดิษฐานของพระเหลือและพระสาวก จึงเรียกชื่อว่า "วิหารพระเหลือ" กันต่อมา
เมื่อพูดถึงเรื่องชื่อ จริงๆ แล้วพระเหลือเองก็มีชื่ออย่างเป็นทางการฟังดูไพเราะว่า "พระเสสันตปฏิมากร" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงตั้งให้ แต่ชาวบ้านก็ยังนิยมเรียกท่านว่าพระเหลืออยู่เช่นเดิม แต่ก็ด้วยชื่อของท่านนั่นเองที่ทำให้ผู้คนมักนิยมไปสักการะขอพรจากท่าน ด้วยเชื่อว่าจะทำให้มีเงินมีทองเหลือใช้เหมือนอย่างชื่อของท่านบ้าง
สำหรับผู้ที่ไปเที่ยวชมวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ นอกจากจะได้มานมัสการพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา และพระเหลือแล้ว ก็อย่าลืมไปชมวิหารพระพุทธเจ้าเข้านิพพาน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางแปลกๆ ที่ไม่มีที่ไหนเหมือน รวมทั้งพระอัฏฐารส พระพุทธรูปสูง 18 ศอก ที่อยู่บริเวณเนินวิหารเก้าห้อง ก็ล้วนแล้วแต่มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน ใครที่ต้องการจะมาชมรวมทั้งนมัสการพระพุทธรูปเหล่านี้ก็สามารถไปสัมผัสในความงามได้ที่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือวัดใหญ่แห่งเมืองสองแคว พิษณุโลก
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือวัดใหญ่ที่เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราชและพระเหลือ รวมถึงพระพุทธรูปน่าสนใจอีกมาก เปิดตั้งแต่เวลา 06.30-18.00 น.
วัดใหญ่ ตั้งอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำน่าน ริมถนนพุทธบูชา ต.ในเมือง อ.เมือง ตรงข้ามกับศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก ใครที่สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับวัดใหญ่ หลวงพ่อใหญ่ และพระน่าสนใจที่วัดใหญ่ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดพิษณุโลก สามารถสอบถามได้ที่ททท.ภาคเหนือ เขต 3 โทร. 0-5525-2742-3 หรือที่ โทร.0-5525-9414
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
ไหว้หลวงพ่อใหญ่ ก่อนท่องเที่ยวใน“พิษณุโลก”
“พระพุทธเจ้าเข้านิพพาน” อันซีนฯ เมืองสองแคว