xs
xsm
sm
md
lg

“ตุง” หนึ่งในสัญลักษณ์แห่งล้านนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาพตุงผืนยาวปลิวสะบัดยามเมื่อต้องลม สามารถพบเห็นได้ตามวัดหรือตามงานเทศกาลต่างๆที่จัดขึ้นทางจังหวัดในภาคเหนือ ซึ่งกล่าวได้ว่า “ตุง” หรือที่ภาคกลางเรียกกันว่า “ธง” นั้นถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของชาวล้านนา

แต่ใครจะรู้บ้างว่า อันที่จริงแล้วตุงมีหลายแบบและมีลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกันตามแต่วาระและโอกาส นอกจากนี้ลวดลายที่ประดับอยู่บนผืนผ้ายังเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ต่างๆที่น่าสนใจมากมาย

ชาวล้านนานั้นทำตุงขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและอุทิศให้กับผู้ล่วงลับและยังถวายเป็นปัจจัยส่งกุศลให้แก่ตนในภพหน้า โดยเชื่อว่าเมื่อถวายตุง(ทานตุง)แล้วจะได้เกาะชายตุงขึ้นสวรรค์ ถือได้ว่าตุงมีบทบาทและมีความเป็นมาที่ยาวนาน ดังพบในหลักฐานในศิลาจารึกที่ฐานรูปปั้นพระฤาษีเป็นทองสำริดที่ดอยตุงว่าพระอินทร์ได้ทานตุงไว้กับพระธาตุดอยตุงหนึ่งผืน นอกจากนี้ในตำนานพระสิงหนวัติยังกล่าวถึงพระมหากัสสปะเถรเจ้าอธิษฐานคันตุงยาว 7,000 วา กว้าง 500 วาเพื่อบูชาพระธาตุเจ้าตุงผืนนี้มีวรรณะ 6 ประการ คือ เขียว ขาว ดำ แดง หม่น เหลือง บูชาพระธาตุเจ้า คนทั้งหลายที่ได้เห็นตุงจึงเรียกดอยแห่งนั้นว่าดอยตุง

นอกจากนี้ในยุคราชวงศ์มังรายได้กล่าวถึงตุงมีความตอนหนึ่งว่า “วันนั้น ตนท่านพระยาธรรมมิกราชบริพารด้วยฝูงราชโยธามหาชนลูกเจ้าขุนมนตรีทั้งหลายยายกันให้ถือช่อตุงเข้าตอกดอกไม้โต้เทียนตีพาดดังพิณค้องกลองปี่สรรไนพิสานญชัยทะเทียดกาหลแตรสังข์มานกังสดาล..”

มีความหมายว่าในปีพ.ศ.1913 นั้น เจ้าท้าวสองแสนนา หรือ พระญาเจ้ากือนาแห่งเมืองเชียงใหม่และข้าราชบริพารไปต้อนรับพระสุมนเถระซึ่งมาจากสุโขทัย ในกลุ่มผู้ที่ไปรอต้อนรับพระสุมนเถระนั้น ได้ยืนเรียงรายกันถือเครื่องสักการะต่างๆเช่น ถือช่อ(ธงสามเหลี่ยมขนาดเล็ก)และถือธงด้วย

จากข้อความนี้แสดงว่ามีตุงใช้ในพิธีกรรมของชาวล้านนามานานแล้ว จึงมีคัมภีร์ธรรมที่เกี่ยวกับอานิสงค์ของการทานตุงในพระพุทธศาสนาดังที่ปรากฎในตำนานล้านนาที่เล่าขานเกี่ยวกับตำนานของ แม่กาเผือกหรือตำนานพระเจ้าห้าตน ได้แก่ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระโคตมะ และพระอาริยเมตตรัย เนื้อเรื่องเน้นคติธรรมด้านความกตัญญูที่มีต่อพระคุณของพ่อและแม่

