xs
xsm
sm
md
lg

เยือนถิ่นอารยธรรมห้าพันปี ที่“อุดรธานี”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถ้าถามชื่อที่แทน ‘ทิศเหนือ’ นั้น คงมีหลายคนที่เข้าใจว่าเป็น ‘ทักษิณ’ เพราะเห็นนายกฯทักษิณ คนเมืองเหนือ ยังใช้ชื่อนี้ หรือไม่บางคนอาจจะบอกว่า ‘พายัพ’ ต่างหาก เพราะมีมหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ที่ภาคเหนือเช่นกัน

แต่จริงๆ แล้วเป็นคำตอบที่ผิดทั้งคู่เพราะทักษิณคือทิศใต้ และ พายัพคือทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ส่วนทิศเหนือนั้นแท้ที่จริงก็คือ ‘อุดร’ เพราะฉะนั้นจึงอย่าได้สับสน ถ้าหากอีสานซึ่งหมายถึงทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีจังหวัด “อุดรธานี” หรือเมืองมณฑลฝ่ายเหนือ ตั้งอยู่ด้วย

อุดรธานีมีคำขวัญประจำจังหวัดว่า “น้ำตกจากสันภูพาน อุทยานแห่งธรรมะ อารยธรรมห้าพันปี ธานีผ้าหมี่ขิด แดนเนรมิตหนองประจักษ์ เลิศลักษณ์กล้วยไม้หอมอุดรซันไฌน์”

เมืองอุดรเป็นเมืองใหญ่ที่เก่าแก่และสำคัญแห่งหนึ่งของภาคอีสาน เมื่อในอดีตเคยเป็นศูนย์กลางการปกครองของภาคอีสานเหนือ แม้ในปัจจุบันก็ยังกลายเป็นเมืองศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ สังคม การคมนาคม รวมถึงการท่องเที่ยวด้วย เพราะมีสิ่งสำคัญที่น่าสนใจหลากหลาย และยังเป็นดินแดนที่มีอารยธรรมเก่าแก่แห่งหนึ่งของโลก

เริ่มจากเมื่อเข้าไปในตัวเมืองก็จะได้เห็น “อนุสาวรีย์พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ ศิลปาคม” ผู้ซึ่งเป็นเสมือนบิดาของชาวอุดร เพราะทรงเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งเมืองอุดรขึ้น เมื่อพ.ศ. 2436 กรมหลวงประจักษ์ฯ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สำเร็จราชการมณฑลฝ่ายเหนือ (เรียกว่า มณฑลอุดร ในสมัยต่อมา) ทรงจัดวางระเบียบราชการปกครองบ้านเมือง และรับราชการในหน้าที่สำคัญ ๆ ที่อำนวยประโยชน์แก่ราษฎรเป็นจำนวนมาก

“สวนสาธารณะหนองประจักษ์ศิลปาคม” นับเป็นสิ่งสะท้อนถึงความเคารพศรัทธาที่ชาวอุดรมีต่อพระองค์ท่าน เพราะแต่เดิมหนองน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งมีมาตั้งแต่ก่อนตั้งเมืองอุดรธานี เรียกกันว่า “หนองนาเกลือ” ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “หนองประจักษ์” เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่ กรมหลวงประจักษ์ฯ ผู้ก่อตั้งเมืองอุดรธานี

ปัจจุบันหนองประจักษ์เป็นสวนสาธารณะที่ใช้ประโยชน์หลายอย่าง บริเวณตัวเกาะกลางน้ำมีสวนหย่อมที่ปลูกไม้ดอกไม้ประดับหลายชนิด และทำสะพานเชื่อมระหว่างเกาะ มีน้ำพุ หอนาฬิกา และสวนเด็กเล่น ซึ่งแต่ละวันจะมีผู้คนใช้เป็นสถานที่พักผ่อน เดินเล่น ให้อาหารปลาและออกกำลังกายเป็นจำนวนมาก

