xs
xsm
sm
md
lg

“ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ”แหล่งท่องเที่ยวตามรอยพระยุคลบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ไม่ว่าจะอย่างไร...ในหลวงไม่เคยทิ้งประชาชน” นี่คือความจริงที่คนไทยปฏิเสธไม่ได้ เนื่องด้วยพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทยนั้นมีมากมาย

โดยเฉพาะโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้นมีกว่า กว่า 3,000 โครงการ ซึ่งแต่ละโครงการถือกำเนิดมาจากพระอัจฉริยภาพ พระเมตตาคุณ พระกรุณาธิคุณ ที่พระองค์ท่านได้พระราชทานเพื่อเป็นแนวทางในการบำบัดปัดเป่าความเดือดร้อนของพสกนิกรชาวไทยในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

และนับว่าเป็นการดีอย่างยิ่ง ที่ในอนาคตไม่ช้านี้เมืองไทยกำลังจะมีสถานที่สำคัญ ซึ่งจะเป็นแหล่งรวมภูมิความรู้ควบคู่กับความเพลิดเพลิน อันเนื่องมาจากโครงการในพระราชดำริ ที่ “ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ” แห่ง จังหวัดนครนายก

“ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ” เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานมูลนิธิชัยพัฒนา และเป็นโครงการที่ สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับมูลนิชัยพัฒนา ดำเนินการจัดสร้าง เพื่อเผยแพร่แนวพระราชดำริให้กว้างขวางและลึกซึ้ง โดยการแสดงแนวคิดและทฤษฏีการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้านการเกษตร ปศุสัตว์ สิ่งแวดล้อม และพลังงาน ตลอดจนการสาธิตความเป็นอยู่ วิถีไทยด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเหมาะสม

โครงการนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ของมูลนิชัยพัฒนา บริเวณบ้านท่าด่าน ต.หินตั้ง อ.เมือง จ.นครนายก จะเป็นสถานที่รวบรวมข้อมูลและกิจกรรมที่แสดงให้เห็นโครงการอันเนื่องอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งแนวทางการพัฒนาตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น จะเห็นว่าทรงมุ่งการพัฒนาด้วยการแก้ไขปรับปรุงคุณภาพของ คน ดิน น้ำ ป่า อย่างเป็นระบบ

โดยให้คน คือ เกษตรกร ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเป็นแกน ตามแนวทางคนต้องอยู่ พึ่งพา และ ดูแลป่า ดิน น้ำ อย่างใกล้ชิด ซึ่งได้มีการแบ่งพื้นที่จัดแสดงในโครงการออกเป็น 3 ส่วนใหญ่คือ

 
ส่วนแรกเป็นการจัดนิทรรศการในส่วนการจัดแสดง โดยจะเป็นการสรุปภาพรวมของพระราชกรณียกิจ อันเป็นที่มาของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้งหมด รวมถึงนำเสนอของบางโครงการที่ไม่สามารถนำมาจัดแสดงในพื้นที่ได้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและซาบซึ้งในพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดจนพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่ทรงบำเพ็ญ และได้รับทราบที่มาที่ไปของโครงการสำคัญๆ เป็นการปูพื้นฐานก่อนที่จะออกไปพบกับของจริงในส่วนการแสดงภายนอกอาคาร

ส่วนที่สองคือ การจัดนิทรรศการบริเวณใกล้เคียงกับอาคาร เพื่อให้ผู้เยี่ยมชมสามารถเห็นและเข้าใจถึงสิ่งแสดงต่างๆ ได้อย่างชัดเจน อาทิ การใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ การควบคุมดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น บ่อบำบัดน้ำเสียแบบฝังใต้ผิวดิน Cross Section กอ หรือ แปลงหญ้าแฝก เพื่อแสดงให้เห็นการทำงานของรากหญ้าแฝกที่ยึดดิน แปลงทดลอง “แกล้งดิน” ในการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว

ส่วนที่สาม เป็นการแสดงในพื้นที่ภายนอกอาคาร ด้วยการจำลองป่า และภูมิประเทศของประเทศไทยทั้ง 4 ภาค โดยสอดแทรก ปัญหาและแนวทางการจัดการเกี่ยวกับการปรับปรุง และพัฒนาที่ดิน การอนุรักษ์แหล่งต้นน้ำ ลำธาร และป่าต้นน้ำ อาทิ ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่างคือ ไม้ผล ไม้ฟืน และไม้ใช้สอย ประโยชน์อย่างที่ 4 คือ ได้มีป่าไม้ครอบคลุม เป็นการอนุรักษ์แหล่งต้นน้ำและดิน รวมถึงการจัดแสดงเกษตรทฤษฎีใหม่ และชีวิตที่พอเพียง กับวิถีชีวิตของคนไทย โดยได้จัดทำคำบรรยายตามสถานที่สำคัญๆ ทั่วทั้งพื้นที่จัดแสดง

นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอวิถีชีวิต และภูมิปัญญาชาวบ้านในท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งจะเป็น “อาศรมปัญญา” โดยการรวบรวม “108 เซียน” ผู้มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา ถือเป็นปราชญ์ชาวบ้านที่จะหมุนเวียนมาช่วยคิดช่วยถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้สนใจ เช่น เซียนสมุนไพร เซียนนวดแผนโบราณ เซียนปลาสวยงาม เซียนไม้ไผ่ เซียนปุ๋ยชีวภาพ เซียนก่อสร้าง เซียนช่างฝีมือ เซียนพลังงาน ฯลฯ นอกจากจะได้ความรู้จากเซียนผู้รู้แล้ว ที่นี่จะเป็นเหมือนโชว์รูมผู้ซื้อพบผู้ขาย คือจะได้รู้ทั้งแหล่งต้นทุนและแหล่งตลาดเพื่อสามารถนำไปส่งเสริมอาชีพได้

โครงการนี้จึงนับเป็น “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติมีชีวิต” เพราะจะให้ผู้สนใจได้ศึกษา ทดลอง และเรียนรู้ด้วยตนเอง ทำให้ผู้เข้าชมได้ทั้งความรู้ ความเข้าใจ และความเพลิดเพลิน นำไปสู่การพัฒนาต่อยอดความรู้ โดยรู้จักการช่วยเหลือตนเอง ใช้ภูมิปัญญาและความคิดสร้างสรรค์มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์

เรียกได้ว่า ตลอดพื้นที่ 14 ไร่ จะมีองค์ความรู้แทรกอยู่ตลอด แม้แต่ในห้องปัสสาวะชายที่มีระบบการคิดว่าจะทำอย่างไรให้มีการใช้น้ำประหยัดที่สุด และทำอย่างไรไม่ให้มีกลิ่นเหม็น ซึ่งเป็นความใส่ใจเล็กๆ น้อยๆ แต่ยิ่งใหญ่ในผลปฏิบัติที่ผู้มาเยือนจะได้รับกลับไป

ยิ่งกว่านั้นผู้มาเยือนจะได้ซาบซึ้งในพระราชกรณียกิจ และพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะสิ่งแสดงทุกๆ อย่างที่สื่อความหมาย เช่น การเดินเที่ยวชมในพื้นที่ลาดชันของภาคเหนือ ก็สร้างความลาดชันให้ได้กับการเดินขึ้นดอยอินทนนท์ ห้วยน้ำดัง หรือเดินทางเที่ยวชมส่วนหนึ่งในภาคใต้ อาจจะจมอยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะจัดทำภาพที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงดำเนินในภูมิประเทศคล้ายคลึงกันนี้มาติดไว้ เพื่อให้ผู้เที่ยวชมสามารถรับรู้ รับทราบด้วยตัวเอง ถึงพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่ได้ทรงบำเพ็ญมาตลอดระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษ

ซึ่งจากการดำเนินการก่อสร้าง “ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ” มาตั้งแต่ปี 2545 ขณะนี้โครงการมีความก้าวหน้ามาโดยลำดับ คาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปลายปี 2548 นี้ และน่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดนครนายก เพราะอยู่ใกล้กับเขื่อนคลองท่าด่าน เพียง 200 เมตรเท่านั้น

“เขื่อนคลองท่าด่าน” นี้นับเป็นอีกหนึ่งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ถือว่าเป็นเขื่อนคอนกรีตบดอัดที่ยาวที่สุดในโลก ซึ่งไม่ใช่จะเป็นเพียงเขื่อนที่ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมและการขาดแคลนน้ำของประชาชนในพื้นที่เท่านั้น แต่จะยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่สำคัญ เพราะสภาพภูมิทัศน์รอบๆ เขื่อนมีความสวยงาม และมีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ

บริเวณโดยรอบเขื่อนมีทั้ง น้ำตกนางรอง น้ำตกสาริกา วังตะไคร้ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีสถานที่จัดประชุมสัมมนา กิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจและสันทนาการ มีโรงแรม รีสอร์ท รวมถึง “ท่าด่านโฮมสเตย์” ที่พักราคาถูก สำหรับผู้ชื่นชอบธรรมชาติและวิถีชีวิตที่เรียบง่าย

ด้วยศักยภาพและความเหมาะสมลงตัวของสถานที่ตั้ง และเป้าหมายที่จะให้เป็นศูนย์ที่นำเสนอข้อมูลของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อให้เป็นช่องทางที่ประชาชนจะได้นำไปใช้ปรับใช้ในการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข เกิดสมดุลในสภาพแวดล้อม ไม่ล้างผลาญทรัพยากรที่มีคุณค่าของประเทศชาติ

เมื่อโครงการ“ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ” นี้ได้แล้วเสร็จสมบูรณ์ จึงนับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและศึกษาเรียนรู้สำคัญ แห่งหนึ่งที่ซึ่งคนไทยไม่ควรพลาดจะหาโอกาสไปเยี่ยมเยือน

กำลังโหลดความคิดเห็น