xs
xsm
sm
md
lg

“บุรีรัมย์” แดนดินถิ่นปราสาทหิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บุรีรัมย์ จังหวัดแห่งอีสานใต้ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งปราสาทหิน ด้วยเหตุที่ว่ามีปราสาทหินในสมัยอารยธรรมขอมโบราณอยู่มากมายทั่วทั้งเมือง ตามคำขวัญประจำจังหวัดที่ว่า “เมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ ผ้าไหมสวย รวยวัฒนธรรม”

ด้วยระยะทาง 410 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ ก็นับว่าจังหวัดบุรีรัมย์ไม่ห่างไกลเกินไปนัก และจากการขุดค้นเพื่อหาร่องรอยอารยธรรมโบราณของจังหวัดนี้ ก็ได้พบหลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับการอยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ แต่สมัยที่สำคัญและรุ่งเรืองที่สุดก็เห็นจะเป็นสมัยที่วัฒนธรรมขอมแผ่อิทธิพลเข้ามาครอบคลุมพื้นที่บริเวณนี้ โดยจะเห็นได้จากปราสาทขอมน้อยใหญ่กว่า 60 แห่งที่กระจายอยู่ในที่ต่างๆ ของบุรีรัมย์ ที่แสดงถึงความรุ่งเรืองในอดีตกาล

ปราสาทหินทั้งหลายในจังหวัดบุรีรัมย์นั้น บ้างก็ยังคงสภาพสมบูรณ์บ้างก็แตกหักเสียหายไปตามกาลเวลา แต่มีปราสาทหินแห่งหนึ่งที่เรียกได้ว่า เมื่อมาถึงบุรีรัมย์แล้วต้องมาสัมผัสให้จงได้ก็คือ “ปราสาทหินพนมรุ้ง” ซึ่งตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว การสร้างปราสาทหินแห่งนี้เดิมสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย แต่ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อาณาจักรขอมได้หันมานับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน เทวสถานแห่งนี้จึงได้รับการดัดแปลงเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนา

ในปราสาทหินพนมรุ้งนั้น ประกอบไปด้วยอาคารและสิ่งก่อสร้างต่างๆ มากมายเริ่มตั้งแต่ทางขึ้นเขาไปจนถึงปรางค์ประธานบนยอดเขา แต่มีสิ่งก่อสร้างอย่างหนึ่งที่มีชื่อเสียงโด่งดังและเคยตกเป็นข่าวครึกโครมเมื่อสิบกว่าปีก่อน นั่นก็คือ ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่ประดับอยู่หน้าบันทางด้านทิศตะวันออกของปรางค์ประธาน ทับหลังชิ้นนี้สลักขึ้นตามความเชื่อของศาสนาฮินดู ที่เปรียบรูปสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ คือการนอนของพระนารายณ์หรือพระวิษณุบนพญาอนันตนาคราช ณ ทะเลน้ำนมหรือเกษียรสมุทร ที่ทำให้เกิดดอกบัวผุดออกมาจากพระนาภี โดยมีพระพรหมพระผู้สร้างโลกเกิดขึ้นบนดอกบัว

นอกจากทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้คนต่างต้องการมาชมที่ปราสาทพนมรุ้งก็คือ วันที่พระอาทิตย์ในยามเช้าจะส่องแสงลอดทะลุซุ้มประตูทั้ง 15 ช่อง เป็นแนวเดียวกันในวันเช้าของขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 (แบบไทย) ซึ่งมีแค่วันเดียวในรอบปี ถือเป็นความสามารถทางเชิงช่างของชาวขอม และนับว่าเป็นอีกหนึ่งอันซีนไทยแลนด์ ในช่วงวันนั้นจึงมีการจัดประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งขึ้น เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้เดินทางไปชมกัน สำหรับในปีนี้ปรากฏการณ์ที่ว่านั้นก็ผ่านไปแล้วเมื่อวันที่ 2-3 เมษายน อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น. คนไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 30 บาท โทรศัพท์ 0-4463-1746

นอกจากปราสาทหินพนมรุ้งแล้ว ปราสาทอีกแห่งที่น่าสนใจก็คือ “ปราสาทหินเมืองต่ำ” ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 15-17 เพื่อใช้เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู สิ่งก่อสร้างที่สำคัญในปราสาทเมืองต่ำนี้ก็ได้แก่ ปรางค์อิฐทั้ง 5 องค์ ก่อด้วยศิลาแลงมีประตูเข้าสู่องค์ปรางค์อยู่ทางด้านทิศตะวันออก แต่ก็มีสภาพไม่สมบูรณ์นัก สิ่งก่อสร้างที่โดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของปราสาทเมืองต่ำก็คือ บาราย หรือสระน้ำ ซึ่งอยู่ระหว่างกำแพงชั้นในและกำแพงชั้นนอก เป็นลานกว้างปูด้วยศิลาแลง มีสระน้ำขุดเป็นรูปหักมุมตามแนวกำแพงอยู่ทั้ง 4 มุม กรุขอบสระด้วยแท่งศิลาแลงก่อเรียงเป็นขั้นบันไดลงไปยังก้นสระ ขอบบนสุดทำด้วยหินทรายเป็นลำตัวนาคซึ่งชูคอแผ่พังพานอยู่ที่มุมสระ ทอดตัวยาวรอบขอบสระน้ำทั้ง 4 ทิศ สวยงามมากทีเดียว ปราสาทหินเมืองต่ำเปิดให้เข้าชมทุกวันระหว่างเวลา 07.30-18.00 น. คนไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท

