ด้วยความที่ “ปทุมธานี” ตั้งอยู่ชิดติดกับกรุงเทพฯ จึงทำให้หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของเมืองกรุงไปเสียแล้ว ทั้งที่จริงนั้นจังหวัดเล็กๆแห่งนี้ถือว่ามีสิ่งโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ตามคำขวัญประจำจังหวัดที่ว่า “ถิ่นบัวหลวง เมืองรวงข้าว เชื้อชาวมอญ นครธรรมะ พระตำหนักรวมใจ สดใสเจ้าพระยา ก้าวหน้าอุตสาหกรรม”
สังเกตจากคำขวัญ จะเห็นว่ามีส่วนที่กล่าวถึงชาวมอญ นั่นก็เพราะในอดีต ย้อนไปเมื่อปี 2202 มังนันทมิตรได้กวาดต้อนครอบครัวมอญ เมืองเมาะตะมะ อพยพหนีภัยจากศึกพม่า เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ครอบครัวมอญเหล่านั้น ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสามโคก
จากชุมชนขนาดเล็กได้กลายเป็น “เมืองสามโคก” ในเวลาต่อมา เพราะได้มีการพัฒนาและมีผู้อพยพมามาอยู่เพิ่มขึ้น คือในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยเมื่อปี 2358 พระองค์ได้เสด็จประพาสเมืองสามโคก มีพสกนิกรจำนวนมากสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ นำดอกบัวหลวงขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย จึงได้พระราชทานนามเมืองใหม่เพื่อให้เป็นสิริมงคลว่า “ประทุมธานี” ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนการสะกดนามจังหวัดเป็น “ปทุมธานี”
สิ่งที่เป็นที่เคารพสักการะของชาวปทุมคือ “ศาลหลักเมือง” ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าศาลากลางจังหวัด เป็นศาลาแบบจตุรมุขยอดปรางค์ ประดิษฐานเสาหลักเมืองซึ่งมีลักษณะคล้ายก้านดอกบัวหลวงทำจากไม้ชัยพฤกษ์ และมีรูปหล่อพระนารายณ์สี่กรทรงเหนือหลังนกฮูกและพระวิษณุหล่อด้วยสัมฤทธิ์ ด้านหลังของมณฑปบรรจุพระยอดธงวัดไก่เตี้ย อีกทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมายประกอบด้วยเครื่องรางของขลังที่รวบรวมมาจากวัดต่างๆ ในจังหวัด
เมื่อเป็นเมืองเชื้อชาวมอญ จึงทำให้มีวัดหลายแห่งที่มีศิลปะมอญผสมผสาน กลายเป็นนครแห่งธรรมะที่เป็นแหล่งรวมศิลปกรรม ซึ่งส่วนใหญ่จะกระจายอยู่ตามสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยวัดเก่าแก่ที่เป็นที่รู้จักและมีสิ่งน่าสนใจ เช่น
“วัดสิงห์” ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นวัดเก่าแก่ซึ่งมีสิ่งควรค่าแก่การศึกษาด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี มีพระพุทธรูปและสิ่งของสำคัญ ด้านหน้าวัดสิงห์มีการขุดค้นพบโบราณสถานเตาโอ่งอ่าง ถือเป็นหลักฐานของการตั้งชุมชนมอญในสมัยกรุงศรีอยุธยา และที่บนกุฎิของวัดมีพิพิธภัณฑ์เก็บรักษาของเก่าซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ตุ่มสามโคก