ห่างจากตัวเมืองไปประมาณ 5 กม. (เส้นทางหมายเลข 2 อุดรธานี-หนองคาย) เป็นที่ตั้งของ “สวนกล้วยไม้หอมอุดรซันไฌน์” แหล่งเพาะพันธุ์กล้วยไม้หอม “นางสาวอุดรซันไฌน์” (Udon Sunshine Orchid) กล้วยไม้ลูกผสมระหว่างแวนด้า (Vanda) กับ โจเซฟฟินแวนเบอร์โร (Josephine Van Berrow) ซึ่งใช้เวลาในการค้นคว้าและผสมพันธุ์กว่า 10 ปี จึงได้กล้วยไม้กลิ่นหอมพันธุ์ใหม่ของไทยสามารถนำไปสกัดน้ำหอมในชื่อนางสาวอุดรซันไฌน์ ส่งจำหน่ายไปยังที่ต่างๆ ถือว่าเป็นน้ำหอมจากกล้วยไม้แท้ ๆ ชนิดเดียวในโลก และเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคนไทย

จากนั้นใช้เส้นทางเดิมแต่เพิ่มระยะทางไปอีกประมาณ 16 กม. จะเห็น “หมู่บ้านนาข่า และศูนย์หัตถกรรมบ้านเม่น” ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีการทอผ้าขิดที่มีชื่อเสียง และจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผ้าขิดในราคาย่อมเยา เมื่อเข้าไปภายในหมู่บ้านจะเห็นว่าแต่ละบ้านล้วนแต่มีผ้าทอพื้นเมือง ลวดลายสวยงาม ทั้งที่เป็นผ้าทอ และที่ตัดเย็บเป็นชุดเสื้อผ้าสำเร็จรูป รวมถึงดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้อหากันอย่างจุใจ ใกล้ๆ กันนั้นยังมี บ้านถ่อน เป็นหมู่บ้านที่มีการทอผ้าขิดและผ้าฝ้ายยกดอก ลวดลายสวยงาม และอีกแห่งคือ หมู่บ้านสังซา อยู่ในอำเภอเพ็ญ ซึ่งก็มีการทอผ้าและหัตถกรรมจากผ้าขิดเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่อุดรจะได้รับฉายาว่าเป็น “ธานีผ้าหมี่ขิด”

ส่วนที่ว่าเมืองอุดรมี “อุทยานแห่งธรรมะ” นั้น ก็ต้องไปดูที่ “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาภูพาน ในเขตอำเภอบ้านผือ เป็นที่ตั้งของสถานที่ซึ่งแสดงถึงอารยธรรมของมนุษย์ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิประเทศซึ่งมีโครงสร้างส่วนใหญ่เป็นหินทรายที่ถูกขัดเกลาจากขบวนการกัดกร่อนทางธรรมชาติทำให้เกิดเป็นโขดหินน้อยใหญ่รูปร่างต่าง ๆ กัน ปรากฏเป็นหลักฐานเกี่ยวกับชีวิตผู้คนในอดีตที่น่าสนใจหลายแห่ง อย่างเช่น

“พระพุทธบาทบัวบก” เป็นรอยพระพุทธบาทมีลักษณะเป็นแอ่งลึกประมาณ 60 ซม. เดิมมีการก่อมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทไว้ ต่อมาได้รื้อมณฑปเก่าออกแล้วสร้างพระธาตุเจดีย์ขึ้นใหม่ ภายในพระธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตัวองค์เจดีย์เป็นทรงบัวเหลี่ยมคล้ายองค์พระธาตุพนม มีงานนมัสการพระพุทธบาทบัวบกในวันขึ้น 13-15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี อีกแห่งที่อยู่ใกล้กันคือ “พระพุทธบาทหลังเต่า” เป็นรอยพระพุทธบาทสลักลึกลงไปในพื้นหิน ลึกประมาณ 25 ซม. เนื่องจากพระพุทธบาทแห่งนี้อยู่ใกล้กับเพิงหินธรรมชาติรูปร่างคล้ายเต่า จึงได้ชื่อว่า “พระพุทธบาทหลังเต่า”