นอกจากปราสาทเมืองต่ำแห่งนี้แล้วบุรีรัมย์เมืองแห่งปราสาทหินก็ยังมีปราสาทอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ปราสาทเขากระโดง ปราสาทกุฏิฤๅษี ปราสาทเขากระเจียว ฯลฯ

ได้ไปชมปราสาทหินอันใหญ่โตอลังการกันแล้ว อยากรู้ไหมว่าหินก้อนใหญ่ๆ ที่ใช้สร้างปราสาทเขาเอามาจากที่ไหนกัน? ไปหาคำตอบได้ที่แหล่งหินตัด ในอำเภอบ้านกรวด ซึ่งเป็นแหล่งหินทรายที่นำมาสร้างปราสาทเหล่านี้ แหล่งหินตัดนี้มีเนื้อที่กว่า 3,000 ไร่ เลยทีเดียว และยังปรากฏมีร่องรอยของการตอกเนื้อหินให้เป็นรูเรียงกันเป็นแนว และยังมีหินที่ถูกตัดและงัดขึ้นมาเป็นแท่งอยู่ด้วย

นอกจากแหล่งท่องเที่ยวประเภทปราสาทหินแล้ว ที่จังหวัดบุรีรัมย์ก็ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ อีก เช่น วนอุทยานเขากระโดงซึ่งเป็นที่ตั้งของภูเขาไฟโบราณ โดยปากปล่องภูเขาไฟมีลักษณะเป็นแอ่งน้ำลึกและมีน้ำขังตลอดปี บริเวณปล่องภูเขาเต็มไปด้วยหินพรุนมีน้ำหนักเบาจนสามารถลอยน้ำได้ ซึ่งเกิดจากการปะทุของภูเขาไฟในอดีต ถือเป็นแหล่งศึกษาธรณีวิทยาที่มีค่ายิ่ง นอกจากนั้นที่นี่ยังเป็นที่ประดิษฐาน “พระสุภัทรบพิตร” พระพุทธรูปองค์ใหญ่คู่เมืองบุรีรัมย์และมีปรางค์กู่โบราณ ภายในประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง โดยระหว่างทางขึ้นยอดเขาจะพบพระพุทธรูปปางต่างๆ เรียงรายอยู่เป็นระยะ

ที่จังหวัดบุรีรัมย์ยังมีพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ป่าต้นน้ำที่สำคัญของบุรีรัมย์ อยู่ในอำเภอโนนดินแดง และอำเภอปะคำ ซึ่งมีแนวเขตป่าเชื่อมต่อกับอุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดนครราชสีมา และอุทยานแห่งชาติตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ที่นี่มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ตะเคียนหิน ตะเคียนทอง เคี่ยม ฯลฯ และมีสัตว์ป่าจำนวนมาก เหมาะกับผู้ที่จะมาทัศนศึกษาทางธรรมชาติด้วยการเดินป่า และกางเต็นท์พักแรม

ส่วนบนภูเขาอังคาร ภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้วในอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ห่างจากปราสาทหินพนมรุ้งไปเพียง 20 ก.ม. จะพบกับวัดเขาอังคาร ซึ่งภายในบริเวณวัดมีการค้นพบโบราณสถานและใบเสมาหินทรายสมัยทวารวดีหลายชิ้นด้วยกัน ปัจจุบันวัดเขาอังคารมีการก่อสร้างโบสถ์ ศาลาและอาคารต่างๆ เลียนแบบสถาปัตยกรรมสมัยต่างๆ หลายรูปแบบ และภายในโบสถ์ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวพุทธชาดกเป็นภาษาอังกฤษด้วย นับว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง

หากใครที่อยากจะได้ของซื้อของฝากจากบุรีรัมย์ติดไม้ติดมือกลับไป ก็ขอแนะนำผ้าไหมผืนงามๆ จากหมู่บ้านทอผ้าไหม อำเภอนาโพธิ์ ซึ่งหมู่บ้านนี้เป็นแหล่งทอผ้าไหมโดยเฉพาะผ้าไหมมัดหมี่ และได้รับความสนับสนุนช่วยเหลือในด้านการพัฒนาฝีมือให้ได้มาตรฐานทั้งรูปแบบ วิธีการผลิต และลวดลายจากศูนย์ศิลปาชีพพิเศษ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ

เดินเที่ยวเดินซื้อข้าวของกันจนเหนื่อยแล้ว ก็มาหยุดพักหาอะไรใส่ท้องกับของกินขึ้นชื่อที่บุรีรัมย์ นั่นก็คือร้านขาหมูที่อร่อยและเก่าแก่ที่สุดของอำเภอนางรอง ซึ่งต้องยกให้กับ “ร้านลักษณาขาหมู” ที่มีอายุมานานกว่า 50 ปีมาแล้ว ขาหมูที่นี่ตุ๋นจนนุ่มด้วยเครื่องยาจีน โดยเลือกเอาเฉพาะขาหมูส่วนหน้ามาตุ๋นนานกว่า 3 ชั่วโมง โดยไม่ใส่น้ำตาล น้ำขาหมูที่ได้จึงเป็นรสชาติที่หอมหวานด้วยเครื่องยาจีนแท้ๆ ซึ่งสูตรเด็ดของร้านนี้ได้มาจากเมืองจีนโน่นเลยทีเดียว ใครสนใจโทรไปได้เลย 0-4463-1158

*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

สอบถามข้อมูลท่องเที่ยวได้ที่ ททท.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเขต 1 โทร.0-4421-3666, 0-4421-3030

ดูรายละเอียดการเดินทางไปยังจังหวัดบุรีรัมย์ได้ที่นี่
กำลังโหลดความคิดเห็น