“ตุ่มสามโคก” มีเนื้อดินสีแดงส้ม เนื้อภาชนะค่อนข้างหนา รูปทรงปากโอ่งแคบ คอโอ่งจะติดกับไหล่ มีลายยืดเป็นเส้นคู่ตรงไหล่ ตรงกลางตุ่มป่องกลม รูปทรงเตี้ยป้อม ปากและก้นโอ่งมีขนาดใกล้เคียงกัน ต่อมาชาวเมืองสามโคกได้ย้ายการผลิตไปที่เกาะเกร็ด ซึ่งได้ขยายการผลิตตุ่มสามโคกเป็นจำนวนมากและได้นำไปขายขึ้นล่องตามลำน้ำไปทั่วทุกภาค ก่อนที่จะถูกแทนที่ด้วยโอ่งลายมังกรจากราชบุรี ปัจจุบันหาดูตุ่มสามโคกของเก่าได้ที่ วัดสิงห์ วัดสามโคก และตุ่มสามโคกขนาดใหญ่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร ที่กรุงเทพฯ
“วัดโบสถ์” ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านกลาง ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ชื่อวัดโบสถ์นำมาจากชื่อหมู่บ้านที่ชาวมอญอพยพมา เช่นเดียวกับวัดอีกหลายวัดในปทุมธานี วัดนี้มีวิหารเก่าเหลืออยู่ 1 หลัง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่จากรามัญ คือ พระแสงอาญาสิทธิ์ และยังเก็บรักษาสิ่งสำคัญคือ ช้างสี่เศียรและบุษบกสัมฤทธิ์สำหรับประดับเสาหงส์ และรูปปั้นสุนัขย่าเหลหล่อด้วยตะกั่วที่เจ้าอาวาสได้รับพระราชทานมาจากรัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองปทุมธานี
“วัดหงส์ปทุมาวาส” ตั้งอยู่ตำบลบางปรอก ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก สร้างโดยชาวมอญที่อพยพหนีพม่ามาไทยในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี มีสัญลักษณ์ของวัดมอญคือเสาหงส์ ซึ่งบนยอดเสาเป็นตัวหงส์หมายถึง เมืองหงสาวดี เมืองหลวงของชาวมอญ นอกจากจะได้ชมศิลปกรรมแบบมอญในวัดนี้แล้ว ยังจะได้เพลิดเพลินไปกับปลาต่างๆ จำนวนมากที่อยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งจะว่ายมารอรับอาหารจากผู้มาทำบุญไหว้พระที่วัด
อีกวัดถึงจะไม่ใช่วัดที่สร้างมานาน แต่มีซากหอยนางรมยักษ์โบราณจำนวนมาก นั่นคือ “วัดเจดีย์หอย” ตั้งอยู่หมู่ 4 ต.บ่อเงิน โดยหลวงพ่อทองกลึงได้นำมาก่อเป็นเจดีย์ขึ้นที่ด้านหน้าทางเข้าและในวัด จึงเรียกว่า เจดีย์หอย นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์รวบรวมพระพุทธรูป และศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้เก่า ๆ จำนวนมาก ทั้งเครื่องปั้นดินเผา ถ้วยชามสังคโลก ไม้แกะสลัก ตลอดจนเครื่องใช้เก่าแก่ที่หาดูได้ยาก
สถานที่ท่องเที่ยวเพียงแห่งเดียวที่จัดได้ว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติของปทุมธานี อยู่ที่ “วัดไผ่ล้อม” ซึ่งได้ประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนมิถุนายน จะมีนกปากห่างอพยพย้ายถิ่นจากไซบีเรียมาอาศัยอยู่ที่วัดแห่งนี้เป็นจำนวนมากเพื่อผสมพันธุ์ สร้างรังและวางไข่
โดยภายในวัดจะมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติและหอดูนก เพื่อดูนกที่มักจะทำรังและเกาะอยู่ตามยอดไม้ ซึ่งในช่วงฤดูผสมพันธุ์นี้จะเห็นถึงสายสัมพันธ์ของครอบครัวนกในการผลัดกันหาอาหารและดูแลลูกน้อย มีเวลาก็น่าจะไปเที่ยวชมกัน โดยไม่ต้องหวั่นเรื่องเชื้อไข้หวัดนก เพราะได้มีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจและรับรองว่านกนี้ไม่มีเชื้ออันตรายแต่อย่างใด สนใจชมติดต่อได้ที่ทำการเขตห้ามล่าสัตว์ป่า โทร. 0-2979-8596, 0-1816-3175