ในเรื่องของการทำตุงเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปถึงแม่ผู้ให้กำเนิด รองศาสตราจารย์ทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุล อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เขียนไว้ในหนังสือ รำลึกพระคุณ ในหัวข้อประเพณีทานตุงในล้านนา ถึงตำนานของแม่กาเผือกว่า

“กาลครั้งหนึ่งมีแม่กาเผือกออกไข่มา 5 ฟอง วันหนึ่งเกิดพายุขึ้น ไข่ที่อยู่บนรังของแม่กาจึงตกลงมาข้างล่าง และมีผู้นำไปเลี้ยง ส่วนแม่กาเผือกกลับมาไม่เห็นไข่ก็สิ้นใจ ต่อมาไข่ทั้ง 5 เกิดเป็นชายหนุ่มได้ออกบวชสำเร็จเป็นโพธิญาณ ทั้งหมดได้มาพบกันและต่างก็คิดว่าจะทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับแม่ผู้ให้กำเนิด จึงทำตุงขึ้นตามรูปลักษณ์ของผู้ที่เลี้ยงตนมา คือ พระกกุสันธะทำเป็นรูปไก่ พระโกนาคมทำเป็นรูปนาค พระกัสสปะทำเป็นรูปเต่า พระโคตมะทำเป็นรูปตาวัว ส่วนพระอาริยเมตตรัยทำเป็นรูปค้อนสำหรับทุบผ้าซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของคนซักผ้าหรือแม่ซักไหม เสร็จแล้วจึงได้นำไปถวายเป็นพุทธบูชา แต่ก็ไม่ถึงพ่อแม่ที่แท้จริงจนแม่กาเผือกได้บินมาบอกให้จุดประทีปที่ทำไส้เป็นรูปตีนกา จึงสามารถอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปถึงได้”

สำหรับส่วนประกอบของตุงตั้งแต่ยอดจนถึงปลาย ได้สื่อถึงตัวแทนของพระพุทธเจ้าทั้ง 5 องค์ ดังนี้ หัวตุงคือไม้ซักผ้าแทนความหมายถึงคนซักผ้าหรือพระอาริยเมมตรัย รูปไก่และส่วนบนของตุงแทนไก่หรือกกุสันธะ ส่วนลำตัวที่ทอดยาวของตุงแทนนาคหรือโกนาคมนะและลวดลายตารางเกล็ดเต่าหรือลวดลายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดแทนเต่าหรือพระกัสสปะ หมากตาวัวหรือลูกกลมประดับตุงแทนวัวหรือโคตมะ

อาจกล่าวได้ว่า นอกจากตำนานเรื่องแม่กาเผือกจะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำตุงแล้ว ยังสามารถอธิบายที่มาของการจุดผางประทีปในล้านนาได้อีกด้วย

สำหรับรูปแบบของตุงจะมีทั้งเย็บ ปัก ถัก ทอ มีลักษณะเป็นธงห้อยลงมาหรือบางครั้งจะแกะสลักไม้อย่างวิจิตรบรรจงเพื่อทำเป็นตุงกระด้าง แต่หากทำมาจากผ้าฝ้ายจะเรียกว่าตุงผ้าทอโดยทั่วไปมีขนาดกว้าง 15-50 ซม. ยาว 1-6 เมตร โครงสร้างประกอบด้วย ส่วนหัว-ตัว-หาง นิยมทอด้วยฝ้ายสีขาว มีลวดลายขิตสีดำและแดงเป็นเส้นพุ่ง อาจสอดสีอื่น ๆ เพื่อความสวยงาม ส่วนตุงใย ใช้เส้นฝ้ายสีขาวมัดหรือถกคล้ายแมงมุมชักใย มีไม้ไผ่สอดเป็นโครงยึดเป็นช่วงๆ ทำด้วยวัสดุต่าง ๆ เป็นดอกไม้ หรือพู่ห้อย

