xs
xsm
sm
md
lg

พายคายัค ลัดเลาะป่าโกงกางที่ ‘อ่าวท่าเลน’

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“ผู้จัดการท่องเที่ยว” เขียนเรื่องเที่ยวกระบี่ไปแล้ว 2 ตอน คือที่ป่าท่าปอม และเกาะลันตา มาในตอนนี้ เรายังคงเที่ยวต่อในจังหวัดกระบี่ ด้วยการออกไปพายเรือคายัคที่อ่าวท่าเลน ที่อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองกระบี่ ซึ่งอ่าวนี้นับเป็นสถานที่พายคายัคที่มีชื่อเสียงระดับโลกทีเดียว

สำหรับภูมิประเทศของอ่าวท่าเลนนั้นมีทั้งภูเขาหินปูนที่สูงตระหง่านสวยงาม และยังมีป่าชายเลนที่คงสภาพสมบูรณ์อยู่มากๆ เรียกได้ว่าเป็นสถานที่พายคายัคอันสวยงามที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการพายคายัคชมทิวทัศน์ยิ่งนัก

ในการพายคายัคที่อ่าวท่าเลนครั้งนี้ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” ได้มาพายเรือคายัคกับฟูจิทัวร์และ ซีคายัค กระบี่ ซึ่งเพียงแค่ได้เห็นเรือคายัคสีสดใสวางเรียงเป็นแถวอยู่ริมทะเล เราก็เกิดอาการตื่นเต้นอยากจะได้ลองพายเรือเร็วๆแล้ว

แต่ว่าตามธรรมเนียมของการพายเรือในหลายๆที่ ก่อนออกพื้นที่จริงต้องเริ่มต้นด้วยการเรียนรู้วิธีจับไม้พายกันก่อน ซึ่งวิธีจับไม้พายคายัคนี้จะจับโดยกำมือคว่ำลงทั้งสองข้าง พายซ้ายทีขวาที และหัดวาดไม้พายในอากาศให้คล่องเสียก่อน เพราะนอกจากจะเป็นการเตรียมความพร้อมแล้วก็ยังเป็นการอุ่นเครื่องให้กับกำลังแขนก่อนจะออกไปเผชิญกับของจริง

เล่ามาถึงตอนนี้ดูคล้ายๆกับว่า “ผู้จัดการท่องเที่ยว” จะไปออกศึกยังไงยังงั้น แต่ว่าระยะทางการพายกว่า 4 กิโลเมตรนี่ก็ไม่ใช่เล่นเหมือนกันสำหรับคนที่ไม่ได้ออกกำลังกายบ่อยๆ เพราะฉะนั้นการวอร์มร่างกายก่อนพายนับเป็นเรื่องที่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง

หลังจากหวดซ้ายป่ายขวาซ้อมท่าพายเสร็จ ก็ได้เวลาเคลื่อนขบวนเรือคายัคลงไปในทะเล เรือแต่ละลำก็มุ่งหน้าเข้าสู่ภูเขาที่เห็นด้านหน้าทันที น้ำทะเลข้างใต้เรือคายัคเป็นสีเขียวมองไม่เห็นพื้นทรายด้านล่าง แต่จริงๆ แล้วระดับน้ำตอนนี้ตื้นเพียงแค่เข่าเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ทุกคนก็จำเป็นต้องใส่เสื้อชูชีพไว้เพื่อความไม่ประมาท ไม่อย่างนั้นก็คงไม่มีสำนวนที่ว่า “ตายน้ำตื้น” ให้ได้ยินอยู่บ่อยๆ

หลังจากพายคายัคเข้ามาสู่วงล้อมของภูเขาหินปูนซึ่งตั้งเรียงกันอยู่อย่างสลับซับซ้อนจนทำให้ทะเลเหมือนถูกแบ่งเป็นห้องโถงใหญ่ๆ หลายๆ ห้อง หรือที่เรียกกันว่าลากูน ภาพธรรมชาติด้านหน้าก็ทำให้หลายคนออกปากชมในความงาม

ภาพที่เห็นนั้นเป็นภาพของภูเขาหินปูนสูงชันที่โอบล้อมอยู่รอบด้าน มีพันธุ์ไม้สีเขียวสบายตาปกคลุมอยู่ตามยอด แสงแดดส่องลอดผ่านช่องเขามาเป็นลำ มีลมพัดเย็นๆ พอให้คลายร้อน บรรยากาศรอบๆ ตัวก็ช่างเงียบสงบ ได้ยินเพียงเสียงนกกู่ร้องไกลๆ และเสียงพายกระทบกับผิวน้ำเท่านั้น

เราพายคายักไปพักไปเป็นช่วงๆ ตามลากูนแต่ละแห่ง เพราะนอกจากจะได้ชมธรรมชาติอันเงียบสงบแล้ว ก็ยังเป็นการผ่อนคลายความเมื่อยล้าของแขน โดยตามช่องเขาในบางช่วง กระแสน้ำและกระแสลมจะแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ช่วยพาเรือไปข้างหน้าได้อย่างไม่ต้องจุ่มใบพายลงน้ำ

จะว่าไปลากูนเหล่านี้ก็เหมือนกับที่พักหลบภัย เพราะด้วยลักษณะที่มีภูเขาล้อมรอบทุกด้าน ป้องกันคลื่นลมแรงได้ แถมยังเอาไว้เป็นที่ซ่อนตัวก็น่าจะได้ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ลากูนที่ว่าก็เคยถูกใช้เป็นที่หลบภัยจริงๆ เสียด้วย นั่นก็คือภัยสึนามินั่นเอง นักท่องเที่ยวที่ยังพายไม่ถึงฝั่งก็ได้อาศัยเกราะกำบังธรรมชาติเหล่านี้เป็นตัวลดความรุนแรงของคลื่นในครั้งนั้นจนปลอดภัย

เราพายลัดเลาะลากูนมาสองสามแห่ง จนมาถึงครึ่งทางแล้วเมื่อสภาพของภูเขาหินปูนเริ่มเปลี่ยนไปกลายเป็นว่า “ผู้จัดการท่องเที่ยว” กำลังพายเรืออยู่ท่ามกลางป่าโกงกาง ที่นี่เราได้เจอเจ้าถิ่นตัวเล็กๆ ซึ่งก็คือบรรดาลิงที่อาศัยอยู่ในป่าโกงกางนั่นเอง เจ้าจ๋อเหล่านั้นก็กำลังมองจ้องมาที่ขบวนเรือคายัคอย่างสนอกสนใจ

จริงๆ แล้วเวลาพายเรือคายัคจะไม่ให้นำอาหารลงเรือไปด้วย แต่ด้วยความไม่รู้ เพื่อนร่วมทางของ “ผู้จัดการท่องเที่ยว”  ซึ่งพายเรืออีกลำหนึ่งจึงหยิบขนมติดลงเรือไป คราวนี้ก็เข้าทางของบรรดาเจ้าจ๋อทั้งหลาย ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่จมูกไวเสียเหลือเกิน

พอเรือบรรทุกเสบียงแล่นผ่านหน้า เจ้าลิงก็กระโดดน้ำตูมแล้วว่ายตามเรือคายัคลำนั้นไป ปีนไปแย่งขนมมานั่งกินบนเรือสบายใจเฉิบ พอลิงตัวอื่นๆ เห็นท่านั่งกินขนมสบายอารมณ์ของเพื่อนมันแล้วก็เกิดอาการทนไม่ได้ ต้องกระโดดน้ำตามลงมากันเป็นแถว บางตัวขี้เกียจว่ายน้ำก็ใช้วิธีเล่นกายกรรมกระโดดจากเรือลำนู้นมาลำนี้เป็นทอดๆ สร้างความสนุกสนานให้แก่คนดู และสร้างความสยองขวัญให้กับคนโดนแย่งขนมเป็นอย่างมาก

แต่เจ้าลิงเหล่านี้ก็ไม่ทำร้ายใคร พอขนมหมดมันก็กระโดดจากเรือว่ายน้ำขึ้นไปอยู่บนต้นโกงกางตามเดิม เหมือนไม่รู้สึกเลยว่าสร้างความวุ่นวายให้กับใครไปบ้าง

ความตื่นเต้นจบลงพร้อมกับเส้นทางที่เริ่มบีบแคบเข้าเรื่อยๆ ทางที่ผู้จัดการท่องเที่ยวพายคายัคไปนั้นถือเป็นรอบเล็ก ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร ส่วนรอบใหญ่ระยะทางจะยาวกว่า คือ 5 กิโลเมตร สำหรับรอบใหญ่จะพายเลียบไปตามแนวต้นโกงกาง ส่วนรอบเล็กจะพายฝ่าดงต้นโกงกางเข้าไป เป็นทางลัดที่ค่อนข้างจะสมบุกสมบันสักหน่อย

การพายคายัคเริ่มลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะรากของต้นโกงกางยื่นเกะกะออกมา แถมเส้นทางก็เริ่มคดเคี้ยวจน “ผู้จัดการท่องเที่ยว” ชักจะหัวหมุน เพราะเริ่มควบคุมการพายไม่ได้ พายซ้ายก็แล้วขวาก็แล้วเรือก็ยังไม่ไปตามใจเสียที แถมอยู่ดีๆ ก็เข้าไปติดอยู่ในรากต้นโกงกางออกมาไม่ได้ซะเฉยๆ ต้องเดือดร้อนเพื่อนร่วมทางคนอื่นๆ คอยดึงเรือออกมาตั้งลำใหม่อยู่บ่อยครั้งเป็นที่สนุกสนาน ส่วนลำอื่นๆ ก็มีสภาพที่ไม่ต่างกันนัก

พายกันไปพายกันมา ไม้พายก็เริ่มใช้ประโยชน์ได้แค่เอาไว้ยันรากต้นโกงกางไม่ให้เรือพุ่งชนเท่านั้น หนักๆ เข้า “ผู้จัดการท่องเที่ยว” เลยวางพาย แล้วใช้สองมือจับรากต้นโกงกางแล้วดึงตัวเองไปดื้อๆ เสียอย่างนั้น แต่นิสัยเช่นนี้ไม่ขอแนะนำให้ทำเลียนแบบเพราะคงจะไม่ดีกับต้นโกงกางแน่ๆ ว่าแล้วก็ต้องขอโทษต้นโกงกางแห่งอ่าวท่าเลนไว้ ณ ที่นี้ด้วย

เส้นทางโกงกางวิบากนี้ไม่ยาวไกลมากนัก เรียกว่าพอให้ได้สนุกกันหอมปากหอมคอ แล้วหลังจากนั้นเรือก็มุ่งหน้าเข้าสู่ลากูนอีกครั้งหนึ่ง ทุกอย่างเริ่มกลับเข้าสู่เหตุการณ์ปกติ ยกเว้นอย่างเดียวคือความเมื่อยล้าบริเวณช่วงแขนและหัวไหล่ อันเป็นธรรมดาของการหักโหมใช้แรงมากโดยที่ไม่ได้มีการเตรียมตัวมาก่อน แต่เพื่อแลกความสนุกสนานและประสบการณ์ใหม่ๆ ในการพายคายัคครั้งนี้ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” ว่า เรื่องแค่นี้เล็กน้อยมาก

ใช้เวลาไม่นาน เหล่าขบวนคายัคทั้งหลายก็ค่อยๆ ผ่านพ้นซอกสลับซับซ้อนของภูเขาหินปูนออกมาสู่ทะเลด้านนอกอีกครั้ง เป็นที่รู้กันว่าเส้นทางพายคายัคใกล้จะสิ้นสุดลง เมื่อมองไปด้านหน้าก็เห็นท่าเรืออยู่ลิบๆ โน่น ไม่น่าเชื่อว่า “ผู้จัดการท่องเที่ยว” จะสามารถพายเรือมาได้อึดถึงกว่า 3 ชั่วโมง เลยทีเดียว

เป็นอันว่าเส้นทางกว่า 4 กิโลเมตรของแหล่งพายคายัคระดับโลกอย่างอ่าวท่าเลนก็ถูก “ผู้จัดการท่องเที่ยว” พิชิตลงได้ในวันนี้ แม้จะเป็นการพิชิตแบบทุลักทุเลไปหน่อยก็ตามที แต่คราวหน้ารับรองว่าจะไปเตรียมฟิตร่างกาย กำลังแขน และฝึกพายเรือคายัคมาให้เข้าที่เข้าทางกว่านี้ แล้วเมื่อถึงวันนั้นเราค่อยมาพบกันใหม่...ที่อ่าวท่าเลน

*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

อ่าวท่าเลนอยู่ห่างจากตัวเมืองกระบี่เพียง 35 กิโลเมตร การเดินทางจากตัวเมืองกระบี่ไปสู่อ่าวท่าเลน ไปตามเส้นทางบ้านในสระ จากนั้นเลี้ยวไปตามเส้นทางโรงเรียนบ้านเขาทอง แล้วจะเห็นป้ายบอกทางไปยังอ่าวท่าเลน นอกจากนั้นภายในตัวเมืองกระบี่ก็มีรถโดยสารและรถสองแถวรับส่งนักท่องเที่ยวมายังอ่าวท่าเลน ส่วนผู้ที่ต้องการให้รถมารับที่โรงแรมที่พักสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ซีคายัค กระบี่ โทร.0-7563-0270, 0-7563-0395 ถึง 6

กำลังโหลดความคิดเห็น