ใช่เพียงจะมีแต่ความเก่าแก่ของโบราณสถานซึ่งมีคุณค่าทางจิตใจเท่านั้น ปทุมธานียังมีสิ่งก่อสร้างทันสมัยในรูปแบบต่างๆ ซึ่งช่วยเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้มาเยือน เริ่มจาก “องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ” อยู่ที่คลองห้า โดดเด่นด้วยอาคารที่ออกแบบเป็นรูปลูกเต๋าขนาดใหญ่ ภายในจัดแสดงนิทรรศการต่างๆทางวิทยาศาสตร์ซึ่งล้วนแต่น่าสนใจและชวนตื่นเต้น เพราะให้ผู้ชมได้สัมผัสและทดลองไปกับกิจกรรมต่างๆ ถ้าอยากรู้ว่าหน้าตาของ ลูซี่ รูปเหมือนที่แสดงถึงการกำเนิดมนุษย์คนแรกเป็นอย่างไร หรืออยากรู้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมนุษย์ รวมถึงสิ่งแสดงที่เกี่ยวกับพลังงาน ธรรมชาติ อวกาศ ก็ต้องไปชมกัน
เลยพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ฯ ไปอีกนิด จะเจอกับ “หออัครศิลปิน” สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นเลิศในศิลปทั้งมวล โดยจัดแสดงผลงานด้านศิลปและวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของพระองค์ 9 ด้าน รวมทั้งเป็นที่จัดแสดงประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติ 4 สาขา คือ สาขาวรรณศิลป์ ศิลปการแสดง ทัศนศิลป์ และสถาปัตยกรรม
ภายในบริเวณใกล้เคียงกับหออัครศิลปิน ยังมีโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อีกหลายแห่งเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้แก่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกาญจนาภิเษก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ และพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ทุกแห่งล้วนแต่มีสิ่งน่าสนใจทั้งนั้น
ส่วนที่ “พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ” อยู่ที่คลองหนึ่ง จัดแสดงกิจกรรมที่ควบคุมเนื้อหางานการเกษตรทุกด้าน พื้นที่กลางแจ้งจำลองสภาพทางการเกษตรแบบต่างๆ เพื่อเป็นสถานที่เรียนรู้วิทยาการด้านการเกษตร ด้วยความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติที่มีชีวิต สามารถสัมผัสได้โดยมีความสนุกสนานเพลิดเพลินในเวลาเดียวกัน
ถ้าผ่านไปที่ถนนวิภาวดีรังสิตบรรจบกับถนนพหลโยธิน จะมองเห็น “อนุสรณ์สถานแห่งชาติ” ตั้งเด่นเพื่อเป็นทั้งอนุสรณ์สถานเทิดทูนวีรกรรมบรรพบุรุษไทยที่ได้ปกป้องผืนแผ่นดินไทย และเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยตลอดจนเหตุการณ์รบครั้งสำคัญของไทย และสงครามที่กองทัพไทยได้ไปปฏิบัติการรบในต่างประเทศ และที่น่าสนใจมากคืออาคารภาพปริทัศน์แสดงภาพจิตรกรรมอันงดงามบนผนังโค้งวงกลม เรื่องราวจากสมัยสุโขทัยถึงปัจจุบัน และที่ด้านนอกจัดแสดงวัตถุยุทโธปกรณ์ขนาดใหญ่ที่ปลดประจำการ
จะเห็นว่าสถานที่หลายแห่งเราล้วนแต่เคยผ่าน แต่ไม่เคยคิดจะแวะเข้าไปชม คราวนี้ลองเปิดใจไปสัมผัสสักครั้ง จะรู้ว่าจังหวัดที่อยู่ใกล้กรุงแค่เอื้อม ยังมีสิ่งน่าสนใจให้เรียนรู้และเที่ยวชมมากมาย
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *