xs
xsm
sm
md
lg

เล่าขานตำนาน “นางสงกรานต์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เรื่องราวเล่าขาน หรือตำนานของนางสงกรานต์ เป็นสิ่งที่สามารถแสดงให้คนรุ่นหลังทราบว่า สงกรานต์ มีประวัติความเป็นมาอย่างไร และเหตุใดจึงต้องมีนางสงกรานต์ ตำนานของนางสงกรานต์ตามที่ปรากฏในศิลาจารึก ที่วัดพระเชตุพนนั้นมีอยู่ว่า . . .

เศรษฐีคนหนึ่ง มีบุตรชายชื่อว่าธรรมบาลกุมาร ซึ่งเป็นเด็กที่เฉลียวฉลาดรู้ภาษานกและสามารถเรียนไตรเพทจบเมื่ออายุได้เจ็ดขวบเท่านั้น ทั้งยังเป็นอาจารย์บอกมงคลการต่างๆ แก่มนุษย์ทั้งปวง ความเก่งกาจนั้นทราบไปถึงท้าวกบิลพรหม ท่านจึงลงมาถามปัญหาธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ คือข้อ1 เวลาเช้าราศีอยู่แห่งใด ข้อ 2 เวลาเที่ยงราศีอยู่แห่งใด และข้อ 3 เวลาค่ำราศีอยู่แห่งใด โดยตกลงว่าถ้าธรรมบาลกุมารตอบปัญหาได้ จะตัดศีรษะตนเองบูชา แต่ถ้าตอบไม่ได้ ก็จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย โดยให้เวลาคิดไขปัญหา 7 วัน

ครั้นล่วงไปได้ 6 วัน ธรรมบาลกุมารก็ยังตอบปัญหาไม่ได้ จึงหนีไปซ่อนตัวที่อื่นด้วยกลัวว่าพรุ่งนี้จะต้องถูกตัดศีรษะด้วยอาญาท้าวกบิลพรหมเป็นแน่ จึงไปนอนอยู่ใต้ต้นไม้ซึ่งมีนกอินทรีสองตัวผัวเมียทำรังอาศัยอยู่ ครั้นเวลาค่ำนางนกอินทรีจึงถามสามีว่า พรุ่งนี้จะได้อาหารจากแห่งใด ฝ่ายสามีบอกว่า จะได้กินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งท้าวกบิลพรหมจะฆ่าเสีย เพราะทายปัญหาไม่ได้ นางนกถามขึ้นว่าปัญหานั้นมีว่าอย่างไร สามีจึงบอกว่า ปัญหามีว่า เช้าราศีอยู่แห่งใด เที่ยงราศีอยู่แห่งใด ค่ำราศีอยู่แห่งใด นางนกถามว่าจะแก้อย่างไร สามีบอกว่า เช้าราศีอยู่ที่หน้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างหน้า เวลาเที่ยงราศีอยู่ที่อก มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก เวลาค่ำ ราศีอยู่ที่เท้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างเท้า

ธรรมบาลกุมารได้ยินดังนั้น จึงทราบคำตอบทั้งหมด และตอบท้าวกบิลพรหมได้ถูกต้องในวันรุ่งขึ้น ท้าวกบิลพรหมจึงตัดต้องศีรษะตัวเองตามข้อตกลง แต่ศีรษะของท้าวกบิลพรหมนั้นหากตั้งไว้บนแผ่นดิน ไฟก็จะไหม้ทั่วโลก ถ้าทิ้งขึ้นในอากาศ ฝนก็จะแล้ง และหากทิ้งลงในมหาสมุทร น้ำก็จะแห้ง ท่านจึงตรัสเรียกธิดาทั้งเจ็ดคนมา เพื่อให้เอาพานมารองรับศีรษะไว้ จากนั้นศีรษะของท้าวกบิลพรหมก็ถูกตัด แล้วธิดาทั้ง 7 คนก็นำพานซึ่งรองศีรษะของท้าวกบิลพรหมไปแห่ทำประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุ แล้วเชิญไปประดิษฐาน ไว้ในมณฑปถ้ำคันธุลี เขาไกรลาศและบูชาด้วยเครื่องทิพย์ต่างๆ เมื่อครบปีหนึ่งๆ ธิดาทั้งเจ็ดคนก็จะผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมออกแห่ประทักษิณเขาพระสุเมรุทุกปี แล้วกลับไปเทวโลก

ธิดาทั้ง 7 ของท้าวกบิลพรหมนี่เอง คือนางสงกรานต์ และสำหรับในปีนี้ เป็นนางสงกรานต์ประจำวันพุธ มีนามว่า มณฑาเทวี ทรงพาหุรัด ทัดดอกจำปา อาภรณ์แก้วไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย พระหัตถ์ขวาทรงเหล็กแหลม  พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จไสยาสน์หลับเนตรมาเหนือคัสพร (ลา) เป็นพาหนะซึ่งจะว่าไปแล้วนางสงกรานต์นับเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของประเพณีสงกรานต์ ที่ในปัจจุบันถือเป็นหนึ่งในจุดขายของงานสงกรานต์ จุดขายหนึ่งของการจัดงานสงกรานต์ โดยงานสงกรานต์ส่วนใหญ่มักจะนิยมจัดการประกวดเทพีสงกรานต์ควบคู่ไปด้วย

*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

นางสงกรานต์ทั้ง 7 ตามการรวบรวมของ ศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน(ยง เสถียรโกเศศ)

วัน: อาทิตย์ ชื่อ: ทุงษะ ดอกไม้: ทับทิม เครื่องประดับ: ปัทมราค (แก้วทับทิม) อาหาร: อุทุมพร (มะเดื่อ) อาวุธ: จักร-สังข์ พาหนะ: ครุฑ

วัน: จันทร์ ชื่อ: โคราค ดอกไม้: ปีบ เครื่องประดับ: มุกดาหาร (ไข่มุก) อาหาร: น้ำมัน อาวุธ: พระขรรค์-ไม้เท้า พาหนะ: เสือ

วัน: อังคาร ชื่อ: รากษส ดอกไม้: บัวหลวง เครื่องประดับ: โมรา (หิน) อาหาร: โลหิต อาวุธ: ตรีศูล-ธนู พาหนะ: หมู

วัน: พุธ ชื่อ: มณฑา ดอกไม้: จำปา เครื่องประดับ: ไพฑูรย์ อาหาร: นมเนย อาวุธ: ไม้เท้า-เหล็กแหลม พาหนะ: ลา

วัน: พฤหัสบดี ชื่อ: กิริณี ดอกไม้: มณฑา (ยี่หุบ) เครื่องประดับ: มรกต อาหาร: ถั่วงา อาวุธ: ขอ-ปืน พาหนะ: ช้าง

วัน: ศุกร์ ชื่อ: กิมิทา ดอกไม้: จงกลณี เครื่องประดับ: บุษราคัม อาหาร: กล้วย น้ำ อาวุธ: พระขรรค์-พิณ พาหนะ: ควาย

วัน: เสาร์ ชื่อ: มโหทร ดอกไม้: สามหาว (ผักตบ) เครื่องประดับ: นิลรัตน์ อาหาร: เนื้อทราย อาวุธ: จักร-ตรีศูล พาหนะ: นกยูง
กำลังโหลดความคิดเห็น