“คนที่จะมาเชิดหนังใหญ่ได้ ต้องมีใจรัก ก็เหมือนเราไปรักผู้หญิงคนหนึ่ง ถ้าเราไม่รักก็คงไม่พยายายามทำอะไรเพื่อเขาได้”
พงศ์พิพัฒน์ สาจันทร์ หรือ “อบ” หนุ่มวัย 19 เล่าความรู้สึกที่เขามีต่อหนังใหญ่ มหรสพชั้นสูงที่คนรุ่นใหม่แทบจะไม่มีโอกาสได้เห็นหรือรู้ว่ามีศิลปะแขนงนี้อยู่ แต่สำหรับ “อบ” และน้องๆ กว่า 20 คนในชุมชน วัดสว่างอารมณ์ จ.สิงห์บุรี ไม่เพียงจะรู้จักหนังใหญ่เป็นอย่างดี แต่พวกเขายังพร้อมใจที่จะสืบสานตำนานหนังใหญ่ให้คงอยู่ตลอดไป
เชิดหนังใหญ่ ได้มากกว่าการสืบสาน
พระปลัดสมศักดิ์ ฐาถวโร รองเจ้าอาวาสวัดสว่างอารมณ์ เล่าว่าที่วัดมีหนังใหญ่เก่าแก่กว่า 300 ตัว จึงได้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ เมื่อปี 2545 พร้อมกับได้มีสาธิตการแสดงเชิดหนังใหญ่โดยเด็ก ๆ ในชุมชน เพื่อให้ผู้สนใจได้ชมและเข้าใจศิลปะสำคัญของชาติแขนงนี้ยิ่งขึ้น
โดยได้เริ่มฝึกสอนการเชิดหนังใหญ่ให้กับเด็กๆ ที่สมัครใจอยากมาเรียน ซึ่งรุ่นแรกมี 15 คน แต่เมื่อเด็กเหล่านั้นโตขึ้น อาจจะเกิดความรู้สึกอาย จึงออกไปไม่ได้กลับมาเล่น หรืออาจจะเพราะด้วยกิจกรรมของเด็กรุ่นใหม่มีมากขึ้น จนอาจจะดึงความสนใจเขาให้ออกห่างจากศิลปวัฒนธรรมไทย ทางวัดจึงต้องทยอยหารุ่นใหม่มาสอนอยู่เสมอ ซึ่งรุ่นที่เห็นปัจจุบันนี้คือ รุ่นที่ 2 และคงจะมีรุ่นต่อๆ ไป เพื่อให้ศิลปะการแสดงหนังใหญ่ได้ยืนหยัดอยู่ได้ภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ของการแสดงรูปแบบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ
การดึงให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมของวัดและชุมชน เพื่อปลูกฝังให้รักและหวงแหนศิลปะของชาติ ซึ่งหากมองในแง่ของการสืบสาน ถือว่าเด็กๆเหล่านี้ คือลมหายใจอีกเฮือกของหนังใหญ่ และอาจจะมีบทบาทในการที่ช่วยพยุงลมหายใจให้มีเฮือกต่อๆไปได้
แต่หากลึกๆ จริงๆ แล้ว การแสดงหนังใหญ่ เป็น “กุศโลบาย” ที่จะทำให้เด็กๆ ได้เข้าใจและใกล้ชิดกับหลักธรรมอีกทางหนึ่ง เพราะมหรสพในสมัยโบราณมักจะมีการสอดแทรกเรื่องธรรมะเข้าไปด้วย หนังใหญ่จึงเป็นอุปกรณ์ในการสอนธรรมะแก่เด็กได้เป็นอย่างดี
ลุงพิศ ภูมิจิตรมนัส รองประธานพิพิธภัณฑ์ บอกว่าเด็กๆ มักจะมีสมาธิสั้น การที่จะให้พวกเขานั่งหลับตาทำสมาธิ คงไม่ใช่เรื่องสนุก ซึ่งทำให้การสอนสมาธินั้นไม่ได้ผล แต่การสอดแทรกเรื่องของการทำสมาธิจดจ่อกับการจดจำท่วงท่าให้เข้ากับจังหวะดนตรีที่บรรเลงและเสียงพากย์บอกบท ทำให้เด็ก ๆ มีสมาธิกับสิ่งที่ทำเป็นอย่างดี
นอกจากนี้พวกเขายังค่อยๆได้ซึมซับกับธรรมะที่สอดแทรกจากการเชิดหนัง ลุงพิศ บอกว่า ธรรมะตัวแรกที่เขาจะได้รู้คือ “หลักอิทธิบาท 4” ซึ่งเป็นหลักที่ว่าด้วยสูตรแห่งความสำเร็จ “ฉันทะ” คือความพอใจรักใคร่ เพราะการเชิดหนังนั้นทั้งหนัก เหนื่อย และลำบาก ซึ่งเด็กๆ ต้องทำใจยอมรับให้ได้ จากนั้นเมื่อพอใจ เต็มใจที่จะเชิดหนังแล้ว ต้องใช้ “วิริยะ” คือความพากเพียร ถึงจะเหนื่อยและท้อแท้ ก็ต้องพยายามทำให้ได้
ส่วน “จิตตะ” คือความเอาใจใส่ฝักใฝ่ในสิ่งนั้น ต้องรู้ในตัวหนังแต่ละตัว โดยเอาใจมาใส่ ให้รู้ว่ากำลังเชิดตัวอะไร นิสัยใจคอหรือบุคลิกของตัวนั้นๆ เป็นอย่างไร ก็ต้องพยายามทำให้เหมือนตัวนั้นให้ได้ สุดท้ายคือ “วิมังสา” คือการใคร่ครวญไตร่ตรอง หลังจากที่จบการแสดงแต่ละครั้ง จะให้เด็กๆ ดูวีดีโอหรือถ่ายภาพนิ่ง ว่ามีจุดไหนที่ยังทำไม่ดี แล้วนำไปปรับปรุงตรงจุดนั้นให้ดีขึ้น
ยังมีหลักธรรมอีกมาก ที่เขาจะได้ค่อยๆ ซึมซับสัมผัสและเรียนรู้เอง อย่างน้อยๆ เด็กๆ ก็รู้ว่า “ธรรมะย่อมชนะอธรรม” หรือ "ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ผ่านตัวละครและเรื่องราวต่างๆ ในวรรณกรรมรามเกียรติ์ที่พวกเขาสวมบทเชิดนั่นเอง ซึ่งไม่ใช่แค่ตัวเขาเท่านั้น แต่ยังสามารถส่งต่อธรรมะเป็นทอดๆ คล้ายธรรมะโดมิโน ไปยังพ่อแม่หรือคนใกล้ตัวพวกเขาได้
รายได้ สอนให้รู้ค่าของเงิน
ในขณะที่เด็กคนอื่นๆอาจจะกำลังสนุกสนานกับกิจกรรมสารพันในช่วงวันหยุดในสถานที่ต่างๆ แต่สำหรับที่อาคารพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ เด็กๆ อายุ 10-18 กลุ่มหนึ่ง กำลังรวมตัวฝึกซ้อมการเชิดหนังใหญ่อย่างขะมักเขม้น ทุกคนดูตั้งอกตั้งใจกับการซ้อมอย่างเต็มที่ เพื่อให้การแสดงหนังใหญ่ที่พวกเขาต้องแสดงต่อหน้าผู้ชมจำนวนมากให้ออกมาดีที่สุด
“มาเอง ไม่มีใครบังคับ เพราะเราสนใจ อยากเชิดหนังเป็นครับ” บอส จักรพงษ์ พิลาวรรณ อายุ 13 ปี เรียนชั้น ม.1โรงเรียนสิงห์บุรี บอกด้วยเสียงดังฟังชัด เช่นเดียวกับเพื่อนๆอีกหลายคนที่บอกว่า พวกเขาสมัครใจมาฝึกการเชิดหนังใหญ่เอง โดยไร้แรงบังคับใดๆ
เมื่อถามถึงการฝึกสอนเด็กๆ กว่า 20 คน ซึ่งเป็นวัยที่กำลังซุกซน วีระ มีเหมือน ผู้ควบคุมการแสดงหนังใหญ่ของพิพิธภัณฑ์ กลับบอกว่า ไม่ใช่เรื่องยากเลย เพราะเด็กๆ มีความตั้งใจและสนใจเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว โดยเด็กๆ จะใช้เวลาฝึกซ้อมในช่วงวันหยุด และออกแสดงที่พิพิธภัณฑ์ฯในวันที่มีผู้ชมที่เป็นหมู่คณะแจ้งมา หรือมีงานแสดงนอกสถานที่บ้างบางครั้ง ซึ่งงานแสดงของพวกเขา เปรียบเหมือนอาหารเสือ ถ้ามีมากก็มากจนต้องปล่อยทิ้งให้เน่า แต่ถ้าไม่มีเลยก็ถึงขนาดหิวโซ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการจ้างของคนดู กำหนดแน่นอนไม่ได้
ถึงแม้รายได้ที่เป็นสินน้ำใจจากงานแสดงจะได้ไม่แน่นอน บางครั้งได้ 20 บาท หรือถ้ามากหน่อยก็ 200 บาท ซึ่งแล้วแต่เจ้าภาพจะให้ในแต่ละครั้ง แต่ทุกครั้ง เด็กๆ จะต้องนำเงินส่วนหนึ่งไปเก็บออม เพราะทุกคนจะมีสมุดเงินฝากเป็นของตัวเอง นี่จึงเป็นการสอนให้เด็กๆ ได้รู้จักค่าของเงินว่ากว่าจะได้เงินมาแสนลำบาก ครูวีระบอกว่าต่อไปถ้าเขาไปเจอความลำบาก ก็จะเกิดความรู้สึกว่าเคยเจอความลำบากกว่านี้มาแล้ว ไม่หันเหการไปหาเงินในทางที่ผิดๆ
ฟันเฟืองในการต่อยอดลมหายใจ “หนังใหญ่”
อบ พงษ์พิพัฒน์ เป็นเด็กรุ่นแรกที่ยังเหลืออยู่ โดยเริ่มฝึกฝนการเชิดหนังเมื่ออายุ 16 ถึงแม้ตอนนี้จะเรียนอยู่ชั้น ปวส. 1 วิทยาลัยเกษตรสิงห์บุรี แต่ก็ยังมาทำหน้าที่ช่วยอาจารย์กุหลาบ ปิ่นวิเศษ และ อาจารย์เสนี่ย พยัคฆะ ฝึกสอนท่ารำและการเชิดหนังให้กับน้องๆ และหากมีตัวไหนที่น้องๆ แสดงไม่ได้ อบก็จะรับหน้าที่เชิดหนังตัวนั้น
“การเชิดหนังใหญ่นับว่ายาก เพราะต้องใช้เวลา ต้องมีสมาธิ แขนก็ต้องตึง ขาก็ต้องตั้งวง หูก็ต้องฟังเสียงดนตรีที่ให้จังหวะ แล้วก็ต้องจำท่าต่างๆ ให้ได้ สิ่งที่ผมได้รับจากการเชิดหนังใหญ่คือ ผมได้สมาธิ ได้เรียนรู้หลักธรรมะ ได้รู้จักวรรณคดีไทย ได้ออกกำลังกายด้วยเพราะหนังใหญ่แต่ละตัวนี่หนักมาก หนังใหญ่หนึ่งตัวเท่ากับหนังวัวทั้งตัวเลยครับ นอกจากนี้ผมยังได้เงินจากงานแสดงไปใช้สำหรับการเรียนหนังสือด้วย”
หันไปถาม ฝุ่น ธีรยุทธ นุตระ อายุ 13 ปีชั้น ม.1 โรงเรียนสิงห์บุรี และ ต่อ ยุทธนา ศุภนคร อายุ 11 ปี ชั้น ป.5 โรงเรียนวัดพรหมสาคร ซึ่งช่วยกันตอบว่า ฝึกฝนการเชิดหนังใหญ่ได้ประมาณ 5 เดือน ยากพอสมควร แต่ก็สนใจเพราะได้ทั้งธรรมะ สมาธิ ได้เพื่อน ได้ความสามัคคี สรุปแล้วได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ พ่อแม่ก็สนับสนุน เพราะพวกเขาไม่เกเรหรือเถลไถลออกนอกลู่นอกทาง
