ถ้าเอ่ยถึง “ร่มบ่อสร้าง”เชื่อว่าหลายๆคนคงรู้จักกันดี เพราะร่มบ่อสร้างเป็นสินค้าที่สร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัดเชียงใหม่มาช้านานหลายชั่วอายุคนแล้ว ซึ่งนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเที่ยวเชียงใหม่ส่วนใหญ่จะต้องแบ่งเวลาแวะเวียนไปที่อำเภอสันกำแพงเพื่อชมและเลือกซื้อร่มบ่อสร้างที่ “บ้านบ่อสร้าง”เป็นที่ระลึกติดมือกลับมา
ที่ บ้านบ่อสร้าง ถนนทุกสายและร้านค้าเกือบทุกร้านล้วนตกแต่งด้วยร่ม ร่ม ร่ม และก็ร่ม โดยที่โดดเด่นที่สุด คือที่ศูนย์อุตสาหกรรมทำร่ม ซึ่งตั้งอยู่หัวมุมถนนบ่อสร้าง ซึ่งเป็นดังศูนย์กลางของร่มบ่อสร้าง เป็นแหล่งผลิต แหล่งขาย และสถานที่จำลองการทำร่ม ทำให้ที่ศูนย์ฯทำร่มเต็มไปด้วยร่มนับร้อยนับพันโดยมีหญิงสาวในชุดพื้นเมืองสวยงามมาทำหน้าที่บรรจงจดปลายพู่กันแต่งแต้มลวดลายสีสันลงบนผืนร่มเพื่ออวดสายตานักท่องเที่ยว
จริงๆ แล้วชาวบ่อสร้างทั้งตำบลรวมไปถึงอีก 8 หมู่บ้านในตำบลใกล้เคียงของพื้นที่อำเภอสันกำแพง และอำเภอดอยสะเก็ดในจังหวัดเชียงใหม่ล้วนแต่เป็นแหล่งผลิตร่มด้วยกันทั้งสิ้น เพียงแต่ว่างานทำมือของชาวบ้านได้กลายเป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมพื้นที่หลายร้อยครัวเรือนในหลายๆหมู่บ้าน
การผลิตชิ้นส่วนร่มเป็นหน้าที่ของแรงงานที่เป็นชาวบ้านในแต่ละหมู่บ้านตั้งแต่รุ่นพ่อเฒ่าแม่เฒ่าลงมาจนถึงคนหนุ่มสาวนับพันๆคน ซึ่งการผลิตชิ้นส่วน แต่ละชิ้น ต้องอาศัยฝีมืออันยอดเยี่ยมเริ่มจากชิ้นเล็กๆเพียงชิ้นเดียวจนกระทั่งกลายมาเป็นร่มบ่อสร้างที่มีสีสันสวยงามแตกต่างกันไป โดยมีแหล่งผลิตใหญ่ที่สุดอยู่ที่ศูนย์อุตสาหกรรมนั่นเอง
ดังนั้นบ่อสร้างจึงเป็นเพียงหมู่บ้านประกอบร่มโดยมีชิ้นส่วนต่างๆของร่มเดินทางมาจากต่างหมู่บ้าน ซึ่งส่วนประต่างๆของร่มที่เกิดจากแรงงานใต้ถุนบ้านและกระจายกันอยู่ทั่วไปก็จะมารวมกันอยู่ที่นี่เป็นจุดสุดท้าย
ชาวบ้านบางคนในพื้นที่นี้มีทั้งคนที่ทำร่มเป็นงานประจำ ทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพเสริม และคนที่ทำร่มอย่างเดียวมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ความรู้ความสามารถในด้านศิลปะล้วนแล้วแต่สืบทอดทางสายเลือด การเรียนรู้ด้วยตนเองจากประสบการณ์ และครูพักลักจำ
การทำร่มบ่อสร้างมีมานับร้อยปี ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงมีความถนัดในการทำร่มแตกต่างกันไปตามชิ้นส่วนที่ได้รับมอบหมายในการผลิต เช่น หมู่บ้านสันพระเจ้างาม ผลิตหัวร่มและตุ้มร่ม บ้านออนทำโครงร่ม บ้านหนองโค้งหุ้มร่ม และลงสี บ้านแม่ฮ้อยเงิน อำเภอดอยสะเก็ดผลิตด้ามร่ม บ้านต้นเปาผลิตกระดาษสา เป็นต้น
แต่การประกอบชิ้นส่วนของร่มทั้งหมดจะมารวมกันอยู่ที่บ่สร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระบายลวดลาย และสีสันบนผืนร่มที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์อันเลื่องชื่อของร่มบ่อสร้าง มีกลเม็ดเคล็ดลับในการทำร่มอยู่ที่การใช้แป้งเปียกผสมน้ำมะโก้ติดผ้าหรือกระดาษเข้ากับร่มทำให้ติดทนนานไม่หลุดร่อนก่อนเวลาอันควร และเวลาลงสีน้ำมันที่ต้องผสมกับน้ำมันมะมื้อหรือน้ำมันตังอิ๊วที่ทำให้ร่มทนแดด ทนฝน และใช้งานได้จริงไม่ว่าหน้าฝนหรือหน้าร้อน เพราะฉะนั้นนอกจากร่มบ่อสร้างจะเป็นของที่ระลึกสวยงามแล้วยังสามารถคุ้มแดดคุ้มฝนได้เป็นอย่างดี
มีตำนานเล่าขานกันมานานนับร้อยปีว่า มีพระภิกษุสงฆ์รูปหนึ่งชื่อพระ อินถา แห่งสำนักวัดบ่อสร้าง ได้เดินทางท่องธุดงด์ไปสถานที่ต่างๆจนกระทั่งถึงแถบชายแดนไทย – พม่า มีชาวพม่าใจบุญนำร่มมาถวายเพื่อใช้ป้องกันแดดฝน เมื่อพระอินถาได้เห็นร่มแปลกตาจึงไต่ถามว่า ได้มาจากแห่งหนใดจึงได้ขอติดตามไปเพื่อให้ได้เห็นที่มาของร่ม ท่านได้ศึกษาวิชาการทำร่มอย่างจริงจัง และจดจำได้แม่นยำ พร้อมนำกลับมาทำที่บ่อสร้าง จนเกิดเป็นโรงเรียนฝึกสอนวิชาทำร่มให้กับชาวบ้าน และกลายเป็นอาชีพของคนบ่อสร้างมาจนถึงปัจจุบัน
ใครที่มีโอกาสได้ไปเที่ยวเชียงใหม่ก็น่าจะลองแวะไปที่บ่อสร้างเพื่อชมขั้นตอนการผลิตร่ม และความสวยงามของร่มบ่อสร้างที่ได้รับการสืบทอดต่อๆกันมาจนมีอายุเป็นร้อยปีแล้ว
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ร่มบ่อสร้าง เป็นสินค้าพื้นเมืองที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ สาเหตุที่เรียกว่าร่มบ่อสร้างเพราะร่มนี้ผลิตกันที่บ้านบ่อสร้าง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ สามารถไปจากตัวเมืองเชียงใหม่ตามถนนสายเชียงใหม่-สันกำแพง 9 กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าบ้านบ่อสร้าง ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท. ภาคเหนือ เขต 1 โทร. 0-5324-8604, 0-5324-8607, 0-5324-1466