ยังมีถ้ำและเพิงหินต่าง ๆ กระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณอุทยานฯ ซึ่งถ้ำเหล่านี้สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นที่พำนักของมนุษย์สมัยหิน ซึ่งได้เขียนรูปต่าง ๆ ไว้ เช่น รูปคน รูปมือ รูปสัตว์ และยังมีลานหินที่สวยงาม คือ ลานหินโนนสาวเอ้ โดยเพิงหินที่สวยงามเหล่านี้ ชาวบ้านได้จินตนาการผูกเป็นเรื่องตำนานพื้นบ้าน คือ เรื่อง “นางอุสา-ท้าวบารส” จึงมีชื่อเรียกตามลักษณะเพิงหิน คือ คอกม้าท้าวบารส หอนางอุสา บ่อน้ำนางอุสา นอกจากนั้นยังพบชิ้นส่วนหลักเสมา และหินทรายจำหลัก พระพุทธรูปศิลปะสมัยทวาราวดี ที่เพิงหินวัดพ่อตา และเพิงหินวัดลูกเขย

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอีกแห่งคือ “วนอุทยานนายูงน้ำโสม-น้ำตกยูงทอง” อำเภอน้ำโสม ซึ่งมี “น้ำตกยูงทอง” เป็นน้ำตกขนาดเล็ก 3 ชั้นที่สวยงามมาก น้ำไหลมาจากสันเขาภูพานและภูย่าอู ผ่านโขดหินสลับซับซ้อน ท่ามกลางความเขียวขจีของแมกไม้นานาพันธุ์

แต่สถานที่ท่องเที่ยวซึ่งมีชื่อเสียงและโด่งดังในระดับโลก ที่ใครๆ ก็ต้องรู้จัก นั่นคือ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง” แหล่งโบราณคดีแห่งแรกในประเทศไทยและได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมจากองค์การยูเนสโก ตั้งอยู่ที่บ้านเชียง อำเภอหนองหาน เป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เพราะมีการขุดพบโครงกระดูกมนุษย์และเครื่องปั้นดินเผาที่ฝังรวมกัน อายุกว่า 5,000 ปี

ภายในพิพิธพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ได้จัดแสดงหลักฐานที่ ได้จากการสำรวจขุด ค้น ที่บ้านเชียง และแหล่งโบราณคดีใกล้เคียง อันประกอบด้วยกลุ่มภาชนะดินเผาที่มีลายเขียนสีเป็นเอกลักษณ์ นอกจากนี้ยังมี เครื่องมือ เครื่องใช้และสิ่งอื่นๆอีกมากมายที่เป็นหลักฐาน ชีวิตความเป็นอยู่ ที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมของคนยุคก่อน ภายในบริเวณอาคารส่วนที่ 2 ยังมีห้องนิทรรศการ ห้องบรรยาย ฉายภาพยนตร์ ภาพนิ่ง และการให้บริการการศึกษาต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่น่าสนใจ

แต่ถ้าอยากท่องเที่ยวและรู้จักสถานที่ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ยกให้เป็นหนึ่งในโครงการอันซีน 2 เพราะมีเรื่องราวความประหลาด เป็นหนึ่งในตำนานพญานาคราช ก็ต้องไป “บ้านคำชะโนด” อยู่ที่อำเภอบ้านดุง เป็นที่ที่มีน้ำล้อมรอบสภาพคล้ายเกาะ มีต้นชะโนด ซึ่งลักษณะคล้ายต้นตาลผสมต้นมะพร้าวขึ้นอยู่ทั่วไป ถือว่าที่นี่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือและยำเกรง

มีผู้กล่าวว่าสถานที่แห่งนี้คือ "วังนาคินทรคำชะโนด" ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของพญาสุทโธนาค บรรยากาศภายในเยือกเย็น มีศาลเจ้า บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ไว้สำหรับผู้เคารพได้สักการะ โดยเชื่อกันว่าบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่กลางดงเป็นประตูสู่เมืองบาดาล และที่แปลกคือในดงชะโนดมีน้ำซับน้ำซึมอยู่ตลอดเวลา แต่กลับไม่เคยมีน้ำท่วมเลย ถือเป็นความแปลกและมหัศจรรย์ของธรรมชาติ บวกกับตำนานความเชื่อของชาวบ้าน จึงทำให้สถานที่แห่งนี้มีผู้เดินทางไปท่องเที่ยวเพื่อสัมผัสและเยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก

*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

สอบถามข้อมูลท่องเที่ยวเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงาน ททท. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขต 5 โทร 0-4232-5406
 
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จังหวัดอุดรธานี
ยลโฉมกล้วยไม้หอม ที่ "อุดรซันไฌน์"
กำลังโหลดความคิดเห็น