แม้จะคาดเดาไม่ได้ว่า โตขึ้น เด็กเหล่านี้จะยังคงเป็นนักแสดงเชิดหนังต่อไปหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ สิ่งที่พวกเขาได้รับย่อมซึมซับอยู่ในตัวเขา ทั้งธรรมะ จริยธรรม รวมถึงความสำนึกรักในศิลปะหนังใหญ่ และหวังต่อไปว่า พวกเขาจะเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการต่อยอดลมหายใจของหนังใหญ่ให้กับเด็กรุ่นหลังๆ เพื่อให้เอกลักษณ์สำคัญของชาติไม่ขาดหายและสูญสลายไปในที่สุด
“เพื่อนรุ่นแรกที่เรียนมาด้วยกัน ตอนนี้ก็หายไปหมดแล้ว เหลือผมคนเดียว ที่เขาไม่มาเล่นแล้วเพราะโตขึ้นก็อาย แต่ผมไม่อาย ก็ผมรักมาก ผมก็ต้องเต้นต่อไป ก็เหมือนที่เรารักผู้หญิงคนหนึ่งก็ต้องรักเขาตลอดไป และจะรักตลอดไป นานเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับอนาคต ถ้าเผื่อโตขึ้น เรียบจบมีงานทำ ก็คงต้องไปทำงาน แต่การเชิดหนังก็ยังรักอยู่ ถ้ามีเวลาว่างก็จะมาสอนรุ่นน้องๆ ต่อไป” อบ ทิ้งทายด้วยสายตามุ่งมั่น
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
หนังใหญ่เป็นมหรสพชั้นสูงที่ใช้แสดงในงานสำคัญของบ้านเมืองมาแต่โบราณ แต่ปัจจุบันสมบัติทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่าของชาติกำลังจะสูญหายหรือถูกลืมไป ด้วยสาเหตุหลายประการ ซึ่งการแสดงที่มีผู้สืบทอดน้อยมากจนขาดความต่อเนื่อง นับเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อายุของหนังใหญ่หดสั้นลง ในเมืองไทยตอนนี้จึงมีเพียงสามแห่งคือ วัดขนอน จ. ราชบุรี วัดบ้านดอน จ. ระยอง และวัดสว่างอารมณ์ จ. สิงห์บุรี ที่ยังคงอนุรักษ์หนังใหญ่ไว้และมีการจัดแสดงอย่างสม่ำเสมอ
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
"หนังใหญ่"...กับลมหายใจที่แผ่วเบา
วัดสว่างอารมณ์ ตั้งอยู่ หมู่ 5 ต. ต้นโพธิ์ อ. เมือง จ. สิงห์บุรี มีรถโดยสารประจำทางสาย 165 (อ่างทอง-ตาคลี) ผ่าน ศูนย์วัฒนธรรมอนุรักษ์หนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์เปิดบริการวันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 09.00 - 16.00 น. วันเสาร์ - วันอาทิตย์ เวลา 08.30 - 17.00 น. สนใจเข้าชมเป็นหมู่คณะ และขอชมการแสดงหนังใหญ่และอื่น ๆ โปรดแจ้งให้ทางวัดทราบล่วงหน้า (วันที่ 20-21 เม.ย. ทางวัดจะจัดให้มีงานไหว้ครูหนังใหญ่) ติดต่อสอบถาม โทร. 0-3654-3212, 0-3654-3150, 0-3654-3237 หรือ 0-1851-6205, 0-1802-6085