นอกจากนี้ยังมีตุงกระดาษ เช่น ตุงไส้หมู ไส้ช้าง ตุงพญายอ โดยการนำกระดาษแก้วสีต่าง ๆ อย่างน้อยแผ่นละสีมารวมกัน พับไปมาแล้วตัดสลับไม่ให้ขาดจากกันเมื่อคลี่ออก และจับหงายขึ้นจะเป็นช่อพวงยาว ผูกติดกับไม้ยาวประมาณ 1 เมตร ปักตกแต่งหรือใช้ร่วมขบวนแห่ครัวทานเข้าวัดหรือปักเจดีย์ทรายในเทศกาลสงกรานต์

ส่วนลวดลายที่ใช้จะเกี่ยวพันกับคติความเชื่อโบราณในสมัยที่ยังนับถือผีเรื่อยมาจนถึงเมื่อเริ่มมีศาสนาพุทธ ส่วนใหญ่ลายตุงเก่านั้นจะนิยมทำรูปปราสาท ข้าวของเครื่องใช้ รูปสัตว์ พญานาค หรือข้าทาสบริวารชายหญิงที่คาดว่าเมื่อสิ้นอายุขัยในชาตินี้แล้วจะได้นำติดตัวไปใช้ในภพหน้า

ทั้งนี้ตุงสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆคือตุงที่ใช้ในงานมงคลซึ่งหมายความถึงสิ่งที่ดีงามและเป็นสัญลักษณ์ของความโชคดี อาทิ ตุงไส้หมู เรียกตามภาษาท้องถิ่นว่าตุงไส้ช้าง ตุงไส้ไก่ ตุงพระยายอ  พวงเต่าร้าง มีลักษณะเป็นพวง นิยมผูกกับกิ่งไม้กิ่งเดียวกับตุงสิบสองราศี หรือตุงไชยที่ใช้ในงานปอย

ส่วนตุงอวมงคลนั้นได้แก่ ตุงแดง ซึ่งในแต่ละท้องถิ่นจะเรียกต่างกันออกไป เช่น ตุงถอนวิบาก ตุงผีตายโหง ตุงก๊าดแดง มีลักษณะคล้ายตุงไชย จะใช้ปักตรงที่มีคนประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ความเชื่อคือใช้ประกอบพิธีกรรมสูตรถอนถวายตุงแดง

ตุงสามหาง ทางท้องถิ่นเรียกว่าตุงผีต๋าย เป็นตุงนำหน้าขบวนศพสู่ป่าช้า โดยเชื่อว่าตุงสามหางจะนำวิญญาณให้ไปสู่สุขคติ หรือจะเรียกอีกชื่อในนาม ตุงแม่ม่ายเนื่องจากตุงชนิดนี้จะต้องให้แม่ม่ายในหมู่บ้านเป็นคนทำให้ในการงานศพ มิเช่นนั้นจะถือกันว่าจะเกิดการพลัดพราก

แต่ปัจจุบันประโยชน์ของตุงได้เปลี่ยนไปตามยุคสมัย จะเห็นได้จากการที่มีผู้นิยมนำตุงมาใช้ในการตกแต่งบ้านมากขึ้นหรือห้างร้านบางแห่งใช้ตุงเพื่อทำให้ร้านเกิดกลิ่นอายของล้านนา หรือการจัดงานที่เกี่ยวข้องกับชาวเหนือมักนำตุงมาแห่แหนในริ้วขบวน แต่ไม่ว่าปัจจุบันการทานตุงหรือประโยชน์ของตุงจะเปลี่ยนไปสักเพียงไร หากแต่คนรุ่นหลังเข้าใจประวัติความเป็นมาและดำรงประเพณีการทานตุงไว้ เชื่อว่าวิถีแห่งล้านนาและคุณค่าของความเชื่อและการปฏิบัติที่ดีงามที่สั่งสมกันมาหลายชั่วอายุคน จะยังคงดำรงอยู่สืบไป
กำลังโหลดความคิดเห็น